ชมพู่ สรรพคุณ และการปลูกชมพู่

Last Updated on 2 ธันวาคม 2016 by puechkaset

ชมพู่ (Rose Apple) จัดเป็นผลไม้ยอดนิยมในแถบเอเชีย เนื่องจากผลมีสีสันสวยงาม เนื้อมีรสหวาน เนื้อกรอบ และมีกลิ่นหอม แต่บางชนิดมีรสเปรี้ยวอมหวาน (ชมพู่มะเหมี่ยว) ซึ่งนิยมนำผลสุกมารับประทานสด รวมถึงบางพันธุ์นำมาประกอบอาหาร และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลายอย่าง

• วงศ์ : MYRTACEAE
• ตระกูล : Eugenia (เพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าชาย Eugene แห่ง Savoy ในยุโรป) หรือ Syzygium
• วิทยาศาสตร์ : Eugenia spp. หรือตามสายพันธุ์
• ชื่อสามัญ :
– Rose Apple (เนื่องจากมีผลคล้ายแอปเปิ้ล และมีกลิ่นหอมเหมือนกุหลาบ)
– wax apple
– java apple
• ชื่อท้องถิ่นไทย : ชมพู่
• ชื่อท้องถิ่นต่างประเทศ :
– อินเดีย เรียก gulabjaman
– ภาษาลาติน เรียกว่า jambu
– อังกฤษ เรียก jambo
– ฝรั่งเศส เรียก pommerose
– สเปน เรียก pomarosa
– จีน เรียก lien wu
– มาเลเซีย เรียก jambu air manar
– ฟิลิปปินส์ เรียก akopa

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
ชมพู่หลายชนิดมีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย แล้วค่อยแพร่กระจายเข้าสู่ประเทศในเขตร้อนชื้นต่าง โดยเฉพาะแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทยด้วย ปัจจุบัน ชมพู่พบปลูกในทุกภาค โดยมีแหล่งปลูกที่สำคัญได้แก่ นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี และสมุทรสาคร ซึ่งสายพันธ์ที่มีการปลูกในไทย ได้แก่
1. Eugenia malaccensis Linn. หรือ Syzygium malaccensis ได้แก่
– ชมพู่มะเหมี่ยว หรือ ชมพู่สาแหรก
2. Eugenia javanica Lamk. หรือ Syzygium samarangense ได้แก่
– ชมพู่แก้มแหม่ม
– ชมพู่สีนาก
– ชมพู่พลาสติก
– ชมพู่กะหลาป๋า
– ชมพู่เพชรบุรี
– ชมพู่ทูลเกล้า
– ชมพู่ทับทิมจันท์
– ชมพู่อื่น ที่บ้านเรานิยมรับประทาน
3. Eugenia jambos L. หรือ Syzygium jambos ได้แก่
– ชมพู่น้ำดอกไม้

%e0%b8%9e%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b8%98%e0%b8%b8%e0%b9%8c%e0%b8%97%e0%b8%b1%e0%b8%9a%e0%b8%97%e0%b8%b4%e0%b8%a1%e0%b8%88%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b8%97%e0%b9%8c
พันธุ์ทับทิมจันท์
ชมพู่เพชรสายรุ้ง
พันธุ์เพชรสายรุ้ง

การใช้ชื่อสกุลชมพู่
ในประเทศไทยใช้ชื่อสกุล Eugenia กับพืชสกุลชมพู่มาตลอด ต่อมา E.D.Merrillและ L.M. Perry (ค.ศ.1938) นักพฤกษศาสตร์รุ่นใหม่ได้ศึกษารายละเอียดลักษณะต่างๆ เพิ่มขึ้น และได้ให้เหตุผลที่แยกเอาสกุล Syzygium ออกจากสกุล Eugenia โดยใช้ลักษณะของเปลือกหุ้มเมล็ดที่ติดกับเปลือกหุ้มผลอย่างหลวมๆ และมีใบเลี้ยง 2 อัน ที่เห็นชัดประกบกันอยู่ตรงกลาง มีลำต้นส่วนล่างใบเลี้ยงแทรกอยู่ตรงกลาง ปัจจุบันหลายประเทศมีการใช้ Syzygium แทน Eugenia แต่ในประเทศไทยใช้ Eugenia อยู่

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ลำต้นมีความสูงประมาณ 5-20 เมตร เปลือกลำต้นเรียบหรือขรุขระ มีสีน้ำตาลหรือเทา มักแตกกิ่งก้านสาขาบริเวณใกล้กับโคนต้น

ใบ
ใบชมพู่ออกเป็นใบเดี่ยว เรียงตัวแบบตรงกันข้าม ใบหนาผิวด้านหลังใบเป็นมันสีเขียวเข้ม และมักเจือด้วยสีแดงหรือม่วง

ดอก
ดอกชมพู่เป็นช่อตามชอกใบ สีดอกแตกต่างกันไปตามพันธุ์อาจจะเป็นสีขาว เหลือง ชมพูหรือแดง ชั้นกลีบเลี้ยงมีจานวน 4-5 กลีบ และอยู่ติดกันเป็นรูปถ้วย ชั้นกลีบดอกมีจานวน 4-5 กลีบ เมื่อดอกบานชั้นกลีบดอกจะหลุดร่วงเป็นแผงคล้ายหมวก เกสรตัวผู้มีจำนวนมากมาย และอับเกสรสีทองอยู่ที่ปลายดอกการออกดอกในประเทศไทยพอจัดได้รุ่นใหญ่ 2 รุ่น รุ่นแรกเริ่มประมาณตุลาคม-พฤศจิกายน รุ่นที่สองเริ่มประมาณกุมภาพันธ์-มีนาคม

ผล และเมล็ด
ผลชมพู่มีลักษณะคล้ายระฆัง ที่ปลายผลมีชั้นของกลีบเลี้ยงรูปถ้วยติดอยู่ตลอด เนื้อ สี รูปร่าง ขนาด และรสชาติแตกต่างกันตามพันธุ์ ส่วนเมล็ด มีตั้งแต่ 1-5 เมล็ด หรืออาจไม่มีเมล็ดแล้วแต่พันธุ์ชมพู่

Syzygium jambos
ชมพู่ในตระกูลนี้มีอยู่ 1 ชนิด ได้แก่ ชมพู่น้ำดอกไม้ ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ คือ มีลำต้นเดี่ยวทรงสูงตั้งตรง ผิวเปลือกลำต้นเรียบไม่มีรอยขรุขระ กิ่งก้านแตกออกมากพอสมควร กิ่งที่แตกออกบริเวณส่วนโคนต้นจะแผ่ออกเป็นทรงพุ่มกว้าง และเป็นพุ่มเรียวแหลมในส่วนปลาย ขนาดของทรงพุ่มจะมีความสูงประมาณ 6–10 เมตร ต้นมีอายุยืนนาน 30–40 ปี

ใบเป็นรูปหอก (lanceolate) ปลายใบแหลมค่อนข้างยาว (very acuminate) ขนาดของใบกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร ใบหนาเป็นมัน ขอบใบเรียบ และก้านใบสั้น

ดอกมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 7 เซนติเมตร มีวงของกลีบดอก (corolla) 4 อัน สีขาว มีเกสรตัวผู้จำนวนมาก วงที่อยู่นอกสุดจะมีความยาวประมาณ 3 เซนติเมตร และแถวที่อยู่ ด้านในยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร มีสีขาว ส่วนก้านเกสรตัวเมียตอนปลายจะเป็นสีเขียวอ่อน และส่วนโคนจะเป็นสีเหลืองอ่อนยาวประมาณ 3.5 เซนติเมตร ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ออกดอกประมาณเดือนเมษายน–มิถุนายน และเก็บผลแก่ได้ประมาณเดือนมิถุนายน–สิงหาคม

ผล และรูปร่างของผลเป็นรูปทรงกลมแป้น ส่วนของปลายผล และขั้วผลจะแบน สีของผลภายนอกเมื่อสุก มีสีพื้นเป็นสีขาว และสีผิวเป็นสีเขียวอ่อน เนื้อสีขาว อ่อนบาง และกรอบ รสหวาน มีกลิ่น หอม เมล็ดเป็นสีน้ำตาลมีจำนวน 1-4 เมล็ดต่อผล เป็นเมล็ดแบบ polyembryonic seed คือ เมล็ดหนึ่งสามารถงอกเป็นต้นอ่อนได้มากกว่า 1 ต้น ในผลที่มีเมล็ดเดียวเมล็ดจะมีลักษณะกลม ผลที่มี 2 เมล็ด เมล็ดจะเป็นรูปครึ่งวงกลม และในผลที่มีมากกว่า 2 เมล็ด เมล็ดจะมีลักษณะต่างๆ กัน แต่จะรวมกันอยู่ในลักษณะเป็นเมล็ดกลมดูคล้ายกับเป็นเมล็ดเดียว

Syzygium malaccense
ชมพู่ตระกูลนี้มีอยู่ 2 ชนิด คือ ชมพู่สาแหรกและชมพู่มะเหมี่ยว ลักษณะทางพฤกษศาสตร์โดยทั่วไปของชมพู่สาแหรกมีลำต้นเดี่ยวตั้งตรง ผิวเปลือกหยาบ และขรุขระอย่างเด่นชัด ทรงพุ่มมีกิ่งก้านแผ่ออกกว้างบริเวณโคนต้น และเป็นพุ่มแหลมบริเวณส่วนยอด ขนาด ของทรงพุ่มมีความสูงประมาณ 8-10 เมตร มีกิ่งแตกออกมากมาย กิ่งใหญ่มักตั้งฉากกับลำต้น กิ่งมีลักษณะกลมสีเขียวอมเหลือง เมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาลอมแดง บริเวณข้อของกิ่งจะหนา และบริเวณเปลือกจะมีรอยแตกตามความยาวของลำต้น รอยแผลของใบที่หลุดร่วงไปบนลำต้นจะมีขนาดใหญ่ มีอายุประมาณ 8-12 ปี

ใบเป็นรูปโล่ห์ค่อนข้างยาว (oblong-elliptic) ปลายใบแหลมแบน (acute) ขอบใบเรียบ ใบที่โตเต็มที่จะมีขนาดความกว้างประมาณ 10-18 เซนติเมตร ยาวประมาณ 20-36 เซนติเมตร ใบอ่อนมีสีเขียวอ่อนอมชมพู ใบแก่หลังใบเป็นสี เขียวเข้ม และเป็นมัน ท้องใบเป็นสีเขียวอ่อน มีเส้นกลางใบเด่นชัดสีเขียวอมเหลือง ก้านใบสีน้ำตาลแดง

ลักษณะดอกเกิดเป็นช่อมีจำนวนประมาณ 1-12 ดอก มักเกิดบริเวณซอกใบที่มีใบหลุดร่วงไป ช่อดอกสั้น ก้านดอกย่อยสีชมพูเข้มหรือแดง มีวงของกลีบเลี้ยง (calyx) 4 อัน สีเขียวอ่อน และวงของกลีบดอก 4 อัน สีม่วงแดง เกสรตัวผู้มีอยู่จำนวนมากส่วนโคนจะยึดติดกันเป็นแถว มีสีม่วงแดง วงนอกของเกสรตัวผู้จะยาวประมาณ 3 เซนติเมตร วงในยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร เกสรตัวเมียมีขนาดใหญ่และยืดตรง ลักษณะเป็นหลอดสีม่วงแดง ยาวประมาณ 4 เซนติเมตร รังไข่อยู่ต่ำกว่าฐานรองดอก (inferior ovary) ออกดอกประมาณเดือนเมษายน–มิถุนายน

ผลแก่ประมาณมิถุนายน–สิงหาคม ผลมีรูปร่างกลมยาวแบบผลสาลี่ ปลายผลโป่งออกมีขนาดใหญ่กว่าด้านขั้วผลเล็กน้อย สีผลภายนอกเมื่อสุกมีสีพื้นเป็นสีขาว และสีผิวเป็นสีชมพู มองดูคล้ายออกดอกสีแดงหรือชมพูแกมส้ม หรือแดงเข้มสลับแดงอ่อนตามความยาวของผล ผลมีเนื้อแน่น และเหนียว สีขาวฉ่ำน้ำ รสคล้ายแอปเปิล เมล็ดค่อนข้างกลมใหญ่ ในหนึ่งผลจะมี 1 เมล็ด หรือถ้ามี 2 เมล็ด จะมีลักษณะเป็นรูปครึ่งวงกลมประกบกัน

Syzygium malaccense var. purpurea Hook
ชมพู่ตระกูลนี้คือชมพู่มะเหมี่ยว มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์โดยทั่วไปคล้ายคลึงกับชมพู่สาแหรก ซึ่งมีลักษณะลำต้นเป็นลำต้นเดี่ยวตั้งตรง ผิวเปลือกขรุขระไม่มาก ทรงพุ่มขนาดความสูงประมาณ 8-10 เมตร ส่วนล่างของทรงพุ่มมีกิ่งก้านแผ่ออกกว้าง และส่วนยอดเป็นพุ่มแหลม กิ่งใหญ่ที่แตกออกมามักตั้งฉากกับลำต้น ชมพู่มะเหมี่ยวมักมีอายุไม่ค่อยยืนเนื่องจากอ่อนแอต่อหนอนเจาะลำต้น โดยทั่วไปมีอายุประมาณ 8-10 ปี

ใบเป็นรูปโล่ค่อนข้างยาว (oblong-elliptic) ปลายใบแหลมแบบ acute ขอบใบเรียบหลังใบเป็นมัน ใบโตเต็มที่มีความกว้างประมาณ 13-16 เซนติเมตร ยาวประมาณ 25-30 เซนติเมตร

ดอกมีสีแดงเข้ม มีวงของกลีบเลี้ยง 4 อัน สีม่วงแดงปนเขียว และวงของกลีบดอก 8 อัน สีม่วงแดงอยู่ติดกันเป็นคู่ๆ ละ 2 อัน รวมกันเป็น 4 คู่ แต่ละคู่อยู่ซ้อนกันคือ แผ่นใหญ่อยู่ด้านนอกและแผ่นเล็กอยู่ด้านใน และแต่ละคู่แยกออกจากกันอย่างอิสระ เกสรตัวผู้มีจำนวนมาก บริเวณส่วนโคนเชื่อมติดกันเป็นแผ่นและมีความยาวไม่เท่ากัน พวกที่อยู่วงนอกมีความยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร วงในยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร มีสีม่วงแดง ส่วนเกสรตัวเมียยาวประมาณ 3.2 เซนติเมตร มีสีม่วงแดง รังไข่อยู่ต่ำกว่าฐานรองดอก (inferior ovary) ออกดอกประมาณเดือนเมษายน-มิถุนายน

ผลแก่เก็บได้ประมาณเดือนมิถุนายน-สิงหาคม พร้อมกับชมพู่สาแหรก ลักษณะผลเป็นรูปทรงกลมยาว ด้านปลายผลโป่งออกและมีขนาดโตกว่าด้านขั้วผลเล็กน้อย สีผลภายนอกเมื่อสุกมีสีพื้นเป็นสีแดงและสีผิวเป็นสีม่วง มองดูเป็นสีเลือดหมู ลักษณะของสีอ่อนและเข้มไม่สม่ำเสมอกันตามความยาวของผล เนื้อในสีขาวอมแดงรสคล้ายแอปเปิล ลักษณะเมล็ดค่อนข้างกลม ในแต่ละผลจะมีเมล็ดผลละ 1 เมล็ดทุกผล และมีน้ำหนักค่อนข้างมากหรือหนักกว่าเมื่อเทียบกับน้ำหนักของเมล็ดชมพู่ชนิดอื่นๆ

Syzygium samarangense
1. ชมพู่แก้มแหม่ม ผลเล็กรูปทรงระฆังแป้น ผลมีสีชมพูอมขาว กลีบดอกมีสีขาวอมเขียว รสหวานน้อย แต่มีกลิ่นหอมคล้ายดอกกุหลาบ เนื้อผลมีสีขาว เนื้ออ่อนนุ่ม มีไส้ด้านในเป็นปุย ไม่ค่อยมีเมล็ด
2. ชมพู่กะหลาป๋า ผลมีสีเขียวอ่อน เนื้อสีขาวแกมเขียวอ่อน เนื้อบาง รสหวานจัดกว่าพันธุ์อื่นๆ ไม่มีเมล็ด
3. ชมพู่กะลาเปา ผลมีสีเขียวแกมเหลือง เนื้อสีเขียวอ่อน แข็งและกรอบ มีไส้เป็นปุย รสหวานพอใช้ ใน 1 ผลจะมีเมล็ดประมาณ 1-5 เมล็ด
4. ชมพู่สีนาก ลำต้นมีทรงต้นเตี้ย มีดอกสีขาวปนเขียวอ่อน ผลสีแดงปนเขียว เนื้อสีเขียวอ่อน แข็งกรอบ รสหวาน มีไส้เป็นปุย ใน 1 ผลจะมีเมล็ดประมาณ 1-3 เมล็ด
5. ชมพู่เพชร เป็นชมพู่ที่อยู่ในชนิด (species) เดียวกันกับชมพู่แก้มแหม่ม ชมพู่กะหลาป๋า ชมพู่กะลาเปา และชมพู่สีนาก ลักษณะโดยทั่วไปจะคล้ายกับชมพูพันธุ์อื่นที่กล่าวมาในตระกูลเดียวกัน ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นชมพู่พันธุ์ผสม ระหว่างชมพู่แดงกับชมพู่กะหลาป๋า เพราะผลมีสีเขียว เนื้อแข็งกรอบเหมือนกับชมพู่กะหลาป๋า ส่วนตรงกลางผลมีลักษณะพองออกเล็กน้อย และผลแก่จะมีเส้นเล็กๆสีแดงเด่นชัด

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของชมพู่ตระกูลนี้ มีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน โครงสร้างของลำต้นโดยทั่วไป มีกิ่งที่แตกออกจากลำต้นเป็นกิ่งใหญ่ หรือมีลำต้นมากกว่า 1 ต้น รูปทรงของต้นไม่ค่อยแน่นอนและต้นไม่ตั้งตรงมักคดไปมา ภายในทรงพุ่มมีกิ่งเล็กๆน้อยมากหรือไม่มีเลย ผิวเปลือกของลำต้นและกิ่งจะหยาบและขรุขระ กิ่งอ่อนมีสีน้ำตาลอมแดงคล้ำ กิ่งแก่จะเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้มหรือน้ำตาลอมเทา ทรงพุ่มแน่น มีความสูงประมาณ 15-20 เมตร

ใบลักษณะเป็นรูปโล่ห์หรือรูปโล่ห์ค่อนข้างยาว ฐานใบเป็นรูปคล้ายหัวใจ ไม่ลึก ปลายใบมน เส้นใบเป็นรูปก้างปลา (pinnate reticulate) หน้าใบมีสีเขียวเข้มหรือสีเขียวอมฟ้า ด้านท้องใบเมื่ออ่อนมีสีม่วงเข้มหรือชมพู เมื่อแก่มีสีเขียวอมเหลือง ขนาดของใบกว้างประมาณ 3-5 นิ้ว ยาว 5-10 นิ้ว ก้านใบสั้นและหนา สีเขียวอมเหลืองหรือเจือสีม่วง

ดอกค่อนข้างใหญ่เกิดเป็นช่อ ยาวประมาณ 5-15 เซนติเมตร อาจเกิดเป็นดอกเดี่ยวหรือแตกสาขาก็ได้ ดอกเมื่อบานจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3-4 เซนติเมตร มีกลิ่นหอม กลีบดอกและเกสรตัวผู้หลุดร่วงง่าย ชั้นของกลีบเลี้ยงมีจำนวน 4 อัน สีขาวอมเหลือง รูปร่างค่อนข้างกลมหรือคล้ายช้อน มีขอบเรียบหรือหยักละเอียด เกสรตัวผู้รูปร่างยาวมีจำนวนมาก สีขาวอมเหลือง เกสรตัวเมียมีรังไข่ 2 ช่อง ก้านเกสรตัวเมียมีสีเหลืองอมเขียว ยอดเกสรตัวเมียเป็นเส้นปลายมน

ผลรูปคล้ายระฆัง (bell-shaped) ห้อยหัวลง ขั้วผลเรียวมน ขนาดประมาณ 5×6 เซนติเมตร ผิวของผลเป็นมันวาว มีสีเขียว ขาว แกมแดงแล้วแต่ชนิด เนื้อฉ่ำน้ำ สีขาว มีกลิ่นหอม มีไส้คล้ายสำลี รสหวานอมเปรี้ยวถึงหวานจัด เมล็ดมีลักษณะกลมในหนึ่งผลมีเมล็ด 1-5 เมล็ด หากผลใดมี 2 เมล็ด ลักษณะเมล็ดจะเป็นรูปครึ่งวงกลมประกบกัน ในผลที่มีเมล็ดมากกว่า 2 เมล็ด แต่ละเมล็ดจะมีรูปร่างต่างกัน แต่จะรวมกันอยู่ในลักษณะค่อนข้างกลมคล้ายเมล็ดเดียว

ชมพู่ชนิดที่สำคัญและปลูกเป็นการค้าแพร่หลายมากที่สุดในประเทศไทย คือ Syzygium samarangense ซึ่งปลูกกันมากที่จังหวัด เพชรบุรี นครปฐม และสมุทรสาคร เนื่องจากเป็นไม้ผลที่ปลูกง่าย ให้ผลดก สีสันชวนรับประทาน และรสชาติดี โดยพันธุ์ที่ปลูกส่วนใหญ่เป็นชมพู่สายพันธุ์เพชร เช่น เพชรสายรุ้ง เพชรเขียว เพชรทูลถวาย และทูลเกล้า เป็นต้น

ปัจจุบันพันธุ์ที่นิยมปลูกเป็นการค้า ได้แก่ ทูลเกล้า เพชรน้ำผึ้ง เพชรสามพราน และ พันธุ์ทับทิมจันทร์ ซึ่งเป็นพันธุ์ที่เข้ามาในระยะหลัง มีคุณสมบัติโดดเด่นในด้านทรงผลและสีผลสวย ผลโต ความแน่นเนื้อสูง รสชาติหวานกรอบ คุณภาพผลดี เป็นที่ต้องการของตลาด สามารถส่งเสริมเป็นสินค้าส่งออกได้ และให้ผลตอบแทนค่อนข้างสูง

ที่มา : 1) อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ

สรรพคุณชมพู่ (รอเพิ่มข้อมูล)

การปลูกชมพู่
การเพาะขยายพันธุ์สามารถได้หลายวิธี อาทิ การเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง การทาบกิ่ง และการเสียบยอด และที่นิยมปลูก คือ การปลูกด้วยต้นพันธุ์จากการตอนกิ่ง และการเสียบยอด เพราะสามารถให้ผลผลิตเร็ว และลำต้นไม่สูงมากนัก ส่วนการปลูกจากต้นกล้าเพาะเมล็ดก็ทำได้เช่นกัน แต่ไม่ค่อยนิยมนัก เพราะกว่าจะติดผลต้องใช้เวลานาน 4-6 ปี

การกิ่งตอน
วิธีขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง ถือเป็นวิธีที่นิยมมาก เพราะสะดวก และได้ต้นที่มีลักษณะเหมือนกับต้นแม่พันธุ์ดั้งเดิม อีกทั้ง สามารถขยายได้หลายต้นพร้อมๆกัน รวมถึงต้นที่เติบโตจะมีลำต้นไม่สูงนัก และให้ผลเร็วกว่าการปลูกด้วยเมล็ด

การตอนกิ่ง เริ่มจากคัดเลือกกิ่งที่ต้องการตอน โดยคัดเลือกกิ่งที่แข็ง ขนาดกิ่งประมาณนิ้วชี้ถึงนิ้วหัวแม่มือ เปลือกกิ่งมีสีเขียวอมน้ำตาล จากนั้น ใช้มีดตัดควั่นรอบกิ่งเป็น 2 รอย ที่ระยะห่างประมาณ 2-3 เซนติเมตร หรือเท่ากับเส้นรอบวงของกิ่ง จากนั้น ลอกเปลือกออก แล้วใช้มีดขูดเยื่อที่ผิวแก่นของกิ่งออกให้หมดจนถึงเนื้อไม้ แล้วนำถุงพลาสติกที่บรรจุด้วยขุยมะพร้าวชุ่มน้ำ ด้วยการผ่าถุงตามแนวขวางให้ลึกเกือบถึงขอบอีกด้าน และแบะถุงก่อนนำถุงมาหุ้มทับบริเวณรอยกรีดให้มิด ก่อนจะใช้เชือกฟางรัดเป็น 2 เปลาะให้แน่น ทั้งนี้ หลังจากการตอนแล้ว 30 – 45 วัน รอยแผลของกิ่งตอนจะเริ่มมีรากงอก และหลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน รากจะเริ่มแก่เป็นสีน้ำตาลจึงค่อยตัดกิ่งลงปลูกในแปลงหรือปลูกดูแลในถุงเพาะเพื่อจำหน่ายต่อไป

การเสียบยอด
การเสียบยอดจะใช้วิธีเพาะเมล็ดเพื่อให้ต้นเติบโตก่อน โดยดูแลให้ต้นโตสักประมาณนิ้วชี้เพื่อใช้เป็นต้นตอ หลังจากนั้น ตัดต้นตอ ซึ่งอาจหลังปลูกลงแปลงแล้วหรือตัดขณะที่ยังอยู่ในถุงเพาะชำ แล้วค่อยตัดกิ่งชมพูที่มีขนาดเท่ากันมาเสียบยอดเป็นต้นใหม่

การทาบกิ่ง
การขยายพันธุ์แบบนี้ ยังไม่นิยมมากนัก เพราะใช้สำหรับต้นที่ต้องปลูกมาหลายปีที่แตกกิ่งบ้างแล้ว แต่มีข้อดีที่สามารถทำให้มีชมพู่หลายชนิดรวมอยู่บนต้นเดียวกันได้

การเตรียมแปลง และหลุมปลูก
แปลงปลูกครั้งแรกจะต้องไถพรวน และกำจัดวัชพืชออกให้หมด จากนั้นขุดหลุมปลูก กว้างประมาณ 50 เซนติเมตร และลึกประมาณ 40-50 เซนติเมตร แล้วตากหลุมไว้ประมาณ 5-7 วัน โดยมีระยะปลูกหรือระยะหลุมประมาณ 8-10 x 8-10 เมตร ทั้งนี้ แปลงปลูกในที่ลุ่มควรขุดร่อง และทางระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมร่วมด้วย

%e0%b8%aa%e0%b8%a7%e0%b8%99%e0%b8%8a%e0%b8%a1%e0%b8%9e%e0%b8%b9%e0%b9%88

การปลูก
หลังจากหลุมนาน 5-7 วันแล้ว ให้หว่านรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก พร้อมคลุกผสมกับหน้าดินให้เข้ากัน จากนั้น นำกิ่งพันธุ์ลงปลูกในหลุม พร้อมกลบหน้าดินให้พูนขึ้นเล็กน้อย ก่อนปักด้วยไม้ไผ่ และรัดด้วยเชือกฟาง และอาจนำฟางข้าวหรือเศษใบไม้มาคลุมโคนต้นเพื่อรักษาความชื้นให้หน้าดิน

การให้น้ำ
1. ระยะเริ่มปลูกใหม่ๆ
การให้น้ำ ควรให้น้ำวันละครั้ง หรือ 2 ครั้ง เช้า-เย็น จนกว่าต้นชมพู่จะตั้งตัวได้ แต่หากในฤดูฝนที่มีฝนตกเกือบทุกวันก็ไม่จำเป็นต้องให้น้ำ
2. ระยะหลังต้นชมพู่ตั้งตัวได้
หลังที่ต้นติด และตั้งต้นได้ การให้น้ำจะเว้นระยะการให้เป็น 3-5 วัน/ครั้ง การให้น้ำจะให้ตามปกติขณะที่ต้นชมพู่ยังไม่ติดดอกออกผล ถ้าหากเป็นช่วงฤดูแล้งจะต้องให้น้ำอย่างน้อยประมาณ 5-7 วัน ต่อ 1 ครั้ง โดยสังเกตความชื้นของดินเป็นหลัก การให้น้ำแต่ละครั้งจะให้เต็มแอ่งที่ล้อมรอบต้นชมพู่ จนกว่าต้นชมพู่จะออกดอก แล้วจึงทิ้งระยะให้น้ำแห้งไปประมาณ 10-14 วัน เพื่อเป็นการทำให้ต้นชมพู่ออกดอก ในช่วงนี้ถ้าหากดินมีความชื้นจากการได้รับน้ำฝน ก็จะทำให้ต้นชมพู่ออกดอกน้อย และไม่พร้อมกัน หลังจากที่ต้นชมพู่ออกดอกแล้วจึงจะให้น้ำอย่างปกติและเต็มที่ทุกวันหรือ 3-5 วัน/ครั้ง จนกว่าดอกจะเริ่มบานเมื่อต้นชมพู่ติดผลในระยะเวลาประมาณ 3-5 วัน ต้นจะขาดน้ำไม่ได้จนกว่าต้นจะให้ผลแก่ และจะงดให้น้ำก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณ 5-7 วัน เพื่อเป็นการเพิ่มความหวานให้กับผลได้

การควบคุมวัชพืช
ในระยะปลูกใหม่ควรใช้จอบถากเดือนละครั้ง และควรไถพรวนรอบต้นอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อควบคุมการแพร่กระจายของวัชพืช ส่วนหลังจากปีที่ 2 แล้ว ให้เว้นระยะห่างการกำวัชพืชเป็น 2-3 เดือน/ครั้ง จนต้นมีทรงพุ่มใหญ่ค่อยกำจัดวัชพืชปีละครั้งก็เพียงพอ

การใส่ปุ๋ย
1. ระยะต้นที่ยังไม่ให้ผลผลิต (อายุ 1-3 ปี)
– ใช้ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ เช่น 15-15-15 ต้นละประมาณ 500 กรัม/ปี โดยแบ่งใส่ 2-3 ครั้ง
– ในปีที่ 2-3 ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ปีละ 1 ครั้ง อัตรา 15-20 กิโลกรัม/ต้น และปุ๋ยเคมี 15-15-15 ปีละ 2 ครั้ง อัตรา 300-500 กรัม/ต้น/ครั้ง

2. หลังจากปีที่ 3 ที่ชมพู่เริ่มผลิดอกออกผล
– การใส่ปุ๋ยเคมี และปุ๋ยอินทรีย์ จะต้องใส่ให้เพียงพอที่จะเลี้ยงต้น และผล ซึ่งหลังเก็บผลชมพู่หมดแล้วให้ทำการตัดแต่งกิ่งชมพู่ประจำปี ถ้ามีผลชมพู่ตอนนี้ต้องปลิดทิ้งไป เพื่อให้ต้นชมพู่ได้พักต้น
– หลังตัดแต่งกิ่งแล้ว ประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมด้วยทุกครั้ง
– ใส่ปุ๋ยเคมี และปุ๋ยอินทรีย์ ทุกครั้งที่ออกผลปีละประมาณ 3-5 ครั้ง โดยเริ่มใส่ตั้งแต่เดือนธันวาคม-เมษายน ประมาณเดือนละ 1 ครั้ง

การตัดแต่งกิ่ง
วิธีการตัดแต่งกิ่งต้นชมพู่ จะทำครั้งแรกเมื่อต้นชมพู่ยังมีขนาดเล็ก ในระยะนี้จะต้องตัดแต่งให้ได้รูปทรงของลำต้น และกิ่งแตกออกให้ได้สัดส่วน การตัดแต่งกิ่งจะทำหลังจากการปลูกต้นชมพู่ไปได้สักพัก จนต้นชมพู่ตั้งตัวได้ และเริ่มมีการแตกกิ่งออกมาถึงจะทำการตัดแต่งกิ่ง ส่วนการตัดแต่งกิ่ง ในระยะนี้ ต้นชมพู่จะมีรูปทรงที่แน่น มีกิ่งแตกออกมามากมาย การตัดแต่งจะทำการตัดเอากิ่งที่มีลักษณะเป็นกระโดงออก เหลือไว้ติ่งด้านข้างให้กระจายออกไปในแนวกว้าง เพื่อให้ได้ลักษณะทรงพุ่มเตี้ย ในกรณีที่ต้นมีกิ่งแตกออกมาน้อยมาก และไม่ได้รูปทรงให้ตัดกิ่งเหลือแต่กิ่งกระโดงเอาไว้ เพื่อเป็นกิ่งเสริมให้มีกิ่งมากขึ้น และได้สัดส่วน ส่วนการตัดแต่งกิ่งที่นอกเหนือไปจากนี้ ก็ควรทำบ้างตามความเหมาะสมของต้นชมพู่

การตัดแต่งกิ่งในต้นชมพู่ต้นโตหรือต้นที่ออกผลผลิตแล้ว โดยปกติจะทำการตัดเพื่อเป็นการลดภาระการเลี้ยงดูของต้นให้น้อยลง และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการออกดอก และติดผลของต้นชมพู่อีกด้วยส่วนระยะในการตัดแต่งกิ่ง ควรทำในระยะหลังจากการเก็บเกี่ยวผลเสร็จประมาณเดือนมิถุนายน เพียงปีละครั้ง พร้อมกับการใส่ปุ๋ยเพื่อเป็นการบำรุงต้นไปในตัว และวิธีการตัดแต่งกิ่งอีกวีธี คือ การตัดยอดกิ่งหรือการตัดกิ่งกระโดงที่เติบโตสูงเกินไปออก กิ่งในส่วนนี้จะมีประโยชน์ต่อต้นมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับระดับความสูง ถ้าสูงมากเกินไป และไม่สะดวกต่อการเก็บเกี่ยวก็ให้ตัดออกทันทีให้วัดความสูงจากพื้นดินประมาณ 8-10 เมตร ส่วนกิ่งไหนที่สูงกว่านี้ให้ตัดทิ้งไป

การห่อผล
เนื่องจากชมพู่มีลำต้นค่อนข้างใหญ่ บางต้นสูงถึง 25 เมตร จึงจำเป็นต้องทานั่งร้านไม้ไผ่ เพื่อสะดวกในการห่อผลชมพู่ และเก็บผลชมพู่ แต่ปัจจุบัน นิยมตัดแต่งบังคับทรงพุ่มให้เหลือไม่เกินนั่งร้าน 2 ชั้น เพื่อความสะดวกในการห่อผล และบำรุงรักษา

โดยปกติการห่อชมพู่จะเริ่มห่อผลเมื่อกลีบเลี้ยงอยู่บริเวณปลายผล หุบเข้าหากันเป็นผลจึงห่อได้ หรือขนาดผลประมาณเหรียญบาท และถ้าหากนับอายุจากที่ดอกบานจนถึงการห่อผลจะใช้เวลาประมาณ 70 วัน หากห่อผลล่าช้ากว่าระยะดังกล่าวนี้ จะทำให้ผลชมพู่ไม่มีคุณภาพตามที่ตลาดต้องการ และข้อควรระวังอย่างยิ่งในการห่อผล คือ ตำแหน่งของผลที่จะทำการห่อที่อยู่บริเวณปลายกิ่ง เวลาห่อจะต้องอาศัยกิ่งอื่นๆช่วย หลังจากนั้น จะต้องผูกยึดให้ติดกับกิ่งใกล้เคียงกันเพื่อกิ่งที่ได้จะไม่อ่อน และหัก สำหรับผลที่เกิดอยู่ตามบริเวณกิ่งจะไม่ค่อยมีปัญหาแต่จะทำการห่อได้ยากมาก

อุปกรณ์ในการห่อผล
– กระเช้าสำหรับใส่ถุง และวัสดุอุปกรณ์ในการห่อ
– ถุงกระดาษหนังสือพิมพ์หรือถุงปูนซีเมนต์ ขนาด 8×12 นิ้ว
– เชือกฟาง หรือ ตอกสำหรับมัดปากถุง หรือที่เย็บกระดาษ

วิธีการห่อผล
– ปลิดช่อผลหรือผลที่ไม่ต้องการทิ้ง โดยเฉพาะช่อผลที่มีผลอัดกันแน่นหรือช่อผลที่ออกกระจุกชิดกันมาก เพราะหากปล่อยให้เติบโตจะทำให้ผลในช่อมีขนาดเล็ก ทั้งนี้ ให้ปลิดผลที่ไม่ต้องการทิ้ง โดยให้เหลือผลไว้ 2-3 ผล/ช่อ จากนั้น นำถุงกระดาษสวมห่อ พร้อมดัดด้วยที่เย็บกระดาษหรือยางรัด และควรระวังไม่ให้ถุงอยู่ติดกับผลชมพู่ เพราะจะทำให้ผิวด้านหน้าเป็นรอยด่าง
– ปริมาณการห่อต่อกิ่งขึ้นอยู่กับขนาดของกิ่ง และความชำนาญของผู้ห่อ ถ้าห่อมากเกินไปอาจจะได้น้อย เนื่องจากผลไม่โตเท่าที่ควรหรืออาจจะร่วงหล่นมาก ถ้าห่อน้อย ผลที่ได้จะมีขนาดใหญ่มีความสมบูรณ์และรสชาติจะดี สีผลสวย

การเก็บเกี่ยวชมพู่
การเก็บเกี่ยวผลผลิตหลังจากที่ได้ห่อผลไปแล้วประมาณ 20-25 วัน แต่ต้นที่ออกในฤดูหนาวก็สามารถเก็บเกี่ยวได้ หลังจากที่ห่อไปแล้วประมาณ 25 วัน ถ้าหากเป็นฤดูร้อนก็ให้เก็บเกี่ยวหลังจากที่ห่อผลไปแล้วประมาณ 20 วัน ส่วนฤดูฝนจะใช้เวลาประมาณ 17-20 วัน ถ้าหากจะนับอายุทั้งหมด เริ่มตั้งแต่การออกดอกจนถึงการเก็บเกี่ยวจะใช้เวลาประมาณ 90 วัน

วิธีการเก็บเกี่ยว ให้เริ่มทำการเก็บเกี่ยวภายหลังจากดอกบานแล้วประมาณ 30-35 วัน หรือ 25-30 วัน หลังจากที่ทำการห่อผล ควรเก็บเกี่ยวในช่วงเช้า โดยสังเกตลักษณะของผิว ปกติแล้วสีผิวจะเปลี่ยนไปเมื่อขนาดผลใหญ่ขึ้น ควรใช้กรรไกรตัดบริเวณขั้ว

โรคพืช
โรคแอนแทรคโนส เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อรา Collectotrichum sp. จะเข้าทำลายที่ผลของชมพู่ โดยจะเริ่มเป็นแผลฉ่ำน้ำ และมีสีน้ำตาลที่ก้นผล แล้วค่อยๆขยายใหญ่ขึ้น และถ้าสภาวะความชื้นของอากาศเหมาะสม จะมีเส้นใยของรามีลักษณะเป็นผงสีดำอยู่ตามบริเวณรอยแผล

แมลงศัตรู
1. แมลงค่อมทอง
แมลงค่อมทอง เป็นด้วงงวงชนิดงวงสั้น ลำตัวสีเขียวเหลืองทอง รูปไข่ ขนาดลำตัวกว้าง 0.5 มิลลิเมตร ยาว 1.30 – 1.50 เซนติเมตร มักพบอยู่เป็นคู่ๆ ตัวเต็มวัยชอบกัดกินใบอ่อนยอดอ่อน ทำให้เว้าแหว่ง

2. ด้วงม้วนใบ
ด้วงม้วนใบ เป็นด้วงงวงขนาดเล็ก ลำตัวมีสีน้ำตาล คอยาว งวงยาวเกือบเท่าลำตัว บนปีกมีจุดสีเหลือง ตัวเมียชอบกัดกินใบ และวางไข่ในใบที่ม้วน 2 – 3 ฟอง ตัวอ่อนฟักออกจากไข่จะเป็นตัวหนอนที่เข้ากัดกินใบ ก่อนจะม้วนใบเข้าสู่ระยะดักแด้

3. เพลี้ยไฟ
เพลี้ยไฟ เป็นแมลงปากดูดขนาดเล็กมาก รูปร่างคล้ายเข็ม ตัวเต็มวัยมีปีก มักจะเข้าทำลายยอดอ่อน ใบอ่อน โดยดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้ใบแห้งตาย หรือหงิก บิดเบี้ยว แคระแกร็น

4. แมลงวันผลไม้
เป็นแมลงชนิดหนึ่ง ลำตัวมีสีดำปนเหลือง ตัวเมียจะวางไข่ไว้ในผล และตัวหนอนเข้ากัดกินเนื้อในผล ทำให้ผลเน่า และร่วงหล่นในที่สุด จะทำให้ผลผลิตเสียหายเป็นจานวนมากแล้วยังทำให้คุณภาพของผลชมพู่ลดลงไปด้วย

5. บุ้งเหลือง เป็นตัวหนอนที่ชอบกัดกินใบชมพู่ทั้งใบอ่อน และใบแก่

6. หนอนแดง เป็นตัวหนอนที่ชอบเจาะกินผลชมพู่จนทำให้ผลร่วง

ขอบคุณภาพจาก www.technologychaoban.com/, http://www.thaibiodiversity.org/

เอกสารอ้างอิง
1) ไพศาล ตันไชย. 2548. ลักษณะทางสรีระบางประการของต้นชมพู่ระยะอ่อนวัยในสภาพน้ำท่วมขัง.