มะขามเปรี้ยว สรรพคุณ และการปลูกมะขามเปรี้ยว

Last Updated on 10 มิถุนายน 2016 by puechkaset

มะขามเปรี้ยว (sour tamarind) เป็นมะขามที่เนื้อมีรสเปรี้ยว นิยมนำมาประกอบอาหาร และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น นำมาใส่อาหารจำพวกต้มยำเพื่อให้รสเปรี้ยว นำมาแปรรูปเป็นมะขามดอง มะขามกวน เป็นต้น

มะขามพันธุ์ดั้งเดิมเป็นมะขามเปรี้ยว (Tamarindus Indica Linn.) ที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา ต่อมาค่อยแพร่เข้าในในประเทศอินเดีย และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

พันธุ์มะขามเปรี้ยว
1. มะขามขี้แมว
มะขามเปรี้ยวขี้แมว เป็นพันธุ์ที่พบได้ในทุกภาค ผลมีลักษณะกลม ขนาดผลค่อนข้างเล็ก และสั้น มีคอคอดตามข้อฝักอย่างชัดเจน เปลือกค่อนข้างหนา เมล็ดมีขนาดใหญ่ ทรงกลม เนื้อผลมีน้อย ให้เนื้อประมาณ 25-30% จากทั้งฝัก พันธุ์นี้พบมากในภาคอีสาน

มะขามขี้แมว

2. มะขามกระดาน
มะขามกระดาน เป็นพันธุ์ที่พบมากในภาคใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ผลมีลักษณะแบน ขนาดผลใหญ่ และยาว เปลือกค่อนข้างบางเมื่อเทียบกับพันธุ์ขี้แมว เปลือกไม่ค่อยมีคอดคอดที่ไม่เป็นร่องเด่นเหมือนกับมะขามขี้แมว เนื้อหนา มีปริมาณเนื้อมาก เมล็ดค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับประมาณเนื้อ ประมาณ 40-45% จากฝักทั้งหมด พันธุ์มะขามเปรี้ยวนี้ ปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยมปลูกกันมาก เช่น พันธุ์ที่เรียกในปัจจุบัน คือ มะขามเปรี้ยวยักษ์

พันธุ์กระดาน

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
มะขามเปรี้ยวเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ เปลือกลำต้นเมื่อต้นยังมีอายุน้อยจะมีสีเทา มีร่องแตกไปทั่ว และเมื่อต้นมีอายุมาก เปลือกลำต้นจะค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมดำ ลำต้นมีการแตกกิ่งจำนวนมาก แตกกิ่งตั้งแต่ระดับไม่กี่เมตรจากความสูง ทำให้แลดูเป็นทรงพุ่มหนาทึบ

ใบ
ใบมะขามเปรี้ยว เป็นใบประกอบแบบใบคู่ ประกอบด้วยก้านใบหลัก ยาวประมาณ 5-15 เซนติเมตร มีก้านใบสีเขียวสดขนาดเล็ก ใบย่อยออกเป็นคู่ๆบนก้านใบหลัก จำนวนใบประมาณ 10-20 คู่

แต่ละใบมีลักษณะทรงรูปไข่ ขนาดกว้างประมาณ 0.3-0.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 0.8-1.5 เซนติเมตร แผ่นใบ และขอบใบเรียบ ใบอ่อนมีสีเขียวอมแดง และค่อยเปลี่ยนเป็นสีเขียวอมเหลือง และแก่เปลี่ยนเป็นสีเขียวสด

ดอก
ดอกมะขามเปรี้ยวแทงออกเป็นช่อบริเวณปลายกิ่ง แต่ละช่อมีดอกจำนวน 10-15 ดอก หรือมากกว่า แต่ละดอกประกอบด้วยกลีบดอกสีเหลืองอมขาว และมีประสีแดงเป็นลาย ถัดมาด้านในเป็นเกสรตัวผู้ 5 อัน และเกสรตัวเมีย 1 อัน ส่วนล่างสุดเป็นรังไข่ ดอกมะขามเปรี้ยวจะออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคม ดอกบานในช่วงมิถุนายน

ดอกมะขาม

ผล และเมล็ด
ผลมะขามเปรี้ยวมักเรียกว่า ฝัก มีลักษณะแตกต่างกันตามสายพันธุ์ อาทิ พันธุ์ฝักแบน มีรูปร่างแบน ฝักใหญ่ ฝักค่อนข้างโค้งงอ ส่วนอีกพันธุ์มีลักษณะเป็นฝักกลม ฝักตรงหรือโค้งงอเล็กน้อย เปลือกฝักหนาบางขึ้นอยู่กับพันธุ์ ดังแสดงในรูปด้านบน เปลือกฝักเมื่อยังดิบจะติดกับเนื้อ แต่เมื่อสุกเต็มที่แล้วจะแยกออกจากกัน และมีลักษณะเปราะหักง่าย ถัดมาจากเปลือกจะเป็นเนื้อฝัก เนื้อฝักดิบจะมีสีขาวนวล เมื่อเริ่มสุกหรือห่ามจะค่อยเปลี่ยนเป็นสีสีเหลืองอมขาว เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และสีน้ำตาลเข้มเมื่อสุกเต็มที่ เนื้อนี้เป็นส่วนที่นำมารับประทาน คือ ให้รสเปรี้ยว

เมล็ดมะขามเปรี้ยวมีรูปร่างทั้งกลม และแบน ขึ้นอยู่กับลักษณะของฝัก เมล็ดมีร่องตรงกลางที่สามารถผ่าแบ่งออกเป็น 2 ซีก ได้ เปลือกเมล็ดมีสีน้ำตาลเข้ม หรือน้ำตาลอมดำ ถัดจากเปลือกเมล็ดจะเป็นด้านในที่ประกอบด้วยเนื้อเมล็ดสีขาว ตรงกลางขั้วเมล็ดมียอดอ่อนที่พร้อมจะเติบโต เนื้อเมล็ดสามารถนำมารับประทานได้ ผลมะขามเปรี้ยวจะเริ่มสุก และเก็บผลสุกได้ประมาณเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์

ประโยชน์มะขามเปรี้ยว
1. เนื้อมะขามเปรี้ยวนำมารับประทาน ทั้งในรูปผลดิบ ผลสุก ที่ให้รสเปรี้ยว แก้อากาศร้อน แก้อาการเมาค้างได้ดี
2. ผลมะขามเปรี้ยวดิบ และยอดอ่อนใช้ใส่ในน้ำต้มเพื่อให้รสเปรี้ยว
3. ผลมะขามเปรี้ยวดิบนำมาแปรรูปเป็นมะขามดอง มะขามแช่อิ่ม เป็นต้น
4. มะขามเปี้ยวสุกนำมาแปรูปเป็นมะขามเปียก มะขามกวน มะขามแก้ว ไวน์มะขาม เป็นต้น
5. มะขามเปียก เป็นผลิตภัณฑ์จากผลสุกของมะขามเปรี้ยวที่ปอกเปลือก และแกะเมล็ดออก บรรจุในถุงสำหรับใช้ประกอบอาหาร อีกทั้งยังส่งจำหน่ายในประเทศ และต่างประเทศ
6. มะขามเปียกเข้มข้นเป็นอีกผลิตภัณฑ์ที่ทำจากมะขามเปรี้ยว ด้วยการนำมะขามเปียกมาผสมน้ำ และตีให้แตกละเอียด สำหรับนำไปใช้ประกอบอาหารหรือทำน้ำจิ้ม
7. เนื้อมะขามเปียกนำมาแปรรูปเป็นผลิตเครื่องสำอาง ได้แก่ ใช้ผสมทำสบู่อาบน้ำ ใช้ผสมยาสระผม เป็นต้น
8. เมล็ดดิบมะขามเปรี้ยวมีรสฝาดรับประทานได้ แต่นิยมนำมาคั่วให้สุก เมื่อสุกแล้วจะแกะเปลือกได้ง่าย เนื้อเมล็ดมีสีเหลืองหอม และค่อนข้างแข็ง แต่จะเคี้ยวได้ง่าย เมื่อคั่วสุกใหม่ๆ
9. แก่นมะขามเปรี้ยว นิยมเลื่อยเป็นวงตามขวางสำหรับใช้ทำเขียง
10. ไม้มะขามหรือทั้งต้นมะขามนิยมนำมาเผาถ่าน
11. กิ่งมะขามนิยมใช้ทำฟืนหุงหาอาหาร
12. ต้นมะขามเปรี้ยวมีทรงพุ่มใหญ่ ทรงพุ่มหนาทึบจึงใช้ประโยชน์ทำร่มเงาร่วมกับประโยชน์อื่นๆ

เขียงมะขาม

สารสำคัญที่พบ
– กรดแททาริค (Tartaric Acid) เป็นสารที่ให้ความเปรี้ยวหลักในเนื้อมะขาม แต่จะมีน้อยในมะขามหวาน

สรรพคุณมะขามเปรี้ยว
ใบ และผล
– ช่วยต้านมะเร็ง ต้านการเสื่อมของเซลล์ในร่างกาย
– ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายไม่เจ็บป่วยง่าย
– ช่วยขับเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ
– แก้อาการเมาค้าง เมารถ เมาเรือ วิงเวียนศรีษะ
– ช่วยบรรเทาอาการเบาหวาน แก้โรคเบาหวาน
– ป้องกันเลือดออกตามไรฟัน
– ลดอาการอักเสบของแผลในช่องปาก

เมล็ด
– แก้อาการท้องเสีย
– ใช้ฝนทาแผล ทำให้แผลแห้ง
– นำเนื้อเมล็ดมาเคี้ยว โดยเฉพาะเมล็ดจากฝักดิบ สามารถบรรเทาอาการอักเสบของแผลในช่องปาก และช่วยให้แผลหายเร็ว

เปลือกลำต้น และแก่น
– นำเปลือกหรือแก่นมาต้มดื่มแก้อาหารท้องเสีย
– น้ำต้มจากเปลือก และแก่นช่วยในการลดพยาธิ
– น้ำต้มช่วยขับปัสสาวะ
– น้ำต้มใช้อาบ ช่วยรักษาโรคผิวหนัง

ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะขามเปรี้ยว
1. อาหาร และเครื่องดื่ม ได้แก่ มะขามดอง, มะขามกวน, มะขามแช่อิ่ม, มะขามแก้ว และไวน์มะขาม เป็นต้น
2. เครื่องปรุง และผลิตภัณฑ์พร้อมปรุง ได้แก่ ผงมะขาม, มะขามเปียก และมะขามเปียกเข้มข้น
3. เครื่องสำอาง ได้แก่ สบู่มะขาม และแชมพูมะขาม เป็นต้น

มะขามเปียก เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปหลักของมะขามเปรี้ยว ด้วยการเก็บฝักมะขามที่สุกแล้วมาแกะเปลือก และเมล็ดออก ก่อนจะบรรจุใส่ถุงจำหน่าย โดยต้องส่งจำหน่ายทันทีเมื่อบรรจุเสร็จ เพราะหากเก็บไว้นานจะทำให้เนื้อมะขามเปลี่ยนเป็นสีดำ และมักมีความชื้นเพิ่มขึ้นสูงทำให้เนื้อมะขามอ่อนตัว เนื้อแฉะ และมีเชื้อรา ไม่เป็นที่นิยมของตลาด

แต่เมื่อซื้อมาแล้ว หากต้องการเก็บไว้ได้นานจะใช้วิธีการช่วยเก็บ คือ นำเกลือป่นมาคลุกผสมกับเนื้อมะขามเปียก อัตราส่วนเกลือกับเนื้อมะขามเปียกที่ใช้ คือ 1:25-30

การปลูกมะขามเปรี้ยว
โดยทั่วไป มะขามเปรี้ยวจะปลูกได้ด้วยเมล็ด แต่ปัจจุบัน มะขามเปรี้ยวเริ่มมีการปลูกเพื่อการค้ามากขึ้น จึงนิยมปลูกจากต้นพันธุ์ที่ได้จากการตอน การเสียบยอดเป็นหลัก เพราะสามารถให้ผลผลิตได้เร็วเพียงไม่ถึงปีหลังการปลูก อีกทั้ง ต้นที่ปลูกด้วยวิธีนี้จะมีลำต้นไม่สูงทำให้ง่ายต่อการจัดการ และการเก็บผลผลิต

การเตรียมแปลง
เตรียมแปลงด้วยการไถกลบหน้าดิน แล้วตากดิน และหญ้าให้ตายก่อน 1 ครั้ง ระยะตากดินนาน 7-14 วัน หลังจากนั้น ค่อยไถกลบอีกครั้ง แล้วตากดินทิ้งไว้อีก 5-7 วัน ก่อนจะทำการขุดหลุมปลูกในระยะ 8 x 8 เมตร หรือ 10 x 10 เมตร ขนาดหลุมลึก 50 เซนติเมตร กว้างยาว 50 เซนติเมตร

การปลูก
ใช้ต้นพันธุ์ที่ได้จากการตอน ควรเลือกขนาดต้นพันธุ์ที่สูงประมาณ 0.5-1 เมตร ก่อนปลูกให้โรยก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักหรือวัสดุทางการเกษตรอื่นๆ ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตราที่หลุมละ 1 กำมือ แล้วโกยดินลงคลุกผสมให้หลุมตื้นขึ้นมาเหลือประมาณ 25-30 เซนติเมตร ก่อนนำต้นพันธุ์ลงปลูก พร้อมกลบดิน และรดน้ำให้ชุ่ม หลังจากนั้น ให้นำฟางข้าวมาวางคลุมรอบโคนต้น

การดูแล
การให้น้ำ หลังจากการปลูกแล้วจะทำการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในระยะแรกเพื่อให้ต้นตั้งตัวได้ โดยควรให้น้ำในทุกๆ 3-5 วัน/ครั้ง ซึ่งอาจเป็นระบบน้ำหยดหรือตักน้ำรด หลังจากนั้น ค่อยให้ลดลงมาเหลือ 3-4 ครั้ง/เดือน ทั้งนี้ อาจไม่ให้น้ำเลยหากเป็นช่วงฤดูฝน

การใส่ปุ๋ย ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ในระยะนี้จนกว่าต้นจะเติบโตพร้อมให้ผล ซึ่งช่วงนั้นจึงเริ่มให้ปุ๋ยสูตร 12-12-24 ร่วม เพื่อเร่งผลผลิต ความถี่การใส่ปุ๋ยประมาณ ปีละ 2-3 ครั้ง ทั้งนี้ ควรใส่ปุ๋ยคอกโรยรอบโคนต้นด้วยทุกครั้ง

การกำจัดวัชพืช ควรกำจัดด้วยการถากหญ้ารอบโคนต้นออกอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในระยะ 1 ปีแรก แต่เมื่อเข้าปีที่ 2 ต้นมะขามจะแตกกิ่งมากทำให้คลุมดินได้ดีจึงลดความถี่การกำจัดหญ้าลง

ผลผลิต
หลังจากการปลูกแล้วประมาณเข้าปีที่ 2 หรือปีที่ 3 จึงให้เริ่มติดผลได้ โดยในปีแรกหรือปีที่ 2 ให้เด็ดดอกออกเสียก่อนหรือปล่อยให้ติดผลบ้างเล็กน้อย