โสน ดอกโสน สรรพคุณ และการปลูกโสน

Last Updated on 9 ธันวาคม 2016 by puechkaset

โสน (Sesbania) เป็นพืชต่างถิ่นที่ถูกนำเข้ามาปลูกเพื่อใช้เป็นพืชบำรุงดิน เนื่องจาก โสนเป็นพืชตระกูลถั่วที่มีรากปมของเชื้อไรโซเบียมช่วยในการตรึงไนโตรเจนได้ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากดอกในการประกอบอาหาร โดยเฉพาะโสนหินหรือโสนรับประทานดอก ทั้งนี้ โสนที่พบในประเทศไทย ได้แก่ โสนหิน โสนอินเดีย และโสนแอฟริกัน เป็นต้น

• วงศ์ : Fabaceae
• วิทยาศาสตร์ :
– โสนอินเดีย Sesbania spiciosa.
– โสนแอฟริกัน Sesbania rostrata.
– โสนหิน/โสนกินดอก Sesbania javanica.
– ฯลฯ
• ชื่อสามัญ :
– Sesbania
– Sesbania pea
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง (ตามชนิดพันธุ์)
– โสนอินเดีย
– โสนแอฟริกัน
– โสนหิน/โสนกินดอก
ภาคเหนือ
– ผักฮองแฮง
– สีปรีหลา(กะเหลี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
• ถิ่นกำเนิด : ทวีปแอฟริกา และทวีปเอเชีย จากอินเดียจนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทยด้วย

การแพร่กระจาย
โสน เป็นพืชชายน้ำที่ชอบเติบโตบริเวณพื้นที่ชุ่ม ในประเทศไทยสามารถพบได้ทุกภาค โดยมักพบริมแม่น้ำลำคลอง ริมอ่างเก็บน้ำ บ่อน้ำ หรือพื้นที่ชื้นที่มีน้ำขังบางครั้งคราว

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
โสน เป็นพืชปีเดียว สามารถขึ้นเองตามธรรมชาติ ลำต้นมีลักษณะทรงกลมหรือเป็นเหลี่ยม ตั้งตรง และสูงชะลูด มีความสูงได้ถึง 4 เมตร ลำต้นแตกกิ่งค่อนข้างน้อย ทำให้เป็นทรงพุ่มโปร่ง เปลือกลำต้นมีสีเขียวเข้ม และมีปุ่มปมทั่ว (เฉพาะโสนแอฟริกัน) เปลือกลำต้นสามารถลอกออกเป็นเส้นได้ และใช้รัดของแทนเชือก ส่วนเนื้อไม้เป็นไม้เนื้ออ่อน มีลักษณะเปราะหักง่าย สามารถใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตกระดาษได้ ทั้งนี้ หลังจากติดผลจนแก่แล้ว ใบโสน และต้นโสนจะค่อยๆเหี่ยวเหลือง และตายในเวลาไม่นาน

โสน

ต้นโสน

ใบ
ใบโสน เป็นประกอบแบบขนนก ประกอบด้วยก้านใบหลักที่แตกออกเยื้องสลับตามลำต้น ก้านใบหลักแต่ละใบประกอบด้วยใบย่อยจำนวนมาก ใบย่อยเรียงกันเป็นคู่ๆซ้าย-ขวา จำนวนใบย่อยประมาณ 20-40 คู่/ก้านใบหลัก ใบย่อยมีลักษณะมนรี คล้ายใบมะขาม แต่ยาว และใหญ่กว่าเล็กน้อย มี แผ่นใบ และขอบใบเรียบ สีเขียวสด โคนใบ และปลายใบมน ขนาดใบกว้างประมาณ 0.3-0.5 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 5-7 มิลลิเมตร

ใบโสน

ดอก
ดอกโสน ออกดอกเป็นช่อแบบกระจุก ประกอบด้วยก้านช่อดอกหลักที่แทงออกตามซอกใบหรือซอกกิ่งบริเวณปลายกิ่ง ช่อดอกมีความยาวประมาณ 10 เซนติเมตร ประกอบด้วยดอกย่อย 5-12 ดอก/ช่อ ดอกย่อยมีความยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร ประกอบด้วยกลีบดอกสีเหลือง จำนวน 5 กลีบ แบ่งเป็นกลีบนอก และกลีบใน โดยกลีบนอกจะมีขนาดใหญ่กว่ากลีบใน และอาจพบโคนกลีบของกลีบนอกมีจุดประสีน้ำตาลหรือสีม่วงแดง ตรงกลางมีเกสรตัวผู้ 10 อัน ทั้งนี้ โสนจะเริ่มออกดอกได้ประมาณ 40-60 วัน หลังปลูก

ดอกโสน

ผล
ผลโสน เรียกเป็น ฝัก ที่มีลักษณะเรียวยาว คล้ายฝักถั่วยาว กว้างประมาณ 4 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร ฝักอ่อนมีสีเขียว ฝักแก่มีสีม่วงอมน้ำตาล และจะปริแตกเมื่อแห้งจัด ด้านในฝักมีเมล็ดขนาดเล็ก 10-20 เมล็ด ขนาดเมล็ดประมาณ 0.5 เซนติเมตร แต่ละช่อดอกจะติดฝักประมาณ 3-8 ฝัก

พันธุ์โสนที่พบในไทย
1. โสนแอฟริกัน
มีชื่อวิทยาศาสตร์ Sesbania rostrata มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา กรมพัฒนาที่ดินนำเมล็ดเข้ามากปลูกครั้งแรก โดย ดร. สมศรี อรุณินท์ เมื่อปี พ.ศ. 2526 มีลักษณะเด่น คือ รากมีปม มีลำต้นสูงใกล้เคียงกับโสนอินเดีย ความสูงประมาณ 2-3.5 เมตร ลำต้นสูงชะลูด และแตกกิ่งมาก ผิวลำต้นมีสีเขียว และมีปุ่มปมทั่วต้น ซึ่งโสนชนิดอื่นจะไม่มี ดอกมีสีเหลือง ออกดอกเมื่ออายุประมาณ 50-60 วัน ฝักมีลักษณะกลม ปลายฝักแหลม เมล็ดในฝักประมาณ 11-17 เมล็ด เปลือกเมล็ดมีสีเขียวอมน้ำตาลถึงดำ น้ำหนักเมล็ด 1 กิโลกรัม มีเมล็ดประมาณ 100,000 เมล็ด

2. โสนอินเดีย
มีชื่อวิทยาศาสตร์ Sesbania spiciosa มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย รากมีปม มีลำต้นสูงปานกลางประมาณ 2-3.5 เมตร ลำต้นแตกกิ่งน้อย ดอกมีสีเหลือง ออกดอกเมื่ออายุประมาณ 80-90 วัน เมล็ดมีรูปทรงค่อนข้างเป็นสี่เหลี่ยม

3. โสนหิน หรือ โสนกินดอก มีชื่อวิทยาศาสตร์ Sesbania javanica รากมีปม มีลำต้นค่อนข้างสูงกว่าโสนทุกชนิดที่ 2-4. เมตร เนื้อไม้มีสีเหลืองอ่อน ใบยาวประมาณ 15-30 เซนติเมตร ช่อดอกมีดอกย่อย 5-12 ดอก นิยมใช้ยอดอ่อน และดอกมาประกอบอาหารมากกว่าโสนทุกชนิด

4. โสนคางคก มีชื่อวิทยาศาสตร์ Sesbania bispinosa

ประโยชน์โสน
1. ยอดอ่อน และดอก ใช้รับประทานสดคู่กับส้มตำหรือน้ำพริก หรือนำมาประกอบอาหารจำพวกแกง ต้ม และผัดต่างๆ
2. ดอกโสนนำมาขยำ และคั้นเอาน้ำสำหรับดื่ม
3. นิยมใช้ปลูกเป็นพืชคลุมดิน ป้องกันวัชพืชอื่นขึ้น และช่วยป้องกันการกัดเซาะหน้าดิน
4. นิยมใช้ปลูกเป็นพืชบำรุงดิน ก่อนไถกลบให้ย่อยสลายในดิน ได้แก่ โสนอินเดีย และโสนแอฟริกัน
5. ใช้ปลูกเป็นพืชเพื่อการบำบัดน้ำเสีย โดยปลูกในกลุ่มพืชชายน้ำหรือริมน้ำ
6. โสน/โสนแอฟริกัน เป็นพืชตระกูลถั่วที่รากสามารถตรึงไนโตรเจนไว้ได้ และลำต้น ใบ ดอก ยังมีธาตุอาหารหลายชนิด จึงนิยมปลูกสำหรับไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสด เพื่อเพิ่มธาตุอาหารในดินให้แก่พืช
7. ยอดอ่อน ดอกอ่อน และผลอ่อน ใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ อาทิ นำมาต้มรวมกับข้าวสำหรับเลี้ยงหมู
8. เปลือกโสนลอกเป็นเส้นสำหรับใช้ผลิตเชือก หรือใช้รัดของแทนเชือก
9. ลำต้นใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตกระดาษ
10. เนื้อลำต้นใช้สำหรับประดิษฐ์ดอกไม้ประดับ
11. ลำต้นนำมาตากแห้ง และบดด้วยเครื่อง ก่อนอัดเป็นแท่งสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงหุงหาอาหาร

คุณค่าทางอาหารของดอกโสน (100 กรัม)
– โปรตีน: 3.6 กรัม
– ไขมัน : 0.4 กรัม
– คาร์โบไฮเดรต : 5.6 กรัม
– แคลเซียม : 51มิลลิกรัม
– ฟอสฟอรัส : 56 มิลลิกรัม
– เหล็ก : 8.2 มิลลิกรัม
– วิตามิน B 1 : 10.2 มิลลิกรัม
– วิตามิน B 2 : 0.33 มิลลิกรัม
– ไนอาซิน : 2.8 มิลลิกรัม
– วิตามิน C : 24 มิลลิกรัม
– เบต้าแคโรทีน : 34.3 ไมโครกรัม
– เส้นใย : 3.9 กรัม

ที่มา : 1)

เมนูอาหารดอกโสน
– ไข่เจียวดอกโสน
– แกงส้มดอกโสน
– แกงเลียงดอกโสน
– ผัดกระเพราดอกโสน
– ดอกโสนผัดไข่
– ดอกโสนน้ำมันหอย
– ฯลฯ

สรรพคุณโสน
ดอก
– ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง
– ช่วยเจริญอาหาร
– ช่วยบำรุงสายตา
– ช่วยให้ผิวพรรณแลดูเปล่งปลั่ง
– ช่วยบำรุงผิวให้สดชื่น ไม่หยาบกร้าน
– ลดอาการลำคออักเสบ
– ช่วยขับเสมหะ
– แก้พิษร้อนใน
– แก้อาการปวดท้อง
– ดอกนำมาบด ก่อนใช้พอกทารักษาแผลจากแมลงกัดต่อย
– ดอกนำมาบด ใช้ทารักษาแผลสด

ลำต้น
– ลำต้นโสนใช้เผาไฟให้เหลืองเกรียม นำมาสับเป็นชิ้นๆ ก่อนใช้ต้มน้ำดื่ม มีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ
– ช่วยขับปัสสาวะ ลดอาการปัสสาวะเล็ด

เมล็ด
– ช่วยขับพยาธิ
– ช่วยทำให้อาเจียน
– ช่วยขับปัสสาวะ

เพิ่มเติมจาก : 2), 3)

การปลูกโสน
การปลูกโสน นิยมทำด้วยการปลูกเมล็ด เพราะโสนเป็นพืชปีเดียว และมีลำต้น และกิ่งเป็นไม้เนื้ออ่อนจึงขยายพันธุ์ด้วยวิธีอื่นยาก ทั้งนี้ การปลูกที่ได้ผล ควรเริ่มปลูกตั้งแต่ต้นฤดูฝน

การเตรียมพื้นที่ปลูก
พื้นที่ปลูกโสนจะต้องเป็นพื้นที่ลุ่ม ดินมีความชื้นสูง อาทิ แปลงนาลุ่ม ขอบบ่อ ขอบแม่น้ำ และพื้นที่รกร้างที่น้ำท่วมขังบางครั้งคราว เป็นต้น แต่ก็ปลูกได้ในพื้นที่ที่มีความชื้นน้อยได้เช่นกัน อาทิ แปลงนาในที่ดอน คันนา คันบ่อ เป็นต้น ทั้งนี้ จะต้องเตรียมแปลงด้วยการไถกลบ และกำจัดวัชพืชออกก่อน และตากดินนาน 10-20 วัน เพื่อให้วัชพืชเน่า หลังจากนั้น จึงหว่านเมล็ดลงแปลง ทั้งนี้ ควรเตรียมพื้นที่ปลูกให้เสร็จก่อนต้นฤดูฝน

วิธีการปลูก
การปลูกจะใช้วิธีการหว่านหรือโรยเมล็ด หากโรยเมล็ดเป็นหลุมจะใช้ระยะปลูก 25×50 เซนติเมตร ส่วนโรยเป็นแถวๆ ระยะห่างแถวที่ 100 เซนติเมตร ส่วนการหว่านลงแปลงจะใช้การกะระห่างให้เหมาะสม ทั้งนี้ ปริมาณเมล็ดที่ใช้อยู่ที่ 3-5 กิโลกรัม/ไร่ นอกจากนั้น อาจใช้วิธีปลูกด้วยการปักดำกล้า คล้ายการปักดำข้าวก็ได้ ซึ่งจะต้องหว่านกล้าโสนให้ได้ต้นพอเหมาะก่อน ทั้งนี้ ก่อนปลูกให้นำเมล็ดมาแช่น้ำร้อนก่อน ประมาณ 1 นาที

การให้น้ำ
การปลูกโสน หากปลูกในพื้นที่สูง ดินมีความชื้นน้อย ซึ่งหากไม่มีฝนตกหรือฝนทิ้งช่วงนานจะต้องมีการให้น้ำร่วมด้วย ส่วนการปลูกในพื้นที่ชุ่มน้ำ มักปล่อยให้เติบโตตามธรรมชาติ ด้วยการอาศัยน้ำฝน และน้ำซึมจากชายน้ำ

การเก็บเกี่ยว
– หลังจากปลูกโสนแล้ว 40-50 วัน ดอกจะเริ่มบาน สามารถเก็บดอกใช้ประโยชน์ได้อย่างต่อเนื่อง
– การปลูกเพื่อเห็บเมล็ด หากปลูกในระยะปลูก 25×50 เซนติเมตร จะให้ผลผลิตเมล็ดได้ประมาณ 370 กิโลกรัม/ไร่
– การปลูกเพื่อเก็บเกี่ยวลำต้นสำหรับเป็นอาหารสัตว์หรือใช้เป็นพืชคลุมดินจะให้ผลผลิตน้ำหนักสดประมาณ 1200-1800 กิโลกรัม/ไร่

ขอบคุณภาพจาก www.oknation.net, thongthailand.igetweb.com, bloodstockracecard.com

เอกสารอ้างอิง
1) กองโภชนาการ กรมอนามัย. (2535). คุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย. กระทรวงสาธารณสุข.
2) นพา ลีละศุภพงษ์, 2556. การพัฒนาผลิตภัณฑ์ช็อคบอลดอกโสน. มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา.
3) โสน แก้พิษร้อน มากคุณค่าวิตามิน, ออนไลน์. เข้าถึงได้ที่ http://www.thaihealth.or.th/Content/18941-‘โสน ‘ แก้พิษร้อน มากคุณค่าวิตามิน.html