พืชสมุนไพร

Last Updated on 18 มีนาคม 2015 by puechkaset

พืชสมุนไพร หมายถึง กลุ่มของพืชที่นิยมนำมาใช้สำหรับรักษาโรค บำรุงร่างกาย และใช้สำหรับการถอนพิษตามความเชื่อ และภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงการใช้ในทางการแพทย์แผนโบราณ และแผนปัจจุบัน ทั้งนี้ สมุนไพรบางชนิดนิยมนำมาเป็นส่วนประกอบของอาหารด้วยเช่นกัน

ปัจจุบัน พืชสมุนไพรนิยมปลูกมากทั้งกลุ่มพืชที่มาจากต่างประเทศ และพืชสมุนไพรท้องถิ่นในไทย ในที่นี้จะขอกล่าวถึงพืชสมุนไพรในกลุ่มที่ปลูกตามบ้านเรือน และปลูกเพื่อการพาณิชย์

ประเภทของสมุนไพร แบ่งตามรส ดังนี้
1. รสขม เช่น บอระเพ็ด ฟ้าทะลายโจร มะระ สะเดา เป็นต้น
2. รสเผ็ด เช่น หญ้าแห้วหมู ขิง ข่า กานพลู กระเทียม กระชาย เป็นต้น
3. รสฝาด เช่น เปลือกคูน เปลือกข่อย เปลือกมังคุด เป็นต้น
4. รสเปรี้ยว เช่น มะขาม สมอ มะนาว เป็นต้น
5. รสหวาน เช่น ดอกคำฝอย ชะเอมเทศ อ้อย น้ำผึ้ง รากสามสิบ เป็นต้น
6. รสเมา เช่น รากทับทิม เปลือกข่อย ทองพันชั่ง ใบกระท่อม เป็นต้น
7. รสมัน เช่น งา เมล็ดมะขาว เมล็ดบัว แก่นกรันเกา และรากหรือหัวของพืชต่างๆที่มีแป้ง
8. รสหอมเย็น เช่น ดอกกระดังงา ดอกลำดวน แฝกหอม ชะมดเช็ด ใบบัวบก เป็นต้น
9. รสเค็ม เช่น เหงือกปลาหมอ ลำพู โกงกาง ผักชะครา เป็นต้น

สมุนไพร

ประเภทสมุนไพร แบ่งตามส่วนที่นำมาใช้
1. ใบ เช่น ใบรางจืด
2. ดอก เช่น ดอกกานพลู
3. ผล เช่น มะเกลือ
4. ลำต้น และเปลือก เช่น แก่นคูน
5. ราก และหัว เช่น กระชายดำ กระชายขาว ขมิ้น ว่านชักมดลูก กราวเครือขาว เป็นต้น

สมุนไพรที่ใช้ปรุงเป็นยาตามตำรับยาต่างๆจะมี 3 รสหลัก คือ
1. รสเย็น ปรุงโดยใช้ใบไม้ เกสรดอกไม้ และส่วนที่เผาให้เป็นถ่านใช้ในทางเตโชธาตุ เช่น ยามหานิล ยาเขียว
2. รสร้อน ปรุงโดยใช้เบญจกุล ตรีกฏุก หัสคุณ พริกไทย ดีปลี กระชาย ขิง พริกไทย ดีปลี กระชาย ใช้ทางวาโยธาตุ
3. รสสุขุม เป็นรสไม่ร้อนไม่เย็น ปรุงโดยใช้เทียน โกฎต่างๆ เครื่องเทศที่ไม่ร้อน เช่น อบเชย กลำพัก กฤษณา ขอนดอก แก้โรคทางโลหิต

ลักษณะพืชสมุนไพร
1. ราก และหัว
– รากแก้ว มักอวบใหญ่ มีรากฝอยน้อย เมื่อดมจะมีกลิ่นหอมหรือกลิ่นฉุน
– รากหยั่งลึก ทังรากแก้ว และรากฝอย
– รากฝอย มักมีรากจำนวนมากออกจากหัวหรือเหง้า ขนาดรากกว้าง และยาวเท่าๆกัน มีกลิ่นหอมหรือฉุน
– พืชที่มีหัวยกเว้นพืชที่นำมาทำอาหารมักเป็นพืชสมุนไพร เมื่อดมจะมีกลิ่นหอม และฉุน

3. ใบ
– ใบมีรสต่างๆ อาทิ รสเผ็ด รสขม รสเปรี้ยว รสฝาด
– ใบมีลักษณะอ่อนเหนียว
– ใบเดี่ยวมีใบเดียวในหนึ่งก้านใบ
– ใบมีกลิ่นหอมหรือฉุน

4. ดอก และผล
– มักให้รสต่างๆ อาทิ รสขม รสฝาด รสเผ็ด
– มีกลิ่นของดอก และผลแรง
– ผลมีลักษณะดำ น้ำตาลเมื่อสุกแก่

5.เปลือก และลำต้น
– ให้รสต่างๆ อาทิ รสขม รสฝาด รสเผ็ด
– เวลาสับเปลือกมักมีน้ำหรือยางสีดำหรือน้ำตาลไหลออกมา
– แก่นหรือเปลือกมักมีกลิ่นหอมหรือฉุน
– ลำต้นประเภทไม่เลื้อยมักคดงอไปมา
– ไม้ขนาดเล็กมักแตกเป็นพุ่มตั้งแต่บริเวณโคนต้น
– ลำต้นเล็ก เตี้ย แม้อายุนานหลายปีตามชนิดพันธุ์ ยกเว้นไม้ที่เจริญเติบโตไม่ดี

ระยะการเก็บสมุนไพร
ดอก สามารถเก็บได้ทัั้งในระยะดอกตูม และดอกบาน แต่เก็บในระยะดอกบานจะดีที่สุด เนื่องจากเป็นระยะที่ดอกเจริญเติบโตเต็มที่

ผล สามารถเก็บในระยะผลดิบ และผลสุก ขึ้นกับชนิดของผลสมุนไพรนั้นๆ แต่นิยมเก็บในระยะผลแก่

เปลือก กิ่ง และลำต้น ควรเก็บในระยะหลังฤดูฝนหรือต้นฤดูหนาวที่เนื้อเยื่อหยุดการเจริญเติบโตในรอบปีนั้นๆ

ใบ ควรเก็บในระยะฤดูฝนถึงหนาวที่เป็นช่วงกำลังเจริญเติบ มีลักษณะของใบอ่อน ใบแก่ แต่ยังไม่แก่มาก ซึ่งใบมักจะแก่มากในช่วงฤดูแล้ง ใบเหลือง แห้ง และร่วงง่าย

ราก และหัว ควรเก็บในระยะหลังฤดูฝนหรือต้นฤดูหนาว เนื่องจากเป็นระยะที่หยุดการเจริญเติบโต และกำลังเก็บสะสมอาหารบริเวณราก และหัว

การเก็บรักษาสมุนไพร
สมุนไพรที่เก็บมาแล้ว หากไม่นำมาใช้ประโยชน์ทันที จำเป็นต้องเตรียมสมุนไพรเพื่อให้สามารถเก็บรักษาไว้นานได้ ได้แก่ การตากแห้ง หรือการอบ เพื่อไล่ความชื้นออกหมด และบรรจุใส่ถุงหรือหีบห่อเก็บไว้ในที่แห้ง ไม่สัมผัสฝนหรือความชื้นได้ง่าย

ประโยชน์สมุนไพร
1. เป็นส่วนประกอบของอาหารหรือรัับประทานสด
2. ยารักษา บำบัด ถอนพิษ บรรเทาอาการ ฟื้นฟู และบำรุงร่างกาย
3. สกัดน้ำมันหอมระเหย
4. ทำเครื่องสำอาง
5. ใช้สำหรับกำจัด ป้องกัน แมลงศัตรูพืช
6. เป็นพืชเศรษฐกิจ จำหน่าย เสริมรายได้ ในรูปของยาสมุนไพร ไม้มงคล ไม้ประดับ