ไทร ไทรย้อย และสรรพคุณไทร

Last Updated on 13 มิถุนายน 2016 by puechkaset

ไทร หรือ ต้นไทร จัดเป็นไม้ประดับที่นิยมปลูก เนื่องจาก ต้นจากกิ่งชำหรือกิ่งตอนมีขนาดเล็ก สามารถปลูกได้ และเติบโตได้ดีในกระถาง และมีอายุยืนหลายปี ประกอบกับลำต้นไม่สูง ลำต้นสามารถดัดเป็นรูปทรงต่างๆได้ง่าย ใบมีสีเขียวสดหรือเขียวเข้ม สามารถปลูกได้ในกระถาง และเคลื่อนย้ายปลูกได้ทั้งในอาคาร และนอกอาคาร รวมไปถึงในสวนหย่อม และถนน เป็นต้น

คำว่า ไทร ในทางด้านวิชาการด้านพฤกษศาสตร์ หมายถึง พืชตระกูลไทร Ficus spp ที่มีมากกว่า 750 ชนิด ทั่วโลก มีถิ่นกำเนิดในแถบทวีปเขตร้อน อาทิ เอเชีย ออสเตรเลีย อเมริกากลาง อเมริกาใต้ และแอฟริกา ส่วนไทรในแถบประเทศเอเชีย พบมากในแถบอินเดีย และประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศจีนตอนใต้ บางชนิดมีความสำคัญทางพุทธศาสนา เช่น โพธิ์ (Fig religiosa) และนิโคธ (Fig bejalensis) บางชนิดใช้เป็นอาหาร เช่น มะเดื่อหูช้าง มะเดื่อดง และมะเดื่อฝรั่ง เป็นต้น

คำว่า ไทร หรือ ต้นไทร ที่เรานิยมเรียกกัน เป็นคำที่นิยมใช้เรียก ต้นไทรย้อย เป็นสำคัญ ทั้งชนิดพันธุ์ใบแหลม และใบทู่ ส่วนไม้ในตระกูลไทรชนิดอื่นจะเรียกตามชื่อเฉพาะ เช่น ต้นโพธิ์ และต้นมะเดื่อ เป็นต้น

อนุกรมวิธาน
Family : Moraceae
Genus : Ficus
ชื่อสามัญ : Fig หรือ Figcus

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของไทร
ราก
รากพืชตระกูลไทรมีระบบรากเป็นรากแก้ว และแตกรากแขนงออก โดยรากแขนงจะแทงออกแพร่ไปรอบๆลำต้นขนานกับพื้นดินได้ไกล นอกจากนั้น ไทรบางชนิดมีรากอากาศห้อยตามกิ่งย้อยลงมาด้านล่าง เช่น ไทรย้อย และบางชนิดมีพูพอนที่โคนต้นเหนือรากสำหรับค้ำพยุงลำต้นที่มีขนาดใหญ่ เช่น มะเดื่ออุทุมพร

ลำต้น
ลำต้นของไม้ตระกูลไทรแบ่งเป็น 6 แบบ คือ
1. ไม้ยืนต้น ตั้งตรง (tree) เป็นลักษณะเป็นของไทรที่เติบโตบนดิน โดยมีลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งสาขาจนถึงปลายยอด กิ่งไม้โน้มลงด้านล่าง เช่น ต้นโพธิ์ และมะเดื่อ บางชนิดโคนลำต้นเป็นพูพอนเพื่อใช้ค้ำยันลำต้น เพราะลำต้นมาขนาดใหญ่มาก เช่น มะเดื่ออุทุมพร (Ficus racemosa Linn.)
2. ไม้พุ่ม (shrub) เป็นไทรที่มีลำต้นไม่สูง แต่แตกกิ่งมาก และกิ่งยาวยาวมากทำให้กิ่งโน้มลงด้านล่างเป็นทรงพุ่มขนาดใหญ่ เช่น ไทรย้อยใบแหลม และไทรย้อยใบทู่
3. ไม้พุ่มรอเลื้อย (scandent shrub)
4. ไม้เถาเป็นเครือ (scandent)
5. ไม้เถาแบบมีรากไต่เกาะ (root – climbing)
6. ไม้อิงอาศัย หรือ เรียก ไทรพัน (strangler) เป็นไทรชนิดที่เติบโตบนต้นไม้อื่น โดยการแทงรากเข้าเนื้อเยื่อไม้อื่น และแทงรากลงลึกต่อในดิน พร้อมด้วยใช้ราก และลำต้นโอบรัดไม้อื่นจนทำให้ไม่อื่นค่อยๆตายลง ไทรชนิดนี้มักมีแก่นลำต้นกลวงเป็นรู

ลำต้นของไทรเมื่อยังอ่อนจะมีเปลือกสีเทา เมื่อลำต้นใหญ่เปลือกจะมีสีเทาอมน้ำตาล หรือ บางชนิดเป็นสีดำ ส่วนผิวเปลือกมีทั้งแบบเรียบ และแบบขรุขระสากมือ และเมื่อสับที่เปลือกจะมียางสีขาวไหลออกมา และเมื่อปล่อยทิ้งไว้สักพัก น้ำยางจะจับตัวเป็นก้อนแข็ง

สำหรับกิ่งไม้ตระกูลทรงมีลักษณะที่แตกต่างกัน โดยกิ่งของไม้ไทรชนิดเป็นไม้ยืนต้นจะมีกิ่งตั้งตรง และชูชันขึ้น ส่วนกิ่งจากไม้ไทรที่เป็นไม้พุ่มจะมีกิ่งยาวขนานไปกับพื้น ส่วนไม้พุ่มรอเลื้อยจะมีกิ่งยาวโน้มลงดิน และเลื้อยเป็นเถาได้ได้

ใบ
ใบของไม้ตระกูลไทรแทงออกเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับข้างกันบนกิ่ง มีลักษณะใบทั้งหนา และบาง แต่เหนียวคล้ายหนัง แผ่นใบเรียบ และเป็นมัน ขอบใบเรียบ หรือ หยักเป็นฟันเลื่อย หรือ เว้าเป็นแฉก บริเวณขอบที่โคนใบมักมีเส้นใบ 3 อัน มาจรดกัน เมื่อเด็ดก้านใบหรือฉีกใบจะมียางสีขาวไหลออกมา

ดอก และผล
ดอกของไม้ตระกูลไทรจะออกเป็นช่อ แต่จะมีเพียงดอกเดียวหรือดอกเป็นคู่ เช่น ดอกของไทรย้อยมักออกเป็นดอกเดียวที่ปลายกิ่ง ส่วนดอกมะเดื่อจะออกเป็นช่อ 1-2 ดอก บริเวณกิ่ง และลำต้น โดยดอกจะมีลักษณะกลมที่เจริญเป็นผลกลมในเวลาต่อมา ส่วนเพศของดอกจะออกแยกเพศกันคนละดอก แต่อยู่ในต้นเดียวกัน โดยมีแมลง และแตนเป็นตัวนำเกสรเข้าผสม

ส่วนผลจะมีขนาดเล็ก มีรูปร่างทรงกลม ขนาดผลประมาณ 1 เซนติเมตร เปลือกผลบาง ส่วนมากเมื่อผลสุกจะมีสีแดง ภายในประกอบด้วยเมล็ดขนาดเล็กจำนวนวนมาก เมล็ดมีรูปไตหรือทรงกลม สีเหลืองอมน้ำตาล ขนาดเมล็ดประมาณ 1 มิลลิเมตร

ไทรย้อย
ไทรย้อยที่พบในประเทศไทย ได้แก่
1. ไทรย้อยใบแหลม (Ficus benjamina Linn.)
ไทรย้อยใบแหลม มีชื่อสามัญ Weeping fig ชื่อสามัญอื่นๆ ได้แก่
– Waringin
– Willow Fig Tree
– Benjamin
– Banyan
– Java Tree
– Java Willow
– Weeping Laurel
– Oval leaved Fig

ไทรย้อยใบแหลม

ไทรย้อยใบแหลม เป็นไทรชนิดหนึ่งที่มีความนิยมปลูกเป็นไม้ประดับมากเป็นอันแรกๆของพืชในตระกูลไทร เนื่องจาก ลำต้นมีรูปทรงคล้ายร่ม ปลายใบมีลักษณะเป็นติ่งแหลม กิ่ง และใบห้อยลงด้านล่าง ผลมีสีแดงแลดูงามตา รวมถึงมีรากอากาศห้อยยาวลงด้านล่าง

ไทรย้อยใบแหลม โดยส่วนมากจะเติบโตเป็นลำต้นบนดิน แต่ก็มีบางครั้งที่พบงอก และเติบโตบนโคนต้นไม้อื่น และจะมีลำต้นใหญ่จนรัดต้นไม้อื่นจนตายไป

การปลูกไทรย้อยใบแหลมที่นิยมในปัจจุบัน จะใช้วิธีการตอน และการปักชำกิ่งเป็นหลัก ทำให้ได้ลำต้นเล็ก และไม่สูงมาก นิยมนำมาปลูกในกระถางเป็นหลัก

2. ไทรย้อยใบทู่ (F. microcarpa L.f.)
ไทรย้อยใบทู่จะมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เหมือนไทรใบแหลม แต่จะแตกต่างกันที่ลักษณะของใบ โดยไทรย้อยใบทู่ที่ปลายใบจะไม่มีติ่งแหลม ขณะที่ไทรย้อยใบแหลมจะมีติ่งแหลมที่ปลายใบ

ไทรย้อยใบทู่

ประโยชน์ของพืชตระกูลไทร
1. เพื่อเป็นอาหาร โดยเฉพาะไทรบางชนิดที่สามารถนำมาใช้เป็นอาหารได้ ได้แก่
– ดอกของชิ้งขาว
– ผลสุกของโพะ
– ยอดอ่อนของผักเลือด
– ผลสุกของมะเดื่อ
2. การปลูกเป็นไม้ประดับ
– ปลูกเป็นไม้ประดับในกระถาง ที่สามารถยกเคลื่อนย้ายปลูกทั้งในอาคาร และนอกอาคาร เนื่องจากเป็นไม้ที่ทนต่อสภาพต่างๆได้ดี ทั้งสภาพน้ำน้อย น้ำมาก และมีแสงน้อย ทำให้สถานที่ดูร่มรื่น เป็นธรรมชาติ รวมถึงช่วยในการกรองอากาศ ดักจับฝุ่น และมีรูปทรงสวยงาม เช่น ไทรย้อยใบแหลมที่ได้จากกิ่งตอนจะมีรูปทรงปิรามิด ฐานกว้าง และค่อยเรียวส่วนปลาย
– ปลูกเป็นไม้ประดับแคระ หรือเรียก บอนไซ เนื่องจากใบไทรบางชนิดมีรากน้อย ใบขนาดเล็ก ลำต้น และกิ่งสามารถดัดให้เกิดรูปทรงได้ง่าย เช่น ไทรย้อยใบทู่ ไทรจีนใบแหลม และโพธิ์ตัวผู้ เป็นต้น
– ปลูกเป็นไม้ประดับในกระถางแขวน เนื่องจากไทรบางชนิดมีขนาดเล็ก เช่น ไทรใบโพธิ์หัวกลับ และไทรหิน เป็นต้น
– ปลูกเป็นไม้ประดับสำหรับไต่ตามกำแพง หรือ ไต่ตามเสา เช่น ตีนตุ๊กแก (F. pumila) และไทรเลื้อย
3. การปลูกเป็นไม้มงคล และไม้ที่มีความสำคัญทางพุทธศาสนา
4. เนื่องจากไทรบางชนิดที่โตด้วยเมล็ดจะมีลำต้นที่แตกกิ่งมาก มีใบมาก ทรงพุ่มหนาแบนกว้าง เมื่อปลูกจะช่วยให้ร่มเงาได้เป็นอย่างดี
5. ใช้ปลูกเป็นแนวกำแพงบังลม เช่น ปลูกเพื่อบังลมให้แก้บ้าน หรือ แนวสวนผัก ผลไม้ เป็นต้น
6. ใช้ปลูกเป็นแนวแนวรั้ว แนวกำแพง และปลูกเพื่อแสดงเขตแดน
7. ไทรบางชนิดที่ติดผลสามารถเป็นอาหารป่าให้แก่สัตว์ป่า เช่น นก กระรอก เป็นต้น
8. เนื้อไม้ของไทรบางชนิดมีความเหนียวสูง สามารถใช้ทำเป็นเครื่องเรือน เรือ และไม้ก่อสร้างได้ เช่น ไทรย้อย
9. เปลือกของไทรบางชนิดนำมาจักสอยเป็นเส้นเล็กๆใช้ทำเชือกรัดของ เช่น เปลือกของไทรย้อย และมะเดื่อ

สรรพคุณของไม้ตระกูลไทร
1. ช่อดอกอ่อนของโพะ
– ใช้แก้ท้องเสีย
2. ไทรย้อยใบแหลม และใบทู่
– ใบนำมาต้มดื่มสำหรับขับพยาธิ