ผักขี้หูด ประโยชน์ และสรรพคุณผักขี้หูด

Last Updated on 30 ตุลาคม 2016 by puechkaset

ผักขี้หูด จัดเป็นผักพื้นบ้านที่พบมากในภาคเหนือที่นิยมเก็บฝักอ่อนหรือยอดอ่อนมาประกอบอาหาร เนื่องจากผักสด ให้รสเผ็ด มีกลิ่นฉุน ใช้รับประทานคู่น้ำพริก เมื่อลวกหรือปรุงทำอาหารจะมีความกรอบ และหวานมัน กลิ่นฉุนไม่ค่อยมี

• วงศ์ : CRUCIFERAE
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Raphanus sativus Linn.
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง เหนือ และทั่วไป
– ผักขี้หูด
– ผักเปิ๊ก
อีสาน
– ผักกาดแซ (ผักกาดที่มีกลิ่นฉุนแรง)

ผักขี้หูด เป็นชื่อเรียกท้องถิ่นไทยที่สันนิษฐานว่า ถูกตั้งชื่อมาจากลักษณะของฝักที่เป็นคอขอดไปมาคล้ายก้อนขี้หูด

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
ผักขี้หูดมีถิ่นกำเนิดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในอินเดีย และต่อมาค่อยแพร่กระจายเข้ามาปลูกในพม่า และประเทศไทย โดยพบแพร่กระจายในพื้นที่สูง พบมากในภาคเหนือ ตามที่ลาดเชิงเขา หรือพื้นที่โล่งในที่สูง

เพิ่มเติมจาก : 1)

%e0%b8%9d%e0%b8%b1%e0%b8%81%e0%b8%82%e0%b8%b5%e0%b9%89%e0%b8%ab%e0%b8%b9%e0%b8%94

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ผักขี้หูด จัดเป็นพืชล้มลุกปีเดียว ลำต้นในระยะแรกจะเป็นข้อสั้นๆที่มีใบแตกออกด้านข้างแผ่ลงดิน ต่อมาลำต้นเติบโตสูงชะลูด ประมาณ 30-120 เซนติเมตร ขนาดลำต้นเล็ก ด้านในลำต้นเป็นรูกลวง ผิวลำต้นสีเขียวอ่อน ปลายลำต้นเจริญเป็นช่อดอก ส่วนรากประกอบด้วยรากแก้วที่ไม่พองออกเหมือนรากผักกาดหัว และแตกเป็นรากแขนงเรียวยาว รากผักขี้หูดไม่นิยมใช้รับประทาน แต่สามารถใช้ในแก่สมุนไพรได้

%e0%b8%95%e0%b9%89%e0%b8%99%e0%b8%9d%e0%b8%b1%e0%b8%81%e0%b8%82%e0%b8%b5%e0%b9%89%e0%b8%ab%e0%b8%b9%e0%b8%94

ใบ
ใบผักขี้หูด ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกันตามข้อของลำต้น แผ่นใบเรียบ มีสีเขียวอ่อน ส่วนขอบใบมีทั้งชนิดที่ขอบใบเรียบ และขอบใบเว้าเป็นแฉก ใบในระยะแรกจะแตกออกเป็นกระจุกที่โคนต้น และเป็นใบขนาดใหญ่ แผ่นใบหนา ขนาดใบกว้างประมาณ 4-8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 15-30 เซนติเมตร ใบในระยะที่ต้นสูงชะลูดจะเรียวเล็กลง แผ่นใบบาง และสีใบจางลง ขนาดกว้าง 3-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร

ดอก
ดอกผักขี้หูด แทงออกเป็นช่อที่ปลายยอด ช่อดอกมีลักษณะคล้ายกับช่อผักกาดทั่วไป ช่อดอกหลักมีความยาวประมาณ 15-40 เซนติเมตร และแตกแขนงเป็นช่อดอกย่อย แต่ละช่อดอกย่อยประกอบด้วยดอกขนาดเล็ก เรียงออกเป็นดอกเดี่ยวเยื้องสลับตามความยาวของก้านช่อ

ดอกตูมมีลักษณะเป็นกรวยที่หุ้มด้วยกลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อน เมื่อดอกบานกลีบเลี้ยงจะร่วงออก และกลีบดอกจะแผ่บานออก ตัวกลีบดอกมีทั้งหมด 4 กลีบ แต่ละกลีบเป็นรูปพัด โคนกลีบสอบแคบ ปลายกลีบใหญ่ และโค้งมน แผ่นกลีบดอกช่วงปลายมีสีม่วง โคนกลีบดอกมีสีขาวอมม่วง แผ่นกลีบดอกมองเห็นเส้นกลีบชัดเจน ตรงกลางดอกเป็นเกสรตัวเมีย และรังไข่ โดยผักขี้หูดจะเริ่มติดดอกอย่างต่อเนื่องหลังจากการปลูกแล้วประมาณ 1 เดือน

%e0%b8%94%e0%b8%ad%e0%b8%81%e0%b8%9d%e0%b8%b1%e0%b8%81%e0%b8%82%e0%b8%b5%e0%b9%89%e0%b8%ab%e0%b8%b9%e0%b8%94

ผล
ผลผักขี้หูด เรียกว่า ฝัก มีลักษณะทรงกระบอก มีลักษณะโค้งยาว และเป็นลูกคลื่นหรือเป็นตะปุ่มนูนตามระยะของเมล็ด ปลายฝักแหลมเป็นติ่ง เปลือกฝักค่อนข้างหนา ฝักอ่อนมีสีเขียวเข้ม ฝักแก่มีสีเขียวอ่อน แกนกลางฝักเป็นร่องสีเขียวทั้งสองข้าง ฝักมีขนาด 0.5-0.8 เซนติเมตร ยาวประมาณ 3-25 เซนติเมตร และสามารถยาวได้มากกว่า 70 เซนติเมตร ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 1-10 เมล็ด หรือมากกว่า ขึ้นอยู่กับความยาวของฝัก เมื่อฝักแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และปริแตกออกเป็น 2 ซีกตามร่องฝัก ซึ่งสามารถเก็บเมล็ดแก่ได้ประมาณ 120 วัน หลังการปลูก

เมล็ด
เมล็ดผักขี้หูด มีลักษณะกลม เปลือกเมล็ดค่อนข้างหนาเป็นสีน้ำตาลอมดำ ขนาดประมาณ 3-5 มิลลิเมตร ฝักจะติดอย่างต่อเนื่องหลังการปลูกแล้วประมาณ 1-2 เดือน

ประโยชน์ผักขี้หูด
1. ใบดิบ และผลดิบเมื่อรับประทานจะมีรสเผ็ด และมีกลิ่นฉุนคล้ายวาซาบิ แต่เมื่อทำสุกจะมีรสมัน จึงนิยมนำมารับประทานดิบหรือลวกคู่กับน้ำพริก
2. ใบอ่อน ยอดอ่อน และฝักอ่อน นิยมเก็บมาทำอาหารจำพวกแกง และผัดต่างๆ อาทิ แกงเลียง แกงส้ม ผัดฝักผักขี้หูด เป็นต้น
3.ใบอ่อน ยอดอ่อน และดอกอ่อน นำมาทำผักดอง ด้วยการนำมาคั้นหรือขยำกับเกลือ และน้ำซาวข้าว ก่อนใส่กระปุกดองไว้รับประทาน
4. ฝักดิบแก่หรือฝักแห้งนำมาต้มน้ำสำหรับฉีดพ่นในแปลงผัก ช่วยไล่แมลง ป้องกันแมลงหรือหนอนกัดกินพืชผัก

%e0%b8%9c%e0%b8%b1%e0%b8%94%e0%b8%9d%e0%b8%b1%e0%b8%81%e0%b8%82%e0%b8%b5%e0%b9%89%e0%b8%ab%e0%b8%b9%e0%b8%94

คุณค่าทางโภชนาการ (ส่วนที่กินได้ 100 กรัม)
– น้ำ : 96.6 กรัม
– พลังงาน : 15 กิโลแคลอรี
– โปรตีน : 3.6 กรัม
– ไขมัน : 0.1 กรัม
– คาร์โบไฮเดรต : 0 กรัม
– ใยอาหาร : 0.6 กรัม
– เถ้า : 0.4 กรัม
– แคลเซียม : 44 มิลลิกรัม
– ฟอสฟอรัส : 35 มิลลิกรัม
– เหล็ก : 1.8 มิลลิกรัม
– วิตามิน A : 77 มิลลิกรัม
– ไทอะมีน (วิตามิน B1) : 0.11 มิลลิกรัม
– ไรโบฟลาวิน (วิตามิน B2) : 0.05 มิลลิกรัม
– ไนอะซีน (วิตามิน B3) : 1.1 มิลลิกรัม
– วิตามินซี : 125 มิลลิกรัม

ที่มา : 1)

สรรพคุณผักขี้หูด
ดอกอ่อน ฝักอ่อน และใบอ่อน
– ต้านโรคมะเร็ง
– ช่วยเจริญอาหาร
– ช่วยย่อยอาหาร
– แก้อาการไข้หวัด
– แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ
– ช่วยขับลมในกระเพาะ
– ช่วยละลายนิ่ว
– ใช้เป็นยาขับน้ำดี
– ช่วยบำรุงผิวพรรณ

ราก
– ช่วยลดความดันเลือด
– บรรเทาโรคเบาหวาน
– ช่วยเจริญอาหาร
– แก้ไอ และลดไข้
– ช่วยขับปัสสาวะ

เพิ่มเติมจาก : 2), 3)

การปลูกผักขี้หูด
ผักขี้หูดเพาะ และปลูกด้วยการหว่านเมล็ดเท่านั้น ซึ่งเกษตรกรนิยมหว่านในช่วงต้นฤดูฝนหรือก่อนการเก็บเกี่ยวข้าว

การเตรียมแปลง
เตรียมแปลงด้วยการไถพรวน และกำจัดวัชพืช 1 รอบ และตากดินนาน 5-7 วัน หลังจากนั้นหว่านด้วยปุ๋ยคอก ประมาณ 1-2 ตัน/ไร่ และอาจหว่านปุ๋ยสูตร 15-15-15 ร่วมด้วย ประมาณ 20 กิโลกรัม/ไร่ ก่อนจะไถพรวนอีก 1 รอบ และหว่านเมล็ด

การดูแล
การปลูกในช่วงต้นฤดูฝน ไม่จำเป็นต้องให้น้ำ แต่หากปลูกช่วงต้นฤดูหนาวที่ฝนไม่ตก ควรให้น้ำเป็นประจำทุกวัน อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง หรือให้ 2 ครั้ง เช้า-เย็น

การใส่ปุ๋ย
หลังจากต้นผักขี้หูดขึ้นแล้ว 1 อาทิตย์ ให้หว่านด้วยปุ๋ยสูตร 24-12-12 อัตรา 20 กิโลกรัม/ไร่ เพื่อเร่งใบให้สีเขียวสำหรับเก็บใบ และยอดอ่อน ส่วนการเก็บฝักอ่อน ให้หว่านปุ๋ยสูตร 6-6-12 หลังการปลูกประมาณ 20-25 วัน เพื่อบำรุงดอก และฝักอ่อน

การเก็บผลผลิต
การเก็บใบหรือยอดอ่อน สามารถเริ่มเก็บได้หลังการปลูกแล้วประมาณ 7-10 วัน และจะเก็บได้นานประมาณ 5-7 วัน ก่อนที่ลำต้นจะเติบโตชะลูดสูง ซึ่งในระยะที่ต้นขึ้นสูง ใบจะมีขนาดใบเล็ก ใบแก่หยาบ ไม่นิยมเก็บมารับประทาน

ส่วนดอก และผลอ่อนจะพร้อมเก็บรับประทานได้ ตั้งแต่หลังการหว่านเมล็ด 1 เดือน และเก็บได้ต่อเนื่องนาน 2 เดือน และหลังจากนั้นในเดือนที่ 4 ต้น และฝักจะเริ่มแก่

ขอบคุณภาพจาก http://th.openrice.com/, http://www.payer.de, BlogGang.com

เอกสารอ้างอิง
untitled