มะสัง ประโยชน์ สรรพคุณ และการปลูกมะสัง

Last Updated on 21 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

มะสัง (Wood apple tree) เป็นพันธุ์ไม้ป่าที่ถูกใช้เป็นผัก และสมุนไพรพื้นบ้าน นิยมนำผล และยอดอ่อนมาใช้ประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะผลที่ใช้ทำน้ำผลไม้ ยอดอ่อนใช้เป็นผักสดคู่กับน้ำพริก ซุปหน่อไม้หรือเมนูลาบ ส่วนที่นิยมอีกอย่าง คือ ปลูกเป็นไม้ดัดในกระถางที่สวยงามไม่แพ้บอนไซต่างประเทศ

• วงศ์ : RUTACEAE (วงศ์ส้ม)
• อันดับ : Rutales
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Feroniella lucida (Scheff.) Swingle
• ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ : Citrus lucida (Scheff.) Mabb.
• ชื่อสามัญ :
– Wood apple
– Wood apple tree
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง และทั่วไป
-มะสัง
ภาคอีสาน
– หมากสัง
ภาคใต้
– กะสัง

ที่มา : [1], [4]

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
มะสัง เป็นพืชท้องถิ่นในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยพบได้ทุกภาค แต่จะพบมากในป่าเต็งรัง และป่าดิบแล้ง [2]

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ [1],[3]
ราก และต้นมะสัง
มะสัง เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีลำต้นสูงได้เต็มที่ประมาณ 10 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านมาก ทำให้แลดูเป็นทรงพุ่มหนา และเป็นรูปร่ม เปลือกต้นเล็กมีสีน้ำตาลอมเทา เปลือกลำต้นโตเต็มที่มีสีเทาอมดำ และแตกสะเก็ดเป็นแผ่นเล็กๆ

นอกจากนั้น ลำต้นยังพบหลุมหรือก้อนเป็นตะปุ่มตะป่ำที่เกิดจากการสลัดหนามลำต้นทิ้ง โดยตามลำต้น และกิ่งจะมีหนามแหลมยาว หนามแข็ง และคม หนามมีความยาวประมาณ 1-5 เซนติเมตร โดยหนามบริเวณลำต้นจะมีขนาดใหญ่ ปลายหนามแหลมคม ส่วนหนามตามกิ่งมีขนาดเล็กกว่า และปลายหนามมีความแหลมคมมาก

ส่วนรากมะสังประกอบด้วยรากแก้ว และรากแขนง รากแก้วมีขนาดใหญ่ แทงดิ่งตรงลงดิน มีรากแขนงแทงออกด้านข้าง โดยรากแขนงส่วนที่โผล่พ้นดินจะสามารถแตกหน่อเป็นต้นใหม่ได้

ใบมะสัง
ใบมะสัง เป็นใบประกอบแบบขนนกออกเป็นแบบชั้นเดียวหรือสองชั้น ก้านใบหลักออกตามกิ่งเป็นกระจุก 1-3 ก้านใบ โดยออกเวียนรอบสลับตำแหน่งกันตามความยาวของกิ่ง

แต่ละก้านใบหลักยาวประมาณ 5-15 เซนติเมตร ประกอบด้วยใบย่อย 3-11 ใบ ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ 2-5 คู่ ส่วนปลายก้านใบเป็นใบเดี่ยว โดยแต่ละใบมีก้านใบสั้น ตัวใบมีรูปไข่ สีเขียวเข้ม ขนาดใบประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1-3 เซนติเมตร แผ่นใบ และขอบใบเรียบ เป็นมัน โคนใบสอบแคบ กลางใบกว้าง ปลายใบมน

ดอกมะสัง
ดอกมะสังออกเป็นช่อกระจุกบริเวณเดียวกับตาก้านใบหรือซอกใบ แต่ละซอกใบจะออก 1-2 ช่อดอก แต่ทั่วไปจะพบออกเพียงช่อเดียว ตัวช่อดอกมีก้านดอกขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร แตกก้านดอกย่อยเรียงเวียนสลับตำแหน่งตามความยาวของก้านดอก โดยก้านดอกย่อยยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตรถัดมาเป็นใบประดับจำนวน 1 ใบ ลักษณะเป็นรูปรี และถัดมาจะเป็นตัวดอก

ตัวดอกประกอบด้วยกลีบดอกสีขาวจำนวน 5 กลีบ เมื่อบานตัวดอกจะมีขนาดประมาณ 3-4 เซนติเมตร แต่ละกลีบแยกจากกกันชัดเจน ตัวกลีบดอกมีรูปหอก ขนาดกว้างประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร โคนกลีบดอกสอบแคบ กลางกลีบดอกกว้าง ปลายกลีบดอกแหลม แผ่นกลีบดอกเรียบ ขอบกลีบดอกโค้งเป็นคลื่น

ถัดมาตรงกลางดอกจะเป็นเกสรตัวผู้ประมาณ 15-20 อัน มีลักษณะเรียงเป็นวงกลมล้อมรอบเกสรตัวเมีย และรังไข่ โดยก้านดอกตัวผู้มีสีขาว ยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ปลายเกสรเป็นอับเรณูสีเหลือง ถัดมาเป็นเกสีตัวเมีย และรังไข่ โดยรังไข่จะโผล่ชูขึ้นให้เห็น รังไข่มีลักษณะกลมสีเขียวเข้มคล้ายกับผลอ่อน ปลายรังไข่มีอับเรณูเป็นก้านชูขนาดใหญ่สีเหลือง

ผลมะสัง
ผลมะสังมีลักษณะกลม คล้ายกับผลมะนาว ขนาดผลประมาณ 4-8 เซนติเมตร เปลือกผลมีสีสีเขียวเข้ม ค่อนข้างเรียบ ผลอ่อนมีสีเขียว เนื้อเปลือกอ่อน เมื่อแก่มีสีน้ำตาล เนื้อเปลือกผลแข็ง หนาประมาณ 1 เซนติเมตร เปลือกมีกลิ่นหอม ถัดมาจากเปลือกผลจะเป็นส่วนของเนื้อ และเมล็ด เนื้อผลมีลักษณะเป็นวุ้นใส มีเมล็ดจำนวนมากแทรกอยู่ภายในวุ้น

เมล็ดมีรูปไข่หรือรี มีขนาดเล็กประมาณ 3-4 มิลลิเมตร เปลือกเมล็ดมีสีเหลือง เปลือกเมล็ดแข็ง ภายในเป็นเนื้อเมล็ดสีขาว

ประโยชน์มะสัง
1. ผลมะสังให้รสเปรี้ยว ชาวชนบทนิยมใช้ประกอบอาหาร ทั้งแทนมะนาวหรือมะขาว เนื่องจากให้รสเปรี้ยวจัดได้เหมือนกัน อาทิ ใส่ส้มตำ ใส่แกงส้ม ใส่ในยำต่างๆ เป็นต้น
2. ผลอ่อนนำมารับประทานเป็นผลไม้เปรี้ยว ใช้รับประทานสดหรือจิ้มพริกเกลือ
3. ผลมะสังนำมาต้มน้ำดื่มเป็นน้ำผลไม้ที่ให้รสเปรี้ยว
4. นอกจากนั้น ยังแปรรูปเป็นผลผลิตภัณฑ์อาหารอย่างอื่น เช่น แยมมะสัง วุ้นมะสัง ไวน์มะสัง แยมมะสัง และเยลลี่มะสัง เป็นต้น
5. ยอดอ่อน และใบอ่อนมะสัง มีรสฝาดมัน ใช้กินสดหรือนำมาอิงไฟให้อ่อน ใช้กินเป็นผักคู่กับอาหาร เช่น น้ำพริกปลา ปลาร้าบอง ซุบหน่อไม้ เมนูลาบ เป็นต้น
6. มะสังเป็นไม้ที่มีเนื้อเหนียว สามารถปลูกแบบต้นเล็กจากกิ่งได้ เพิ่มจำนวนกิ่ง และดัดแต่งกิ่งได้ง่าย ใบมีจำนวนมาก และดกหนา ในกลุ่มผู้นิยมไม้ดัดจึงนำต้นกระสังมาปลูกประดับ โดยปลูกประยุกต์เป็นไม้ดัดตกแต่งที่มีความมีโดดเด่น และดูสวยแปลกตา ไม่แพ้ต้นบอนไซเลยทีเดียว
7. เนื่องจาก มะสังเป็นไม้ที่เติบโตได้ในทุกสภาพดิน และเป็นไม้ที่ทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี ในบางพื้นที่จึงนิยมใช้ต้นมะเป็นต้นตอสำหรับเสียบยอดไม้ชนิดอื่น เช่น มะนาว หรือ มะกรูด เป็นต้น

การทำน้ำมะสัง
ผลมะสังให้รสเปรี้ยวจัด ใช้ทำน้ำผลไม้ดื่มแก้กระหาย ให้รสอร่อย สดชื่น ไม่แพ้น้ำมะนาวหรือน้ำส้ม วิธีทำน้ำมะสังเริ่มด้วย
1. เลือกผลมะสังที่แก่ จากนั้น นำมาผ่า และคว้านเมล็ดออก
2. นำผลที่เตรียมได้มาล้างน้ำให้สะอาด ก่อนนำมาต้มน้ำ นาน 10-15 นาที
3. แยกเอาเฉพาะส่วนน้ำด้วยการกรอง
4. ปรุงรสด้วยน้ำผึ้งหรือน้ำตาลทราย

สรรพคุณมะสัง [1],[4]
ผลมะสัง
– ผลมะสังใช้ทำน้ำผลไม้ ช่วยแก้กระหาย ช่วยให้สดชื่น
– บรรเทาอาการเจ็บคอ แก้อาการไอ
– แก้อาการท้องผูก ช่วยเป็นยาระบาย ช่วยในการขับถ่ายได้ง่าย
– มีวิตามินซี ช่วยแก้เลือดออกตามไรฟัน
– ช่วยบรรเทาอาการไข้ต่างๆ
ใบ
– ช่วยแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ
– ช่วยสมานแผล โดยใช้ใบขยำทารักษาแผลสด
– ช่วยบำรุงร่างกาย
แก่นมะสัง
– สตรีหลังคลอดบุตรในอีสานานิยมใช้แก่นมะสังร่วมกับแก่นมะขามต้มน้ำดื่มขณะอยู่ไฟ
รากมะสัง
– รากใช้ต้มน้ำดื่มหรือนำมาฝนดื่ม ช่วยบรรเทาอาการไข้ต่างๆ

การศึกษาฤทธิ์สารสกัดน้ำมันหอมระเหยจากทั้งราก เปลือกลำต้น เปลือกผล เนื้อในผล และใบของมะสังต่อการต้านจุลินทรีย์ 3 ประเภท ได้แก่
1. เชื้อแบคทีเรียแกรมบวก 3 ชนิด คือ
– Staphylococcus aureus
– Bacillus subtilis
– Enterrococcus faecalis
2. เชื้อแบคทีเรียแกรมลบ 3 ชนิด คือ
– Escherichia coli
– Salmonella typhimurium
– Serratia marcescens
3. เชื้อรา 3 ชนิด
– Candida albicans
– Saccharomyses cerevisiae
– Aspergillus niger

ผลการศึกษา พบว่า น้ำมันหอมระเหยที่สกัดได้มีผลออกฤทธิ์ต่อการต้านเชื้อจุลินทรีย์ทั้ง 3 ประเภทได้ดี แต่จะมีค่าการออกฤทธิ์แตกต่างกันตามชนิดของสารสกัด และส่วนที่นำมาสกัด [2]

การปลูกมะสัง
ตามธรรมชาติ ต้นมะสังจะขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด หากต้องการปลูกด้วยต้นกล้าจากการเพาะเมล็ดจะใช้วิธีเลือกผลสุกที่ล่นจากต้น จากนั้น นำผลมาคว้านเมล็ดออก แล้วนำไปตากแห้ง 3-5 วัน ก่อนห่อด้วยผ้า และนำเมล็ดเก็บไว้ในที่ร่มนาน 1-2 เดือน เพื่อบ่มเมล็ด จากนั้น ค่อยนำเมล็ดมาเพาะในถุงเพาะชำ หรือ แปลงเพาะกล้า หรือ หยอดลงหลุมตามจุดที่ต้องการปลูก

การปลูกเป็นไม้ดัด
การปลูกเป็นไม้ดัดประดับนิยมใช้วิธีการปลูกจากเมล็ดหรือจากต้นกล้านั่นเอง แต่อาจใช้วิธีอื่นร่วมด้วย เช่น การปักชำ และการตอนกิ่ง

หลังจากการเพาะเมล็ดลงดิน เมล็ดมะสังจะงอกใช้เวลาประมาณ 15-20 วัน จากนั้น ดูแลจนกล้ามะสังเติบโตจนเหมาะสำหรับทำไม้ดัด ซึ่งอาจใช้เวลา 4-8 เดือน ขึ้นกับขนาดต้นมะสังที่ต้องการดัด

จากนั้น ทำการย้ายต้นมะสังเข้าสู่การเป็นไม้ดัด โดยขุดกล้ามะสังนำลงกระถาง โดยตัดรากทิ้งก่อน ซึ่งกระถางควรเป็นกระถางเซรามิคที่สวยงาม เพราะไม่ต้องการย้ายบ่อย แต่หากทำเพื่อจำหน่ายอาจใช้กระถางพลาสติกก็ได้ หลังจากย้ายติด และต้นมะสังตั้งต้นได้จึงค่อยเริ่มการดัดลำต้นมะสังด้วยลวด

เอกสารอ้างอิง
[1] ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. ออนไลน์. เข้าถึงได้ที่ : http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=96
[2] ชลิดา อนุพันธ์. 2558. ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพของสารสกัดจากมะสัง.
[3] ธนธร เส้นทอง. 2550. การพัฒนาการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี-
เรื่อง การทำน้ำพร้อมดื่มจากมะสัง สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3-
โดยใช้ทักษะกระบวนการกลุ่ม.
[4] สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. มะสัง. ออนไลน์. เข้าถึงได้ที่ : https://wisdomking.or.th/tree/1341/.

ขอบคุณภาพจาก
https://wisdomking.or.th/
http://www.phargarden.com/