วิธีปลูกผักสวนครัวให้งาม ปลอดแมลง และปลอดสารพิษ

Last Updated on 21 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

สำหรับผู้ปลูกพืชผักสำหรับการจำหน่ายโดยเฉพาะ หากมีการแพร่ระบาดของแมลงศัตรูพืชจะหลีกเลี่ยงไม่ใช้ยาฆ่าแมลงเข้าช่วยเลยก็ไม่ได้ แต่ผลกระทบจะไม่เกิดกับผู้ปลูกโดยตรง เพราะคนกินจะเป็นผู้บริโภคที่หาซื้อผักตามตลาดเสียมากกว่า ส่วนผู้ปลูก เขามักแยกแปลงผักไว้กินต่างหาก อาจฉีดยาฆ่าแมลงน้อยหรือไม่ฉีดเลย นี่คือความจริง

แต่สำหรับผู้ปลูกผักสวนครัวสำหรับรับประทานเอง ถือเป็นแนวทางเลือกที่ต้องการรับประทานผักปลอดสารพิษอย่างแท้จริง ดังนั้น โพสนี้ทางพืชเกษตร ขอแชร์เทคนิคการปลูกผักสวนครัวที่ได้ทั้งงาม ปลอดแมลง และปลอดสารพิษ ให้ลองไปใช้ดูครับ
1. การเตรียมแปลง
– ให้เตรียมแปลงด้วยการขุดพรวนให้ลึก จากนั้น หว่านโรยด้วยปุ๋ยคอก อาทิ มูลโค-กระบือ มูลสุกร มูลไก่ เป็นต้น หรือใช้วัสดุอื่นเช่น ปุ๋ยหมัก หรือ แกลบดำ จากนั้น พรวนผสมกับดินในแปลงให้เข้ากัน
– แปลงที่ปลูกในหน้าแล้งไม่ต้องยกแปลงสูง ส่วนแปลงในหน้าฝน ให้ยกแปลงสูงประมาณ 20-30 เซนติเมตร ไม่ต้องยกสูงมาก เพราะเดี๋ยวดินในแปลงจะค่อยๆยุบตัวลงเอง

2. การเตรียมเมล็ด และการปลูก
– ผักที่ปลูกด้วยเมล็ด ให้แช่น้ำก่อน 1-3 ชั่วโมง จากนั้น นำมาบ่มในห่อผ้า 1-2 วัน ค่อยนำเมล็ดลงหว่านบนแปลง
– การปลูกผักที่เตรียมต้นกล้าก่อน หรือ ใช้หัวพันธุ์ปลูก ควรให้มีระยะห่างพอเหมาะที่แตกต่างกัน ไม่ควรปลูกถี่มาก เช่น หอมแบ่ง ประมาณ 5-10 เซนติเมตร คะน้าประมาณ 15-25 เซนติเมตร ดังนั้น จะปลูกพืชอะไรต้องดูระยะห่างให้เหมาะสม

3. การให้น้ำ
– พืชผัก เป็นพืชอายุสั้น เติบโตเร็ว ดั้งนั้น จำเป็นต้องให้น้ำตลอด ทุกวัน หรือ อย่างน้อยวันเว้นวัน และรดพอชุ่ม หรือ ดูแลการให้น้ำอย่าให้หน้าดินแห้ง

4. การให้ปุ๋ย
– สำหรับผักทานต้น ทานใบ แนะนำให้ใส่ปุ๋ยสูตรที่มีเลขชุดแรกสูงตลอดอายุการปลูก เช่น 18-8-8 และแนะนำให้ใช้วิธีผสมน้ำรดดีที่สุด เพราะหากใช้การหว่านมักทำให้ผักลวกหรือเกิดอาการใบไหม้
– สำหรับผักทานดอก ฝัก ผล หรือ หัว แนะนำให้ใส่ปุ๋ยสูตรที่มีเลขชุดแรกสูงในช่วง 7 วันหลังปลูก-อายุ 20 วัน เช่น 18-8-8 หลังจากนั้น ให้เปลี่ยนเป็นสูตรที่มีตัวเลขหลังสูง เช่น 13-13-21

5. เสริมด้วยอินทรีย์ชีวภาพ ทั้งช่วยเพิ่มผลผลิต และป้องกันแมลง
น้ำหมักชีวภาพ มักถูกมองข้าม แต่แท้จริงแล้วสามารถเพิ่มผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงช่วยในการปรับปรุงดิน และต้านการเกิดโรคเชื้อราได้อีกด้วย
– การเพิ่มผลผลิต โดยให้ใช้น้ำหมักชีวภาพฉีดพ่น หรือ รดเป็นประจำ อย่างน้อยอาทิตย์ละ 1 ครั้ง ตลอดอายุ-ก่อนเก็บเกี่ยว
– การป้องกัน และไล่แมลง แนะนำใช้น้ำหมักชีวภาพสมุนไพรต่างๆ โดยเฉพาะสมุนไพรที่มีสารออกฤทธิ์ไล่แมลง เช่น สะเดา พริก ตะไคร้หอม สาบเสือ สาบหมา เป็นต้น ถึงแม้จะกำจัดแมลงไม่ได้ แต่สามารถป้องกันได้ระดับหนึ่ง
– แนวทางเลือกการไล่ และกำจัดแมลงได้ด้วยสารสกัดจากพืช คือ สารสกัดเมล็ดมันแกว ด้วยวิธีการสกัดจากเอทธิลแอลกอฮอล์ (แอลกอฮอล์ล้างแผล 70%) ซึ่งทำให้ได้สารออกฤทธิ์ที่เข้มข้นกว่าการสกัดด้วยน้ำเปล่า วิธีนี้ ผมเองทดสอบ และลองใช้แล้วได้ผล สามารถกำจัดแมลงศัตรูพืชได้ทุกชนิด

ทั้งนี้ คนส่วนมากยังไม่ประจักษ์ว่า สารสกัดจากพืชของไทยสามารถกำจัดแมลงศัตรูพืชได้จริง ก็เพราะว่า ที่ทำกันอยู่ และเสนอสื่อต่างๆ จากสมุนไพรชนิดนั้น ชนิดนี้ ว่ากำจัดแมลงศัตรูพืชได้ แต่ความจริงแล้ว ส่วนมากไม่สามารถกำจัดได้ทุกชนิด เพียงแค่ป้องกัน และไล่เท่านั้น เหตุผลเพราะวิธีการสกัดไม่ทำให้ได้ความเข้มข้นของสารออกฤทธิ์ที่เพียงพอนั่นเอง
 
เหตุใดล่ะ ก็เพราะการสกัดด้วยการหมักหรือแช่ด้วยน้ำ จะให้ความเข้มข้นของสารออกฤทธิ์ไม่มากพอ แต่หากเรามีวิธีสกัดสารที่ได้ความเข้มข้นมากพอ ไม่ว่าจะเป็นการสกัดด้วยตัวทำละลายหรือวิธีอื่นๆ เชื่อได้ว่าสมุนไพรไทยสามารถตอบโจทย์การกำจัดแมลงแบบอินทรีย์ได้แน่นอน

โดยภาพที่แนบ เป็นภาพจากผักหลังบ้านของแปลงพืชเกษตรเอง โดยใช้วิธีที่แนะนำข้างต้น ครับ