Last Updated on 8 ธันวาคม 2017 by puechkaset
ฟางข้าว (Rice straw) เป็นส่วนของต้นข้าวที่เหลือหลังการเก็บเกี่ยว และนำเมล็ดข้าวออกแล้ว แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ
1.ฟางข้าวจากการเกี่ยวมือ
2.ฟางข้าวจากการเกี่ยวมือ และนวดด้วยรถนวด
3.ฟางข้าวจากรถเกี่ยวข้าว
ฟางข้าวเหล่านี้ ถือเป็นผลพลอยได้ทางการเกษตรจากนาข้าวที่มีประโยชน์ในหลายด้าน และใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับการผลิตทางเกษตรอื่นๆ
องค์ประกอบของฟางข้าว
องค์ประกอบทางเคมี
• เนื้อเซลล์ : 21%
• ผนังเซลล์ : 79%
• เซลลูโลส : 33%
• เฮมิเซลลูโลส : 26%
• ลิกนิน : 7%
• ซิลิกา : 13%
คุณค่าทางโภชนาการ (ถนัด, 2531)(1)
• โปรตีน 3.44%
• ไขมัน 1.88%
• เยื่อใย 37.48%
• ปริมาณเถ้า 12.30%
• ฟอสฟอรัส (P2O5) 0.11%
ชนิดของฟางข้าว
ฟางข้าวที่มีสภาพสมบูรณ์จะประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ใบข้าว ปล้องข้าว และรวงข้าว ส่วนฟางข้าวที่ได้จากการเก็บด้วยด้วยตัดในแปลงนาจะมีส่วนประกอบของตอซังหรือ กอข้าวรวมด้วย แต่จะอยู่ในลักษณะที่เป็นฟางแตกแยกแยะได้ยากว่าเป็นส่วนใด โดยทั่วไปฟางข้าวแบ่งได้เป็น 2 ประเภทจากวิธีการรวบรวม ได้แก่
1. ฟางข้าวจากการเกี่ยวมือ และนวดมือ
เป็นฟางข้าวที่ได้จากการเกี่ยวข้าว และนำเมล็ดข้าวออก อาจด้วยวิธีการเกี่ยวด้วยมือหรือใช้รถเกี่ยวข้าว
ฟางข้าวจากการเกี่ยวด้วยด้วยมือจะถูกมัดเป็นระเบียบด้วยตอก และถูกนำเมล็ดออกด้วยการตีด้วยไม้ หรือ อาจไม่เป็นระเบียบ มีการแตกขาดเป็นเส้นจากกการนำเมล็ดข้าวออกด้วยการแยกด้วยเครื่องแยกเมล็ด หรือรถสีข้าว
ฟางข้าวที่ได้จากการเกี่ยวมือจะมีลักษณะเป็นระเบียบ และฟางข้าวมีความสมบูรณ์ ไม่แตกเป็นเส้นเนื่องจากใช้แรงงานคนในการตีเมล็ดออก ซึ่งวิธีนี้ เป็นวิธีโบราณที่พบในบางท้องที่เท่านั้น เพราะเกษตรกรหันมาใช้รถเกี่ยวข้าวแทน ซึ่งทำให้ประหยัด สะดวก และรวดเร็วกว่ามาก
2. ฟางข้าวจากการเกี่ยวมือ และนวดด้วยรถนวด
เป็นฟางข้าวที่ได้จากการนำมัดข้าวจากการเกี่ยวมือเข้าเครื่องนวดหรือรถนวดที่อาศัยการปั่นที่ทำให้ฟางข้าว และเมล็ดแยกออกจากกัน โดยฟางจะถูกแรงปั่นแยกออกทางด้านบนของเครื่อง และกองรวมกัน ส่วนเมล็ดที่มีน้ำหนักจะตกลงสู่ด้านล่างของเครื่องปั่นรวมกัน โดยใช้ถุงกระสอบรองรับ
ลักษณะฟางที่ได้จากการนวดเมล็ดด้วยวิธีนี้จะทำให้ฟางมีลักษณะแตกเป็นเส้นขนาดเล็ก ไม่มีการจัดเรียงตัวที่เป็นระเบียบ วิธีนี้จะพบได้มากในพื้นที่ภาคอีสาน แต่ปัจจุบันเริ่มลดน้อยลง เนื่องจากเกษตรหันมาใช้รถเกี่ยวข้าวแทน
3. ฟางข้าวจากรถอัดฟางข้าว
เป็นฟางข้าวที่ได้จากการตัดเก็บตอซัง และอัดฟางข้าวที่กองในแปลงนาหลังการใช้รถเกี่ยวข้าว ซึ่งจะเป็นฟางผสมระหว่างตอซัง และฟางข้าวส่วนบน
ฟางข้าวที่หล่นในแปลงนาหลังการเกี่ยวข้าวด้วยรถเกี่ยวข้าวจะเป็นฟางข้าวที่มีการแตกขาดเป็นเส้นเหมือนกับฟางข้าวที่แยกเมล็ดด้วยเครื่องนวดข้าว และฟางชนิดนี้จะถูกปล่อยทิ้งตามแปลงนา ต้องใช้มือโกนรวมกันเป็นกองหรือใช้รถเก็บฟางรวบอัดเป็นก้อนฟาง ซึ่งวิธีหลังจะได้ต้นข้าวส่วนบนผสมกับตอซังหรือลำต้นส่วนล่างรวมกัน
ประโยชน์จากฟางข้าว
• ใช้เป็นอาหารหยาบสำหรับเลี้ยงโค กระบือ
• ใช้ทำปุ๋ยหมัก
• ใช้ทำเป็นวัสดุปกคลุมดินหลังการหว่านเมล็ดพืช
• ใช้ทำเป็นวัสดุคลุมดินสำหรับรักษาความชุ่มชื้นของดิน และใช้คลุมดินแก้ปัญหาดินเค็ม
• ใช้เป็นวัสดุสำหรับการเพาะเห็ดฟาง
• ใช้ทำเป็นที่มุงหลังคาหรือฝากระท่อม
• ใช้ทำเป็นเชื้อจุดไฟ ช่วยให้ก่อไฟง่าย
• ใช้เป็นวัสดุผูกมัดหรือใช้แทนเชือก แต่ต้องนำมาแช่น้ำก่อนเพื่อให้ฟางนุ่ม และป้องกันการแตก ขาด ขณะพันเป็นเกลียวรัด
• ใช้เป็นวัสดุสำหรับการปล่อยครั่ง
• ใช้ผลิตเป็นเยื่อกระดาษ
• ใช้สำหรับการแยกสกัดสารแทนนิน
การปรับปรุงฟางข้าวสำหรับเป็นอาหารหยาบ
1. วิธีการทางกายภาพ (physical treatment)
เป็นวิธีปรับปรุงคุณภาพฟางข้าวให้มีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ เช่น การสับเพื่อให้มีขนาดเล็กลง การแช่น้ำเพื่อให้มีความอ่อนนุ่ม เป็นต้น
2. วิธีการทางเคมี (chemical treatment)
เป็นวิธีการปรับปรุงคุณภาพฟางข้าวเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีด้วย วิธีการทางเคมีสำหรับช่วยเพิ่มค่าการย่อยได้ เช่น การหมักด้วยยูเรีย การย่อยด้วยกรด เป็นต้น
การหมักฟางข้าวด้วยยูเรียสำหรับเป็นอาหารหยาบ ของโค กระบือ จะต้องระมัดระวังในเรื่องปริมาณยูเรียที่ใช้ เพราะหากใช้ในปริมาณมากจะเกิดความเป็นพิษต่อสัตว์ได้ คือ จะทำให้ความเข้มข้นของแอมโมเนีย และระดับความเป็นกรด-ด่างในกระเพาะรูเมนของสัตว์มากขึ้น เมื่อถูกดูดซึมจะถูกเปลี่ยนเป็นยูเรียที่ตับ หากดูดซึมมากตับจะไม่สามารถเปลี่ยนเป็นยูเรียได้หมด ส่วนที่เหลือจะอยู่ในเลือดสูงขึ้น และจะแพร่เข้าสู่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย รวมถึงสมอง ผลที่ตามมา คือ สัตว์มีอาการกระวนกระวาย เดินโซเซ น้ำลายฟูมปาก กล้ามเนื้อกระตุก หายใจขัด และชักตายภายใน 2-3 ชั่วโมง
3. วิธีการทางกายภาพ-เคมี (physical-chemical treatment)
เป็นวิธีการปรับปรุงคุณภาพฟางข้าวที่ใช้กระบวนการทางกายภาพ และเคมีร่วมกัน อาทิ การบด สับ ละนำมาหมักด้วยยูเรียหรือย่อยด้วยกรด เป็นต้น
4. วิธีการทางชีวภาพ (biological treatment)
เป็นวิธีการปรับปรุงคุณภาพฟางข้าวด้วยกระบวนการทางชีวภาพ กระบวนการนี้ที่สำคัญ คือ การหมักด้วยการใช้จุลินทรีย์หรือใช้เอ็นไซม์จากจุลินทรีย์ อาจหมักฟางข้าวที่ยังไม่ได้ผ่านการบดสับหรือใช้ฟางข้าวที่บดสับแล้วก็ได้
การจัดเก็บฟางข้าว
1. การกองในที่โล่ง
การกองฟางในที่โล่ง เป็นวิธีการเก็บรักษาฟางข้าววิธีดั้งเดิมที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยโบราณด้วยการกองฟางให้เป็นกองสูงโดยเลือกกองบนพื้นที่ที่เป็นเนินหรือบริเวณที่สูงไม่เสี่ยงต่อน้ำท่วมได้ง่าย ลักษณะของกองฟางมีรูปร่างคล้ายระฆังคว่ำ มีฐานกว้าง และค่อยๆเรียวลดขนาดลงจนถึงส่วนปลายสุด
การกองฟางด้วยฟางชนิดเกี่ยวมือสามารถกองเรียงเป็นชั้นๆ อัดเรียงกันแน่น และกองสูงได้ดีกว่าฟางข้าวจากการใช้รถเกี่ยวหรือฟางข้าวที่ใช้รถนวด เนื่องจากฟางมีลักษณะคงสภาพเป็นลำต้นสมบูรณ์ สามารถจัดเรียงได้ง่าย
ปัจจุบันการกองวิธีนี้ยังพบได้ทั่วไปตามพื้นที่ชนบทในทุกแปลงเกษตรกรที่มีความต้องการใช้ประโยชน์จากฟางข้าวน้อย เช่น ในเกษตรที่ใช้เป็นอาหารโคเพียงไม่กี่ตัว จึงได้รวบรวม และจัดเก็บในโรงเรือน
การกองวิธีการนี้ มีโอกาสทำให้ฟางข้าวเน่าเสียได้ง่าย โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนที่ฟางข้าวสัมผัสกับน้ำฝนโดยตรง และหากดินมีความชื้นมาก ฟางข้าวบริเวณฐานด้านล่างจะเน่าเสียได้ง่าย แต่ก็ยังมีฟางข้าวบางส่วนที่ยังสามารถรักษาสภาพไว้ได้ โดยเฉพาะฟางข้าวบริเวณส่วนกลางของกอง
2. การกองในโรงเรือน
เป็นวิธีการเก็บรักษาฟางข้าวที่ใช้ในเกษตรบางราย โดยเฉพาะเกษตรกรที่มีความต้องการใช้ฟางข้าวมาก และสามารถมีเงินทุนสร้างโรงเรือนเก็บได้ เช่น เกษตรที่มีอาชีพเพาะเห็ดฟาง เกษตรกรที่ต้องใช้ฟางคลุมแปลงเกษตร และเกษตรผู้เลี่ยงโคจำนวนมาก เป็นต้น
วิธีการเก็บรักษาฟางวิธีนี้ สามารถเก็บรักษาฟางข้าวได้นานหลายปี เนื่องจากมีหลังคาป้องกันฝนได้ แต่มีค่าใช้จ่ายสูงมากเมื่อเทียบกับการกองในที่โล่ง
เอกสารอ้างอิง
1. ถนัด รัตนาณุพงศ์, 2531. การเสริมยูเรีย-กากน้ำตาลและใบกระถิน-กากน้ำตาลในฟางข้าวสำหรับโคนมในฤดูแล้ง.