ถั่วลันเตา สรรพคุณ และการปลูกถั่วลันเตา

Last Updated on 4 เมษายน 2017 by puechkaset

ถั่วลันเตา (Pea/Green pea) เป็นพืชล้มลุกตระกูลถั่วที่นิยมนำส่วนต่างๆมาบริโภค อาทิ ฝักอ่อน ยอดอ่อน เมล็ดสด และเมล็ดแห้ง โดยเฉพาะฝักอ่อนที่นิยมปลูกเพื่อนำมาปรุงอาหาร และเมล็ดถั่วแห้งที่แปรรูปเป็นถั่วคั่ว และแป้งจากถั่ว

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pisum sativum
• ชื่อสามัญ :
– Sugar bean
– Pea
– Sweet pea
– Garden pea
– Green pea

ถั่วลันเตา มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกา แพร่เข้ามาในแถบประเทศเมดิเตอร์เรเนียน และเอเชีย รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยเชื่อว่าถั่วลันเตาการผสมข้ามพันธุ์ของพืชตระกูลถั่ว 2 ชนิด คือ Pisum arvense และ Pisum elatius Steven

มีการบันทึกการเพาะปลูกถั่วลันเตา เริ่มแรกในแถบเอเชียตะวันตก และทวีปยุโรป และแพร่เข้าสู่แถบเมดิเตอร์เรเนียน และเอเชีย ได้แก่ อินเดีย และจีน ผ่านทางธิเบตในศตวรรษที่ 7 และแพร่เข้าสู่แถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงต่อมา

คำว่า ถั่วลันเตา สันนิษฐานว่า เมื่อครั้งประเทศจีนที่มีการนำเข้าถั่วลันเตาจากประเทศเนเธอร์แลนด์ คนจีนเรียกถั่วนี้ว่า “ฮอลแลนด์เตา” หรือ “ฮอลลันเตา” ซึ่งคำว่า “เตา”  ภาษาจีนแปลว่า “ถั่ว” และมีการใช้คำนี้มากในหมู่คนจีนที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย จนผสมคำ และเรียกว่า “ถั่วลันเตา” (เริงชัย, 2536)(1)

ถั่วลันเตา

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
1. ลำต้น
ถั่วลันเตามีลำต้นเป็นเถาเลื้อย ที่มีลำต้นหลัก และแตกกิ่งสาขาตามข้อของลำต้น ลำต้นหลักสามารถยาวได้มากกว่า 2 เมตร

2. ใบ
ใบถั่วลันเตาเป็นใบประกอบ มีก้านใบหลักแทงออกบริเวณข้อของลำต้น ประกอบด้วยหูใบ 1 คู่ มีลักษณะเรียบหรือหยักลึก โดยมีใบย่อยออกเป็นคู่ๆ ตรงข้ามกัน ใบมีสีเขียว โคนใบสอบ ปลายใบแหลม ผิวใบเรียบ มีขนขนาดเล็ก มีเส้นใบชัดเจน

3. ดอก
ดอกถั่วลันเตาออกเป็นช่อ ช่อละ 1-3 ดอก แทงออกบริเวณระหว่างโคนใบของข้อในลำต้น พันธุ์ที่ออกดอกเร็วจะออกดอกแรกบริเวณข้อที่ 5-11 ส่วนพันธุ์ที่ออกดอกช้าจะออกบริเวณข้อที่ 13-15 ดอกที่พบมี 2 สี คือ สีขาว และสีม่วง ประกอบด้วยกลีบเลี้ยง 5 กลีบ และกลีบดอก 3 กลีบ คือ
– กลีบดอก Standard เป็นกลีบที่มีขนาดใหญ่ที่สุด อยู่ด้านบนสุดของดอก ดอกตูมที่ยังไม่บานจะมีกลีบดอกชนิดนี้ห่อหุ้มดอกทั้งหมด แต่เมื่อดอกบาน กลีบหุ้มนี้จะคลี่ออก และปลายกลีบโค้งออกด้านหลัง
– กลีบดอก Wing เป็นกลีบดอกที่มีขนาดเล็กรองลงมา ประกอบด้วย 2 กลีบ อยู่ด้านข้างดอก
– กลีบดอก Keel เป็นกลีบดอกเรียวยาวคล้ายหลอด อยู่บริเวณด้านในสุด ทำหน้าที่ห่อหุ้มเกสร เกสรประกอบด้วยเกสรเพศผู้ 10 เส้น โดย 9 เส้น เรียงล้อมรอบรังไข่ ส่วนอีก 1 เส้น มีขนาดสั้นกว่า จะแยกตัวอยู่อิสระ ส่วนเกสรเพศเมียจะอยู่ตรงกลางสุดของดอกที่เป็นรังไข่แบนยาว สีเขียว ก้านชูเกสรโค้งยาว

Sugar bean4

4. ฝัก และเมล็ด
ฝักถั่วลันเตาอ่อนมีลักษณะสีเขียว แบนเรียบ แต่จะนูนเฉพาะบริเวณของเมล็ด เมื่อฝักโตจะมีลักษณะอวบนูนทั้งฝัก มองไม่เห็นส่วนของเมล็ด ฝักจะโค้งคล้ายดาบ เมล็ดภายในฝักมีประมาณ 5-7 เมล็ด ขึ้นอยู่กับพันธุ์

Sugar bean

ประโยชน์ถั่วลันเตา
• ฝักอ่่อนนำมาปรุงอาหารได้หลายเมนู เช่น ผัดผัก ผัดหมูถั่วลันเตา รวมถึงนำมาลวกหรือรับประทานสดเป็นผักจิ้มน้ำพริก
•ยอดอ่อนนำมาลวกเป็นผักจิ้มน้ำพริก หรือ ใช้ปรุงอาหาร เช่น แกงเลียง แกงจืด เป็นต้น
• เมล็ดสด
– ใช้ปรุงอาหารจำพวกผัด ทอดต่างๆ
– ใช้แปรรูปเป็นถั่วลันเตากระป๋อง ถั่วลันเตาแช่แข็ง
• เมล็ดแห้ง
– ใช้คั่วเกลือรับประทานเป็นอาหารว่าง
– ใช้ผลิตแป้งจากถั่วลันเตา
• ต้น และใบถั่วลันเตา ใช้เป็นอาหารสัตว์ ใช้เป็นแหล่งอาหารหยาบสำหรับเสริมโปรตีน

คุณค่าทางโภชนาการของถั่วลันเตา (100 กรัม)
– พลังงาน : 52 กิโลแคลอรี่
– ใยอาหาร : 3.3 กรัม
– โปรตีน : 4.3 กรัม
– ไขมัน : 0.1 กรัม
– คาร์โบไฮเดรต : 8.5 กรัม
– แคลเซียม : 171 มิลลิกรัม
– ฟอสฟอรัส : 115 มิลลิกรัม
– เหล็ก : 1.5 มิลลิกรัม
– วิตามินบี 1 : 0.11 มิลลิกรัม
– วิตามินบี 2 : 0.09 มิลลิกรัม
– ไนอาซีน : 1.4 มิลลิกรัม
– วิตามินซี : 23 มิลลิกรัม
– เบต้าแคโรทีน : 11.8 ไมโครกรัม

ที่มา : กองโภชนาการ กรมอนามัย, 2535(2)

สรรพคุณถั่วลันเตา
• ยอดอ่อน และฝักอ่อนอุดมด้วยสารเบต้าแคโรทีน และคลอโรฟิลล์ ที่มีฤทธิ์ทางยาหลายด้าน อาทิ
– ช่วยบำรุงสายตา ป้องกันสายตาเสื่อม และโรคทางตาต่างๆ
– มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ
– ช่วยบำรุงผิวพรรณ ลดการทำลายเซลล์จากแสงแดด
– ช่วยบำรุงเซลล์ ป้องกันเซลล์จากพิษของสารเคมี และช่วยขับสารพิษ
– มีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็ง

• เมล็ดถั่วลันเตา
– เมล็ดอุดมด้วยกรดอะมิโนหลายชนิด ช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโตได้ดี เป็นแหล่งโปรตีนแทนเนื้อสัตว์

พันธุ์ถั่วลันเตา
พันธุ์ที่กินฝักแบ่งออกได้ 2 พวก คือ
– พันธุ์ฝักใหญ่ เป็นพันธุ์ที่ให้ฝักขนาดใหญ่ ขนาดฝักยาวประมาณ 7-10 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2.5-4.0 เซนติเมตร เมล็ดในฝัก 5-7 เมล็ด ได้แก่ พันธุ์ฝาง-7 และพันธุ์ฝักใหญ่เชียงราย
– พันธุ์ฝักเล็ก เป็นพันธุ์ที่ให้ฝักขนาดเล็ก ฝักยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ฝักมีเมล็ด 2-7 เมล็ด ได้แก่ พันธุ์ฝักเล็กเชียงราย พันธุ์แม่โจ้ 1, พันธุ์แม่โจ้ 2, พันธุ์แม่โจ้ 12 และพันธุ์แม่โจ้ 55

พันธุ์ฝักใหญ่เชียงราย
– ลำตันอ่อน กลม สูงประมาณ 180 เซนติเมตร
– แตกกิ่งประมาณ 6 กิ่ง
– ดอกมีสีม่วงแดง เริ่มออกดอก เมื่ออายุประมาณ 52 วัน
– เก็บฝักสดได้หลังออกดอกประมาณ 25 วัน
– ระยะการเก็บเกี่ยว 30-40 วัน
– ฝักสดฝักมีสีเขียว ขนาด 2 x 8.6 เซนติเมตร ให้รสหวาน เนื้อฝักกรอบ ไม่มีเสี้ยน
– ฝักมีเมล็ด 6 เมล็ด

พันธุ์ฝักเล็กเชียงราย
– ลำต้นอ่อน สูงประมาณ 180 เซนติเมตร
– ดอกมีสีม่วงแดง ออกดอกเมื่ออายุ 59 วัน
– ฝักสดมีสีเขียว ขนาด 1.5 x 7.6 เซนติเมตร ให้รสหวาน เนื้อฝักกรอบ ไม่มีเสี้ยน
– ฝักมีเมล็ดประมาณ 6 เมล็ด

พันธุ์แม่โจ้ 1
– ลำต้นสูงประมาณ 1.2 เมตร
– แตกกิ่งแขนง 9 กิ่ง
– ดอกมีสีขาว ออกดอกหลังปลูกประมาณ 30 วัน
– ฝักมีสีเขียวอ่อน ให้รสหวาน เนื้อฝักกรอบ ขนาดฝัก 5.7 เซนติเมตร
– เก็บฝักสดครั้งแรก เมื่ออายุประมาณ 58 วันหลังปลูก
– ระยะการเก็บฝักสดประมาณ 50 วัน

พันธุ์แม่โจ้ 2
– ลำต้นสูงประมาณ 2 เมตร แตกกิ่ง 7 กิ่ง
– ดอกมีสีขาว ออกดอกแรกประมาณ 35 วัน หลังปลูก
– เริ่มเก็บเกี่ยวฝักสด ประมาณ 65 วัน หลังปลูก
– ระยะการเก็บฝักสด ประมาณ 60 วัน

ที่มา : ชำนาญ, 2548(3)

การปลูกถั่วลันเตา
ถั่วลันเตาสามารถเติบโต และทนต่อสภาพดินทุกชนิดได้ดี แต่ชอบดินร่วนปนดินเหนียว การระบายน้ำดี เป็นกรดเล็กน้อย ระดับ pH 5.5-6.8 ดินมีความชื้น ไม่ชอบดินแห้ง และแล้ง เพราะเป็นพืชที่ไม่ทนต่อสภาพขาดน้ำ แต่ไม่ชอบดินที่มีน้ำท่วมขังหรือแฉะเกินไป  ชอบอากาศเย็น จึงนิยมปลูกในช่วงฤดูหนาว อุณหภูมิระหว่าง 10-27 องศาเซลเซียส

การเตรียมดินแปลงปลูก
ถั่วลันเตามีระบบรากลึกในดินตื้น การเตรียมดินควรไถดินลึกประมาณ 30 เซนติเมตร แล้วตากดิน 5-7 วัน พร้อมกำจัดวัชพืช หลังจากนั้น ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 2-3 ตัน/ไร่ เพื่อปรับสภาพดิน และเพิ่มแร่ธาตุดิน แล้วไถพรวนดินอีกครั้ง พร้อมยกแปลงกว้าง 70-80 เซนติเมตร สำหรับแถวเดียว และกว้างประมาณ 140-150 เซนติเมตร สำหรับแถวคู่ ส่วนความยาวตามความเหมาะสม และให้เว้นร่องทางเดินประมาณ 50 เซนติเมตร ในระหว่างแถว หากดินเป็นกรดจัด โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกในภาคกลางตอนล่าง ควรใส่ปูนขาวร่วมกับการหว่านปุ๋ยคอก

การปลูก
เมล็ดพันธุ์ที่ใช้จะใช้ประมาณ 5-8 กิโลกรัม/ไร่ เมล็ดพันธุ์ก่อนปลูก ให้แช่น้ำ 1 คืน และคลุกด้วยยากันเชื้อรา สำหรับหลุมปลูกจะใช้วิธีการขุดหลุมหรือเป็นร่องยาวตื้นพอกลบเมล็ดได้ ลึกประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร พร้อมโรยด้วยปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 30 กก./ไร่ การหยอดเมล็ดจะใช้เมล็ดหลุมละ 3-4 เมล็ด ระยะห่างระหว่างหลุมประมาณ 30 เซนติเมตร กลบด้วยหน้าดิน และคลุมด้วยฟางหรือหญ้าแห้ง แล้วรดน้ำให้ชุ่ม

หลังจากปลูก 3-5 วัน เมล็ดถั่วลันเตาจะเริ่มงอก เมื่อต้นอ่อนมีใบจริง 3-5 ใบ หรือสูงประมาณ 8-10 เซนติเมตร ให้ถอนต้นที่ไม่สมบูรณ์ทิ้ง โดยให้เหลือเพียงหลุมละ 2 ต้น หรือหากเป็นการหยอดแบบไม่เป็นหลุมให้ถอนเหลือต้นเดียวตามระยะที่เหมาะสม

การทำค้าง
เมื่อต้นถั่วมีอายุ 15-20 วัน หรือสูง 15-20 เซนติเมตร ถั่วจะเริ่มมีมือเกาะ วึ่งระยะนี้ต้องทำค้างให้ถั่วเกาะ โดยใช้ไม่ไผ่ ขนาด 2 นิ้ว ยาว 1.5 – 2 เมตร ปักระหว่างหลุม ระยะห่าง 2-3 เมตร แล้วรัดโยงด้วยเชือกหรือลวดเป็นชั้นๆ 4-6 ชั้น และอาจรัดโยงในแนวดิ่งด้วยก็ได้

การให้น้ำ
การให้น้ำจะให้เพียงวันละ 1 ครั้ง ในระยะ 1-2 เดือนแรก และค่อยลดเป็น 2-3/ครั้ง ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ และความชื้นในดิน แต่ละครั้งที่ให้น้ำควรให้เพียงหน้าดินชุ่ม ไม่ควรให้น้ำมากจนดินแฉะ อาจให้โดยวิธีปล่อยน้ำไหลตามร่อง แต่จะเปลืองน้ำหรือแบบสปริงเกอร์

การใส่ปุ๋ย
ปุ๋ยที่ใส่ คือ สูตร 15-15-15  ในอัตรา 30 กก./ไร่ ใส่ในที่ถั่วลันเตาเริ่มออกดอก โดยโรย
ปุ๋ยตามแนวยาวของแถวทั้ง 2 ข้าง ระยะห่างจากโคนต้น 8-10 เซนติเมตร พร้อมพรวน
ดินกลบปุ๋ย และรดน้ำตาม

การพรวนดิน และกำจัดวัชพืช
การพรวนดิน และกำจัดวัชพืช ควรทำทุกๆ 2 อาทิตย์ จนต้นถั่วสูงได้ 30-50 ซม. แล้วจึงหยุด วึ่งช่วงนี้ต้นถั่วจะสามารถแข่งเติบโตกับวัชพืชอื่นได้ดีแล้ว

Sugar bean5

การเก็บเกี่ยว
อายุการเก็บเกี่ยวของถั่วลันเตามีความแตกต่างกันทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพันธุ์ โดยทั่วไปจะใช้เกณ์ ดังนี้
– อายุการเก็บเกี่ยวตั้งแต่ 60-90 วัน หลังปลูก
– อายุการเก็บเกี่ยวจากจำนวนวันหลังดอกบาน  5-7 วัน
– ระยะการเก็บเกี่ยวจากความหนาของฝัก พันธุ์ฝักเล็ก หนา 0.44-0.68 เซนติเมตร พันธุ์ฝักใหญ่ หนา 0.53-0.64 เซนติเมตร
– ลักษณะฝักอวบ สีเขียวอ่อน เปราะกรอบ ไม่เหนียว

การเก็บฝักอ่อนถั่วลันเตา ควรเก็บเกี่ยวฝักสดวันเว้นวัน โดยทั่วไปมีระยะเวลาการเก็บเกี่ยวนาน 30-60 วัน ซึ่งต้องเก็บในระยะฝักอ่อนที่เต็มไปด้วยน้ำตาล หากฝักแก่ น้ำตาลจะถูกเปลี่ยนเป็นแป้งทำให้ความหวานลดลง และมีเส้นใย และความเหนียวมากขึ้น (ชำนาญ, 2548)(3)

โรคและแมลง
1. โรคราแป้ง
เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อรา Uromyces fabae Pers เกิดได้ในทุกระยะ และเกิดกับทุกส่วนของพืช พบมากบริเวณใบ มีอาการที่พบ คือ มีจุดสีขาวกระจายทั่วในส่วนต่างๆ ต่อมามีการสร้างเส้นใย และสปอร์สีขาว มองเห็นคล้ายแป้งฝุ่นขึ้นมากมาย หากเกิดที่ใบ ใบจะเหลืองซีดมีสีน้ำตาลทำให้สังเคราะห์แสงไม่ได้ ทำให้ลำต้นถั่วแคระแกร็น ออกดอก และติดฝักน้อย  หรือหากเกิดมากลำต้นจะเหี่ยวตาย

• การป้องกันกำจัด
– แช่เมล็ดก่อนปลูก ด้วยไตรโฟลีนละลายน้ำที่ 20 มก./20 ลิตร หรือ เบนโนมิล 10 กรัม/20 ลิตร นาน 12 ชั่วโมง

– การฉีดพ่นในระยะเติบโต ด้วยสารซัลเฟอร์ ( 80% WP) ละลายน้ำที่ 5-15 กรัม/20 ลิตร และฉีดพ่นซ้ำในระยะ 5-7 วัน

2. โรคเหี่ยว
เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อรา มีอาการ คือ พบใบเหลืองบริเวณใบล่าง แล้วลามขึ้นใบด้านบน ทำให้ใบเหลือง และแห้งตายทั้งต้น ลำต้นบริเวณเหนือดินมักเกิดสีแดงหรือสีคล้ำกว่าส่วนอื่น มักเิกิดเมื่อต้นถั่วอายุประมาณ 1 เดือน และมักพบในดินที่มีสภาพเป็นกรดจัด และความชื้นสูง

• การป้องกันกำจัด
– การเตรียมดินควรโรยด้วยปูนขาว อัตรา 200-400 กิโลกรัม/ไร่ ร่วมด้วยกับปุ๋ยอินทรีย์ 2-3 ตัน/ไร่
– การเกิดโรคในระยะเติบโต ให้รดโคนต้นและบริเวณรอบต้นด้วยน้ำปูนใสรด

3. แมลงวันเจาะ
เป็นแมลงวันขนาดเล็ก ลำตัวมีสีดำ ชอบวางไข่บนใบถั่ว เมื่อไข่ฝัก ตัวอ่อนจะดูดกินน้ำเลี้ยง ทำให้ใบเป็นรอยแผล หากระบาดมากใบจะเหี่ยวเหลือง ทำให้ลำต้นแห้งตายได้

• การป้องกันกำจัด
– ระยะเตรียมแปลงควรโรยหรือฉีดพ่นด้วยพอสซ์ (25%ST) หรือฉีดพ่นด้วยฟิโปรนิล (5%SC) หลังเมล็ดงอก 3-5 วัน (ชำนาญ, 2548)(3)

เอกสารอ้างอิง
1. เริงชัย ชุ่มภิรมย์, สมพงษ์ คูตระกูล และ ละออตา ชุ่มภิรมย์. 2542. การปรับปรุงพันธุ์ถั่วลันเตา
เพื่อให้ฝักสดมีคุณภาพดี.
2. กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, 2535. ตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย.
3. ชำนาญ เขียวอำไพ. 2548. การทำสวนผัก. อักษรสยามการพิมพ์, กรุงเทพฯ.