พลับพลึงธาร/หญ้าช้อง/หอมน้ำ พืชน้ำที่พบแห่งเดียวบนโลก

Last Updated on 21 สิงหาคม 2016 by puechkaset

พลับพลึงธาร (Water onion) หรือที่เรียก หญ้าช้อง หรือ หอมน้ำ จัดเป็นพืชใต้น้ำที่พบในประเทศไทยเพียงแห่งเดียวบนโลก คือ จังหวัดระนอง และพังงา ลำต้นมีลักษณะเด่น คือ ลำต้นเติบโตจากดินใต้น้ำ มีใบอยู่ในน้ำ แต่มีดอกชูขึ้นเหนือน้ำ ดอกมีสีขาวคล้ายดอกพลับพลึงขาวบนบก แต่ขนาดเล็กกว่า

อนุกรมวิธาน
• Kingdom : Plant
• Division : Magnoliphyta
• Class : Liliopsida
• Order : Asparagales
• Family : Amarllidaceae
• Genus : Crinum
• Species : C. thaianum Schulze.

• ชื่อสามัญ : Water onion
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Crinum thaianum Schulze.
• ชื่อท้องถิ่น :
– พลับพลึงธาร
– หญ้าช้อง
– หอมน้ำ
– พลับพลึงน้ำ
– ช้องนางคลี่
• ถิ่นกำเนิด : จังหวัดระนอง และพังงาของประเทศไทย

พืชสกุล Crinum เป็นพืชที่ชอบความชื นสูง และชอบขึ นอยู่ใกล้กับบริเวณแหล่งน้า มีทั้งหมด 4 ชนิด คือ
1. C. thaianum คือ พลับพลึงน้ำ ของไทย
2. C. aquaticum พบในแถบประเทศแอฟริกาเขตร้อน
3. C. natans พบในแถบประเทศแอฟริกาเขตร้อน
4. C. purpurascens พบในแถบประเทศบราซิล และเทือกเขาอินดีสตะวันออก

ดอกพลับพลึงธาร

การแพร่กระจายพลับพลึงธาร
พลับพลึงธาร/หญ้าช้อง/ หอมน้ำ เป็นพืชน้ำที่เติบโตได้ดีในแหล่งน้ำขัง พบในประเทศไทยแห่งเดียวบนโลกใน 2 จังหวัดทางภาคใต้ คือ จังหวัดระนองตั้งแต่ อ. สุขสำราญ ในตอนล่างของจังหวัดจนถึง อ. คุระบุรีในตอนบนของจังหวัดพังงา โดยพบได้ในคลองต่างๆ ได้แก่
• จังหวัดระนอง
– คลองนาคา อ. สุขสำราญ
– คลองบางปรุ อ. กะเปอร์
• จังหวัดพังงา
– คลองบางเผาหมู อ. ตะกั่วป่า
– คลองบางหญ้าใหม่ อ. กะปง
– คลองตำหนัง อ. คุระบุรี
– คลองสวนยาง อ. คุระบุรี
– คลองนุ้ย อ. คุระบุรี
– คลองกำนันหัด อ. คุระบุรี
– คลองบางปง อ. คุระบุรี
– คลองบางบ่อ อ. คุระบุรี
– คลองบางซอย อ. คุระบุรี
– คลองตาผุด อ. คุระบุรี
– คลองท่ากะได อ. คุระบุรี

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
พลับพลึงธาร เป็นพืชใต้น้ำ (Submerged Plant) และเป็นพืชล้มลุกที่มีหัวอยู่ใต้ดินของท้องน้ำ หัวมีขนาดประมาณ 7 เซนติเมตร สีขาวมีลักษณะคล้ายหัวหอม ซึ่งประกอบด้วยกาบใบหุ้มซ้อนอัดกันแน่นจนหลายเป็นหัว โคนหัวใหญ่ และส่วนปลายหัวเรียวเล็ก ฐานหัวมีรากแขนงแตกออกหยั่งลึกลงดิน หัวแก่สามารถแตกหัวใหม่ออกด้านข้างจำนวนมาก จนทำให้มีลักษณะเป็นกอใหญ่ใต้น้ำ

หัวพลับพลึงธาร
ขอบคุณภาพจาก botanyschool.ning.com

ใบ
ใบพลับพลึงธารแทงออกเป็นใบเดี่ยว บริเวณส่วนปลายของหัวที่เรียงซ้อนกันเป็นวง ใบจะแทงยาวขึ้นผิวน้ำด้านบน แต่ใบมีลักษณะอ่อนพลิ้วลอยในน้ำ และผิวน้ำ แต่ละหัวมีใบประมาณ 10-20 ใบ แต่ละใบมีลักษณะเรียวยาว ขนาดกว้างประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร ความยาวของใบขึ้นอยู่ตามความลึก แต่ทั่วไปจะยาวประมาณ 2-3 เมตร แผ่นใบมีสีเขียวอ่อนถึงเขียวเข้ม ขึ้นอยู่กับความสะอาดของแหล่งน้ำ สาวนขอบใบหยักจะเป็นฟันเลื่อยเล็กๆ เนื้อใบนุ่ม แต่ค่อนข้างเหนียว ใบมีเส้นใบตามแนวยาว

ดอก
ดอกพลับพลึงธารแทงออกเป็นช่อ ประกอบด้วยก้านดอกยาวที่แทงขึ้นมาจากตรงกลางของส่วนหัว ความยาวก้านดอกตามความลึกของน้ำ แต่ละหัวมีก้านดอก 1 ก้าน ปลายก้านดอกโผล่พ้นน้ำที่ประกอบด้วยดอกย่อย 5-8 ดอก แต่ละดอกประกอบด้วยก้านดอก สีเขียวแกมม่วง และมีกาบหุ้มสีแดง ขนาดก้านดอก 0.5-0.8 เซนติเมตร ยาว 30-80 เซนติเมตร ดอกตูมมีลักษณะเป็นหลอดที่เป็นกลีบดอกสีเขียวอมขาวหุ้มติดกัน ขนาดดอกตูมยาว 12-14 เซนติเมตร เมื่อดอกบานจะแผ่กลีบดอกออกเป็นรูปร่ม จำนวน 6 กลีบ แต่ละกลีบกว้าง 0.8-1 เซนติเมตร ยาว 8-10 เซนติเมตร แผ่นกลีบดอกเรียบ มีสีขาว ตรงกลางดอกประกอบด้วยก้านเกสรเพศผู้ สีขาวถึงแดงจำนวน 6 อัน แต่ละอันยาว 6-8 เซนติเมตร แผ่กางออกเป็นวงรอบ ถัดมาในฐานดอกจะเป็นอับเรณูสีเหลืองอ่อน ยาว 1.2-1.5 เซนติเมตร ที่มีก้านเกสรตัวเมียเป็นสีแดง ตามลักษณะรูปแรกด้านบน

ทั้งนี้ ดอกพลับพลึงธารจะทยอยบานทีละ 1-3 ดอก และจะออกดอกครั้งแรกเมื่อตนมีอายุประมาณ 3 ปี มีช่วงออกดอกในเดือนตุลาคม-ธันวาคม ขณะบานจะส่งกลิ่นหอมไปทั่ว และมักแทงช่อดอกบานเป็นจำนวนมากพร้อมกันจนมองเห็นเป็นดอกไม้สีขาวเต็มลำคลอง

ผล
ผลพลับพลึงธารออกเป็นผลเดี่ยว แต่รวมกันหลายผลบนก้านผล ผลมีลักษณะ ทรงกลม เปลือกผลบาง มีลักษณะอ่อนนุ่ม ผลอ่อนมีเปลือกผลสีเขียวอ่อน เมื่อแก่จะมีสีแดงเรื่อหรือสีม่วงแกมสีเขียว ด้านในผลมีเมล็ดประมาณ 5 เมล็ด เรียงอัดต่อกันคล้ายการต่อจิกซอให้เป็นทรงกลม และเมื่อผลแก่ เปลือกผลจะเปื่อยยุ่ยทำให้เมล็ดแตกออกลอยตามน้ำ

ผลพลับพลึงธาร

เมล็ด
เมล็ดพลับพลึงธารมีลักษณะเป็นเหลี่ยม ขนาดเมล็ดไม่เท่ากัน เปลือกหุ้มเมล็ดมีสีเขียว แต่ละเมล็ดจะมีขนาดไม่เท่ากัน ขนาดเมล็ด 1-3 เซนติเมตร

การแพร่ขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ
เมื่อผลของพลับพลึงธารแก่ เปลือกผลก็จะเปื่อยยุ่ยทำให้เมล็ดหลุดลอยตามน้ำ ซึ่งจะอยู่ในช่วงเดือน ธันวาคม-มกราคม ซึ่งช่วงนี้มีสภาพน้ำน้อย และเมล็ดจะจมลงหน้าดินใต้ท้องน้ำ พร้อมกับเกิดการงอกของเมล็ด และการแทงรากหยั่งลงดินจนต้นเติบโตจนถึงฤดูฝน แต่บางเมล็ดที่มีรากหยั่งลงดินตื้น ไม่สามารถทนต่อแรงไหลของน้ำได้ก็มักจะไหลตามน้ำลงทะเลไป

พลับพลึงธาร

ขอบคุณภาพจาก www.hedyoung.com

การปลูกพลับพลึงธาร
หากต้องการปลูกพลับพลึงธารมักเพาะขยายพันธุ์หรือปลูกได้หลายวิธี ได้แก่
1. การปลูกด้วยเมล็ด
การปลูกวิธีนี้ สามารถทำให้ได้ต้นใหม่ได้ดี โดยการนำเมล็ดแก่ที่ปริออกให้เห็นหลังเปลือกยุ่ยแล้วนำมาหว่านลงในหนองน้ำหรือตามแหล่งน้ำที่ต้องการปลูก
2. การผ่าแยกหัว
เนื่องจากพลับพลึงธารเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์เดียวกันกับพลับพลึงหลายชนิดที่อยู่บนบก เช่น ว่านแสงอาทิตย์ ว่านสี่ทิศ และพลับพลึงขาว เป็นต้น ซึ่งมีลักษณะหัวคล้ายกันที่สามารถผ่าหัวให้เป็นซีกๆ โยแต่ละซีกผ่าผ่านฐานหัวให้มีปมรากติด หลังจากนั้น นำซีกหัวลงปักชำใต้น้ำต่อ

ประโยชน์พลับพลึงธาร
1. พลับพลึงธารสามารถใช้เป็นดัชนีบ่งบอกคุณภาพน้ำได้ เนื่องจาก พลับพลึงธารจะเติบโตได้ดีเฉพาะในแหล่งน้ำสะอาด นอกจากนั้น แหล่งน้ำนั้น จะสะอาดมากน้อยเพียงใดจะมีผลต่อสีของใบพลับพลึงธาร กล่าว คือ แหล่งน้ำที่สะอาดมาก ใบพลับพลึงธารมักจะมีสีเขียวสด แต่หากแหล่งน้ำมีความสะอาดลดลงมามักจะทำให้ใบด่าง ใบมีสีเขียวน้อย
2. ใช้ปลูกเป็นพืชประดับในตู้ปลา สามารถเพาะจำหน่ายสร้างรายได้อีกทาง
3. เนื่องจากพลับพลึงธารพบในประเทศไทยแห่งเดียวในโลก และเวลาออกดอกจะแทงช่อดอกพร้อมกัน พร้อมกับทยอยบานจนเต็มท้องลำธารจึงทำให้ช่วงที่ดอกบานเป็นฤดูการท่องเที่ยวที่นิยมช่วงหนึ่ง