กันภัยมหิดล และประโยชน์กันภัยมหิดล

Last Updated on 10 ตุลาคม 2016 by puechkaset

กันภัยมหิดล ถือเป็นพันธุ์ไม้หายากที่พบเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น ปัจจุบัน พบการขยายพันธุ์ และนิยมปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับดอกมากขึ้น เนื่องจาก ดอกมีรูปทรงฉัตร เรียงเป็นชั้น และกลีบดอกมีสีม่วงอ่อนสวยงาม รวมทั้ง สามารถปลูกเป็นซุ้มสำหรับบังแดดได้ดี ทั้งนี้ มีการเพาะพันธุ์จำหน่ายบ้างแล้วตามร้านไม้ดอกไม้ประดับบางแห่ง อาทิ ร้านไม้ดอกในสวนจตุจักร เป็นต้น

กันภัยมหิดล ถือเป็นพรรณไม้ประจำมหาวิทยาลัยมหิดล โดยเมื่อในคราวที่มหาวิทยาลัยเข้าสู่การจัดตั้งครบรอบ 30 ปี เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2542 โดยได้รับพระราชทานพรรณไม้ประจำมหาวิทยาลัยจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

แต่ก่อนนั้น มหาวิทยาลัยมหิดล ยังไม่มีพรรณไม้ประจำมหาวิทยาลัย ซึ่งแต่ก่อนมักเข้าใจผิดว่า ต้นศรีตรัง เป็นพรรณไม้ประจำมหาวิทยาลัย (มีต้นศรีตรังหน้าคณะวิทยาศาสตร์ และเป็นชื่อเพลงที่ร้องกันในมหาวิทยาลัย) ดังนั้น ในคราวครบรอบการได้รับพระราชทานนาม มหาวิทยาลัยจึงจัดประกวดชื่อพรรณไม้ประจำมหาวิทยาลัยขึ้น โดยคณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาคัดเลือกพรรณไม้ 3 ชนิด เสนอพิจารณา ได้แก่ กันภัยมหิดล พญายา และพญาสัตบรรณ

ที่มา : 1)

• วงศ์ : Fabaceae
• วิทยาศาสตร์ : Afgekia mahidoliae Burtt et Chermsir.
• ถิ่นกำเนิด : ประเทศประเทศไทย จังหวัดกาญจนบุรี
• การขยายพันธุ์ : เพาะเมล็ด ปักชำกิ่ง และตอนกิ่ง

การแพร่กระจาย
กันภัยมหิดล จัดเป็นพรรณไม้หายากที่พบเฉพาะในบางท้องที่เท่านั้น ซึ่งถูกค้นพบโดย ผศ.จิรายุพิน จันทร
ประสงค์ (เจิมศิริวัฒน์) และอาจารย์เกษม จันทรประสงค์ บริเวณภูเขาหลังสถานีรถไฟวังโพ จังหวัดกาญจนบุรี และพบกระจายพันธุ์ตามป่าเต็งรังหรือภูเขาหินปูนในทางภาคตะวันตกของประเทศไทย

ที่มา : 2)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
กันภัยมหิดล เป็นไม้เถาขนาดกลางที่มีอายุนานหลายปี ลำต้นเป็นเถาเลื้อยพาดตามพุ่มไม้ เปลือกลำต้นมีสีน้ำตาล เนื้อไม้ด้านในมีลักษณะแข็ง ส่วนกิ่งอ่อนสีเขียว มีขนนุ่มปกคลุมทั่วไป

%e0%b8%81%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b8%a0%e0%b8%b1%e0%b8%a2%e0%b8%a1%e0%b8%ab%e0%b8%b4%e0%b8%94%e0%b8%a5

ใบ
ใบกันภัยมหิดล เป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ออกเยื้องสลับกันตามลำต้น และกิ่ง ก้านใบหลักพองอวบ มีหูใบ 2 อัน เป็นแผ่นติดกับลำต้น ก้านใบหลัก กว้างประมาณ 8-12 เซนติเมตร ยาว 15-18 เซนติเมตร ใบย่อยมี 5-6 คู่ เรียงตรงข้าม ก้านใบย่อยสั้น มีรยางค์เป็นเส้นสั้นๆ ที่โคนก้านใบ ใบย่อยแต่ละใบมีรูปไข่หรือรูปไข่กลับ ปลายใบมน มีติ่งแหลมสั้น โคนใบมน ขอบใบเรียบ กว้างประมาณ 2.2-3.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-6.5 เซนติเมตร แผ่นใบตรงกลางด้านบนเป็นร่อง แผ่นใบบาง มีขน ด้านล่างมีขนหนาแน่นกว่าด้านบน

ดอก
กันภัยมหิดลออกดอกเป็นช่อตามปลายกิ่ง และซอกใบ ช่อดอกมีลักษณะเป็นแบบกระจะ ยาว 12-28 เซนติเมตร ทยอยบานจากโคนช่อขึ้นไปปลายช่อ แต่ละดอกบาน 1 วัน วันละ 4-6 ดอก ดอกย่อยมีใบประดับเรียวแหลมสีเขียวอมม่วง หลุดร่วงง่าย ดอกมีลักษณะคล้ายดอกถั่ว ทุกส่วนของดอกมีขน ก้านดอกยาว 5-7 มิลลิเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงสีม่วงอ่อน มีโคนกลีบเชื่อมติดกัน ปลายกลีบแยกเป็น 5 แฉก ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบกลางมีสีม่วง และมีแถบสีเหลืองรูปสามเหลี่ยมตรงกลาง กลีบคู่ข้างมีสีม่วงเข้ม ส่วนกลีบคู่ล่างมีสีขาวนวล ตรงกลางดอกมีเกสรเพศผู้มี 10 อัน โคนเกสรเชื่อมติดกัน และโค้งตามแนวของกลีบล่าง ส่วนรังไข่มีก้านสั้น อยู่เหนือวงกลีบ มีเปิด 1 ช่อง ภายในมี 1-3 ออวุล ทั้งนี้ ดอกจะมากในช่วงเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน

%e0%b8%94%e0%b8%ad%e0%b8%81%e0%b8%81%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b8%a0%e0%b8%b1%e0%b8%a2%e0%b8%a1%e0%b8%ab%e0%b8%b4%e0%b8%94%e0%b8%a5

ผล และเมล็ด
ผลเป็นผลแห้ง เรียกเป็นฝัก มีรูปทรงแบน คล้ายฝักถั่วแปป เปลือกฝักมีสีน้ำตาล มีขนปกคลุม เมื่อแก่ และแห้ง จะแตกออกเป็น 2 ซีก ส่วนเมล็ดมี 2 เมล็ด มีรูปร่างเมล็ดค่อนข้างกลม เปลือกเมล็ดแข็ง สีดำเป็นมัน

กันภัยมหิดล กับ ถั่วแปปช้าง
กันภัยมหิดล กับ ถั่วแปปช้าง เป็นพืชในวงศ์เดียวกัน ซึ่งมีลักษณะลำต้น ใบ และดอกคล้ายกัน แต่จะมีข้อแตกต่างกัน ได้แก่
1. ดอก กันภัยมหิดลจะมีตัวดอกของใบประดับเป็นสีม่วงอ่อน ส่วนถั่วแปปช้างจะมีตัวดอกของใบประดับเป็นสีชมพู
2. ใบ กันภัยมหิดลจะมีใบย่อยน้อยกว่า ที่ 9-11 ใบ แต่มีขนาดใหญ่กว่าถั่วแปปช้าง ส่วนถั่วแปปช้างจะมีใบย่อยมากกว่า ที่ 15-17 ใบ แต่ขนาดใบเล็กกว่า รวมถึงปลายใบของกันภัยมหิดลมีเป็นติ่งแหลม ส่วนปลายใบของถั่วแปปช้างจะค่อนข้างมน

ดอกถั่วแปปช้าง
ดอกถั่วแปปช้าง

ประโยชน์กันภัยมหิดล
1. ใช้ปลูกเพื่อเป็นไม้ดอกประดับ สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี ทั้งปลูกเป็นซุ้มหรือปล่อยให้เลื้อยตามแนวรั้วหน้าบ้าน
2. กันภัยมหิดลมีลำต้นเป็นเถาเลื้อยยาว และแตกกิ่งจำนวนมาก สามารถปลูกด้วยการทำหลักหรือโครงไม้ให้เถาพาดเลื้อยขึ้น กลายเป็นซุ้มบังแดดภายในบ้าน
3. เถากันภัยมหิดลใช้ทำเชือกรัดของได้

เอกสารอ้างอิง
1) ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยมหิดล ต้นกันภัยมหิดล. มหาวิทยาลัยมหิดล. ออนไลน์. เข้าถึงได้ที่ http://panmai.com/University/mahidol/mahidol.shtml
2) สาวินี ลายทอง. 2555. การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกันภัยมหิดล.