กระถิน(Leucaena) ประโยชน์ และพิษกระถิน

Last Updated on 4 เมษายน 2017 by puechkaset

กระถิน (Leucaena) จัดเป็นได้ทั้งพืชผัก สมุนไพร และไม้เศรษฐกิจ เนื่องจากสามารถนำส่วนของยอด ดอก และฝักมารับประทานเป็นอาหาร ใช้ในด้านสมุนไพร ใช้เป็นส่วนผสมอาหารสัตว์ รวมถึงเนื้อไม้ที่สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตกระดาษในอุตสาหกรรม การทำไม้ค้ำยัน ไม้ใช้สอย และใช้เป็นเชื้อเพลิง

กระถิน มีชื่อวิทยาศาสตร์ Leucaena leucocephala อยู่ในวงศ์ (Family) : Leguminosae มีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลาง และเริ่มแพร่เข้ามาในประเทศแถบเอเชียครั้งแรกเมื่อสมัยที่สเปนปกครอง ฟิลิปปินส์ (ค.ศ. 1565 – 1825) และถูกนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยในช่วงสมัยอยุธยา ส่วนกระถินยักษ์ถูกนำเข้ามาปลูกเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2509 โดย ดร.รอย ซีเกฟัส จากมหาวิทยาลัยเคนตักกี้ ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ขณะนั้นมาประจำที่ศูนย์เกษตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น โดยนำเข้ามา 9 สายพันธุ์ คือ Australia, Ivory Coast (PI286295 No.62), New Guinea. 70, 71, 72, Columbia, El Salvador และTaiwan ในปี 2519 กรมปศุสัตว์นำเข้ากระถินพันธุ์ Cunningham และในปี 2520-2523 นำเข้าสายพันธุ์ K-line โดยกรมป่าไม้ และสำนักงานวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ  ในปี 2539 นำเข้ากระถินพันธุ์ลูกผสม โดยกรมปศุสัตว์ และในปี 2550 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นำเข้ากระถินพันธุ์ทารัมบ้า (Tarramba) จากประเทศออสเตรเลีย

Leucaena

กระถิน จัดเป็นไม้โตเร็ว สามารถเจริญเติบโตได้ดีในทุกสภาพดิน และทนต่อโรค แมลง และสภาพอากาศหนาวหรือแห้งแล้งได้ดี นอกจากนั้น ยังสามารถแพร่ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากออกฝักจำนวนมาก และแต่ละฝักมีเมล็ดมาก ประกอบกับเมล็ดมีอัตราการงอกสูง และสามารถเติบโตแข่งกับพืชทุกชนิดได้ดี แม้กระทั่งพื้นที่ที่มีหญ้ารกหรือต้นไม้อื่นปกคลุมแน่นหนา จึงมักพบเห็นต้นกระถินได้ในทุกสภาพพื้นที่

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
1. ราก
กระถินมีระบบรากเป็นรากแก้ว และแตกเป็นรากแขนง และรากฝอย แทงออกขนานผิวดิน รากสามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศได้ด้วยไรโซเบียม (rhizobium) มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.0-2.5 มิลลิเมตร รากฝอยจะมีเชื้อราไมโครไรซ่า (mychorrhiza) ทำหน้าที่ช่วยให้กระถินดูดธาตุฟอสฟอรัส และธาตุอาหารอื่นๆในดินได้มากขึ้น

2. ลำต้น
กระถินเป็นพืชยืนต้นตระกูลถั่วที่มีอายุหลายปี ลำต้นตั้งตรง สูงตั้งแต่ 3 เมตร สำหรับพันธุ์พื้นเมืองมีการแตกกิ่งตั้งแต่เหนือลำต้นไม่ถึงเมตร และจำนวนกิ่งมากจนมีลักษณะทรงพุ่มทั้งต้น ส่วนกระถินยักษ์มีการแตกกิ่งมากเฉพาะบริเวณส่วนยอด และจำนวนกิ่งน้อย ทำให้เห็นเป็นทรงพุ่มเฉพาะส่วนยอดของลำต้น

ลักษณะเปลือกของกระถินจะ บางติดลำต้น ผิวเปลือกมีลักษณะสากมือเล็กน้อย มักพบรอยแผลของการสลัดกิ่งเป็นปุ่มตามระยะความสูงของต้น เนื้อไม้มีสีเหลืองอ่อนเกือบขาว ส่วนมีน้ำตาลแดง ซึ่งจะพบได้ในกระถินที่มีอายุมากแล้ว

3. ใบ
ใบมีลักษณะเป็นใบประกอบแบบขนนก (bipinnate) ยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร ประกอบด้วยก้านของกลุ่มใบย่อย จำนวน 5 ก้าน แตกออกตรงข้ามกัน ยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร แต่ละก้านประกอบด้วยใบย่อยลักษณะเรียวยาว มีปลายมนคล้ายใบหอก แตกออกตรงข้ามกัน จำนวน 12-13 คู่ แตกใบตลอดทั้งปี ส่วนใบแก่จะแห้ง และร่วงล่น โดยเฉพาะหน้าแล้งจะมีจำนวนใบน้อยกว่าทุกฤดู

Leucaena2

4. ดอก
ดอกมีลักษณะเป็นดอกรวม มีก้านดอกยาว ดอกออกเป็นช่อ ประกอบด้วยเกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมียที่มีลักษณะเป็นเส้น ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร เกสรของดอกมีสีขาวนวลในระยะแรก และเมื่อดอกแก่จะมีสีเหลือง โดยเกสรจะร่วงหลังการผสมเกสรได้ไม่กี่วัน

Leucaena4

5. ฝัก และเมล็ด
ฝักมีลักษณะแบน บาง และตรง กว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร สำหรับกระถินพื้นเมืองจะมีขนาดฝักเล็ก และสั้นกว่ากระถินยักษ์เกือบเท่าตัว ฝักจะเจริญจากช่อดอกที่มีฝักประมาณ 15-20 ฝัก/ช่อดอก ฝักอ่อนมีสีเขียวสด เมื่อแก่จะมีสีเขียวเข้ม และกลายเป็นสีแดงหรือน้ำตาลเมื่อแก่เต็มที่ หลังจากนั้นฝักจะแตกออกเป็น 2 แผ่น ตามความยาวของขอบฝัก  1 ฝักจะมีเมล็ดประมาณ 8-15 เมล็ด เมล็ดอ่อนจะแบนเรียบ เมื่อแก่จะมีสีเขียวเข้ม มีลักษณะนูนตรงกลาง กว้างประมาณ 3-4 มิลลิเมตร มีความหนาประมาณ 2 มิลลิเมตร ระยะนี้ชาวบ้านมักเก็บนำมาบริโภคเมล็ด แต่เมื่อแก่จะมีสีน้ำตาล และมีสีดำเมื่อแก่เต็มที่ (เจษฎา, 2527)(1)

พันธุ์กระถินแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
1. พันธุ์พื้นเมือง (common type) หรือเรียก พันธุ์ฮาวาย มีลักษณะลำต้นเล็ก สูงประมาณ 3-5 เมตร เปลือกมีสีน้ำตาลปนเทาหรือสีน้ำตาล ออกดอกได้ทั้งปี และออกดอกเร็วตั้งแต่ต้นยังมีอายุไม่ถึงปี ฝักมีขนาดเล็ก สั้น มีเมล็ดมาก ในประเทศไทยสามารถพบโดยทั่วไป
2. กระถินยักษ์ (giant type) เป็นกระถินที่มีการผสมพันธุ์กัน และพัฒนาจนได้พันธุ์ที่มีลำต้นใหญ่ทนต่อสภาพแวดล้อม และโรคแมลงได้ดี แบ่งเป็น 2 สายพันธุ์ คือ
– สายพันธุ์ซัลวาดอร์ (Salvador) มีลักษณะลำต้นสูงใหญ่ สูงประมาณ 20 เมตร แต่แตกกิ่งก้านน้อย โตเร็ว ออกดอกไม่ต่อเนื่อง ใบ และฝักใหญ่ และยาว

Leucaena1

– สายพันธุ์เปรู (Peru) มีลักษณะลำต้นสูงใหญ่ แต่สูงน้อยกว่าสายพันธุ์ Salvador โดยสูงประมาณ 15 เมตร แต่แตกกิ่งก้านมาก แตกกิ่งในระยะต่ำจากลำต้น ออกดอกไม่ต่อเนื่อง ให้ขนาดใบ และฝักใหญ่ และยาว

ประโยชน์กระถิน
1. ใบ ยอด และเมล็ด ใช้นำมารับประทานเป็นผักจิ้มน้ำพริก โดยรับประทานสดหรือนำมาลวกก่อน
2. ใบ ยอด ฝักอ่อน นำมาเป็นอาหารสัตว์ โดยเฉพาะโค กระบือ แพะ และแกะ
3. เนื้อไม้ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตเยื่อกระดาษ อุตสาหกรรมไม้อัด ไม้แปรรูปต่างๆ
4. ต้นกระถินนำมาทำไม้ค้ำยันสำหรับการก่อสร้าง ใช้เป็นไม้ทำเสา คานของที่พักชั่วคราว
5. กิ่ง และเนื้อไม้ทำเป็นฟืนหุงต้มในครัวเรือน

Leucaena3

คุณค่าทางโภชนะของใบกระถิน
1. Crude protein 25.90 %
2. Ether extract 2.64 %
3. Crude fiber 11.88 %
4. Ash 11.05 %
5. Gross energy (MJ/kg DM) 20.10

6. Amino acid composition (g/16g N)
– Aspartic acid 8.71
– Threonine 3.79
– Serine 3.92
– Glutamic acid 10.13
– Glycine 4.63
– Alanine 4.25
– Valine 4.08
– Cystine 0.67
– Methionine 1.33
– Isoleucine 7.21
– Leucine 7.67
– Tyrosine 3.71
– Phenylalanine 4.00
– Lysine 5.58
– Histidine 1.79
– Arginine 5.58
– Tryptophan ไม่พบ

ที่มา: D’Mello and Taplin, 1978.(2)

ความเป็นพิษกระถิน
เนื่องจากกระถินสามารถสังเคราะห์สารพิษมิโมซีน (mimosine : ß-N-(3-hydroxy 4-pyridone)-oe-amino propionic acid) ซึ่งเป็นสารมีโครงสร้างคล้ายกรดอะมิโนไทโรซีนมีผลในการยับยั้งการสร้าง โปรตีน และลดการย่อยได้ของโปรตีน

ใบกระถินมีมิโมซีนประมาณ 3 – 5% ของน้ำหนักแห้ง โดยพบในใบอ่อนมากกว่าใบแก่ประมาณ 3 เท่า นอกจากนี้ยังมีสาร procyanidines สามารถจับกับโปรตีนเกิดเป็นสารประกอบเชิงซ้อนที่ย่อยไม่ได้ และออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ proteases และ galactomannan gum

พิษของมิ โมซีน คือ มีอาการเบื่ออาหาร รับประทานอาหารได้น้อยลง เจริญเติบโตช้า ต่อมไธรอยด์ขยายใหญ่ มีอาการทางประสาท มีปัญหาของระบบสืบพันธุ์ ขนร่วงขนไม่งอก เพราะมิโมซีนเข้ายับยั้งการทำงานของเอนไซม์ Cystathionine synthetase และ Cystathionase ทำให้เมทไธโอนีนเปลี่ยนเป็นซีสเตอีนไม่ได้

ผล จากสารมิโมซีนที่เป็นสาเหตุทำให้ขนร่วง เนื่องจากสารมิโมซีนสามารถเข้าทำลายเซลล์ที่เชื่อมระหว่าง hair follicle ทำให้สารอาหารไม่สามารถส่งไปเลี้ยงเซลล์ขนได้จนเป็นเหตุทำให้ขนร่วง

ผล จากสารมิโมซีนที่เป็นสาเหตุทำให้ต่อมไทรอยด์ขยายใหญ่ในสัตว์เคี้ยวเอื้อง เนื่องจาก สารมิโมซีนสามารถเปลี่ยนเป็น 3,4-dihydroxypyridine (DHP) ได้โดยจุลินทรีย์ สารนี้จะทำหน้าที่คล้าย goitrogen ที่ยับยั้งการสร้างฮอร์โมน Thyroxin ทำให้ต่อมไทรอยด์ขยายใหญ่ตามมา

ใน โค กระบือ และแพะ สามารถทนต่อมิโมซีนได้ไม่เกิน 0.18 g/kgBW ส่วนแกะทนได้น้อยกว่าคือไม่เกิน 0.14 g/kgBW โดยสัตว์เคี้ยวเอื้องทนพิษของมิโมซีนได้ดีกว่าสัตว์กระเพาะเดี่ยว

วิธีลดสารมิโมซีนในใบกระถิน
1. การให้ความร้อนทั่วไป เช่น การต้ม และการผึ่งแดด ซึ่งพบว่า การผึ่งแดดประมาณ 11 ชั่วโมง สามารถลดสารมิโมซีนในกระถินยักษ์ได้ 51.13% และในกระถินพื้นเมืองลดได้ 33.8% ดังนั้น การผึ่งแดดจึงเป็นวิธีการที่นิยมสำหรับนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ ส่วนการนำมารับประทานมักใช้วิธีการต้มหรือลวกผ่านน้ำร้อนก่อนจึงจะลดสารมิโม ซีนได้ดี และสามารถช่วยปรับรสกระถินให้ดีขึ้นได้

2. การอบ เป็นวิธีที่ใช้สำหรับนำใบกระถินเป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ โดยพบว่า การอบที่อุณหภูมิ 70 o องศาเซลเซียส เป็นเวลา 12 ชั่วโมง สามารถลดมิโมซีนได้มากกว่า 50%

3. การแช่น้ำ เป็นวิธีที่นำมาใช้ก่อนนำใบหรือฝักกระถินมารับประทาน รวมถึงใช้สำหรับการผสมในอาหารสัตว์ โดยพบว่า กระถินที่แช่น้ำนาน 12 – 24 ชั่วโมง สามารถลดมิโมซินได้ถึง 90%

4. การนำกระถินไปให้อาหารสัตว์ โดยมีการลดสารมิโมซินก่อนอาจใช้วิธีการเสริม FeSO4 0.1% ผสมใบกระถินด้วย หรือ นำกระถินแช่ในสารละลาย 0.2% FeSO4 นาน 15 นาที แล้วนำมาตากแดดให้แห้งจะช่วยลดมิโมซินได้มากถึง 90% เนื่องจาก FeSO4 จะเข้าจับตัวกับมิโมซีนแล้วตกตะกอน ทำให้สารมิโมซินไม่ดูดซึมในลำไส้

5. การหมัก มักใช้สำหรับเป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ เนื่องจากการหมักทำให้เกิดการย่อยสลายมิโมซิน และเปลี่ยนแปลงโครงสร้างได้ในกระบวนการหมัก

เอกสารอ้างอิง
untitled