ขี้เหล็ก สรรพคุณ และประโยชน์ขี้เหล็ก

Last Updated on 21 สิงหาคม 2016 by puechkaset

ขี้เหล็ก (Cassod tree) เป็นพืชท้องถิ่นที่นิยมนำยอดอ่อน และดอกอ่อนมาทำำอาหาร โดยเฉพาะในเมนูแกงต่างๆ เนื่องจากยอดอ่อน และดอกอ่อน ให้รสขมเล็กน้อย และมีความนุ่ม นอกจากนั้น ทั้งยอดอ่อน ดอกอ่อน และส่วนอื่นๆยังนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรรักษา และบรรเทาอาการต่างๆได้หลายโรค

• วงศ์ : Caesalpiniaceae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cassia siamea (Lam.)
• ชื่อสามัญ :
– Cassod tree
– Thai copper pod
– Siamese cassia
– Irwin
– Barneby
• ชื่อพื้นเมือง :
– ขี้เหล็ก
– ขี้เหล็กบ้าน
– ขี้เหล็กหลวง
– ขี้เหล็กเผือก
– ขี้เหล็กใหญ่
– ขี้เหล็กแก่น
– ผักจี้ลี้
– แมะขี้เหละพะโดะ
– ยะหา

ใบขี้เหล็ก

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ต้นขี้เหล็กเป็นไม้ขนาดกลาง มีลำต้นสูงประมาณ 5-15 เมตร ลำต้นมีลักษณะไม่สมมาตร ไม่เป็นวงกลม และมักบิดงอ เปลือกลำต้นมีสีเทาอมดำ เปลือกแตกเป็นร่องเล็กๆตามยาว เมื่อจับจะรู้สึกสากมือ ลำต้นแตกกิ่งจำนวนมาก เป็นทรงพุ่มใหญ่

ใบ
ใบขี้เหล็กเป็นใบประกอบแบบขนนกชนิดใบคู่ (ใบสุดท้ายเป็นคู่) ใบแตกออกบริเวณกิ่ง เรียงสลับกัน ประกอบด้วยใบหลักยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร แต่ละใบหลักประกอบด้วยใบย่อย เรียงเป็นคู่ๆ 7-16 คู่ ใบย่อยมีรูปร่างรี โคนใบ และปลายใบมน แต่หลักเว้าตรงกลางของปลายใบเล็กน้อย ใบยาวประมาณ 3.5-4 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร แผ่นใบ และขอบใบเรียบ เส้นใบมองไม่ค่อยชัดเจน ใบอ่อนหรือยอดอ่อนมีสีแดงเรื่อ ใบแก่มีสีเขียวสด ไม่มีขน

โดยใบอ่อนจะเริ่มแตกออกให้เห็นตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งในระยะนี้จะเริ่มเก็บยอดอ่อนมาทำอาหารได้ และใบจะเริ่มแก่ในช่วงต้นฤดูฝนประมาณเดือนมิถุนายน ซึ่งช่วงนี้จะไม่นำมาทำอาหาร แต่ต่อไปจะนำดอกอ่อนที่ออกในช่วงกรกฏาคมมาทำอาหารแทน

ดอก
ดอกขี้เหล็กแทงออกเป็นช่อขนาดใหญ่ โดยจะแทงออกเฉพาะบริเวณปลายกิ่งเท่านั้น ช่อดอกยาวประมาณ 20-40 เซนติเมตร แต่ละช่อประกอบด้วยดอกจำนวนมาก มากกว่า 10 ดอก ดอกประกอบด้วยกลีบรองดอก 3-4 กลีบ กลีบดอกมีสีเหลืองเข้ม จำนวน 5 กลีบ ที่มีขนาดเท่ากัน ถัดมาภายในเป็นเกสรตัวผู้ 10 อัน ถัดมาเป็นเกสรตัวเมีย และรังไข่ ดอกจะเริ่มบานจากโคนช่อ เรื่อยๆจนถึงปลายช่อ ดอกบานเต็มที่มีขนาดประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร เมื่อดอกบานแล้ว 2-3 วัน จะร่วงล่นลงดิน

ดอกจะบานในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมเริ่มติดฝักในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม

ดอกขี้เหล็ก

ฝัก และเมล็ด
ผลขี้เหล็กเรียกว่า ฝัก มีลักษณะแบนยาว ฝักอ่อนมีสีเขียว ฝักแก่มีสีน้ำตาลอมดำ ขนาดฝักกว้าง 1.5 เซนติเมตร ยาว 15-25 เซนติเมตร ภายในฝักมีเมล็ดเรียงตามความยาวของฝัก จำนวน 20-30 เมล็ด เมล็ดมีรูปร่างรีแบน สีน้ำตาลอมดำ

ฝักขี้เหล็ก

ขอบคุณภาพจาก www.arocaya.net

ประโยชน์ขี้เหล็ก
1. ใบอ่อน ยอดอ่อน และดอกตูม นิยมนำมาทำเป็นอาหาร โดยเฉพาะแกงขี้เหล็กที่นิยมรับประทานกันมากในทุกภาค โดยนำมาต้มน้ำเดือดประมาณ 2 ครั้ง แต่ละครั้งนาน 15-30 นาที และการต้มน้ำนานๆจะช่วยลดปริมาณสารบาราคอล และสารคาสเซียมิน (ให้รสขม) ได้มาก แต่เนื้อจะเปื่อย รับประทานไม่อร่อย
2. ใช้ใบแก่นำมาต้มน้ำสำหรับย้อมสีผ้า ช่วยในการติดสีเขียวขี้ม้า
3. สารคาราบอลที่สกัดได้จากใบ และดอก ใช้เป็นส่วนผสมของยาสลบ ยาลดความเครียด และยานอนหลับ
4. น้ำต้มจากใบ และยอดอ่อนขี้เหล็กใช้ฉีดพ่นไล่แมลงปีกแข็ง เช่น ด้วงถั่วเขียว รวมถึงแมลงศัตรูพืชต่างๆ
5. ดอกขี้เหล็กออกเป็นช่อมีสีเหลืองสวยงาม ในบางบ้านหรือตามสวนธารณะ ริมถนน สถานที่ราชการจึงนิยมปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับร่วมกับประโยชน์อื่น
6. ต้นขี้เหล็กมีลำต้นสูงปานกลาง ลำต้นแตกเป็นทรงพุ่มกว้าง มีกิ่งมาก และใบดกเขียว ทำให้นิยมปลูกเพื่อทำเป็นร่มเงาร่วมกับประโยชน์ในด้านอื่น
7. ต้นขี้เหล็กที่มีอายุหลายปีจะมีแก่นด้านในเป็นลายสำน้ำตาลอมดำ ขอบด้านนอกของแก่นมีสีเหลือง และเนื้อไม้มีความแข็งแรง นิยมนำมาแปรรูปเป็นแผ่นไม้ปูพื้น ไม้ชายคา วงกบ รวมถึงแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ และเครื่องเรือนต่างๆ
8. ลำต้น และกิ่งนำมาเป็นไม้ใช้สอย อาทิ ทำเป็นเสารั้ว ใช้ค้ำยันต้นผัก ใช้ทำฝืนหุงหาอาหาร ใช้เผาถ่าน เป็นต้น ไม้ขี้เหล็กให้ค่าความร้อนประมาณ 6,700-7,000 แคลอรี่/กรัม

คุณค่าทางโภชนาการ (ยอดอ่อน และดอกอ่อน 100 กรัม)
– พลังงาน : ยอดอ่อน 139, ดอกอ่อน 80 กิโลแคลอรี่
– น้ำ : ยอดอ่อน 57.8, ดอกอ่อน 74.7 กรัม
– คาร์โบไฮเดรต : ยอดอ่อน 22.8, ดอกอ่อน 14.3 กรัม
– โปรตีน : ยอดอ่อน 7.7, ดอกอ่อน 4.9 กรัม
– ไขมัน : ยอดอ่อน 1.9, ดอกอ่อน 0.4 กรัม
– กาก (crude fiber) : ยอดอ่อน 3.7, ดอกอ่อน 4.3 กรัม
– ใยอาหาร : ยอดอ่อน 8.2กรัม, ดอกอ่อน ไม่พบ
– เถ้า : ยอดอ่อน 1.6, ดอกอ่อน 1.3 กรัม
– แคลเซียม : ยอดอ่อน 156, ดอกอ่อน 13 มิลลิกรัม
– ฟอสฟอรัส : ยอดอ่อน 190, ดอกอ่อน 4 มิลลิกรัม
– เหล็ก : ยอดอ่อน 5.8, ดอกอ่อน 1.6 มิลลิกรัม
– วิตามินเอ : ยอดอ่อน 1,197, ดอกอ่อน 8,221 หน่วยสากล (I.U)
– วิตามินบี 1 : ยอดอ่อน 0.04, ดอกอ่อน 0.11 มิลลิกรัม
– วิตามินบี 2 : ยอดอ่อน 0.69 มิลลิกรัม,ดอกอ่อน ไม่พบ
– ไนอะซิน : ยอดอ่อน 1.3, ดอกอ่อน 1.8 มิลลิกรัม
– วิตามินซี : ยอดอ่อน 11, ดอกอ่อน 484 มิลลิกรัม

เพิ่มเติมจาก : ธงชัย เปาอินทร์ และนิวัตร เปาอินทร์ (2544)(1)

แกงขีเหล็ก

สาระสำคัญที่พบ (ใบ และดอก)
• กลุ่มสารแอนทราควิโนน (anthraquinones)
– คริสโซฟีนอล (chrysophenol)
– อะโลอีโมดิน (aloe emodin)
– เซนโนไซด์ (sennoside)
– เรอิน (rhein)
• กลุ่มสารไกลโคไซด์ (glycosides)
• กลุ่มสารฟลาโวนอยด์ (flavonoid)
• กลุ่มสารโครโมน (chromone)
– บาราคอล (C13H12O : ใช้ทำยาสลบ ยาลดความเครียด)
– แอนไฮโดรบาราคอล (สารที่เปลี่ยนมาจากบาราคอลด้วยการกำจัดน้ำออกในโมเลกุล)
• สารอื่นที่อยู่ในกลุ่มสารข้างต้น
– คาสเซียมิน (cassiamin) เป็นสารที่ให้รสขมหลัก

สารโคโมนเมื่ออยู่ภายใต้สภาวะการสกัด (ต้มน้ำร้อน) จะเปลี่ยนเป็นสารบาราคอล และแอนไฮโดรบาราคอล สาร 2 ชนิดนี้ มีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง และมีผลทำให้เซลล์ตับเสื่อมเร็ว

ปริมาณบาราคอลในใบอ่อน มีประมาณ 1.67% โดยน้ำหนักแห้ง
ปริมาณบาราคอลในใบแก่ มีประมาณ 0.78% โดยน้ำหนักแห้ง
ปริมาณบาราคอลในดอกอ่อน มีประมาณ 1.43% โดยน้ำหนักแห้ง

ที่มา : สมนึก ลิ้มเจริญ และคณะ (2551)(2), ช่อลัดดา เที่ยงพุก และคณะ (2553)(3), พรรษา มนต์แข็ง (2556)(4)กล่าวถึงในเอกสารหลายฉบับ

สรรพคุณขี้เหล็ก
ใบ ยอดอ่อน และดอกอ่อน
– ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ ทั้งที่รับประทานผ่านอาหาร เช่น แกงขี้เหล็ก หรือ นำใบมามาตากแห้ง ก่อนบดใส่แคปซูล หรือ นำใบมาต้มน้ำดื่ม (ต้มดื่มจะมีรสขมมาก)
– สารในกลุ่มแอนทราควิโนน (anthraquinones) ช่วยออกฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ ทำให้ขับถ่ายได้ง่ายขึ้น ชึ่งเป็นยาระบาย และแก้อาหารท้องผูก
– สารบาราคอล ในปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย ช่วยในการนอนหลับได้ง่าย
– นำใบมาต้มน้ำสำหรับอาบ ช่วยรักษาโรคผิวหนัง กำจัดเชื้อรา
– นำส่วนต่างๆมาต้มน้ำ สระผมร่วมกับแซมพูสำหรับขจัดรังแค
– บรรเทาอาการปวดจากพิษแมลงกัดต่อย ด้วยการนำมาส่วนต่างๆมาบดผสมน้ำเล็กน้อย ก่อนจะประคบบริเวณที่ถูกต่อย
– ช่วยในการห้ามเลือด ด้วยการนำใบ และดอกอ่อนมาบด และกดประคบไว้ที่แผล
– ทุกส่วนมีรสขม ช่วยให้เจริญอาหาร และแก้อาการตัวเหลือง
– ช่วยลดความดันโลหิต บำรุงเลือด
– ช่วยแก้ระดูขาว และปรับประจำเดือนให้มาเป็นปกติ
– แก้นิ่วในท่อปัสสาวะ นิ่วในไต
– ช่วยในการขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะเล็ด
– รักษาไข้มาลาเรีย
– แก้อาการตัวร้อน ลดอาการกระหายน้ำ
– ช่วยขับเสมหะ และลดอาการอักเสบในลำคอ
– แก้อาการเหน็บชา ตามมือ ตามเท้า
– บรรเทาอาการปวดหัวเรื้อรัง ปวดหัวข้างเดียว และบรรเทาอาการไมเกรน
– ช่วยลดน้ำตาลในเลือด และบรรเทาอาการของโรคเบาหวาน
– บรรเทาอาการหอบหืด

ราก และเปลือกลำต้น (รสขม)
– ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ ในลักษณะเดียวกันที่กล่าวข้างต้น
– นำเปลือกมาต้มน้ำอาบในลักษณะเช่นเดียวกันกับใบ เพื่อรักษาโรคผิวหนัง
– นำราก และเปลือกมาต้มดื่ม ช่วยอาการท้องเสีย
– แก้ปวดเมื่อย แก้อาการเหน็บชาตามร่างกาย
– บำรุงไต
– บรรเทาอาการไข้หวัด แก้ตัวร้อน
– รักษา และบรรเทาอาการเป็นริดสีดวง

ฝัก และเมล็ด
– ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ ในลักษณะเดียวกันที่กล่าวข้างต้น
– แก้ปวดเมื่อย เหน็บชา
– ช่วยลดอาการไอ และขับเสมหะ
– ช่วยลดความเครียด ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และช่วยให้ง่วงนอนง่าย
– ช่วยในการขับลม แก้ลมดันในระบบทางเดินอาหาร

ข้อควรระวัง
1. สารบาราคอลที่ได้รับในปริมาณมากจากขี้เหล็ก อาจทำให้เกิดอาการง่วงซึม และมีผลทำลายเซลล์ตับ
2. สารในกลุ่มสารฟลาโวนอยด์ (flavonoid) ออกฤทธิ์ทำให้เส้นเลือดฝอยแตกได้ จึงไม่ควรรับประทานมาก และผู้เป็นโรคความดันโลหิตสูงไม่ควรรับประทาน

ที่มา : พรรษา มนต์แข็ง (2556)(4)กล่าวถึงในเอกสารหลายฉบับ, ศิริพร ตงศิริ (2547)(5)

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
1. การศึกษาการต้มใบ และยอดอ่อนขี้เหล็กในน้ำ ในน้ำที่เติมเกลือ และในน้ำที่เติมมะเขือพวง ซึ่งการเติมเกลือ และมะเขือพวงนั้น เป็นวิถีชาวชนบทที่เชื่อว่าจะช่วยลดความขมได้ ซึ่งจาการเปรียบเทียบปริมาณสารบาลาคอลจากการต้มน้ำทั้ง 3 แบบ พบว่า ใบขี้เหล็กมีรส และมีปริมาณสารบาราคอลไม่แตกต่างกัน (ช่อลัดดา เที่ยงพุก และคณะ, 2553)(3)

2. การศึกษาประสิทธิภาพของน้ำสกัดใบขี้เหล็ก เป็น 2 มล./กก. เปรียบเทียบกับน้ำสกัดจากเปลือกสะเดา และมะละกอต่อการฆ่าพยาธิตัวกลมในแพะ พบว่า น้ำสกัดจากใบขี้เหล็กสามารถลดพยาธิตัวกลมได้มากกว่า (สมนึก ลิ้มเจริญ และคณะ, 2551)(2)

3. การศึกษาฤทธิ์ของแอนโดรบาราคอลที่สกัดได้จากใบ และยอดอ่อนขี้เหล็กต่อระบบประสาทส่วนกลาง พบว่า แอนโดรบาราคอลสามารถออกฤทธิ์ลดการเคลื่อนไหวของสัตว์ได้ ซึ่งอาจออกฤทธิ์ผ่านการกดระบบประสาทส่วนกลาง (มนฤดี สุขมา และคณะ, 2546)(6)

การปลูกขี้เหล็ก
การปลูกขี้เหล็ก นิยมปลูกด้วยการเพาะเมล็ดเป็นหลัก เพราะจะให้กิ่งได้มาก แตกยอดอ่อนได้มาก

กล้าขีเหล็ก

ขอบคุณภาพจาก www.nanagaden.com

เอกสารอ้างอิง
3