ฝ้าย ประโยชน์ สรรพคุณ และการปลูกฝ้าย

Last Updated on 24 สิงหาคม 2016 by puechkaset

ฝ้าย (cotton) จัดเป็นพืชไร่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นวัตถุดิบหลักสำหรับผลิตเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ซึ่งมีการนำมาใช้มากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบจากเส้นใยชนิดอื่นๆ

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gossypium spp.
• Family : Malvaceae
• Order : Malvales

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
1. ลำต้น
ฝ้ายเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ลำต้นสูงประมาณ 1-2 เมตร ลำต้นมีสีเขียวหรือสีน้ำตาล แตกกิ่งเป็น 2 แบบ คือ กิ่งใบ (vegetative) และกิ่งดอก (fruiting) โดยเกิดจากตาที่มุมใบ จำนวนกิ่งมีน้อย

cotton2

2. ใบ
ใบมีสีเขียว มีลักษณะเป็นแฉก 3-5 แฉก เว้าเป็นรูปหัวใจ บางชนิดมีขน บางชนิดไม่มีขน

3. ดอก
ดอกฝ้ายมีหลายสีขึ้นอยู่กับพันธุ์ ได้แก่ มีสีขาวครีม และสีเหลือง ซึ่งมีวงสีแดงหรือสีม่วงบริเวณฐานกลีบดอกด้านใน สีอื่น เช่น สีแดงม่วง ภายในดอกประกอบด้วยเกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมีย ดอกเริ่มออกประมาณ 35-45 วัน หลังจากเมล็ดงอกและจะบานประมาณอีก 25 วัน โดยดอกจะบานในช่วงตอนเช้า และเหี่ยวในช่วงตอนเย็น และจะร่วงประมาณอีก 3 วัน หลังจากการบาน โดยการบานของดอกจะเริ่มบานจากดอกที่อยู่ด้านล่างของลำต้นจนถึงดอกที่อยู่บน สุด

4. ผล และเมล็ด
ผล หรือเรียก สมอฝ้าย มีรูปร่างแตกต่างกันในแต่ละสายพันธุ์ มีลักษณะกลม ผิวเรียบ และมีรูปไข่ มีสีเขียวอ่อน เมื่อแก่มีสีน้ำดำ และจะปริแตกออก มีระยะจากดอกบานจนถึงสมอแตกประมาณ 40-70 วัน ซึ่งขึ้นอยู่กับพันธุ์ และปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม โดยผลหนึ่งจะมี 3-5 ช่อง แต่ละช่องจะมีเมล็ดฝ้ายเรียงเป็น 2 แถว ประมาณ 8 เมล็ดขึ้นไป แต่ละเมล็ดอัดแน่นด้วยเส้นใยสีขาว ซึ่งเป็นส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ในการผลิตเส้นใยฝ้าย

ผลฝ้าย

cotton

เมล็ด ประกอบด้วยเปลือกหุ้มเมล็ดสี ถัดมาเป็นเนื้อเมล็ดที่ใช้เป็นแหล่งอาหารสำหรับเลี้ยงต้นอ่อน เนื้อเมล็ดใช้นำมาสกัดน้ำมันสำหรับใช้ในด้านต่างๆ

พันธุ์ฝ้ายดั้งเดิม
1. พันธุ์ก็อซซิเปียม เฮอซุตุม (Gossypium hersutum) เป็นพันธุ์เดิมที่พบได้ในประเทศเม็กซิโก และอเมริกากลาง ในสหรัฐอเมริกา เรียกว่า ฝ้ายอัปแลนด์ (upland cotton) เป็นพันธุ์ที่ปลูกกันทั่วโลก
2. พันธุ์ก็อซซิเปียม บาร์บาเดนซ์ (Gossypium barbadense) เป็นพันธุ์เดิมที่พบในแถบทวีปอเมริกาใต้ มีหลายสายพันธุ์ เช่น ฝ้ายอียิปต์ ฝ้ายอเมริกาอียิปต์ ฝ้ายไอซ์แลนด์ และฝ้ายเปรู เป็นต้น
3. พันธุ์ก็อซซิเปียม เฮอมาเซอุม (Gossypium hermaceum) เป็นพืชพันธุ์เดิมของทวีปเอเซีย พบในประเทศอินเดีย และประเทศแถบเอเซียตะวันออก รวมถึงประเทศไทย เป็นฝ้ายที่มีเส้นใยสั้น  และหยาบกว่าฝ้ายชนิดอื่น

พันธุ์ฝ้ายที่นิยมปลูก
พันศรีสำโรง 60
– มีลำต้นโปร่ง กิ่งน้อย สูง 120-150 เซนติเมตร ใบใหญ่
– นํ้าหนักฝ้ายรวมเมล็ดของหนึ่งสมอ หนักประมาณ 6.3 กรัม
– อายุเก็บเกี่ยว 110-160 วัน
– เมล็ด 100 เมล็ด หนักประมาณ 11 กรัม
– ผลผลิตปุยรวมเมล็ดได้ 329-360 กิโลกรัม/ไร่
– ปริมาณปุยฝ้าย 39.5%
– เส้นใยยาวประมาณ 28 มิลลิเมตร (1.14 นิ้ว)

พันธุ์ศรีสำโรง 2
– ลำต้นต้นโปร่ง สูงประมาณ 120-140 เซนติเมตร กิ่งน้อย ใบมีขนาดเล็ก
– อายุเก็บเกี่ยว 110-155 วัน
– นํ้าหนักฝ้ายรวมเมล็ดของหนึ่งสมอ หนักประมาณ 6.3 กรัม
– เมล็ด 100 เมล็ด หนักประมาณ 11.4 กรัม
– ผลผลิตปุยรวมเมล็ดได้ 280-330 กิโลกรัม/ไร่
– ปริมาณปุยฝ้าย 38 %
– เส้นใยยาวประมาณ 30 มิลลิเมตร (1.19 นิ้ว)

พันธุ์นครสวรรค์ 1
– ต้นสูงโปร่ง ทรงพุ่มทรงกรวย คล้ายต้นสน สูงได้มากกว่า 140 เมตร กิ่งผลสั้น
– อายุเก็บเกี่ยว 105-150 วัน
– นํ้าหนักฝ้ายรวมเมล็ดของหนึ่งสมอ หนักประมาณ 5.9 กรัม
– ผลผลิตปุยรวมเมล็ดได้ 300-360 กิโลกรัม/ไร่
– ปริมาณปุยฝ้าย 39.5%
– เส้นใยยาวประมาณ 28 มิลลิเมตร (1.14 นิ้ว)

พันธุ์ตากฟ้า 2
เป็นพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นเมื่อ ปี 2543 โดยการผสมระหว่างสายพันธุ์แม่ GDI 9-67 X Pima 79-106 และพันธุ์พ่อ พันธุ์ศรีสำโรง 2 เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิต และคุณภาพเส้นใยสูง ราคารับซื้อดีกว่าพันธุ์อื่นๆ มีความยาวเส้นใยประมาณ 1.18 นิ้ว

ประโยชน์จากฝ้าย
1. ปุยฝ้าย
– ใช้ผลิตเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม และเครื่องใช้ประเภทผ้าภายในบ้าน
– ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมผลิตเฟอร์นิเจอร์ และชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ เช่น โต๊ะ ม้านั่ง โชฟา เบาะนั่ง เชือก สายพาน ผ้าใบ เป็นต้น

2. เมล็ดฝ้าย
– ขนปุยที่ติดกับเมล็ด ใช้ทำผ้าซับน้ำ พรม เบาะสักหลาด ฟิล์มเอกซเรย์ และพลาสติก เป็นต้น
– เปลือกเมล็ด ใช้เป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์ ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ใช้ผลิตพลาสติก ยางเทียม เป็นต้น
– เนื้อเมล็ด นำมาสกัดน้ำมัน ใช้เป็นน้ำมันประกอบอาหาร ทำเนยเทียม ใช้เป็นตัวทำละลายในอุตสาหกรรม ใช้ผลิตยา เครื่องสำอาง ยางพลาสติก เครื่องหนัง สิ่งทอ และสารกำจัดศัตรูพืช
– เนื้อเมล็ด ทำเป็นส่วนผสมของขนมปัง ผลิตแป้ง หรือใช้เป็นส่วนผสมของไส้กรอก
– กากจากเนื้อเมล็ด นำมาเป็นส่วนผสมอาหารสัตว์ หรือทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์

สรรพฝ้าย
1. สารกอสซีปอลจากเมล็ด ออกฤทธิ์เป็นยาคุมกำเนิดที่ใช้ในเพศชาย
2. ราก นำมาต้มดื่มใช้เป็นยาขับระดู กระตุ้นมดลูดบีบตัว

องค์ประกอบทางเคมีเส้นใยฝ้าย
– เซลลูโลส 94.0%
– โปรตีน 1.3%
– เถ้า 1.2%
– ขี้ผึ้ง 0.6%
– น้ำตาล 0.3%
– พิกเมนต์ เล็กน้อย
– อื่นๆ 2.6%

โครงสร้างเส้นใยฝ้าย
เส้นใยฝ้ายมีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นคาร์บอน ออกซิเจน และไฮโดรเจน มีการจัดเรียงตัวที่ทำให้เส้นใยมีคุณสมบัติความแข็งแรง ยืดหยุ่น ดูดซึม และคุณสมบัติของเส้นใยอื่นๆ
– เยื่อหุ้มชั้นนอก ประกอบด้วยขี้ผึ้ง เป๊ปติน และแร่ธาตุ
– ผนังเซลล์ ประกอบด้วย ผนังชั้นนอก และผนังชั้นใน ที่เส้นใยเรียงตัวกันเป็นวงแหวนล้อมรอบลูเมน เส้นใยฝ้ายแก่จะมีวงแหวนจำนวนมากอัดแน่นจนผนังชั้นในหนา
– ช่องว่างภายในเซลล์ เรียกว่า ลูเมน (Lumen) เป็นส่วนในสุดของเส้นใย ลักษณะเป็นโพรง หากเส้นใยสดจะมีน้ำอยู่ แต่เมื่อแห้ง น้ำจะระเหยออกเหลือเป็นโพรงอากาศ

การปลูกฝ้าย
การเตรียมดิน
ก่อนการปลูกฝ้าย ควรมีการเตรียมดินก่อน โดยการไถพลิกดิน และตากให้แห้ง พร้อมกำจัดวัชพืช นาน 7-14 วัน หลังจากนั้น หว่านโรยด้วยปุ๋ยคอก อัตรา 4-5 ตัน/ไร่ พร้อมไถพรวนดินอีกครั้ง ตากดินนาน 3-5 วัน แล้วค่อยทำการไถยกร่องกว้างประมาณ 150 ซม. อาจเว้นทางเดินประมาณ 30 ซม. หรือไม่เว้นก็ได้ ในบางพื้นที่ เกษตรกรบางรายอาจใช้วิธีการขุดหลุมปลูกเลย แต่วิธีนี้จะลำบากในการจัดแนวของแถวต้น

การปลูกฝ้าย
การปลูกฝ้ายควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝนเพื่อให้ง่ายต่อการจัดการเรื่องน้ำ โดยทำการขุดหลุมบนร่องที่เตรียมไว้เพื่อหยอดเมล็ดในแต่ละแถว ความลึกหลุมประมาณ 10-15 ซม. ระยะห่างระหว่างหลุมประมาณ 60-80 ซม. ใส่ปุ๋ยเคมีรองก้นหลุมประมาณ 1 หยิบ หยอดเมล็ดหลุมละ 3-5 เมล็ด

การเก็บเกี่ยว
อายุการเก็บเกี่ยวดอกฝ้ายในช่วง 110-160 วัน หลังการปลูก

แมลงศัตรูฝ้าย
1. เพลี้ยจักจั่นฝ้าย (Amrasca biguttula biguttula)
– ชนิดยาที่ใช้ : โอเมทโธเอท (omethoate)
– ร้อยละสารออกฤทธิ์ และสูตรที่ใช้ : 50% SL
– อัตราการผสม : 40 มล./น้ำ 20 ลิตร
– ลักษณะการใช้ : เพลี้ยจักจั่นฝ้าย พ่นเมื่อพบตัวอ่อนมากกว่า 1 ตัวต่อใบไม้ในระยะฝ้ายอายุไม่เกิน 1 เดือนและ2 ตัวต่อใบเมื่อฝ้ายอายุเกิน 1 เดือน

2. เพลี้ยอ่อนฝ้าย (Aphis gossypii)
– ชนิดยาที่ใช้ : เฟนโพรพาทริน (fenpropathrin)
– ร้อยละสารออกฤทธิ์ และสูตรที่ใช้ : 10% EC
– อัตราการผสม : 20 มล./น้ำ 20 ลิตร
– ลักษณะการใช้ : เพลี้ยอ่อนฝ้าย พ่นเมื่อพบเพลี้ยอ่อนมากกว่า 10 ตัวต่อใบ

3. เพลี้ยไฟฝ้าย (Thrips palmi)
– ชนิดยาที่ใช้ : คาร์โบซัลแฟน (carbosulfan)
– ร้อยละสารออกฤทธิ์ และสูตรที่ใช้ : 20% EC
– อัตราการผสม : 50 มล./น้ำ 20 ลิตร
– ลักษณะการใช้ : พ่นเมื่อเริ่มระบาด

4. แมลงหวี่ขาวยาสูบ (Bemisia tabaci)
– ชนิดยาที่ใช้ : โฟซาโลน (phosalone)
– ร้อยละสารออกฤทธิ์ และสูตรที่ใช้ : 35% EC
– อัตราการผสม : 80 มล./น้ำ 20 ลิตร
– ลักษณะการใช้ : พ่นเมื่อเริ่มระบาด

5. หนอนเจาะสมอฝ้าย (Helicoverpa armigera)
– ชนิดยาที่ใช้ : โพรฟีโนฟอส (profenofos)
– ร้อยละสารออกฤทธิ์ และสูตรที่ใช้ : 50% EC
– อัตราการผสม : 100 มล./น้ำ 20 ลิตร
– ลักษณะการใช้ : ตรวจนับแมลงสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เมื่ออายุฝ้าย 30-60 วัน ถ้าพบหนอนเกิน 9 ตัว จากการสุ่มต้นฝ้าย 30 ต้น ให้พ่นสารฆ่าแมลง และฝ้ายอายุ 60-90 วัน ถ้าพบหนอนเกิน 6 ตัว ให้พ่นสารฆ่าแมลง ไม่ควรพ่นสารชนิดใดชนิดหนึ่งติดต่อกันตลอดฤดูหรือหลายปี สารแต่ละชนิดควรพ่นไม่เกิน 4 ครั้งติดต่อกัน

6. หนอนเจาะสมอสีชมพู (Pectinophora gossypiella) และหนอนสะไปนี่ (Earias vittella)
– ชนิดยาที่ใช้ :ไตรอะโซฟอส (triazophos)
– ร้อยละสารออกฤทธิ์ และสูตรที่ใช้ : 40% EC
– อัตราการผสม : 120 มล./น้ำ 20 ลิตร
– ลักษณะการใช้ : เหมือนข้อ 5

7. หนอนกระทู้ผัก (Spodoptera litura) และหนอนคืบกินใบฝ้าย (Anomis flava)
– ชนิดยาที่ใช้ : โฟซาโลน (phosalone)
– ร้อยละสารออกฤทธิ์ และสูตรที่ใช้ : 22.5% EC
– อัตราการผสม : 60 มล./น้ำ 20 ลิตร
– ลักษณะการใช้ : เหมือนข้อ 5

8. หนอนม้วนใบฝ้าย (Sylepta derogate)
– ชนิดยาที่ใช้ : คลอร์ฟลูอาซูรอน (chlorluazuron)
– ร้อยละสารออกฤทธิ์ และสูตรที่ใช้ : 5% EC
– อัตราการผสม : 30 มล./น้ำ 20 ลิตร
– ลักษณะการใช้ : เหมือนข้อ 5

การเตรียมเส้นใยฝ้าย
1. การหีบฝ้าย
การหีบฝ้ายเป็นการแยกใยฝ้ายออกจากดอกฝ้าย และเมล็ดฝ้ายเพื่อให้ได้ปุยฝ้าย โดยทั่วไปเมล็ด 3 กิโลกรัม จะใด้ปุยฝ้าย 1 กิโลกรัม อีก 2 กิโลกรัม เป็นเมล็ด และเปลือกสมอ

ในโรงงานอุตสาหกรรมจะหีบฝ้ายโดยใช้เครื่องที่มีลักษณะแบบลูกกลิ้ง  โดยลูกกลิ้งจะพาเส้นใยไผ่านใบมีด และลอดใบมีด ซึ่งแยกออกจากเมล็ดที่ผ่านเข้าไปไม่ได้ ซึ่งเมล็ดจะตกลงอีกด้านหนึ่ง ส่วนปุยฝ้ายจะออกอีกด้านหนึ่งกองรวมกันเป็นก้อนแน่น และส่งเข้ากระบวนการต่อไป

2. การผสม และทำความสะอาดเส้นใย (Blowing)
ปุยฝ้ายที่อัดแน่นจะผ่านเข้าห้องผสมเส้นใย (Blowroom) ซึ่งประกอบด้วยเครื่องป้อน และผสมเส้นใย (Blending Feeders), เครื่องแยก และทำความสะอาดเส้นใย (Opening & Cleaning Machines) และสุดท้ายเป็นเครื่องทำแผ่นม้วนเส้นใย (Picking Machines) ซึ่งจะได้เส้นใยฝ้ายเป็นแผ่นม้วน (Lap)

3. การสางใย (Carding)
หลังจากเส้นใยฝ้ายผ่านกระบวนการทำเป็นแผ่นม้วนแล้วจะผ่านเข้าสู่กระบวนการทำ ความสะอาด และกำจัดเส้นใยสั้นๆ และเข้าสู่การรวบรวมเส้นใยให้เป็นเส้นขาว เรียกว่า สไลเวอร์ (Sliver) สำหรับการผลิตเส้นด้ายคุณภาพดีจะผ่านขั้นตอนการหวี ส่วนเส้นด้ายธรรมดาไม่ต้องผ่านขั้นการหวี

4. การทำแผ่นม้วนฝ้ายสำหรับการหวี (Comber Preparation)
สไลเวอร์ที่ได้จากเครื่องสางใย เมื่อต้องการทำการหวี จำต้องผ่านการทำให้เป็นแผ่นม้วน (Lap) เพื่อป้อนเข้าเครื่องหวี และเป็นการทำให้เส้นใยเหยียดตรงมากขึ้น ก่อนการหวี

5. การหวี (Combing)
การหวี เป็นการขจัดสิ่งสกปรกออกจากเส้นใย  รวมถึงการกำจัดเส้นใยสั้น ปมเส้นใย และทำให้เส้นใยเหยียดตรงมากที่สุด การทำงานของเครื่องหวี คือ แผ่นม้วนฝ้ายจะถูกป้อนเข้าทางตอนบนด้านหลังเครื่อง ผ่านการหวีและรวบรวมเป็นสไลเวอร์บรรจุลงถังซึ่งแสดงการทำงานของเครื่องหวี ขณะที่แถบของเส้นใยถูกจับยึดด้วยตัวจับบนและล่าง (Nippers) อุปกรณ์หวี (Comb) จะทำการหวีเพื่อขจัดเอาเส้นใยสั้นและอื่นๆ ที่ไม่ได้ถูกจับยึดออกไป และทำให้เส้นใยเหยียดตรง

6. การรีดปุย (Drawing)
การรีดปุยเส้นใยเป็นการทำให้เส้นใยมีความสม่ำเสมอ และมีขนาดรูปร่างตามต้องการ โดยเส้นใยจะผ่านเข้าระบบลูกกลิ้งที่วางซ้อนกันเป็นคู่ๆ ลูกกลิ้งคู่หน้าสุดจะวิ่งด้วยความเร็วสูงกว่าลูกกลิ้งคู่หลังสุด ทำให้เส้นใยที่รวมกันถูกรีดให้มีขนาดเล็กลง และเหยียดตรงมากขึ้น

7. การโรฟวิ่ง (Roving)
เป็นการลดขนาดของเส้นใยให้มีขนาดเหมาะสมสำหรับการปั่นด้าย เส้นใยก่อนเข้ากระบวนการจะมีลักษณะยาวตลอด มีเกลียวเล็กน้อยเพื่อให้เส้นใยจับยึดกัน และมีความแข็งแรง เมื่อผ่านระบบลูกกลิ้งแล้วจะได้เส้นใยที่มีขนาดเล็กลง และพันม้วนเข้าหลอดขนาดใหญ่

8. การปั่นด้าย (Spinning)
การปั่นด้ายเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการทำเป็นเส้นด้าย โดยใช้เครื่องปั่นด้วยแบบวงแหวน ซึ่งเป็นแบบที่นิยมมากที่สุด หลอดด้ายจะห้อยด้านบนเครื่อง แล้วเส้นด้ายที่ถูกลดขนาดจะพันเข้าหลอดเก็บเป็นม้วนเส้นด้ายก่อนนำไปใช้ใน การทอ