ผักหวานป่า สรรพคุณ และการปลูกผักหวานป่า

Last Updated on 10 ธันวาคม 2016 by puechkaset

ผักหวานป่า จัดเป็นผักป่าชนิดหนึ่งที่นิยมปลูก และเก็บยอดมารับประทานมาก โดยเฉพาะคนอีสาน และภาคเหนือ เพราะยอดมีความกรอบ และให้รสหวานมัน มีราคาจำหน่ายสูงถึงกิดลกรัมละ 200-250 บาท

• วงศ์ : Opiliaceae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Melientha suavis Pierre.
• ชื่อท้องถิ่น :
– ผักหวานป่า
– ผักหวาน
• มาเลเซีย เรียก : tangal
• ฟิลิปปินส์ เรียก : malatado
• กัมพูชา เรียก : daam prec
• ลาว เรียก : hvaan
• เวียดนาม เรียก : rau

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
ผักหวานป่า มีถิ่นกําเนิดในแถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ พม่า มาเลเซีย ลาว จีนตอนใต้ ฯลฯ รวมถึงประเทศไทยด้วย พบเติบโตในพื้นที่ที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 200 เมตร ขึ้นไป แต่ไม่เกิน 600 เมตร พบเติบโตทั่วไปในป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง โดยพบมากบริเวณเชิงเขาด้านล่างที่ระดับ 200-300 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล

ทั้งนี้ ผักหวานป่ามักเข้าใจผิดกับผักหวานอีกชนิดที่มีลักษณะคล้ายกัน (urobotrya siamensis hiepko) ซึ่งชาวอีสานเรียกว่า ต้นเสน ชาวจันทบุรี เรียก ผักหวานเขา ชาวชลบุรี เรียก ผักหวานดง ชาวลำปาง เรียก แก้ก้อง ชาวเชียงใหม่ เรียก นางจุมชาวสระบุรี เรียก ผักหวานเมา และชาวประจวบ เรียก ดีหมี ซึ่งทำให้เกิดอาการเบื่อเมาหากรับประทานมาก

%e0%b8%9c%e0%b8%b1%e0%b8%81%e0%b8%ab%e0%b8%a7%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b8%9b%e0%b9%88%e0%b8%b2

ความแตกต่างระหว่างผักหวานป่ากับต้นเสน

ลักษณะ ต้นเสน ผักหวานป่า
ใบแก่ รีขอบขนาน รูปไข่ค่อนข้างกลม และกว้าง
ปลายใบ ค่อนข้างแหลม มน
เนื้อใบสด เหนียว และนุ่ม กรอบ และเปราะ เมื่อบีบมีเสียงดังเปาะแปะ
ผิวใบด้านบน เขียวเข้ม และเป็นมัน เขียวสด
ช่อดอก แทงออกที่ซอกใบ ช่อดอกไม่แตกกิ่งก้าน แทงออกตามกิ่ง และลำต้น ช่อดอกแตกกิ่งก้าน
ดอก ดอกเป็นชั้นเป็นระเบียบ มีใบประดับ ออกเป็นกระจุก ไม่เป็นระเบียบ และดอกไม่มีใบประดับ
ผล ผลมีขนาดเล็ก ประมาณ 5 มิลลิเมตร เปลือกผลสีแดงอมส้ม ผลมีทรงกลม ขนาดใหญ่ ประมาณ 1.5 เซนติเมตร เปลือกผลสีเหลือง

 

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ผักหวานป่า เป็นไม้พุ่มยืนต้นขนาดกลาง มีลำต้นสูงประมาณ 5-10 เมตร หรือโตเต็มที่อาจสูงได้มากถึง15 เมตร แต่ที่พบทั่วไปในแปลงปลูกจะเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก เพราะมีการตัดยอด และตัดแต่งกิ่ง โดยลำต้นเป็นไม้เนื้อแข็ง ลำต้นแตกกิ่งมาก เปลือกลำต้นมีสีน้ำตาลอมเทา ผิวลำต้นขรุขระ

%e0%b8%95%e0%b9%89%e0%b8%99%e0%b8%9c%e0%b8%b1%e0%b8%81%e0%b8%ab%e0%b8%a7%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b8%9b%e0%b9%88%e0%b8%b2

ใบ
ผักหวานป่าเป็นพืชใบเลี้ยงคู่ แตกใบออกเป็นใบเดี่ยวๆ เรียงสลับกันบริเวณปลายกิ่ง มีก้านใบสั้น ใบมีรูปไข่ค่อนข้างรี โคนใบสอบ ปลายใยแหลม แผ่นใบ และขอบใบเรียบ ใบอ่อนหรือยอดอ่อนมีสีเขียวอ่อน ใบแก่มีสีเขียวเข้ม และเป็นมัน แผ่นใบบาง ค่อนข้างกรอบ ขนาดใบกว้างประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-12 เซนติเมตร

%e0%b8%a2%e0%b8%ad%e0%b8%94%e0%b8%9c%e0%b8%b1%e0%b8%81%e0%b8%ab%e0%b8%a7%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b8%9b%e0%b9%88%e0%b8%b2

ดอก
ดอกผักหวานป่าออกดอกเป็นช่อบริเวณกิ่ง และลำต้น ก้านช่อดอกยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร ช่อดอกประกอบด้วยดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก ดอกย่อยมีลักษณะทรงกลม สีเขียวอ่อน ประกอบด้วยดอกตัวผู้ที่ไม่มีก้านดอก 3-5 ดอก ส่วนดอกตัวเมียมีก้านดอกยาวประมาณ 3-8 มิลลิเมตร มักพบเป็นดอกเดี่ยว หรืออาจพบเป็นกลุ่ม 3-5 ดอก

ผล และเมล็ด
ผลของผักหวานป่ามีลักษณะกลมเกือบเป็นรูปไข่ ขนาดผล 1.5-2 เซนติเมตร ยาว 2.2-4 เซนติเมตร เปลือกผลเรียบ และบาง เนื้อผลค่อนข้างหนา และฉ่ำน้ำ ผลอ่อนมีสีเขียว และมีนวลเคลือบ เมื่อสุกมีสีเหลือง และสุกจัดจนร่วงจะมีสีเหลืองเข้ม ภายในมีเมล็ด 1 เมล็ด

%e0%b8%9c%e0%b8%a5%e0%b8%9c%e0%b8%b1%e0%b8%81%e0%b8%ab%e0%b8%a7%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b8%9b%e0%b9%88%e0%b8%b2

ประโยชน์ผักหวานป่า
1. ยอดอ่อนของผักหวานป่ามีความกรอบ และหวานมัน จึงนิยมนำประกอบอาหารในหลายเมนู อาทิ แกงผักหวานป่าใส่ไข่มดแดง แกงเลียง แกงจืด ผัดใส่ไข่ ทำไข่เจียว เป็นต้น
2. เมล็ดผักหวานป่านำมาต้มให้สุกใช้รับประทาน เยื่อหุ้มเมล็ด และเนื้อเมล็ดให้รสหวานมัน
3. ผักหวานป่าใช้ปลูกเป็นแนวรั้วหรือแนวเขตแดนร่วมกับการเก็บยอดรับประทาน

%e0%b9%81%e0%b8%81%e0%b8%87%e0%b8%9c%e0%b8%b1%e0%b8%81%e0%b8%ab%e0%b8%a7%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b8%9b%e0%b9%88%e0%b8%b2

คุณค่าทางโภชนาการผักหวานป่า (100 กรัม)
– น้ำ : 87.1 กรัม
– พลังงาน : 39 กิโลแคลอรี่
– โปรตีน : 0.1 กรัม
– ไขมัน : 0.6 กรัม
– คาร์โบไฮเดรต : 8.3 กรัม
– ใยอาหาร : 2.1 กรัม
– เถ้า : 1.8 กรัม
– แคลเซียม : 24 มิลลิกรัม
– ฟอสฟอรัส : 68 มิลลิกรัม
– ไนอาซีน : 3.6 มิลลิกรัม
– วิตามิน A : 792 หน่วยสากล
– วิตามิน B1 : 0.12 มิลลิกรัม
– วิตามิน B2 : 1.65 มิลลิกรัม
– เบต้า-แคโรทีน : 4756 ไมโครกรัม
– วิตามิน C : 168 มิลลิกรัม

ที่มา : 1)

สรรพคุณผักหวานป่า
ใบอ่อน และยอดอ่อน
– ป้องกันโรคเกี่ยวกับปราสาท และสมอง เช่น อัลไซเมอร์
– ป้องกันโรคมะเร็ง
– ป้องกันโรคหัวใจขาดเลือด
– ป้องกันโรคเบาหวาน
– ช่วยลดความอ้วน
– ช่วยบำรุงร่างกาย
– ต้านอนุมูลอิสระ
– แก้ร้อนใน
– ช่วยลดไข้
– แก้น้ำดีพิการ
– แก้อาการเบื่อเมา
– บรรเทาอาการปวดมดลูก
– แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย
– ใบ และน้ำยางจากใบนำมาเคี้ยวหรือกลั้วภายในปาก สำหรับแก้ลิ้นเป็นฟ้า
– ใบ และยอดอ่อนนำมาต้มน้ำดื่ม ช่วยแก้กระหายน้ำ ป้องกันโรคปากนกกระจอก

ราก และลำต้น
– ช่วยย่อยอาหาร
– ขับลมในลำไส้
– แก้ท้องเสีย
– ช่วยแก้พิษร้อน
– ช่วยถอนพิษไข้
– แก้น้ำดีพิการ
– แก่นลำต้นนำมาต้มกับต้นน้ำนมสาว ใช้เป็นยากระตุ้นน้ำนม

เพิ่มเติมจาก : 2), 3)

ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของผักหวานป่า
ใบผักหวานป่ามีสารประกอบในกลุ่มฟีนอลิกสูง ซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ดี ซึ่งช่วยในการยับยั้ง และควบคุมสารอนุมูลอิสระไม่ให้ไปกระตุ้นการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน โดยมีเอกสารการวิจัยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
Charoenchai และคณะ (2011) ได้ศึกษาฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระของผักหวานป่าจาก 3 จังหวัด คือ กาญจนบุรี สระบุรี และอุทัยธานี พบว่า ปริมาณสารประกอบฟีนอลิกของผักหวานป่าสระบุรีมีค่า 1506.95 มิลลิกรัม GAE/100 กรัมแห้ง ผักหวานป่าของสระบุรี และจังหวัดอุทัยธานี สามารถออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้สูงกว่าผักหวานป่าจากจังหวัดกาญจนบุรี และมีค่าการต้านอนุมูลอิสระเทียบเท่ากับ gallic acid ขนาด 2.80 μg/ml

ที่มา : 4)

การปลูกผักหวานป่า
ผักหวานป่าตามธรรมชาติจะเป็นไม้พุ่มขนาดเล็กถึงกลางที่เติบโตใต้ไม้ยืนต้นชนิดอื่นที่สูงกว่า ดังนั้น ผักชนิดนี้จึงชอบพื้นที่ที่มีแสงรำไร พื้นที่ที่มีแสงส่องไม่ตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะใต้ร่มไม้อื่นที่ใหญ่กว่า ดังนั้น การปลูกผักหวานป่า หากเลียนแบบธรรมชาติจะได้ผลดี คือ ปลูกแซมกับไม้ชนิดอื่นที่สามารถให้ร่มเงาได้ ทั้งนี้ การปลูกผักหวานป่าสามารถปลูกจากต้นกล้าที่ได้จากการเพาะเมล็ด การปักชำราก และการตอนกิ่ง ซึ่งปัจจุบันนิยมทั้งการเพาะเมล็ดมากที่สุด เพาะการตอนกิ่งจะแตกรากได้ยาก ถึงแม้จะใช้ฮอร์โมนเร่งรากก็ตาม และการเพาะเมล็ดจะทำได้เร็วกกว่า และทำให้ได้ต้นที่แตกกิ่งมากกว่าวิธีอื่น

พันธุ์ผักหวานป่า
พันธุ์ผักหวานป่ายังไม่มีการศึกษาข้อมูลที่ชัดเจนนัก แต่จากการสังเกตพบว่า ผักหวานป่าที่พบในไทยจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
1. ผักหวานป่ายอดเหลือง ชาวอีสานเรียกว่า ผักหวานโคก มักมีลำต้นเตี้ย แตกกิ่งน้อย ใบมีขนาดเล็ก แต่กว้าง ต้นเติบโตช้า และยอดสั้น
2. ผักหวานป่ายอดเขียว ชาวอีสานเรียกว่า ผักหวานดง มักแตกทรงพุ่มใหญ่ แตกกิ่งมาก ใบมีขนาดปานกลางถึงใหญ่ และค่อนข้างเรียว ลำต้นมีการเติบโตเร็ว ยอดยาวมากกว่าพันธุ์ยอดเหลือง

การเตรียมวัสดุเพาะ
วัสดุที่ใช้เพาะกล้าเมล็ดต่อหรือใช้เพาะชำ ควรเตรียมด้วยการนำดินมาผสมกับปุ๋ยคอก หรือวัสดุอินทรีย์ อาทิ แกลบดำ และขุ๋ยมะพร้าว โดยใช้อัตราส่วนดินกับปุ๋ยคอก และวัสดุอื่นๆที่ 1:2:1 คลุก และหมักทิ้งไว้ 7 วัน จากนั้น บรรจุใส่ถุงเพาะขนาด 4×4 นิ้ว เตรียมไว้สำหรับย้ายกล้าเพาะ

ส่วนการเพาะเมล็ดจะใช้ทรายผสมกับปุ๋ยคอก อัตราส่วน 2:1 ซึ่งเตรียมเป็นแปลงเพาะขนาดเล็ก กว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตร ซึ่งอาจใช้วิธีวางอิฐล้อมเป็นสี่เหลี่ยม แล้วแต่ปริมาณการเพาะ โดยนำทรายที่ผสมกับปุ๋ยคอกมาเกลี่ยใส่แปลงเพาะ สูงประมาณ 2-3 นิ้ว

การเพาะเมล็ด
เมล็ดที่ใช้เพาะจะต้องเป็นเมล็ดที่สุกจัด ผลมีสีเหลืองเข้ม หรือ เป็นเมล็ดที่ร่วงจากต้นแล้ว และเมื่อเก็บเมล็ดมาแล้วให้นำเมล็ดใส่ถุงพลาสติก แล้วนำเข้าตู้เย็นพักไว้ก่อน 1-2 เดือน แต่ไม่ควรมากกว่า 2 เดือน แล้วค่อยนำมาเพาะเมล็ด เพราะการเก็บเมล็ดจะเป็นการพักตัวของเมล็ด ทำให้อัตราการงอกเพิ่มขึ้น

การเตรียมเมล็ดก่อนเพาะให้นำผลมาแกะลอกเปลือก และเนื้อออกจนเหลือเมล็ด จากนั้น นำไปตากแห้ง 3-5 วัน ก่อนใช้กระดาษทรายหรือหินทรายขัดเปลือกเมล็ดให้บาง แต่ระวังอย่าขัดจนถึงเนื้อเมล็ดด้านใน จากนั้น นำเมล็ดมาแช่น้ำนาน 1 คืน หลังจากนั้น นำเมล็ดปักลงแปลงเพาะที่เรียมไว้ แล้วเกลี่ยดินให้คลุมเมล็ด ก่อนจะรดน้ำให้ชุ่ม หลังจากนั้น รดน้ำทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง ซึ่งใช้เวลาประมาณ 30-40 วัน เมล็ดจะแตกหน่อให้เห็น จากนั้น ขุดเมล็ดลงเพาะต่อในถุงเพาะชำ หรือให้ขุดเมล็ดหลังเพาะแล้วประมาณ 20-25 วัน ซึ่งเป็นระยะที่เมล็ดแทงรากออกแล้ว

ทั้งนี้ อาจเพาะเมล็ดลงในถุงเพาะชำได้โดยตรงก็ได้ โดยไม่ต้องมาเพาะในแปลงเพาะก่อน แต่วิธีนี้อาจทำให้ให้เสียถุงเพาะเปล่า เพราะบางเมล็ดไม่มีการงอก แต่หากใช้วิธีเพาะเมล็ดในแปลงก่อนจะช่วยให้สามารถเลือกเมล็ดที่งอกมาเพาะในถุงเพาะได้ทั้งหมด และสามารถเลือกเฉพาะเมล็ดที่งอกโดยสมบูรณ์ได้

%e0%b8%81%e0%b8%a5%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b9%80%e0%b8%a1%e0%b8%a5%e0%b9%87%e0%b8%94%e0%b8%9c%e0%b8%b1%e0%b8%81%e0%b8%ab%e0%b8%a7%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b8%9b%e0%b9%88%e0%b8%b2

การดูแลต้นกล้า
หลังจากย้ายเมล็ดมาเพาะในถุงเพาะแล้วหรือเมล็ดงอกในถุงเพาะแล้ว ให้รดน้ำเป็นประจำ อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง ซึ่งเมื่อผ่านไปประมาณ 2-3 เดือน กล้าผักหวานป่าจะสูงได้ประมาณ 5-12 เซนติเมตร และหลังจากช่วงนี้แล้วต้นจะเติบโตได้ช้า ซึ่งอายุกล้าประมาณ 3-4 เดือน ก็สามารถย้ายลงแปลงปลูกได้

การเตรียมแปลง และหลุมปลูก
สำหรับการปลูกผักหวานป่าในแปลงแบบปลูกแซมกับไม้อื่น ควรไถพื้นที่ว่างในแปลงทิ้งไว้ก่อน 5-7 วัน พร้อมกำจัดวัชพืชออกให้หมด ส่วนการปลูกในแปลงเดี่ยวให้ไถพรวนดินก่อนเช่นกัน

ให้ขุดหลุมปลูกขนาดกว้าง และลึก ประมาณ 50 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างหลุม และแถวที่ 2×2 เมตร จะได้ 400 ต้น/ไร่ หรือ 1.5×3 เมตร จะได้ประมาณ 356 ต้น/ไร่ หรือ 3×3 เมตร จะได้ประมาณ 267 ต้น/ไร่ แล้วตากหลุมไว้ 5-7 วัน จากนั้น นำปุ๋ยคอกโรยก้นหลุม 3-5 กำมือ ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ปริมาณ 1 กำมือ พร้อมคลุกผสมให้เข้ากัน

วิธีการปลูก
การปลูกผักหวานป่าควรลงแปลงปลูกในต้นฤดูฝนประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน โดยกล้าผักหวานป่าที่ใช้ปลูกจะต้องมีอายุประมาณ 3-4 เดือน หรือต้นสูงประมาณ 15-25 เซนติเมตร ก่อนปลูกให้ฉีกถุงเพาะออก แล้วนำต้นกล้าลงหลุม พร้อมกลบดินให้สูงเหนือพื้นประมาณ 5 เซนติเมตร ก่อนรดน้ำให้ชุ่ม

การให้น้ำ
ผักหวานป่าหากปลูกตั้งแต่ต้นฤดูฝนจะไม่จำเป็นต้องให้น้ำ เพียงปล่อยให้เติบโตตามธรรมชาติก็สามารถตั้งต้นได้ แต่หากถึงหน้าแล้ง ควรรดน้ำอย่างน้อย 2 ครั้ง/อาทิตย์ จนกว่าจะถึงหน้าฝนค่อยปล่อยตามธรรมชาติ

การกำจัดวัชพืช
ในระยะ 1 ปีแรก จำเป็นต้องคอยกำจัดวัชพืชเป็นกระจำ อย่างน้อย 3 เดือน/ครั้ง จนกว่าต้นจะแตกกิ่งขยายเป็นพุ่ม หลังจากนั้น ปีที่ 2 ให้กำจัดวัชพืชประมาณ 2-3 ครั้ง/ปี ร่วมกับการใส่ปุ๋ยในแต่ละครั้ง

การใส่ปุ๋ย
หลังจากการปลูกแล้ว เกษตรมักปล่อยให้เติบโตตามธรรมชาติ จนกว่าต้นจะมีอายุประมาณ 2 ปี หรือประมาณ 1 ปี ครึ่ง หรือบางพื้นที่ใช้เวลาประมาณ 3 ปี ค่อยตัดแต่งกิ่งเพื่อบังคับให้แตกยอด ซึ่งขึ้นอยู่กับต้นกล้าที่ปลูก หากเป็นกล้าตอนกิ่งจะเร็วกว่ากล้าเพาะเมล็ด

การใส่ปุ๋ยใน 1-2 ปีแรก จะให้ประมาณ 2 ครั้ง ด้วยปุ๋ยคอกประมาณ 1 ถังเล็ก/ต้น กับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ประมาณ 1 กำมือ/ต้น และหลังจากปีที่ 2 ที่เริ่มบังคับให้แตกยอดจะเริ่มให้อีกครั้ง และหลังเก็บยอดอีก 1 ครั้ง

การทำให้ออกยอด และการเก็บยอดผักหวานป่า
ผักหวานป่าในแถบภาคเหนือ และอีสานจะแตกยอดในช่วงต้นฤดูแล้ง ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-มิถุนายน ซึ่งเริ่มเก็บยอดจำหน่ายได้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ และมีออกมากในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ส่วนผักหวานป่าในภาคใต้จะเริ่มแตกยอด และเก็บยอดได้ใน 2 ช่วง คือ ช่วงแรกตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายน และช่วงที่ 2 ตั้งแต่เดือนกันยายน-ตุลาคม

การทำให้แตกยอดอ่อน
หลังจากปลูกกล้าผักหวานป่าได้ประมาณ 1 ปีครึ่ง – 2 ปีแล้ว ให้เริ่มตัดแต่งกิ่ง โดยให้ตัดปลายกิ่งทุกกิ่งทิ้ง ซึ่งจะตัดออกประมาณ 15-20 เซนติเมตร พร้อมกับรูดใบแก่บริเวณโคนกิ่งทิ้ง และเหลือใบไว้ประมาณ 3-4 ใบ หลังจากนั้น หว่านโรยด้วยปุ๋ยคอก อัตรา 3-5 กำมือ/ต้น และปุ๋ยเคมีสูตร 12-6-6 ประมาณ 1 กำมือ/ต้น พร้อมรดน้ำให้ชุ่มทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง ซึ่งประมาณ 7-14 วัน

ผักหวานป่าจะแตกยอดยาวพร้อมเก็บ และเก็บได้ต่อเนื่องจนถึงเดือนมิถุนายน ในระหว่างการเก็บยอดนี้ หรือหากต้องการเก็บยอดจนถึงเดือนสิงหาคม สามารกระตุ้นให้แตกยอดได้ด้วยการริดใบแก่ออก พร้อมให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ แต่หลังจากเดือนสิงหาคมแล้ว ให้หยุดการเก็บยอดจนกว่าจะถึงต้นปีหน้าค่อยเริ่มกระตุ้นให้แตกยอดอีกครั้ง

วิธีเก็บยอด
เกษตรกรมักเก็บผักหวานป่าด้วยการเด็ดด้วยมือ โดยจะเก็บยอดอ่อนที่มีความยาวตั้งแต่ 4-10 เซนติเมตร จากนั้น นำยอดผักหวานป่ามาคัดแยกความยาวออกเป็นมัดๆ โดยแบ่งเป็น 2 ขนาด คือ ยอดที่มีความยาวไม่เกิน 5 เซนติเมตร ซึ่งมักจะเป็นผักหวานป่าที่มียอดสั้นๆ และยอดที่มีความยาวมากกว่า 5 เซนติเมตร ทั้งนี้ ราคาจำหน่ายจะอยู่ในช่วงกิโลกรัมละ 200-250 บาท

โรค และแมลงศัตรู
ผักหวานป่าไม่ค่อยพบการเกิดโรค แต่อาจพบแมลงศัตรูที่มาคอบกัดกินยอดอ่อนบ้างอาทิ หอยทาก และหนอนผีเสื้อต่างๆ ทั้งนี้ ไม่แนะนำให้ใช้สารเคมีฉีดพ่น เพราะอาจมีสารพิษตกค้างได้ และตามธรรมชาติผักหวานป่าเองไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรคหรือแมลงกัดกินที่รุนแรงมากนัก

ขอบคุณภาพจาก www.snpfarm.com/, http://www.vigotech.co.th/, www.bloggang.com, http://ผักหวานป่าภูกระดึง.blogspot.com/, www.nanagarden.com

เอกสารอ้างอิง
untitled