คื่นฉ่าย

Last Updated on 8 มีนาคม 2015 by puechkaset

คื่นฉ่าย เป็นผักในตระกูลเดียวกันกับผักชีที่ให้ใบ และก้านใบ สำหรับรับประทานสด น้ำผัก หรือนำมาประกอบอาหาร เนื่องจากมีกลิ่นหอมเย็น สามารถดับกลิ่นคาวปลา คาวเนื้อได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการประกอบอาหารจำพวกยำ ต้ม และแกง เป็นหลัก

คื่นฉ่ายมีลักษณะกอ และลำต้นคล้ายผักชี แต่จะแตกต่างกันที่ขนาด และลักษณะของใบ และลำต้นที่ใหญ่กว่า รวมถึงคื่นฉ่ายจะมีกลิ่นที่แตกต่าง โดยจะให้กลิ่นที่อ่อนกว่าผักชี ส่วนลำต้น และใบจะออกสีเหลืองอ่อนมากกว่าผักชี ซึ่งลักษณะการปลูก และการเจริญเติบโตจะคล้ายกันมาก นิยมปลูกในแปลง และการปลูกในกระถาง

การปลูกคื่นฉ่าย
การปลูกคื่นฉ่ายสามารถปลูกได้หลายแบบ แต่ที่เห็นนิยมในปัจจุบัน ได้แก่

คื่นฉ่าย

1. การปลูกในแปลง
การปลูกในแปลงเหมาะสำหรับการปลูกเพื่อการค้าขายหรือการนำมารับประทานเองสำหรับผู้ที่มีที่ดินหรือที่ว่างเปล่า

• การเตรียมแปลง
– ทำการยกร่องแปลงหรือทำแปลงแบบธรรมดาในขนาดกว้าง 1-2 เมตร ความยาวตามความเหมาะสม
– ทำการไถพรวนดิน ร่วมด้วยกับการกำจัดวัชพืช และตากดิน 5-10 วัน ขึ้นอยู่กับชนิดดิน
– ทำการหว่านปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยเคมีรองพื้น แต่แนะนำใช้ปุ๋ยคอกหรือมูลสัตว์ร่วมด้วยกับผสมปุ๋ยเคมีเพียงเล็กน้อยจะมีผลดีต่อดินมากกว่าการใช้ปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียว เช่น ปุ๋ยคอกหรือมูลโค 1000 กก./ไร่ ร่วมกับปุ๋ยเคมี 30 กก./ไร่
– ไถกลบดิน และตากดิน 2-3 วัน ก่อนปลูก

• วิธีการปลูก แบ่งเป็น 2 วิธี คือ
1. การปลูกด้วยการหว่านเมล็ด ถือเป็นวิธีที่ง่าย สะดวก และรวดเร็ว ด้วยการหว่านเมล็ดลงแปลงหลังการไถพรวนครั้งสุดท้ายในอัตราเมล็ดพันธุ์ 0.5-1 กก./ไร่ แต่ไม่ควรให้ถี่มาก

2. การปลูกด้วยการหยอดหลุม ในระยะห่างของหลุมในแนวขวาง และแนวยาวที่ 10-15 ซม. โดยหยอดเมล็ดพันธุ์ 3-5 เมล็ด/หลุม

หลังจากการหว่านเมล็ดหรือการหยอดเมล็ดให้คราดเกลี่ยกลบดินเล็กน้อย พร้อมวางทับด้วยฟางบางๆ และรดน้ำให้ชุ่ม

2. การปลูกในกระถาง
การปลูกในกระถางเหมาะสำหรับผู้ที่ไม่มีที่ดินหรือมีที่น้อย ต้องการปลูกไว้เพื่อรับประทานเองเป็นหลัก
วัสดุ/อุปกรณ์
– กระถางพลาสติกหรือกระถางดินเผาเจาะรูด้านล่าง รวมถึงกระถางจากวัสดุอื่นที่ประยุกต์ทำได้ เช่น ถัง กะละมังเก่า ยางรถยนต์ เป็นต้น
– ถาดรองกระถาง กรณีปลูกในอาคาร
– ดินผสมปุ๋ยคอก มูลสัตว์ หรือวัสดุอื่น เช่น แกลบ ขี้เถ้า เศษใบไม้ เป็นต้น ในอัตราส่วน 2:1

• วิธีการปลูก
– ใช้วิธีหยอดเมล็ดลงกระถาง และกลบหน้าดินเล็กน้อย การหยอดเมล็ดน้อยหรือมากขึ้นอยู่กับขนาดกระถาง หากกระถางใหญ่ให้หยอดในระยะห่างระหว่างจุดหยอด 5-10 ซม. ในจุดละ 2-3 เมล็ด พร้อมรดน้ำให้ชุ่มหลังการหยอดเมล็ด

การดูแลรักษา
• การให้น้ำ สามารถให้น้ำตั้งแต่การหว่านเมล็ดครั้งแรกจนถึงระยะเก็บเกี่ยว วันละ 1-2 ครั้ง เช้าเย็น

• การใส่ปุ๋ย เนื่องจากคื่นฉ่ายเป็นผักให้ใบ และก้านใบ ดังนั้น การใส่ปุ๋ยจึงเน้นที่ธาตุอาหารไนโตรเจนเป็นหลัก และธาตุฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมรองลงมา ตามลำดับ ได้แก่ สูตร 15-0-0, 46-0-0 หรือ 25-7-7 ซึ่งให้เน้นที่เลขตัวแรกเป็นหลัก

• การใส่ปุ๋ยอาจใช้วิธีการหว่านหรือการละลายน้ำรดก็ได้ ในอัตรา 50 กก./ไร่ โดยจะเริ่มให้ปุ๋ยเมื่อต้นกล้าตั้งต้นได้แล้วหรือประมาณ 1-2 อาทิตย์ หลังเมล็ดงอก และให้อีกครั้งก่อนการเก็บเกี่ยวประมาณ 2 อาทิตย์

การเก็บเกี่ยว
คื่นฉ่ายหลังจากเมล็ดงอกจนถึงการเก็บเกี่ยวจะใช้เวลาประมาณ 40-50 วัน ซึ่งควรเก็บในช่วงเช้าตรู่หรือช่วงเย็นที่สามารถจำหน่ายตามตลาดได้ทันที ส่วนการเก็บเพื่อรับประทานเองสามารถเก็บได้ทุกเมื่อ และควรทยอยเก็บให้หมดก่อนถึงระยะที่คื่นฉ่ายจะออกดอก

การเก็บผลผลิตคื่นฉ่ายจะใช้วิธีการถอนทั้งต้น และนำมาล้างทำความสะอาดก่อนบรรจุใส่ถุง โดยเฉพาะบริเวณรากที่มักมีดินติดมาด้วยจำนวนมาก

การปลูกคื่นฉ่ายสำหรับรับประทานเองหรือปลูกในจำนวนน้อย อาจไม่จำเป็นต้องเก็บด้วยการถอนรากทั้งหมด หากไม่ต้องการหว่านเมล็ดใหม่ เนื่องจากคื่นฉ่ายสามารถงอกขึ้นใหม่ได้หลังจากใช้วิธีการตัดโคนต้นแทน ซึ่งจะได้ต้นใหม่โดยไม่ต้องทำการปลูกใหม่ แต่มีข้อเสีย คือ ต้นที่ขึ้นอาจไม่สวยงาม สมบูรณ์เหมือนต้นรุ่นแรก และจำเป็นต้องให้น้ำ ให้ปุ๋ยเพิ่มมากขึ้น