มะปราง มะยงชิด และการปลูกมะปรางมะยงชิด

Last Updated on 22 มกราคม 2016 by puechkaset

มะปราง และมะยงชิด จัดเป็นผลไม้ที่มีสีสันสวยงาม ผลมีสีเหลือง สีเลืองอมส้ม เนื้อให้รสหวาน รสหวานอมเปรี้ยว นิยมรับประทานเป็นผลไม้ มีความต้องการทางตลาดสูง ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ 1 กิโลกรัม มีราคาหลักร้อยบาทเลยทีเดียว

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ราก
รากมะปรางมีระบบเป็นรากแก้ว และแตกแขนงออกด้านข้างรูปทรงกลม แต่จำนวนรากแขนงมีน้อย และค่อนข้างสั้น

ลำต้น
ลักษณะทรงพุ่มค่อนข้างเป็นทรงกระบอก เนื่องจากแตกกิ่งในระดับต่ำ จำนวนกิ่งมาก โดยเฉพาะกิ่งแขนงที่แตกออกจากกิ่งหลัก และกิ่งมีใบติดตลอดจนถึงเรือนยอด ลำต้นมีความสูงในช่วง 15-30 เมตร เนื้อไม้เป็นไม้เนื้อแข็ง ออกสีเหลืองส้มหรือเหลืองแดง เปลือกลำต้นมียาง

ใบ
ใบมะปรางมีลักษณะใบดก หนาทึบไม่ผลัดใบ แตกใบใหม่ได้ตลอดปี ใบกว้างประมาณ 3.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 14 เซนติเมตร ใบแทงออกจากกิ่งย่อยในลักษณะตรงกันข้ามเป็นคู่ๆ ใบมีลักษณะเหนียว ขอบใบเรียบ ใบอ่อนมีสีม่วงแดง มองเห็นเส้นใบ ใบแก่มีสีเขียวเข้มเป็นมัน ลักษณะใบจะคล้ายกับใบมะม่วง

ดอก
ดอกมะปรางมีลักษณะเป็นช่อ แทงออกที่ปลายกิ่งทั้งในทรงพุ่ม และปลายยอดด้านนอก ช่อดอกยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตร ดอกย่อยมีขนาดเล็ก ประกอบด้วยดอกสมบูรณ์เพศ 1 ช่อดอกจะมีดอกย่อยประมาณ 250-450 ดอก ก้านช่อดอกย่อยยาวประมาณ 3.5 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงดอกมีสีเขียวอมเหลืองหรือสีเขียวอ่อน กลีบดอกมีจำนวน 4 กลีบ มีขนาดเท่ากันสีเหลือง มีเกสรตัวผู้ 10 อัน และมีรังไข่อันเดียว แต่ละช่อดอกจะใช้เวลาบานของดอกย่อยประมาณ 3-5 วัน

ดอกและใบ

ผล
ผลมะปรางมีความยาวตั้งแต่ 3-10 เซนติเมตร ขนาดแตกต่างกันตามสายพันธุ์ ลักษณะผลรูปวงรีหรือรูปไข่ ปลายผลมีลักษณะเรียวเล็กน้อย เปลือกผลเรียบ เกลี้ยง เป็นมัน ผลอ่อนมีสีเขียวอ่อน เขียว และเปลี่ยนเป็นสีเหลือง สีเหลืองทอง สีเหลืองอมส้มหรืออมส้มเข้ม เนื้อหนาหรือบาง ให้รสหวาน รสหวานอมเปรี้ยว รสเปรี้ยว ซึ่งแตกต่างกันตามสายพันธุ์

เมล็ด
มะปราง 1 ผล จะมีเมล็ดเพียงเมล็ดเดียว เมล็ดมีลักษณะใหญ่เมื่อเทียบตามขนาดผล ลักษณะเมล็ดค่อนข้างแบนยาวรีตามลักษณะทรงผล เปลือกหุ้มเมล็ดมีเส้นใยปกคลุมหนาแข็ง สีน้ำตาลอมเหลือง ด้านในเมล็ดเป็นเนื้อที่สะสมอาหาร เนื้อมีสีชมพูอมม่วง มีรสขม และฝาด

ชนิดมะปรางตามลักษณะพฤกษศาสตร์
1. Bouae microphylla มักเรียกมะปรางป่าหรือมะปริง พบมากในภาคใต้ เป็นมะปรางที่มีลักษณะใบเล็ก มีมีรสเปรี้ยว นิยมมาตำเป็นน้ำพริกหรือใส่แกงส้ม

2. Bouae macrophylla เป็นมะปรางพันธุ์ต่างประเทศ มีลักษณะใบ และผลใหญ่ ขนาดใบเกือบเท่ากับใบมะม่วง ปลูกมากในแถบแหลมมาลายู

3. Bouae burmanica มักเรียกว่ามะปรางบ้านหรือมะปรางสวน เป็นมะปรางที่นิยมปลูกกันมากในไทย มีหลายสายพันธุ์ แบ่งเป็น 3 ชนิด คือ
3.1 มะปรางเปรี้ยว เป็นมะปรางที่มีผลขนาดเล็ก ผลมีรสเปรี้ยวจัดทั้งผลดิบ และผลสุก นิยมนำผลดิบมาแปรรูปเป็นมะปรางดอง

3.2 มะปรางหวาน มีทั้งผลขนาดเล็ก ปานกลาง และใหญ่ ตามลักษณะสายพันธุ์ที่แตกต่าง ผลดิบมีรสเปรี้ยว เมื่อสุกจะให้รสหวาน ส่วนใหญ่ผลสุกที่มีขนาดใหญ่จะให้รสหวานมาก แต่อาจมีรสเปรี้ยวเล็กน้อย เช่น พันธุ์ลุงชิด พันธุ์ท่าอิฐ พันธุ์ทองนพรัตน์ เป็นต้น

มะปราง

3.3 มะยงชิด เป็นมะปรางชนิดหนึ่ง มีทั้งผลขนาดเล็ก ปานกลาง และใหญ่ ตามลักษณะสายพันธุ์ที่แตกต่าง ผลดิบมีรสเปรี้ยว เมื่อสุกจะให้รสหวานอมเปรี้ยว มีทั้งเปรี้ยวมากว่าหวานหรือหวานมากกว่าเปรี้ยว

มะยงชิด

ความแตกต่างของมะปรางหวานกับมะยงชิด
1. มะยงชิดเมื่อปอกเปลือกแล้วจะให้รสหวาน เพราะเปลือกมะยงชิดจะให้รสเปรี้ยว
2. มะปรางเมื่อปอกเปลือกจะให้รสหวานเพียงอย่างเดียวหรือหวานอมเปรี้ยว เนื่องด้วยความเปรี้ยวมีทั้งในเปลือก และเนื้อด้านใน
3. ผลมะปรางมีสีเหลืองนวล เหลืองทอง ส่วนมะยงชิดมีสีเหลืองออกส้ม
4. เนื้อมะยงชิดมีรสหวาน แต่อาจมีเปรี้ยวเล็กน้อย โดยเฉพาะผลที่ยังไม่สุกงอมดี ส่วนเนื้อมะปรางมีทั้งรสหวานอมเปรี้ยวที่จัดกว่า

ประโยชน์ และสรรพคุณ
1. ใช้รับประทานเป็นผลไม้ ให้ความหวาน ให้พลังงาน อุดมด้วยสารอาหารช่วยบำรุงร่างกาย
2. นำมาแปรรูปเป็นขนมของหวาน เช่น มะปรางหรือมะยงชิดกวน เชื่อม ข้าวเหนียวมะปรางหรือมะยงชิด หรือผลดิบนำมาดอง

มะยงชิดยัดไส้

3. มะปรางหรือมะยงชิดอุดมด้วยวิตามินซี ช่วยป้องกันเลือดแแกตามไรฟัน
4. อุดมด้วยแคลเซียม และฟอสฟอรัสช่วยลดความเสี่ยงโรคกระดูกพรุน กระดูกเสื่อม
5. ประกอบด้วยสารต้านอนุมูลอิสระจำพวกวิตามินชนิดต่างๆ
6. เนื้อด้านในของเมล็ดใช้ลดกรด และฆ่าเชื้อในกระเพาอาหาร รวมถึงใช้บดผสมน้ำทารักษาอาการอักเสบของบาดแผล รักษาแผลติดเชื้อ
7. กิ่งนำมาเป็นฟืนหุงหาอาหาร ส่วนเนื้อไม้ใช้แปรรูปเป็นไม้สรา้งบ้านเรือน เฟอร์นิเจอร์และอื่นๆ

พันธุ์มะปราง
1. พันธุ์ทองนพรัตน์
ลักษณะเด่น : มีลักษณะผลเรียวยาว มีรสหวานกรอบ เมล็ดเล็กลีบ เปลือกหนา ให้ผลผลิตหลังปลูกประมาณ 2 ปี น้ำหนัก 10 ผล/กก.
ที่มาของพันธุ์ : นครนายก

2. พันธุ์มหาชนก
ลักษณะเด่น : ติดผลดก มีรสหวานกรอบ เมล็ดเล็กลีบ เปลือกหนา
ที่มาของพันธุ์ : กำแพงเพชร

2. พันธุ์เจ้าสัว
ลักษณะเด่น : ใบใหญ่ ให้ผลยาวใหญ่ มีรสหวานจัด เมล็ดเล็กลีบ เปลือกหนากรอบ
ที่มาของพันธุ์ : นครนายก

3. พันธุ์แม่อนงค์
ลักษณะเด่น : ติดผลเร็ว และดก ผลมีสีเหลืองสด มีรสหวาน เนื้อ และเปลือกหนากรอบ
ที่มาของพันธุ์ : นครนายก

4. พันธุ์มหาชนก
ลักษณะเด่น : ติดผลดก มีรสหวานกรอบ เมล็ดเล็กลีบ เปลือกหนา
ที่มาของพันธุ์ : กำแพงเพชร

5. พันธุ์ใหญ่
ลักษณะเด่น : มีลักษณะทรงพุ่มกลม ให้ผลยาวรีสีเหลืองเข้ม มีรสหวาน เมล็ดเล็ก เนื้อหนา
ที่มาของพันธุ์ : เพชรบูรณ์

6. พันธุ์พวง
ลักษณะเด่น : ให้ผลดก มีใบเรียวเล็ก เนื้อหนาแน่นให้รสหวาน เมล็ดเล็ก
ที่มาของพันธุ์ : เพชรบูรณ์

7. พันธุ์รุ่งอรุณ
ลักษณะเด่น : เป็นพันธุ์ที่ทนแล้ง และโรคแมลงได้ดี ติดผลเร็็ว ให้ผลขนาดใหญ่ ผลมีเนื้อหนา หวาน เปลือกกรอบ เมล็ดเล็ก 7 ผล/กก.
ที่มาของพันธุ์ : ปราจีน

8. พันธุ์ลุงชิต
ลักษณะเด่น : มีลักษณะใบใหญ่ ติดผลเร็ว และดก ผลมีรูปไข่สีเหลืองทอง เปลือกหนากรอบ ให้เนื้อหนา หวาน เมล็ดเล็ก ขนาดผลใหญ่ 13-16 ผล/กก.
ที่มาของพันธุ์ : สุโขทัย

9. พันธุ์ปทุมทอง
ลักษณะเด่น : ให้ผลยาว สีเหลืองนวล ส่วนหัวเล็ก และส่วนท้ายใหญ่ มีรสหวาน เมล็ดเล็ก เนื้อ และเปลือกหนากรอบ
ที่มาของพันธุ์ : สุโขทัย

10. พันธุ์สุวรรณบาตร
ลักษณะเด่น : ให้ผลยาวรีสีเหลืองนวล มีรสหวาน เมล็ดเล็ก เนื้อ และเปลือกหนา ขนาดผลใหญ่ 13-16 ผล/กก.
ที่มาของพันธุ์ : อุตรดิตถ์

พันธุ์มะยงชิด
1. พันธุ์ทูลเกล้า
ลักษณะเด่น : ใบมีลักษณะใหญ่ยาว ติดผลเร็ว และดก ผลใหญ่มีสีเหลืองอมส้ม ให้รสหวาน เนื้อหนา เมล็ดเล็ก
ที่มาของพันธุ์ : นครนายก

2. พันธุ์บางขุนนนท์
ลักษณะเด่น : ให้ผลดกใหญ่ มีรูปไข่ เนื้อ และเปลือกหนากรอบสีเหลืองอมส้ม มีรสหวานหรืออมเปรี้ยวเล็กน้อย เมล็ดเล็ก
ที่มาของพันธุ์ : นครนายก

3. พันธุ์เพชรกลางดง
ลักษณะเด่น : ให้ผลดก ผลใหญ่ เนื้อ และเปลือกหนากรอบสีเหลืองอมส้ม มีรสหวาน เมล็ดเล็ก
ที่มาของพันธุ์ : กำแพงเพชร

4. พันธุ์ท่าด่าน
ลักษณะเด่น : ให้ผลดก ผลใหญ่ เปลือกหนากรอบสีเหลืองอมส้ม มีรสหวานหรืออมเปรี้ยวเล็กน้อย เมล็ดเล็ก
ที่มาของพันธุ์ : นครนายก

5. พันธุ์แม่ย่า
ลักษณะเด่น : ให้ผลดก ผลใหญ่ เนื้อ และเปลือกหนากรอบสีเหลืองอมแดง มีรสหวานหรืออมเปรี้ยวเล็กน้อย เนื้อเหนียว
ที่มาของพันธุ์ : สุโขทัย

6. พันธุ์ศรีประทุม
ลักษณะเด่น : ใบมีลักษณะหนาใหญ่ ให้ผลดกใหญ่ เนื้อ และเปลือกหนากรอบสีเหลืองอมส้ม มีรสหวาน เมล็ดเล็ก
ที่มาของพันธุ์ : สุโขทัย

7. พันธุ์ศรีหนึ่งสยาม
ลักษณะเด่น : มีทรงพุ่มกลม ใบเรียวแหลม ให้ผลดกใหญ่ เนื้อ สีเหลืองอมส้ม มีรสหวาน เมล็ดลีบบาง
ที่มาของพันธุ์ : สุโขทัย

8. พันธุ์ไข่ทอง
ลักษณะเด่น : ให้ผลดก ผลมีรูปไข่สีเหลืองอมส้ม มีรสหวาน เมล็ดเล็ก
ที่มาของพันธุ์ : ปราจีน

9. พันธุ์อุดมสิน
ลักษณะเด่น : ให้ผลดก ผลใหญ่กว่าไข่เป็ด เนื้อ และเปลือกหนากรอบ มีรสหวาน เมล็ดเล็ก 8-11 ผล/กก.
ที่มาของพันธุ์ : ปราจีนบุรี

10. พันธุ์สวัสดี
ลักษณะเด่น : มีลำต้น และทรงพุ่มไม่สูงมาก กิ่งแทงออกด้านข้าง ให้ผลดกใหญ่รูปยาวรี เนื้อ และเปลือกสีเหลืองอมส้มถึงส้มเข้ม มีรสหวาน เมล็ดเล็ก 8-10 ผล/กก.
ที่มาของพันธุ์ : เพชรบูรณ์

การปลูกมะปราง/มะยงชิด
1. การเตรียมดิน
การปลูกในแปลงขนาดใหญ่ครั้งจำเป็นต้องไถพรวนดิน และกำจัดวัชพืช 1-2 ครั้งก่อน หลังจากนั้น จะเตรียมหลุมปลูกด้วยการขุดหลุมกว้างยาวขนาด 60-80 เซนติเมตร ลึก 50-100 เซนติเมตร ระยะหลุมปลูกหรือระยะต้นที่ 4-8 x 4-8 เมตร หลังจากขุดหลุมเสร็จให้ตากดินในหลุม และดินที่ขุดประมาณ 2-3 วัน จากนั้น หว่านโรยด้วยมูลสัตว์หรือปุ๋ยหมักประมาณ 1-2 ถัง/หลุม ให้คลุกผสมให้เข้ากันกับดินที่ขุด ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยเคมี เพราะการใส่ปุ๋ยเคมีในระดับดินลึกทำให้สูยเสียปุ๋ยซึมลงดินด้านล่างได้ง่าย และพืชต้องอาศัยการเติบโตที่นานกว่ารากจะหยั่งถึง

2. การเตรียมพันธุ์
ต้นพันธุ์มะปรางที่ใช้ปลูกมักได้จากการเพาะเมล็ดแล้วทาบกิ่ง ซึ่งเป็นวิธีที่นิยม เนื่องจากเพาะง่าย ราคาถูก รวดเร็ว และสะดวก ได้จำนวนต้นพันธุ์จำนวนมาก ทำให้ประหยัดเวลา และต้นทุนได้มาก ตนพันธุ์ที่ได้เหมือนต้นแม่พันธุ์ ลำต้นไม่สูงใหญ่ ต้นพันธุ์ที่พร้อมสำหรับย้ายปลูกควรมีอายุ 2-3 เดือน

ต้นพันธุ์มะยงชิด

3. การปลูก
เมื่อมีต้นพันธุ์พร้อม และเตรียมหลุมปลูกพร้อมแล้ว ให้นำต้นพันธุ์ลงปลูก ซึ่งควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝนเป็นต้นไป ช่วงเดือนพฤษภาคม-กันยายน ระยะปลูกที่ 4-8 x 4-8 เมตร เมื่อปลูก และกลบดินเสร็จให้นำกิ่งไม้ไผ่เสียบข้างลำต้น และมัดด้วยเชือกฟางหลวมๆ เพื่อค้ำยัน

การเก็บเกี่ยว
มะปรางสามารถให้ผลผลิตได้เมื่อมีอายุประมาณ 3-4 ปี ขึ้นไป และมะปรางจะออกดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม และผลสุกพร้อมเก็บขายหรือรับประทานในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม โดยสังเกตจากผล สำหรับมะปรางเมื่อผลสุกพร้อมเก็บจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ส่วนมะยมชิดมีลักษณะสีเหลืองอมส้มหรือเหลืองอมส้มเข้ม การเก็บจะใช้วิธีการปีนต้นตัดหากผลอยู่ด้านในพุ่มที่เป็นกิ่งใหญ่ แต่หากรวงผลอยู่ด้านนอกปลายยอดจะใช้กรรไกรตัดผลที่ต่อกับไม้ยาว โดยมีตะกร้ารองด้านล่างกรรไกร