พะยอม (White meranti) ประโยชน์ และสรรพคุณพะยอม

Last Updated on 21 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

พะยอม (White meranti) เป็นไม้ยืนต้นที่พบได้ในทุกภาค นิยมนำไม้มาใช้ประโยชน์ในงานก่อสร้างต่างๆ รวมถึงแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์หรือเครื่องเรือนต่างๆ รวมถึงนิยมใช้ทำสมุนไพร โดยเฉพาะเปลือกมีสรรพคุณต้านเชื้อโรคในระบบทางเดินอาหาร และดอกบานใช้ทำยาหอม

• วงศ์ : Dipterocarpaceae (วงศ์ยางนา)
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Shorea roxburghii G.Don
• ชื่อสามัญ :
– Shorea
– White meranti
• ชื่อท้องถิ่น :
เหนือ
– กะยอม
– ยางหยวก (น่าน)
– เขียง, เขี่ยว (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่)
ตะวันออก
– ขะยอมดง
– พะยอมดง
อีสาน
– พะยอม
– คะยอม
– ขะยอม
– แดน
ใต้
– ยอม
– พะยอมทอง

ที่มา : [4]

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
ดอกพะยอมเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ พะยอมเป็นไม้ท้องถิ่นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งในไทย พม่า ลาว มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น และพบได้ในอินเดีย ในประเทศไทยพบได้ตามป่าผลัดใบ และป่าดิบแล้ง ทั่วทุกภาค พบบริเวณความสูงจากระดับน้ำทะเล 60-1,200 เมตร และบางที่อาจพบได้ตามปาชายหาดใกล้ทะเล สามารถเพาะขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

ที่มา : [3], [5]

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้นพะยอม
พะยอมจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ มีลำต้นสูงในช่วง 15-30 เมตร มีขนาดวงรอบลำต้นสูงสุดได้ประมาณ 100-300 เซนติเมตร ลำต้นแตกกิ่งแขนงมาก และดูเป็นทรงพุ่มหนา เปลือกต้นแตกเป็นสะเก็ดหนา สีน้ำตาลอมดำ และแตกเป็นร่องตามแนวตั้งของลำต้น ส่วนเนื้อไม้จะเป็นไม้เนื้อแข็งใช้สำหรับงานสร้างบ้านได้ดี เนื้อไม้มีสีเหลืองอ่อนหรืออมน้ำตาล ขึ้นอยู่กับอายุ และหากทิ้งไว้นานจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล มักมีเส้นสีดำหรือสีน้ำตาลเข้มเป็นเส้นพาดผ่าน

ใบพะยอม
ใบพะยอมออกเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับตามกิ่งแขนง ใบมีลักษณะใบมนรี ยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตรและกว้างประมาณ 3.5-6.5 เซนติเมตร โคนใบสอบมน ขอบใบเรียบ และเป็นคลื่น ส่วนปลายใบแหลม แผ่นใบเกลี้ยง สีเขียว และเป็นมัน มีเส้นใบเป็นร่องเห็นเด่นชัด ส่วนด้านหลังใบจะมองเห็นเส้นใบเป็นนูนชัดเจน

ดอกพะยอม
ดอกพะยอมออกดอกเป็นช่อขนาดใหญ่ แทงออกที่ปลายกิ่งแขนง ประกอบด้วยช่อย่อยหลายช่อ ช่อย่อยประกอบด้วยกลุ่มดอกที่ออกตามแขนงช่อ ตัวดอกมีขนาดเล็ก ประกอบด้วยก้านดอกขนาดเล็ก สีเหลือง ยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ถัดมาเป็นกรวยดอกสีเหลืองเช่นกัน และถัดมาเป็นกลีบดอก 3 กลีบ มีสีเหลืองอ่อนหรือสีครีม แต่ละกลีบมีลักษณะเรียวยาว และบิดตัว ยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ภายในดอกมีเกสรตัวผู้ 16 อัน เมื่อถึงฤดูออกดอก ช่อดอกจะบานพร้อมกัน เมื่อบานจะส่งกลิ่นหอมอบอวน และส่งกลิ่นหอมได้ไกล การออกดอกจะพบได้ในช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ ของทุกปี ทั้งนี้ ช่วงออกดอกจะพบเป็นกลุ่มช่อดอกปกคลุมทั้งต้น ส่วนใบจะร่วงหมดก่อนหน้านั้นในช่วงผลัดใบ

ผลพะยอม
ผลพะยอม เป็นผลแห้ง และมีปีกที่พัฒนามาจากลีบเลี้ยง ผลมีลักษณะเดียวกันกับผลยางนา ประกอบด้วยมีก้านผลเล็ก ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ตัวผลมีลักษณะกลมรี ผลดิบมีสีเขียว ปีกมีสีเหลือง ปีกมีทั้งหมด 3 อัน เรียวยาว ปีก 2 อันจะสั้น ส่วนอีกอันจะยาว ยาวประมาณ 6-8 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ปลายปีกมน ผลแก่จะแห้งไปพร้อมกับปีก มีสีน้ำตาลแดง เมื่อแห้งจัด ผลจะร่วงออกจากช่อผล เวลาร่วง ปีกจะหมุนตัว และช่วยพยุงผลให้ตกได้ไกลจากต้น ติดผลในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม

สารสำคัญที่พบ
– Catechol
– Pyrogallol
– Tanin

ที่มา : [3], [5]

สรรพคุณพะยอม
เปลือก
เปลือกพะยอมมีรสฝาด ประกอบด้วยสารแทนนินจำนวนมาก นิยมทำเป็นยาบรรเทาอาการโรคต่างๆ ได้แก่
– แก้ลำไส้อักเสบ ใช้สมานลำไส้ สมานแผลในกระเพาะอาหาร (ต้มน้ำดื่ม)
– แก้อาการท้องเดิน (ต้มน้ำดื่ม)
– แก้อาการท้องเสีย โรคท้องร่วง อาหารเป็นพิษ (ต้มน้ำดื่ม) โดยเฉพาะสาร Catechol และ Pyrogallol มีสรรพคุณเด่นในการฆ่าเชื้อ
– ใช้บดผสมน้ำ ทารักษาบาดแผล แผลสดหรือแผลเป็นหนอง

ดอกพะยอม
– ใช้เป็นส่วนผสมของยาหอม หรือดมสด แก้อาการวิงเวียนศรีษะ
– บำรุงหัวใจ (ต้มน้ำดื่ม)
– ช่วยขับปัสสาวะ (ต้มน้ำดื่ม)
– ช่วยลดไข้ (ต้มน้ำดื่ม)

ที่มา : [1], [2], [3], [5]

ประโยชน์พะยอม
ดอกพะยอม
– ดอกพะยอมเมื่อบานจะส่งกลิ่นหอม นิยมใช้ไหว้พระ ใช้โรยขันน้ำสำหรับสงพระ ใช้วางไว้ห้องนอน ห้องรับแขกให้มีกลิ่นหอมหรือดับกลิ่น เป็นต้น
– ดอกนำมาลวกหรือรับประทานสดเป็นผักคู่กับข้าว
– ต้นพะยอมจากกิ่งตอนใช้ปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับดอกหรือเพื่อนำดอกมาใช้ประโยชน์

เปลือกพะยอม
– ใช้เคี้ยวแทนหมากร่วมกับพลู
– ใช้ใส่กระบอกรองน้ำตาลจากรวงตาลหรือน้ำตาลมะพร้าวเพื่อป้องกันการบูดของน้ำตาล
– เปลือกสับเป็นชิ้น ใช้ใส่ในอาหารหมักดอง ป้องกันอาหารเน่าเสีย
– เปลือกซับเป็นชิ้น ใช้ต้มฟอกหนังสัตว์
– สารสกัดจากเปลือกต้านโรคแอนแทรกโนสในพริก และมะละกอ

ยางไม้พะยอม/ชัน
– ยางหรือชันจากต้นพะยอม ใช้เป็นน้ำมันทาไม้หรือชันยาเรือ

เนื้อไม้
– ไม้พะยอม หากมีการแช่น้ำยาจะช่วยให้มีความแข็งแรง และคงทนมาก จึงนิยมใช้ทำหมอนรางรถไฟ การต่อเรือ ก่อสร้างบ้าน เช่น เสา ขื่อ คาน วงกบ ไม้ปูพื้น เป็นต้น
– ไม้พะยอมใช้ทำอุปกรณ์การเกษตร และเครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น เกวียน ด้ามเสียม จอบ ครก สาก หีบกระเดื่อง เป็นต้น
– ไม้พะยอมแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ

ที่มา : [1], [2]

คุณสมบัติของเนื้อไม้
– สี : สีเหลืองอ่อนหรืออมน้ำตาล มีเส้นสีดำหรือสีน้ำตาลเข้มเป็นเส้นพาดผ่าน และหากทิ้งไว้นานจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล
– กลิ่น : ไม่มีกลิ่น
– ลักษณะเสี้ยน : เสี้ยนตรงหรือเสี้ยนสน ส่วนมากเป็นเสี้ยนสน
– ความหยาบ : ปานกลาง
– ความหนัก : ค่อนข้างหนัก 48-55 ปอนด์/ตารางฟุต
– ความถ่วงจำเพาะ : 0.76

ที่มา : [4]

เอกสารอ้างอิง
[1] วรรณิภา เฉลิมหมู่. 2557. ประสิทธิภาพของครีมย้อมผมจากสารสกัดหยาบ-
เปลือกต้นพะยอมและเปลือกต้นคูน.
[2] สมเกียรติ ขันอ่อน.2552. การพัฒนาและการผลิตสารสกัดจากไม้พะยอม-
ในรูปแบบผงเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตน้ำตาลสด.
[3] ฉวีวรรณ บุญมาชัย. 2553. การยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียในช่องปาก-
โดยสารสกัดจากสมุนไพรบางชนิด.
[4] ชมนาค อิงคชัยโชติ. 2527. ความผันแปรตามฤดูกาลของกิจกรรมแคมเบียม-
ในกิ่งของไม้ประดู่ พะยอม และยางกราด ในป่าเต็งรัง.
[5] อารี แก้วกนกวิจิตร. 2546. ผลของไม้พะยอมและไม้มะเกลือที่มีต่อ-
จุลินทรีย์ในน้ำตาลสดและน้ำตาลเมา.