Last Updated on 22 มิถุนายน 2015 by puechkaset
กระดุมทองเลื้อย หรือ เบญจมาศเครือ เป็นพืชอายุข้ามปีในวงศ์ทานตะวันที่นิยมปลูกเพื่อเป็นไม้ดอกไม้ประดับเป็นหลัก นอกจากนั้น ส่วนดอก และลำต้นยังสามารถใช้เป็นสมุนไพรหรือใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ อาทิ สีผสมอาหาร และสีย้อมผ้า เป็นต้น
กระดุมทองเลื้อย หรือ เบญจมาศเครือ มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกา พบมากในแถบประเทศอบอุ่น และเขตร้อนชื้น รวมถึงประเทศไทยด้วย เป็นพืชที่เติบโตเร็ว และเติบโตได้ดีบริเวณดินชื้นแฉะ สามารถแตกกิ่งก้าน และเหง้าใหม่ขยายคลุมหน้าดินได้เป็นบริเวณกว้างภายในไม่กี่เดือนจนมีศักยภาพเป็นพืชรุกรานชนิดหนึ่ง
อนุกรมวิธาน
Division : Magnoliophyta
Class : Magnoliopsida
Subclass : Asteridae
Order : Asterales
Family : Asteraceae (Compositae)
Genus : Wedelia
Species : trilobata
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Wedelia trilobata (L.) A.S. Hitchcock
ชื่อสามัญ : Creeping daisy, Singapore daisy, Trailing daisy, Creeping ox-eye, Climbing wedelia, Rabbits paw
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
1. ราก และลำต้น
กระดุมทองเลื้อย ประเภทใบเลี้ยงคู่ ลำต้นมีขน และแตกกิ่งทอดราบไปกับพื้นดิน กิ่งมีข้อเป็นที่แตกออกของใบ ส่วนยอดจะชูสูงอยู่ด้านบน หากพื้นที่กว้าง และรอบข้างด้านใดไม่มีพืชอื่นจะแผ่ราบขนานกับพื้น แต่หากพื้นที่แคบ ลำต้นขึ้นแข่งกันหรือมีพืชอื่น ลำต้นจะยืดตัวสูงขึ้น
รากมีลักษณะเป็นรากฝอย ความลึกรากประมาณ 30 ซม. และสามารถแตกรากตามข้อที่สัมผัสดินได้
2. ใบ
ใบ เป็นใบเดี่ยว แทงออกบริเวณข้อ มี 2 ใบ อยู่คนละข้างกัน ใบมีสีเขียวสด ใบแก่มีสีเขียวเข้ม เป็นมัน มีขนหยาบปกคลุม เมื่อจับจะรู้สึกสากมือ ก้านใบสั้นจนแทบมองไม่เห็น ขอบใบหยักเป็นคลื่น มี 3 แฉก ใบกว้างประมาณ 2.5 ซม. ยาวประมาณ 5.5 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบมน
3. ดอก
ดอกแทงออกบนซอกใบ ออกมากบริเวณปลายยอด ดอกออกเป็นช่อ มีสีเหลือง มีก้านช่อดอกยาว 4-6 ซม. มีกลีบดอกสีเหลือง เรียงซ้อนสลับกัน 2 ชั้น ชั้นละ 4-5 ใบ กลีบดอกแต่ละกลีบยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ปลายกลีบดอกเว้าเป็น 3 แฉก ถัดไปจะเป็นส่วนดอกที่รวมกันเป็นกระจุก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร ประกอบด้วยดอก 2 ชั้น มีลักษณะเป็นหลอด ชั้นแรก เป็นดอกวงนอกของดอกเพศเมีย มีขนาดใหญ่ ประมาณ 8-10 ดอก ส่วนชั้นในเป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีจำนวนมาก และมีขนาดเล็กกว่าดอกเพศเมียวงนอก รวมกลีบดอก และดอกแล้วมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 เซนติเมตร
4. เมล็ด
เมล็ดมีขนาดเล็ก กระจุกตัวตรงกลางดอก เมล็ดแก่มีสีดำ เป็นมัน มีลักษณะเป็นสามเหลี่ยม ปลายแหลม ยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร
ประโยชน์
1. ใช้เป็นไม้ดอกไม้ประดับในกระถางหรือแปลงจัดสวน อาจปลูกเป็นพืชเดี่ยวหรือปลูกเป็นไม้ระดับล่างเพื่อคลุมดินในสวนจัดแต่ง
2. ใช้ปลูกคลุมดินเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นแก่หน้าดิน และป้องกันการพังทะลายหน้าดิน
3. ใช้ปลูกแทนหญ้าในสนามหญ้า เนื่องจากปกคลุมแปลงได้เร็ว และสามารถป้องกันหญ้าชนิดอื่นเติบโตในแปลง
4. กลีบดอกนำมาตากแห้ง บดเป็นผงใช้สำหรับเป็นสีผสมอาหารหรือสีย้อมผ้า
5. เมล็ด นำมาสกัดน้ำมันใช้สำหรับปรุงประกอบอาหาร
6. น้ำมันจากเมล็ดกระดุมทองเลื้อยนำมาใช้ประโยชน์อย่างอื่น เช่น ใช้เป็นส่วนผสมกับเครื่องสำอางสำหรับบำรุงผิว ใช้ทานวดกล้ามเนื้อ ใช้นวดบำรุงผม เป็นต้น
สารสำคัญที่พบ
• chlorophyll
• แซนโทฟิลล์ (xanthophyll) ได้แก่ ลูทีน (Lutein : C40H56O2)
• germacrene D
• α – humulene,
• caryophyllene
• squalene
• phellandrene
• p – cymene
• sitosterol
• อนุพันธ์ของ ent – kaurenic acid
• eudesmanolides
เพิ่มเติมจาก : Bohlmann และคณะ (1981)(1)
สรรพคุณกระดุมทองเลื้อย
• สารคลอโรฟิลล์ในลำต้น และใบมีฤทธิ์ป้องกันตับจากสารพิษ ช่วยรักษาโรคตับอักเสบ กระตุ้นการทำงานของตับ
• สารคลอโรฟิลล์มีผลทำให้ตับทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ผลิตน้ำย่อยอาหารได้ปกติ ป้องกันอาหารไม่ย่อย และต้านโรคติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร
• ใบ และลำต้นสดนำมาบดให้ละเอียดใช้เป็นยาพอกแผล แก้ฟกช้ำ
• ดอก รวมถึงลำต้น และใบ นำมาต้มน้ำรับประทาน ช่วยลดไข้ ช่วยย่อยอาหาร ใช้เป็นยาชา ช่วยบรรเทาอาการปวดเหงือก และฟัน
• ดอกมีสารแคโรทีน (carotene) และแซนโทฟิลล์ (xanthophyll) ช่วยบำรุงสายตา ป้องกันสายตาเสื่อม
• ดอก ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทาน ลดอาการภูมิแพ้
• ดอก ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ช่วยบำรุงผิวพรรณ ป้องกันผิวจากรังสีดวงอาทิตย์ ป้องกันการเกิดฝ้า กระ และริ้วรอย
• ดอก ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง ป้องกันโรคเบาหวาน ลดไขมันในเส้นเลือด ป้อกงันโรคหัวใจ และหลอดเลือดตีบตัน
พบรายการศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดจากกระดุมทองเลื้อยต่อจุลินทรีย์ พบว่า สารสกัดด้วยเฮกเซนมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก และแกรมลบได้หลายชนิด แต่สารสกัดจากน้ำไม่มีผลต่อแบคทีเรียแต่อย่างใด และสารสกัดไม่มีฤทธิ์ต้านทานยีสต์ และเชื้อรา นอกจานั้น ยังมีการศึกษาสารสกัดจากกระดุมทองที่มีต่อการงอก และการเจริญของเมล็ดพืช พบว่า สารสกัดจากกระดุมทองเลื้อยมีผลช่วยให้การงอกของเมล็ดพืชบางชนิด เช่น โหระพา และกะเพรา
การปลูก
กระดุมทองเลื้อย เป็นพืชที่ชอบดินชุ่ม แต่ทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี ชอบพื้นที่โล่งที่มีแสงแดดส่องถึงตลอดวัน แต่ไม่ชอบอากาศหนาวเย็น เติบโตได้ดีในทุกสภาพดิน
กระดุมทองเลื้อย สามารถขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด และการปักชำกิ่ง แต่วิธีที่นิยม คือ การปักชำกิ่ง เนื่องจากติดง่าย และทำได้รวดเร็ว โดยใช้กิ่งยาวประมาณ 15-20 ซม. ปักเสียบบริเวณที่ต้องการปลูก เพียงไม่กี่วันรากก็จะงอก และเติบโตเป็นต้นใหม่ได้
ในระยะแรกอาจต้องคอยกำจัดวัชพืชบ้าง แต่หากต้นปลูกติดแล้ว กระดุมทองเลื้อยก็สามารถเติบโตแข่งกับวัชพืชชนิดอื่นๆได้ดี แต่บางครั้งในบางพื้นที่ กระดุมทองเลื้อยมีการเติบโต และขยายกิ่งใหม่ที่รวดเร็ว จึงจำเป็นต้องคอยตัดเป็นระยะ
เิอกสารอ้างอิง