โหระพา สรรพคุณ และการปลูกโหระพา

Last Updated on 4 เมษายน 2017 by puechkaset

โหระพา (Basil ) จัดเป็นพืชผักที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับกระเพรา และแมงลัก แต่ใบจะมีกลิ่นหอมเฉพาะตัวจึงทำให้นิยมนำมาปรุงอาหารหลายชนิดเพื่อให้อาหารมีกลิ่นหอม และช่วยดับกลิ่นคาว รวมถึงการกินสดคู่กับอาหารชนิดอื่น นอกจากนั้น ใบโหระพาจะมีน้ำมันหอมระเหยจำนวนมากทำให้ใช้ใบไปสกัดน้ำมีันหอมระเหยเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านอุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องสำอาง

• วงศ์ : Labiatae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ocimum basilicum L.
• ชื่อสามัญ :
– Basil
– Sweet Basil
– Thai Basil

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ราก และลำต้น
โหระพาเป็นพืชล้มลุก มีระบบรากแก้ว และรากฝอย ลำต้นมีความสูงประมาณ 40-60 ซม. ลำต้นเป็นสี่เหลี่ยม แก่นด้านในเป็นไม้เนื้ออ่อน ผิวลำต้นอ่อนหรือกิ่งอ่อนมีสีม่วงแดง ลำต้นแตกกิ่งตั้งแต่ระดับต่ำของลำต้นจนแลดูเป็นทรงพุ่ม กิ่งแตกออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน

โหระพา

ใบโหระพา
ใบโหระพาออกเป็นใบเดี่ยว แทงออกบริเวณข้อของกิ่ง ใบมีรูปไข่ คล้ายใบกะเพรา ใบมีสีเขียวเข้มหรือม่วงแดงหรือเขียวอมม่วง กว้างประมาณ 3-4 ซม. ยาวประมาณ 6 ซม. โคนใบมน ใบปลายแหลม แผ่นใบเรียบ และค่อนข้างเป็นมัน ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย มีเส้นใบมองเห็นชัดเจน ใบไม่มีขน ใบมีน้ำมันหอมระเหยทำให้มีกลิ่นหอม

ดอก
ดอกโหระพาออกเป็นช่อที่ปลายยอด แต่ละช่อออกดอกเรียงเป็นชั้นๆ แต่ละชั้นมีประมาณ 6-8 ดอก ดอกมีสีขาวอมแดงม่วง ภายในมีเกสรตัวผู้ 4 อัน

ดอกโหระพา

เมล็ด
เมล็ดใน 1 ดอก จะมีประมาณ 3-4 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะคล้ายหยดน้ำตา มีสีน้ำตาลเข้ม ขนาดเมล็ดประมาณ 1 มิลลิเมตร เมล็ดโหระพามีเมือกหุ้มเมล็ด หากนำมาแช่น้ำเมือกจะพองตัวออกคล้ายเมล็ดแมงลัก

ประโยชน์โหระพา
1. ใบสดนิยมนำมารับประทานเป็นผักคู่กับอาหารจำพวกลาบ ซุปหน่อไม้ และก๋วยเตี๋ยว
2. ใบนิยมใช้ประกอบอาหารเพื่อให้มีกลิ่นหอม เช่น แกงผัด ผัดเผ็ด เป็นต้น
3. ใบนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย
4. น้ำมันโหระพาถูกนำมาใช้มากในอุตสาหกรรมอาหาร เช่น ใช้แต่งกลิ่นลูกกวาด น้ำสลัด และเครื่องดื่ม
5. น้ำมันโหระพาใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง อาทิ สบู่ และน้ำหอม เป็นต้น

คุณค่าทางอาหาร (ใบ 100 กรัม)
– พลังงาน 251 กิโลแคลอรี่
– โปรตีน 14.4 กรัม
– ไขมัน 4 กรัม
– คาร์โบไฮเดรต 61 กรัม
– แคลเซียม 2,113 มิลลิกรัม
– ฟอสฟอรัส 46 มิลลิกรัม
– เหล็ก 42 มิลลิกรัม
– แมงกานีส 42.2 มิลลิกรัม
– ฟอสฟอรัส 490 มิลลิกรัม
– โพแทสเซียม 3,433 มิลลิกรัม
– โซเดียม 34.0 มิลลิกรัม
– สังกะสี 6.0 มิลลิกรัม
– วิตามิน C 22 มิลลิกรัม
– วิตามิน B1 0.1 มิลลิกรัม
– วิตามิน B2 0.2 มิลลิกรัม
– วิตามิน A 9375 IU
– เบต้า แคโรทีน 452.2 ไมโครกรัม
– ใยอาหาร 17.8 กรัม
– เถ้า 14.3 กรัม

สำคัญที่พบในโหระพา
Methyl chavicol พบมากกว่า 90%
Pinene
β-Pinene
β-Bourbonene
β-Elemene
β-Cubebene
β-Caryophyllene
β-Copaene
β-Acoradiene
Camphor
Ocimene
Eucalyptol
Linalool
Benzaldehyde
Sabinene
Myrcene
Cis-Hex-3-Enyl Acetate
p-Cymene
Limonene
Eucalyptol
cis-Beta-Ocimene
cis-Linalool Oxide
trans-Linalool Oxide
trans-Myroxide
Neo-Allo-Ocimene
Menth-2-en-1-ol
Pinocarvone
Terpinen-4-ol
Endo Fenchyl Acetate
Nerol
Neral
Geraniol
Geranial
Carvacrol
Bicycloelemene
Exo-2-Hydroxycineole Acetate
Cubebene
Geranyl Acetate
Methyl Eugenol
Trans-Alpha-Bergamotene
Cadina-3,5-Diene
Epsilon-Muurolene
Germacrene
Bicylogermacrene

สรรพคุณโหระพา
ใบ และลำต้น
– บรรเทาอาการเจ็บคอ ขับเสมหะ
– ลดอาการปวดฟัน
– ช่วยขับลม
– ช่วยขับเหงื่อ
– แก้อาการท้องอืด
– ช่วยย่อยอาหาร
– ช่วยเจริญอาหาร
– ลดอาการเป็นหวัด
– นำใบสดประมาณ 5-10 ใบมาบีบขยำ แล้วนำมาแผลจะช่วยให้ลดอาการอักเสบของแผลทำให้แผลหายเร็ว
– นำใบสด 5-10 ใบ บี้ขยำแล้วนำมากดประคบตรงบาดแผลสำหรับช่วยห้ามเลือด
– นำใบมาขยำ แล้วใช้มาหรือประคบบริเวณแมลงกัดต่อยจะช่วยให้ลดอาการปวด และบวมได้

เมล็ด
– ช่วยในการขับถ่าย
– ช่วยควบคุมน้ำหนัก
– ช่วยให้อิ่มนาน
– รักษาแผลในกระเพาะอาหาร
– ลดอาการบีบตัวของลำไส้
– ต้านเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อโรคในอาหาร

น้ำมันหอมระเหยใบโหระพา
– ใช้ทานวด แก้ปวดเมื่อย
– ช่วยทำให้ผ่อนคลาย และช่วยลดอาการเหนื่อยล้าทางจิตใจ
– แก้อาการกระตุก
– แก้จมูกอักเสบ
– ลดอาการปวดจากแมลงกัดต่อย

การปลูกโหระพา
การปลูกโหระพาสามารถปลูกได้ 3 วิธี คือ การหว่านเมล็ด การย้ายพันธุ์กล้าหลังการหว่านเมล็ด และการปักชำกิ่ง แต่วิธีที่นิยมจะเป็นการหว่านเมล็ด และการย้ายพันธุ์กล้า

การเตรียมดิน
– ไถกลบดิน 2 รอบ แต่ละรอบตากดินนาน 5-7 วัน
– ไถยกร่องแปลง ขนาดกว้าง 1.5-2 เมตร ความยาวตามความเหมาะสม
– ก่อนไถยกร่อง ให้หว่านด้วยปุ๋ยคอกอัตรา 2-3 ตัน/ไร่ ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 30 กิโลกรัม/ไร่
– สำหรับแปลงเพาะกล้าโหระพา ให้ไถพรวนดิน และยกร่องในขนาดเดียวกัน และหว่านปุ๋ยคอก และปุ๋ยเคมีในสัดส่วนที่ลดลงมา

การเตรียมกล้า
– ทำการหว่านเมล็ดลงในแปลง ให้เมล็ดมีการกระจายตัวประมาณ 3-5 ซม.
– หลังหว่านให้ใช้คราดเกลี่ยหน้าดินบางๆ แล้วคลุมด้วยฟางข้าวบางๆ
– ให้รดน้ำหลังหว่านเมล็ด และรดน้ำทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง
– เมล็ดจะเริ่มงอกภายใน 5-7 วัน หลังหว่านเมล็ด
– ดูแลกล้าโหระพาจนมีความสูงได้ประมาณ 10-15 ซม. หรืออายุประมาณ 20-25 วัน ค่อยถอนกล้าย้ายปลูกลงแปลง
– ก่อนถอนปลูก ให้รดน้ำก่อน 1 วัน

ขั้นตอนการปลูกโหระพา
– ระยะปลูก 20-30 x20-30 ซม.
– ขุดหลุมด้วยเสียมลึกประมาณ 5 ซม. หรือ ลึกให้กลบโคนต้นขึ้นมา 2-3 ซม.
– หลังปลูกเสร็จ รดน้ำให้หน้าดินชุ่ม

สำหรับการปลูกโหระพาเพื่อรับประทานเองในครัวเรือนที่ปลูกเพียงไม่กี่ต้น เกษตรกรนิยมปลูกด้วยการหว่านเมล็ดในพื้นที่ว่างภายในบ้าน ด้วยการขุดพรวนดิน และกำจัดวัชพืช หลังจากนั้น จะหว่านเมล็ดจำนวนน้อยลงแปลง แล้วรดน้ำให้ชุ่ม

ปลูกโหระพา

หากเมล็ดเกิดถี่ เกษตรจะย้ายถอนกล้าไปปลูกตามที่ว่างจุดอื่น และคงเหลือต้นให้มีระยะห่าง 20-30 ซม. ไว้ นอกจากนั้น ในบางครัวเรือนมักนำกล้าที่ถอนแยกได้นำมาปลูกในกระถาง กระถางละ 1-2 ต้น ซึ่งสามารถย้ายวางได้ในทุกจุด

การใส่ปุ๋ย
– หลังปลูก 7-14 วัน หรือหลังที่กล้าตั้งต้นได้ โดยให้หว่านด้วยปุ๋ยเคมีสูตร 24-12-12 อัตรา 25 กิโลกรัม/ไร่ และหว่านอีกครั้งหลังครั้งแรก 2-3 เดือน ในอัตราเดียวกัน
– ให้หว่านปุ๋ยคอกร่วมด้วยกับการใส่ปุ๋ยเคมีในครั้งแรก อัตราที่ 1-2 ตัน/ไร่

การให้น้ำ
– ระยะหลังปลูก 7-15 วัน จะให้น้ำทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง
– เมื่อกล้าตั้งต้นได้จะค่อยๆลดปริมาณน้ำลง โดยจะให้ 3-5 ครั้ง/สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับฤดู และความแห้งของหน้าดิน จนถึงการเก็บเกี่ยว

การเก็บยอด และใบ
– หลังจากปลูกลงแปลงแล้วประมาณ 1 เดือน ก็สามารถทยอยเก็บยอดได้
– การเก็บยอดเพื่อจำหน่าย จะเก็บยอดจากกิ่งให้มีความยาวประมาณ 20-30 ซม.
– การเก็บยอด ควรใช้มีดหรือกรรไกรตัด ไม่ควรใช้มือเด็ด เพราะกิ่ง และใบจะซ้ำง่าย หรือ บางครั้งอาจทำให้ต้นถอนขึ้นมาได้ แต่การเก็บเพื่อรับประทานเองไม่จำเป็นต้องใช้มีดหรือกรรไกร
– ให้ทยอยเก็บจากกิ่งที่อยู่ด้านล่างก่อน และทยอยเก็บเป็นช่วงๆ

โรค และแมลงโหระพา
1. โรคเหี่ยว
เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อรา Fusarium oxysporum ทำให้ใบดำ และเหี่ยวตาย แก้ไขได้โดยฉีดยากำจัดเชื้อรา
2. โรคใบเน่า
เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อรา Erwinia sp. เกิดอาการใบเป็นแผล บริเวณแผลมีน้ำ และเมือก และแผลจะค่อยๆขยายใหญ่ลุกลามไปทั่วไปจนเน่าตาย
3. โรคใบจุด
เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อรา Alternaria sp. ที่ชอบเกิดในช่วงฤดูฝนโดยจะพบอาการที่ใบมีจุดสีน้ำตาลเข้มถึงดำ ใบจะค่อยเปลี่ยนเป็นสีเหลือง และร่วงตามมา และจะเกิดบริเวณใบล่างก่อน แล้วค่อยรุกลามจนถึงใบส่วนยอด
4. หนอนผีเสื้อห่อใบ
เป็นระยะตัวอ่อนของผีเสื้อในระยะหนอนที่ชอบกัดกินใบ ด้วยการปล่อยเส้นใยให้ใบม้วนมาพับกันเพื่อคลุมลำตัว แล้วจะค่อยๆกัดกินใบด้านในบริเวณผิวใบ และจะเปลี่ยนใบใหม่จนถึงยอด