ไผ่ตงลืมแล้ง และการปลูกไผ่ตงลืมแล้ง

Last Updated on 5 กรกฎาคม 2016 by puechkaset

ไผ่ตง (Sweet Bamboo) หรือนิยมเรียก ไผ่ตงลืมแล้ง เป็นไผ่ไม่มีหนาม มีลำต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ นิยมปลูกมากในแถบภาคตะวันออก โดยเฉพาะจังหวัดปราจีนที่มีพื้นที่ปลูกมากที่สุด เนื่องจาก ให้หน่อ และลำต้นขนาดใหญ่ หน่อนำมาแปรรูปเป็นหน่อไม้ดอง หน่อไม้กระป๋อง รวมถึงหน่อไม้สดนำมาปรุงอาหารได้หลากหลายชนิด ให้เนื้อกรอบหวาน ส่วนลำต้นขายส่งโรงงานกระดาษ ใช้ทำไม้ค้ำยัน ไม้ก่อสร้าง และไม้ใช้สอยอื่นๆ

วิทยาศาสตร์ : Dendrocalamus asper Backer.
ชื่อสามัญ : Sweet Bamboo
ชื่อท้องถิ่น :
– ไผ่ตง
– ไผ่ตงลืมแล้ง
– ไผ่ตงเขียว
– ไผ่ตงดำ
– ไผ่ตงหม้อ
– ไผ่ตงหนู

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ไผ่ตงลืมแล้ง
1. ลำต้น
ไผ่ตงลืมแล้ง มีระบบรากเป็นรากฝอย แตกลำต้นเป็นกอออกจากเหง้าของต้น แตกกอแน่น ลำตั้งตรง ปลายลำโค้งงอ สูงประมาณ 20-30 เมตร ขนาดเส้นโคนลำมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 8-20 เซนติเมตร และค่อยๆลดขนาดลงเรื่อยๆตามความสูง แต่ละปล้องยาว 40-50 เซนติเมตร ข้อปล้องบริเวณโคนลำนูนเด่น ลำต้นมีกาบหุ้มลำขนาดใหญ่ และมีขนสีน้ำตาลปกคลุม ใบยอดกาบรูปสามเหลี่ยมเรียว ลำปล้องหนา 11-36 มิลลิเมตร ภายในกลวง แต่บริเวณโคนลำอาจตัน

ลักษณะเฉพาะที่ใช้แยกชนิด ของไผ่ตงออกจากไผ่ชนิดอื่น คือ กาบหุ้มลำ โดยเฉพาะบริเวณโคนลำที่มีขนาดเล็กกว่าตอนบน ด้านหลังกาบมีขนสีน้ำตาลเหลืองปกคลุม หากขึ้นในพื้นที่แล้งจะไม่ค่อยมีขน

2. หน่อ
หน่อไผ่ตงลืมแล้ง ออกมากในช่วงเดือนมิถุนายน-ตุลาคม มีกาบหุ้มหน่อขนาดใหญ่ ใบกาบเป็นสามเหลี่ยม ปลายเรียวแหลม กาบหุ้มมีสีน้ำตาลแกมสีเขียวเข้ม มีขนอ่อนปกคลุมหลังกาบ มีน้ำหนักประมาณ 3-10 กิโลกรัม

3. ใบ
ใบไผ่ตงลืมแล้ง แบ่งเป็นใบยอดกาบ และใบกิ่ง โดยใบยอดกาบรูปสามเหลี่ยมเรียว ส่วนใบกิ่งเป็นรูปหอกปลายเรียวแหลม มีก้านสั้น มีขนาดต่างกันไป บ้างก็จะมีใบกว้างมาก ไม่มีเส้นลายใบด้านขวาง แต่มักจะมีตุ่มใสๆ บนใบ ใบยาว 20-30 เซนติเมตร กว้าง 1.5-3.5 เซนติเมตร หลังใบไม่มีขน แต่อาจพบขนอ่อนบริเวณท้องใบ

4. ดอก
ไผ่ตงลืมแล้ง ออกดอกเป็นช่อ มีกลีบดอก 2-3 กลีบ ด้านในมีเกสรตัวผู้ 3-6 อัน  เกสรตัวเมีัยมีขนปกคลุม เจริญเป็นผล เปลือกผลแข็ง เนื้อด้านในนุ่ม

พันธุ์ไผ่ตงลืมแล้ง
1. ไผ่ตงเขียว
ไผ่ตงเขียวมีลำต้น และหน่อขนาดเล็ก และสั้นกว่าไผ่ตงดำ มีลำต้นขนาด 5 –12 เซนติเมตร ลำต้นสีเขียวเข้ม ผิวเรียบเป็นมันลื่น มีทรงพุ่มค่อนข้างทึบ เนื่องจากมีแขนง และใบมาก ตั้งแต่ความสูงประมาณ 1 เมตรขึ้นไป ถึงปลายยอด

หน่อมีรูปทรงกรวย สีของกาบหน่อเป็นสีเขียว ขอบกาบเป็นสีม่วงแดง และมีขนสีม่วงแดง เมื่อลอกกาบหน่อออกบริเวณเหนือรอยกาบจะมีสีเขียวอมเหลือง แตกต่างจากไผ่ตงพันธุ์อื่นอย่างเด่นชัด อาจพบหน่อออกตามลำต้นบริเวณข้อได้ น้ำหนักหน่อประมาณ 1 – 4 กิโลกรัม เนื้อของหน่อค่อนข้างเหลืองหยาบ มีเสี้ยนมาก

paitong

ใบกาบลู่ลงไม่แนบชิดกับบริเวณโคนหน่อ ส่วนใบมีขนาดเล็กและบาง มีสีเขียวเข้มมากกว่าพันธุ์อื่น

2. ไผ่ตงดำ
ไผ่ตงดำมีลำต้นเตี้ยกว่าไผ่ตงหม้อ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 9 –12 เซนติเมตร ผิวลำต้นสีเขียวอมเทา มีขนขึ้นปกคลุมบริเวณโคนต้น และบริเวณปล้องมีนวลแป้งสีขาว เมื่อจับจะรู้สึกสากมือ กิ่งแขนงมีน้อย กิ่งแขนงเริ่มแตกมากที่ความสูง 2 เมตรขึ้นไป

paitong1

หน่อมีขนาดปานกลาง อวบอ้วน มีน้ำหนัก 1 – 8 กิโลกรัม กาบหน่อมีสีน้ำตาลปนดำ มีขนละเอียดสีน้ำตาลดำคล้ายกำมะหยี่ เนื้อหน่อมีสีขาว นิ่มกรอบ และมีเสี้ยนน้อย หูใบกาบแข็ง และแนบติดกับโคนหน่อ

ใบมีขนาดใหญ่ สีเขียว และหนา มองเห็นร่องใบชัดเจน

3. ไผ่ตงหม้อ
ไผ่ตงหม้อเป็นพันธุ์ที่มีลำต้น หน่อ และใบใหญ่ไผ่ตงพันธุ์อื่นๆ มีลักษณะทรงพุ่มโปร่ง ลำต้นตั้งตรงมี สูงตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไป มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 12-18 เซนติเมตร ลำต้นมีสีเขียว มีนวลแป้งสีขาวปกคลุม ลำปล้องปล้องเรียบสม่ำเสมอ กิ่งแขนงมีน้อยมาก เริ่มแตกกิ่งมากตั้งแต่ 2 เมตร ขึ้นไป กิ่งแขนงส่วนมากเป็นกิ่งเดี่ยว ส่วนใบมีขนาดเล็ก สีเขียว ไม่หนาแน่น

หน่อมีสีน้ำตาลอมม่วงกับน้ำตาลดำอมม่วง มีขนาดหน่อใหญ่มาก หนักประมาณ 5 – 10 กิโลกรัม กาบหน่อมีขนละเอียดคล้ายไผ่ตงดำ บริเวณรอยต่อของกาบมีสีเปลือกมังคุด เนื้อหน่อมีสีขาว เนื้อค่อนข้างหยาบ และแข็งกว่าไผ่ตงดำ ใบกาบหุ้มแนบชิดกับโคนหน่อ

ไผ่ตงหม้อ เป็นไผ่ตงพันธุ์เดียวกันกับไผ่ยักษ์ ไจแอ้น แบมบู ที่นำเข้ามาปลูกจากประเทศจีน เริ่มปลูกที่จังหวัดปราจีนบุรีเป็นแห่งแรก โดยเริ่มแรกนิยมปลูกเพื่อนำมาทำเฟอร์นิเจอร์ และแปรรูปแกะสลัก ต่อมาเริ่มปลูกเพื่อนำหน่อมาบริโภค

4. ไผ่ตงหนู
ไผ่ตงหนู เป็นไผ่ตงที่มีลำต้น และหน่อเล็กกว่าไม้ไผ่ตงชนิดอื่นๆ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-6 เซนติเมตร แตกทรงพุ่มแน่น และค่อนข้างเตี้ย

พันธุ์ไผ่ตงแบ่งตามเวลาการออกหน่อ
1. พันธุ์เบา เป็นพันธุ์ที่มีช่วงเวลาการออกหน่อประมาณเดือนเมษายน-ต้นเดือนพฤษภาคม ได้แก่ ไผ่ตงเขียว
2. พันธุ์กลาง เป็นพันธุ์ที่มีช่วงเวลาการออกหน่อประมาณเดือนพฤษภาคม-ต้นเดือนมิถุนายน ได้แก่ ไผ่ตงดำ
3. พันธุ์หนัก เป็นพันธุ์ที่มีช่วงเวลาการออกหน่อประมาณเดือนกรกฎาคม-ต้นเดือนสิงหาคม ได้แก่ ไผ่ตงหม้อหรือไผ่ตงใหญ่

ประโยชน์จากไผ่ตง
• หน่อไม้ไผ่ตงมีรสหวาน กรอบ นิยมนำมาปรุงอาหารได้หลายชนิด เช่น แกงจืด แกงเลียง เป็นต้น รวมถึงนำมาลวกเป็นผักจิ้มน้ำพริก
• หน่อไม้ไผ่ตง มีขนาดใหญ่ เนื้อสีขาว นิยมนำมาแปรรูปเป็นหน่อไม้ดอง หน่อไม้กระป๋อง หน่อไม้อบแห้ง เป็นต้น
• ลำต้น ส่งจำหน่ายโรงงานผลิตเยื่อกระดาษ
• ลำต้น ใช้เป็นไม้ค้ำยัน ไม้ก่อสร้าง
• ลำต้น ใช้เป็นไม้ใช้สอยต่างๆ เช่น สร้างเรือนชั่วคราว สร้างกระท่อม ทำรั้วบ้าน เป็นต้น

คุณค่าทางโภชนาการหน่อไม้ไผ่ตง (100 กรัม)
• คาร์โบไฮเดรต : 5.20 กรัม
• ไขมัน : 0.30 กรัม
• โปรตีน : 2.60 กรัม
• แคลเซียม : 0.013 กรัม
• ฟอสฟอรัส : 0.49 กรัม
• เหล็ก : 0.0005 กรัม
• วิตามินเอ : 20 ยูนิต
• วิตามินบี1 : 0.15 มิลลิกรัม
• วิตามินบี2 : 0.07 มิลลิกรัม
• วิตามินซี : 0.06 มิลลิกรัม
• ไนอาซีน : 4.00 มิลลิกรัม

ที่มา : กองโภชนาการ กรมอนามัย, 2521(1)

องค์ประกอบทางเคมีของไผ่ตงลืมแล้ง
• โฮโลเซลลูโลส 53%
• เพนโทแซน 19%
• ลิกนิน 25%
• เถ้า 3%
• สารละลายในน้ำเย็น 4.5%
• สารละลายในน้ำร้อน 6%
• สารละลายในแอลกอฮอล์-เบนซีน 1%
• สารละลายในโซเดียมไฮดรอกไซด์ 1% เท่ากับ 22%

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, 2544(3)

สมบัติเชิงกลของไผ่ตง
– ความเค้นอัดขนานเสี้ยน 72 Mpa
– ความเค้นดึงขนานเสี้ยน 314 Mpa
– ความเค้นเฉือนขนานเสี้ยน 14 Mpa
– โมดูลัสการแตกหัก 135 Mpa
– โมดูลัสยืดหยุ่น 13,115 Mpa
– ค่าความเหนียว 676 Mpa

ที่มา : ฐิติกุล, 2540(2)

การปลูกไผ่ตง

การตอนกิ่งไผ่ตง

กิ่งตอนไผ่ตง
การเตรียมดิน และหลุมปลูก
เตรียมดินด้วยการไถกลบ และกำจัดวัชพืช 2 รอบ โดยตากดินนาน 5-7 วัน หลังจากนั้นทำการขุดหลุมปลูก กว้างxยาวxลึก ประมาณ 60x60x50 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างหลุม และแถวที่ 3-4 เมตร พร้อมโรยปุ๋ยคอก และปุ๋ยเคมีรองก้นหลุม

การปลูก
การปลูกไผ่ตงจะใช้วิธีการปลูกจากต้นพันธุ์ที่ขุดจากกอไผ่ตงหรือกิ่งตอน แต่ที่นิยมปลูกในปัจจุบันจะเป็นกิ่งพันธุ์ที่ได้จากการตอนกิ่ง ซึ่งมีจำหน่ายตามร้านขายต้นไม้หรือฟาร์มไผ่ทั่วไป โดยการปลูกจะเริ่มในช่วงต้นฤดูฝน เดือนพฤษภาคม-มิุถุนายน ระยะปลูก 3-4 เมตร/หลุม หลุมละ 1-2 ต้น ปลูกเอียง 45 องศา หลังจากปลูกควรใช้ฟางข้าววางคลุมต้นเพื่อรักษาความชุ่มชื้นให้แก่ดิน

การเก็บหน่อ
ไผ่ตงจะเริ่มเก็บหน่อเมื่อปลูกได้ประมาณ 3 ปี มีช่วงการเก็บหน่อระหว่างเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ช่วงที่หน่อออกมากในช่วงกรกฎาคม-สิงหาคม ตัดหน่อวันเว้นวันหรือ 4-5 วัน/ครั้ง โดยจะตัดในช่วงเช้ามืดเพื่อส่งจำหน่ายตลาดสดให้ทัน จำนวนหน่อ/กอประมาณ 20-40 หน่อ ขึ้นอยู่กับขนาดกอ และการจัดการ

เอกสารอ้างอิง
4