มะพูด ประโยชน์ และสรรพคุณ

Last Updated on 21 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

มะพูด (Garcinia) เป็นไม้ผลยืนต้นที่พบได้มากในป่าดิบชื้นแถบภาคตะวันออก นิยมนำผลสุกมารับประทาน หรือ ทำเป็นขนมหวาน ส่วนผลดิบใช้รับประทานสดคู่พริกเกลือ ใช้ดองเค็ม ทำเป็นผลไม้กวน หรือ ใช้ปรุงอาหารเพื่อให้รสเปรี้ยวแทนมะนาว

อนุกรมวิธาน
• Kingdom (อาณาจักร) : Plantae
• Sub kingdom (อาณาจักรย่อย) : Tracheobionta
• Division (ดิวิชัน) : Magnoliophyta
• Class (ชั้น) : Magnoliopsida
• Sub class (ชั้นย่อย) : Dilleniidae
• Order (อันดับ) : Theales
• Family (วงศ์) : Clusiaceae
• Genus (สกุล) : Garcinia
• Species (ชนิด) : Garcinia dulcis

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Garcinia dulcis (Roxb.) Kurz
• ชื่อสามัญ :
– Garcinia
• ชื่อท้องถิ่น :
กลาง
– มะพูด
เหนือ
– มะพูด
ตะวันออก
– ไข่จระเข้
– ตะพูด
– ส้มปอง
– ส้ม
– พะวาใบใหญ่
อีสาน
– ปะพูด
– หมากพูด
กัมพูชา
– ตะพูด
– พะวา
– ประหูด
– ประโหด
– ประโฮด
– มะนู

ที่มา : [1] อ้างถึงใน คณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ (2551), [2] อ้างถึงใน Natural Resourees Conservice (2003)

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
มะพูดเป็นผลไม้พื้นเมืองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบแพร่กระจายพันธุ์ในป่าดิบชื้น และตามชายลำน้ำ ลำห้วยในป่าเบญจพรรณ พบมากในภาคตะวันออกของไทย ส่วนต่างประเทศพบแพร่กระจายในประเทศฟิลิปปินส์ บอร์เนียว ชวา และอินโดนีเชีย

ที่มา : [1] อ้างถึงใน คณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ (2551)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้นมะพูด
มะพูดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีต้นสูงประมาณ 10-15 เมตร ทรงพุ่มมีลักษณะกลม แตกกิ่งก้านมาก ใบหนา ทำให้ทรงพุ่มแลดูหนาทึบ และเป็นร่มเงาได้ดี กิ่งก้านมีลักษณะเป็นเหลี่ยม เปลือกลำต้นมีสีน้ำตาลอมดำ มีลักษณะเป็นปุ่มปมตะปุ่มตะป่า หากใช้มีดกรีดเปลือกจะพบยางสีขาวไหลออกมา และค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีเหลือง

ใบมะพูด
ใบมะพูดแทงออกเป็นแบบใบเดี่ยว ใบออกตรงกันข้าม ก้านใบสั้น ใบมีขนาดใหญ่ ขนาดกว้างประมาณ 8-12 เซนติเมตร และยาวประมาณ 15-25 เมตร แผ่นใบหนา สีเขียวเข้ม ใบยาวรีคล้ายกับใบมังคุด ปลายใบแหลม แผ่นใบด้านล่างมีขนละเอียดปกคลุม

ดอกมะพูด
ดอกออกเป็นช่อ ช่อละประมาณ 3-5 ดอก ตามง่ามใบ เป็นดอกแยกเพศในต้นเดียวกัน กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปทรงกลม กลีบดอกมีสีขาวอมเหลือง โดยจะเริ่มผลิดอกหลังงอกแล้ว 5-6 ปี

ผล และเมล็ดมะพูด
ผลมะพูดออกตามกิ่ง ติดผลดก มีทั้งเป็นผลเดี่ยว และติดผลเป็นพวง ผลมีลักษณะกลมหรือรูปไข่ ผลมีขนาดใหญ่ มีลักษณะคล้ายส้มเขียวหวาน หรือ เท่าขนาดผลลูกท้อหรือแอปเปิ้ล ขนาดยาวประมาณ 5-7 เซนติเมตร ทรงกลมป้อม เปลือกผลค่อนข้างหนา และเป็นมัน ผลดิบมีสีเขียว ผลสุกมีสีเหลือง หรือ เหลืองอมส้ม เนื้อในผลจะมีสีเหลืองส้ม มีลักษณะเป็นเส้นใยนุ่มสีเหลืองประกบกันคล้ายกลีบ นิยมนำมารับประทานสุก มีรสหวานอมเปรี้ยว โดยผลจะทยอยสุกในช่วงเดือนเมษายน-กรกฎาคม

ส่วนเมล็ดมี 2-5 เมล็ด เมล็ดลักษณะแข็ง รูปร่างเมล็ดแบน ๆ ขนาดเท่าเล็บมือฝังอยู่ภายใน

ประโยชน์มะพูด
1. ผลมะพูดมีรสหวานอมเปรี้ยว นิยมรับประทานเป็นผลไม้สด หรือ นำมาแปรรูปเป็นน้ำผลไม้ดื่ม นอกจากนั้น ยังแปรรูปเป็นผลไม้กวน ส่วนผลดิบมีรสเปรี้ยว ใช้รับประทานสดจิ้มพริกเกลือ หรือ ใช้ปรุงอาหารสำหรับให้รสเปรี้ยวแทนมะนาว รวมถึงนำมาแปรรูปเป็นมะพูดดอง มะพูดเชื่อมรับประทาน
2. ใบ และเปลือกต้น นิยมใช้สำหรับย้อมสีผ้า ซึ่งจะให้สีเหลืองคล้ายสีเหลืองสด หรือ เหลืองอมน้ำตาล


3. ต้นมะพูด เป็นไม้ยืนต้นที่มีทรงพุ่มหนา ให้ร่มเงาได้ดีมาก จึงใช้ปลูกเป็นไม้ให้ร่มเงาตามบ้านเรือน ที่สาธารณะ วัดวาอาราม ร่วมกับได้ประโยชน์จากการเป็นผลไม้

สารสำคัญที่พบ
ผลมะพูด
1. สารกลุ่ม prenylated benzophenone คือ Xanthochymol (C) และ Isoxanthochymol (D)
2. สารกลุ่ม xanthone คือ α-mangostin (B) พร้อมกับ bioflavonoids คือ morelloflavone (E)

นอกจากนี้ ยังสามารถแยก triterpene ได้อีก ซึ่งเป็นส่วนผสมของ β-sitosterol กับ stigmasterol (A) และอนุพันธ์ glycoside ที่เป็นส่วนผสม β-Sitosterol glucoside และ stigmasterol glucoside (F)

ที่มา : [1]

ใบมะพูด
1. morelloflavone
2. GB-2a
3. volkensiflavone hexamethyl ether
4. amentoflavone hexamethyl ether
5. I-4′,I-5,II-5,I-7,II-7-pentahydroxy-flavone[I-3,II-8]chromone
6. dulxanthone E
7. friedelin

ที่มา : [1] อ้างถึงในอันซารี และคณะ, โคเซล่า และคณะ

เปลือกมะพูด
1. dulciol A (7)
2. 12b-hydroxydes-D-garcigerin
3. toxyloxanthone B
4. dulxanthone A, B, C และ D
5. xanthone V1
6. jacareubin
7. 1,3,7-trihydroxy-2-(3-methyl-2-butenyl)xanthone
8. gentisein
9. ugaxanthone
10. isoprenylxanthone
11. toxyloxanthone
12. biflavonoid GB-1a

ที่มา : [1] อ้างถึงใน อิโต และคณะ, อินูมา และคณะ

รากมะพูด
1. dulciol B, C, D และ E
2. garciniaxanthone A , B และ D
3. globuxanthone
4. subelliptenone C, D และ F
5. benzophenone-xanthone dimer 3 ชนิดคือ garciduol A, B และ C

ที่มา : [1] อ้างถึงในอันซารี และคณะ, อินูมา และคณะ

สรรพคุณมะพูด
ผล
ผลใช้รับประทานสด มีรสเปรี้ยวอมหวาน
– ช่วยแก้ไอ แก้อาการเจ็บคอ ช่วยขับเสมหะ
– แก้อาการเลือดออกตามไรฟัน
– ช่วยบรรเทาอาการโรคเก๊าต์

ราก
รากนำมาล้างน้ำให้สะอาด ก่อนตัดเป็นชิ้นๆ ใช้ต้มน้ำดื่ม มีรสจืด
– ช่วยบรรเทาอาการไข้ ช่วยแก้ร้อนใน
– ช่วยถอนพิษผิดสำแดง

เปลือก
เปลือกนำมาขูดเปลือกด้านนอกออก ก่อนตัดเป็นชิ้นๆ ใช้ต้มน้ำดื่ม มีรสฝาด
– ช่วยแก้โรคท้องเสีย
– หรือ นำน้ำต้มทาล้างแผล

ต่างประเทศ
– ประเทศอินโดนีเซียมีการใช้สารสกัดของใบ และเมล็ดมะพูด สำหรับการรักษาโรคคางทูม โรคต่อมนํ้าเหลืองอักเสบ รวมถึงโรคคอพอก (struma)

ที่มา : [1], [2] อ้างถึงใน Kasahara and Henmi (1986)

ฤทธิ์ทางยาที่สำคัญ [1]
– ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย
– ฤทธิ์ลดระดับโคเลสเตอรอล
– ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

สารสกัดจากมะพูดเมื่อนำมาทดสอบฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์แซนทีนออกซิเดสซึ่งเป็นเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องโรคเก๊าต์พบว่า สาร Xanthochymol และ สาร morelloflavone แสดงฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์แซนทีนออกซิเดสได้ดี [1]

จากการทดสอบฤทธิ์ต้านภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตัวของสารสกัดจากใบมะพูดในกระต่าย พบว่า สารสกัดจากใบมะพูดออกฤทธิ์ต้านภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตัวได้ดีในกระต่ายในระดับที่ผสมในอาหารที่ 0.01% [3]

ขอบคุณภาพจาก pantip.com

เอกสารอ้างอิง
[1] ธงชัย ขำมี. 2560. การศึกษาองค์ประกอบทางเคมีและฤทธิ์ทางชีวภาพ –
ที่เกี่ยวข้องกับโรคผู้สูงวัยของผลมะพูด.
[2] สุญาณี คงคาช่วย. 2544. ฤทธิ์ต้านการออกซิไดส์ไลโปโปรตีน-
ชนิด LDL ของสารสกัดจากมะพูด.
[3] อุษาวดี เดชะ. 2545. การทดสอบศักยภาพของสารสกัดจากมะพูด-
ในการป้องกันภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง.