ไมยราบยักษ์ ประโยชน์ และวิธีกำจัด

Last Updated on 9 พฤศจิกายน 2016 by puechkaset

ไมยราบยักษ์ จัดเป็นวัชพืชต่างถิ่นประเภทรุกรานที่มีความรุนแรง เนื่องจากสามารถเติบโต และแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว และมีความทนต่อสภาพน้ำท่วม และแห้งแล้งได้ดี

ไมยราบยักษ์ เป็นพืชที่ถูกกล่าวถึงกันมากในแง่ของวัชพืชที่แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลการลดลงของพื้นที่ทำการเกษตร พื้นที่เลี้ยงสัตว์ พื้นที่เก็บกักน้ำ และบดบังทัศนียภาพ มีเมล็ดจำนวนมาก ทำให้แพร่กระจายได้รวดเร็ว และมีหนามแหลมคมที่ยากต่อการทำลาย แต่ทั้งนี้ ไมยราบยักษ์ก็ยังมีข้อดีในด้านอื่น อาทิ ช่วยป้องกันการพังทลายของดิน และช่วยในการบำรุงดิน เนื่องจากเป็นพืชในตระกูลถั่ว

• ชื่อวงศ์ MIMOSACEAE
• ชื่อวิทยาศาสตร์ Mimosa piga L.
• ชื่อสามัญ
– Giant sensitive plant
– Giant mimosa
• ชื่อไทย :
– ไมยราบยักษ์
– ไมยราบต้น
– ไมยาราบน้ำ
– ไมยราบหลวง
– ไมยราบน้ำ
– จียอบหลวง
– ปิงห่าง

ที่มา : สมชาย หาญวงษา, 2548.(2)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
• ลำต้น
ไมยราบยักเป็นพืชตระกูลถั่ว และเป็นไม้ยืนต้น มีลำต้นสูงได้มากกว่า 3 เมตร แตกกิ่งตั้งแต่ระดับล่างของลำต้น ลำต้นมีขนาดประมาณ 1-4 ซม. หรือมากกว่าตามอายุ เปลือกลำต้นอ่อนมีสีเขียว เมื่อโตเต็มที่จะมีสีน้ำตาล เปลือกกิ่งมีสีน้ำตาล ปลายกิ่งมีสีเขียว ทั้งลำต้น และกิ่งมีหนามแหลม ส่วนเนื้อไม้มีลักษณะแข็ง และเหนียว

Giant mimosa

• ใบ
ใบไมยราบยักษ์เป็นใบประกอบแบบขนนก ประกอบด้วยใบหลัก และใบย่อย ออกเรียงสลับกัน และมีหูใบขนาดเล็ก สีน้ำตาล 1 คู่ ใบหลักยาวประมาณ 13-17 ซม. ออกใบย่อยตรงข้ามกัน ซ้าย-ขวา ก้านใบย่อยยาวประมาณ 1 ซม. และมีหนามแหลมในแนวตั้งระหว่างคู่ของใบย่อย คู่ละ 1 อัน และมีหนามขนาดเล็กในแนวนอนที่อยู่ในช่วงใบย่อย ช่วงละ 2 อัน ใบย่อยช่วงแรกมี 8-13 คู่ ใบย่อยช่วงสอง มี 32-50 คู่ ความยาวใบประมาณ ใบมีขนสีเหลืองอ่อนปกคลุมห่างๆ ใบไมยราบยักษ์มีความไวต่อสิ่งเร้า เมื่อถูกกระทบใบจะหุบเข้า บริเวณก้านใบ และแกนใบมีหนามแหลม

Giant mimosa1

• ดอก
ดอกไมยราบยักษ์จะออกเป็นช่อหรือที่มักเรียกว่า ดอก ออกบริเวณปลายกิ่งตามซอกใบ แต่ละช่อดอกประกอบด้วยดอกประมาณ 100 ดอก แต่ละดอกมีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ มีเกสรตัวผู้ 8 อัน เกสรตัวเมีย 1 อัน ภายในมีรังไข่เรียงเป็นแถว 16-24 อัน แต่ละกิ่งจะออกดอกประมาณ 11 ช่อดอก ช่อดอกมีลักษณะเป็นกระจุกกลมสีชมพู

Giant mimosa2

• ผล และเมล็ด
ผลไมยราบยักษ์มีลักษณะเป็นฝัก ออกเป็นกลุ่มประมาณ 5-13 ฝัก/ดอก ฝักมีลักษณะแบน ยาวประมาณ 3.5-7.5 ซม. กว้าง 1-1.2 ซม. มีขนหยาบ และยาวปกคลุม ฝักอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่จัดจะมีสีดำ ฝักมีลักษณะเป็นปล้องๆ และจะร่วงหักเป็นท่อนๆเมื่อแก่จัด ด้านในแต่ละฝักมีเมล็ดประมาณ 10-24 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะกลม สีน้ำตาล ขนาดยาว 0.4 x 0.6 ซม. และกว้าง 0.2 x 0.3 ซม. มีปลายเมล็ดด้านหนึ่งแหลมสำหรับงอกออกของต้นอ่อน

Giant mimosa3

แหล่งกำเนิด
ไมยราบยักษ์ เป็นต้นไม้ขนาดกลางในตระกูลถั่ว มีถิ่นกำเนิดในแถบประเทศอเมริกากลาง และทางเหนือของทวีปอเมริกาใต้บริเวณประเทศโคลัมเบีย และเวเนซูเอล่า โดยเชื่อว่าถูกนำมาปลูกในประเทศอินโดนีเซียจากแอฟริกาหรืออเมริกาใต้มานานแล้ว หลังจากนั้นมีการแพร่กระจายสู่ประเทศต่างๆในแถบอินโดจีน และทางตอนเหนือของออสเตรเลียในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 เพื่อใช้เป็นพืชบำรุงดิน หรืออาจมุ่งหมายเพื่อใช้ประโยชน์จากไมยราบยักษ์ในรูปแบบอื่น

สำหรับประเทศไทย ไมยราบยักษ์ถูกนำมาปลูกครั้งแรกเมื่อประมาณ ปี 2495 โดยเกษตรกรชาวไร่ยาสูบทางภาคเหนือบริเวณอำเภอเชียงดาว และอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีด้วยกัน 2 ชนิด คือ ชนิดต้น ไมยราบยักษ์ ที่เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง และชนิดเถา ไมยราบเครือ โดยเพื่อต้องการใช้เป็นพืชบำรุงดินในไร่ยาสูบ นอกจากนั้น ยังพบว่ามีการใช้ประโยชน์จากไมยราบยักษ์เพื่อเป็นพืชป้องกันการพังทลายของ ดินบริเวณตลิ่งในไร่ยาสูบ หรือใช้เพื่อเลี้ยงครั่งแทนต้นจามจุรี

การเจริญเติบโต
ไมยราบยักษ์แพร่กระจาย และขยายต้นใหม่ด้วยเมล็ด ต้นอ่อนของไมยราบยักษ์ที่งอกจากเมล็ด และมีอายุได้ประมาณ 1 เดือน จะมีใบจริง 4-5 ใบ มีความสูงประมาณ 8-10 ซม. เมื่อต้นเจริญเติบโตได้อายุประมาณ 3 เดือน ต้นจะมีความสูงประมาณ 80-90 ซม. และเมื่อต้นมีอายุได้ประมาณ 1 ปี จะมีความสูงเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 1.5 เมตร ส่วนต้นที่เจริญเติบโตได้อายุ 2 และ 3 ปี จะมีลำต้นสูงตั้งแต่ 2.2 และ 4.3 เมตร ตามลำดับ

โดยทั่วไป ต้นไมยราบยักษ์ที่เจริญเติบโตเต็มที่จะมีความสูงประมาณ 3-3.5 เมตร โดยมีอัตราการเจริญเติบโตทางด้านความสูง และการแผ่กิ่งก้านมากที่สุดในช่วงฤดูฝน เฉลี่ยประมาณ 43 ซม./30 วัน แต่ในบางพื้นที่อาจเติบโตได้มากถึง 70-80 ซม./30 วัน

การออกดอกของ ไมยราบยักษ์จะเริ่มออกดอกครั้งแรกเมื่อต้นอายุได้ประมาณ 6-8 เดือน โดยปริมาณการออกดอกในช่วงปีแรกจะยังไม่มากนัก และจะทวีคูณเพิ่มขึ้นในปีที่ 2,3 และ 4 โดยในช่วงหนึ่งปี ไมยราบยักษ์จะออกดอกต่อเนื่องกันประมาณ 6 ครั้ง

มีการศึกษาการเจริญเติบโตของไมยราบยักษ์อายุ 2-3 ปี ที่จังหวัดเชียงใหม่ และกรุงเทพมหานคร ในช่วงเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน ปี 2528-2529 พบว่า ต้นไมยราบยักขนาดความสูงเฉลี่ย 280 ซม. มีจำนวนกิ่งก้านขนาดใหญ่ และขนาดเล็กประมาณ 52 กิ่ง มีกิ่งที่พร้อมออกดอก 80% หรือประมาณ 42 กิ่ง และจำนวนดอกที่ออกในกิ่งที่มีความยาว 50-75 ซม. จะมีประมาณ 11 ดอก และเมื่อแต่ละดอกผสมเกสรแล้วจะเจริญเป็นช่อฝัก แต่ละช่อฝักจะติดฝักประมาณ 7 ฝัก แต่ละฝักมีเมล็ดประมาณ 19 เมล็ด และในรอบหนึ่งปี ต้นไมยราบยักษ์จะออกดอกได้ประมาณ 6 ครั้ง ดังนั้น ไมยราบยักษ์อายุ 2-3 ปี จำนวน 1 ต้น จะผลิตเมล็ดได้เท่ากับ 42x11x7x19x6 เท่ากับ 368,676 เมล็ด และไมยราบยักษ์ 1 ไร่ ในระยะห่าง 2×4 เมตร จะมีประมาณ 200 ต้น ซึ่งจะสามารถผลิตเมล็ดได้ 368,676×200 เท่ากับ 73,735,200 เมล็ด หรือ 958.6 กิโลกรัม/ไร่/ปี (100 เมล็ด หนักประมาณ 1.3 กรัม)

เมล็ดไมยราบยักษ์ ที่ได้รับแสงความเข้มข้น 1200 ลักซ์ ตลอด 24 ชั่วโมง สามารถงอกด้วยอัตราเฉลี่ยร้อยละ 66.75 ในขณะเมล็ดที่อยู่ในที่มืดจะมีอัตราการงอกร้อยละ 40.40

จำรัส (2520)(1) ได้ศึกษาปัจจัยบางอย่างที่ช่วยทำลายการฟักตัวของเมล็ดไมยราบยักษ์ พบว่า การเก็บเมล็ดไว้ในทรายชื้น -10 องศาเซลเซียส นาน 8 สัปดาห์ ทำให้อัตราการงอกเมล็ดลดลงเหลือร้อยละ 16.4

การแพร่กระจาย
ไมยราบยักษ์มีความสามารถในการแพร่กระจายได้ดีมาก โดยเฉพาะบริเวณแหล่งน้ำไหลต่างๆ เนื่องจากเมล็ดที่ร่วงจะลอยไปกับน้ำ และเมล็ดจะงอกเมื่อน้ำแห้ง ทำให้พบไมยราบยักษ์ได้มากบริเวณที่มีน้ำท่วมถึงในทุกแห่ง เช่น แหล่งน้ำเพื่อการชลประทาน และการพลังงาน รวมถึงทางหลวง และที่รกร้างต่างๆ

ข้อเสียจากไมยราบยักษ์
• ขัดขวางการไหลของน้ำ และลดพื้นที่การเก็บกักน้ำ ทำให้แหล่งน้ำตื้นเขิน
• ลดพื้นที่การเกษตร พื้นที่เลี้ยงสัตว์
• บดบังทัศนียภาพ เช่น ไมยราบยักษ์บริเวณริมทางหลวง
• มีการเจริญเติบโต และแข่งกับพืชชนิดอื่นได้ดี โดยเฉพาะพืชท้องถิ่น ทำให้ความหลากหลายของพรรณพืชในแหล่งที่มีการแพร่กระจายลดน้อยลง
• เป็นแหล่งอาศัยของแมลงศัตรูพืชตามธรรมชาติ ซึ่งจะเข้าทำลายผลิตผลทางการเกษตรในช่วงฤดูการเพาะปลูก
• มีการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ควบคุม และกำจัดได้ยาก

ประโยชน์จากไมยราบยักษ์
• ช่วยป้องกันการพังทลายของดิน
• ช่วยตรึงไนโตรเจน และช่วยบำรุงดิน
• ใช้ปลูกทำแนวรั้วในแปลงเกษตร
• ใบ ดอก และเมล็ดใช้เป็นส่วนผสมอาหารสัตว์ เช่น ใช้เลี้ยงโค กระบือ แพะ แกะ เป็นต้น
• ลำต้นใช้ผลิตเยื่อกระดาษ
• กิ่ง และลำต้น นำมาใช้เป็นฟืนหุงหาอาหาร หรือนำลำต้นมาเผาถ่าน
• ใช้ทำงานหัตถกรรม เช่น กรอบพวงหรีด
• ใบ และดอกใช้ทำปุ๋ยหมัก
• ลำต้นนำมาบดสับ ใช้ทำวัสดุเพาะเห็ด
• เมล็ดนำมาสกัดน้ำมัน

วิธีกำจัดไมยราบยักษ์
• การใช้สารเคมีฉีดพ่น
• การตัดต้น และแผ้วถาง
• การตัดต้น และใช้สารเคมีราดตอ
• การใช้แมลงศัตรูพืช เช่น ด้วงเจาะเมล็ดไมยราบ ด้วงเจาะลำต้น และเพลี้ยอ่อน เป็นต้น

การตัดฟัดต้น และแผ้วถาง เป็นวิธีกำจัดไมยราบยักษ์ที่ไม่ได้ผล เนื่องจาก เหง้าหรือลำต้นใต้ดินจะแตกลำต้นใหม่หลังการตัดฟัน แต่หากใช้สารเคมีราดกำจัดหลังการตัดฟันแล้วจะได้ผล แต่การใช้สารเคมีจะทำให้สารเคมีตกค้างในบริเวณดังกล่าวได้ ส่วนการใช้แมลงศัตรูพืชถือว่ายังไม่มีประสิทธิภาพพอ เนื่องจาก ไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้น ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีกำจัดไมยราบยักษ์ที่ที่ได้ผลโดยการหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี

เอกสารอ้างอิง
2