แหนแดง และประโยชน์แหนแดง

Last Updated on 3 เมษายน 2017 by puechkaset

แหนแดง (Azolla) เป็นเฟิร์นน้ำขนาดเล็กชนิดหนึ่งที่นิยมเลี้ยงในนาข้าวสำหรับเป็นปุ๋ยพืชสดบำรุงดิน และเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ต้นข้าว นอกจากนั้น ยังนิยมนำมาเลี้ยงเป็ดเหมือนกับแหนเป็ดชนิดอื่นๆ รวมถึงใช้เป็นอาหารสัตว์อื่นๆ อาทิ ไก่ และสุกร

อนุกรมวิธาน
• Division : Pteridophyta
• Class : Filicopsida
• Order : Saliniales
• Family : Azollaceae
• Genus : Anabeaeba

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Azolla spp.
• ชื่อสามัญ : Azolla
• ชื่อท้องถิ่น :
– แหนแดง
– แหนเป็ดใหญ่ (เรียกเหมือนกับแหนเป็ดชนิดหนึ่งที่ใหญ่ที่สุดในชนิดแหนเป็ด)

การแพร่กระจาย
แหนแดง เป็นเฟิร์นที่พบได้ในทุกภาค ซึ่งจะพบในแหล่งน้ำนิ่ง อาทิ บ่อน้ำ บึง พื้นที่ชุ่มน้ำหรือแอ่งที่มีน้ำท่วมขังตลอดปี ทั้งนี้ สามารถสังเกตได้จากผิวแหล่งน้ำมีพืชสีเขียวลอยบนผิวน้ำ แต่ขณะต้นยังเล็กหากมองไกลๆจะคล้ายแหนเป็ดมาก แต่เมื่อต้นแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมแดงเรื่อ ซึ่งจะแยกแยะจากแหนเป็ดได้อย่างชัดเจน เพราะแหนเป็ดจะไม่เปลี่ยนสีใบ ใบแหนเป็ดจะมีสีเขียวตลอด แต่แหนเป็ดใหญ่จะมีแผ่นใบด้านล่างมีสีน้ำตาลแดง

แหนแดง (Azolla) แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม
1. กลุ่ม Euazolla
เป็นกลุ่มแหนแดงที่มีขนปกคลุมบนใบ สปอร์เพศเมียมีทุ่นลอย 3 อัน ส่วนสปอร์เพศผู้มีหนามแหลมปกคลุม และปลายสปอร์มีตะขอคล้ายหัวลูกศร มีทั้งหมด 5 ชนิด ได้แก่
– Azolla microphylla Kaulfuss พบในแถบประเทศในทวีปอเมริกา
– Azolla filiculoides Lamark พบในแถบประเทศในทวีปอเมริกาใต้ อเมริกาเหนือ และอลาศก้า
– Azolla rubra R.Brown พบในแถบประเทศในทวีปออสเตรเลีย และเอเชียในแถบประเทศญี่ปุ่น และเกาหลี
– Azolla mexicana Presl พบในแถบประเทศทางตอนเหนือ ของทวีปอเมริกาใต้ และทางทิศตะวันตกของทวีปอเมริกาเหนือ
– Azolla cololiniana Willdenow พบในแถบประเทศทางตะวันออกของอเมริกาเหนือ และแถบทะเลคาริบเบี่ยน

2. กลุ่ม Rhizospenna
เป็นกลุ่มแหนแดงที่มีขนปกคลุมทั้งบนใบ และตามลำต้น มีทั้งหมด 2 ชนิด ที่พบในแถบประเทศเอเชีย และออสเตรเลีย ได้แก่
– Azolla pinnata var. pinnata (แหนแดงเพียงชนิดเดียวที่พบในไทย)
– Azolla pinnata var. imbricata

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
แหนแดง เป็นพรรณไม้น้ำชนิดลอยบนผิวน้ำ ลักษณะทั่วไปประกอบด้วยลำต้น ราก และใบ
โดยลำต้นสามารถแตกกิ่งแขนงออกสองข้างสลับกันเป็นเป็นชั้นๆ ลำต้นมีขนาดประมาณ 0.5-0.7 เซนติเมตร และยาวได้มากถึง 40 เซนติเมตร ซึ่งอาจตั้งตรงขึ้นหรือแผ่ราบตามผิวน้ำ ส่วนรากสามารถยาวได้มากถึง 15 เซนติเมตร

ส่วนของใบจะเป็นใบประกอบที่มีใบย่อยประมาณ 7-10 ใบ/กิ่ง ซึ่งจะแตกออกจากกิ่งลำต้น และเรียงสลับกันเป็นชั้นที่ประกอบด้วยใบบน (Upper lobe) และใบล่าง (Lower lobe) ซึ่งแต่ละใบจะไม่มีก้านใบ และมีขนาดใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ เมื่อลำต้น และใบแก่ แหนแดงจะเปลี่ยนสีลำต้น และใบจากสีเขียวกลายเป็นสีน้ำตาลอมแดง

%e0%b9%81%e0%b8%ab%e0%b8%99%e0%b9%81%e0%b8%94%e0%b8%87

ส่วนรากจะแตกออกจากโคนหรือจุดศูนย์กลางของลำต้น ซึ่งจะแตกออกเป็นเส้นสีขาวคล้ายเส้นด้าย ห้อยลงไปในน้ำ และหากน้ำตื้น รากก็จะฝังลงไปในโคลนได้

ใบแหนแดงมีลักษณะพิเศษ คือ ใบบน เป็นใบที่มีโพรงใบ ซึ่งเป็นที่อยู่ของสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน (Anabaenaazollae) ในลักษณะพึ่งพาอาศัยกัน

สาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียวที่อาศัยในโพรงใบของแหนแดงสามารถตรึงไนโตรเจนได้ แล้วทำการเปลี่ยนไนโตรเจนให้เป็นแอมโมเนียม ซึ่งแหนแดงสามารถนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการเติบโตได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มจำนวนแหนแดงได้ถึง 2 เท่า ภายใน 3-5 วัน

สภาพแวดล้อมที่เหมาะต่อการเติบโต
– ระดับน้ำลึกไม่น้อยกว่า 5 เซนติเมตร และระดับความลึกที่เหมาะสม ประมาณ 10 เซนติเมตร
– อุณหภูมิ 20–30 องศาเซลเซียส
– ได้รับแสงประมาณ 50%–70% ของแสงสว่าง
– พีเอชที่เหมาะสม ในช่วง 4.0–5.5

การเติบโต และเพิ่มจำนวนของแหนแดง
1. แบบอาศัยเพศ (sexual reproduction)
การสืบพันธุ์แบบนี้ เกิดขึ้นน้อยกว่าแบบไม่อาศัยเพศ โดยแหนแดงจะสร้างอับสปอร์ 2 ชนิด คือ microsporocarp บรรจุสปอร์เพศผู้จำนวนมาก ส่วนอีกชนิด คือ megasprocarp บรรจุสปอร์เพศเมียเพียง 1 สปอร์ และเมื่ออับสปอร์แก่ อับสปอร์จะร่วงลงสู่น้ำ และพักตัวในระยะหนึ่ง และเมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสม อับสปอร์ทั้งสองจำทำการผสมกัน จนเกิดเป็นต้นอ่อน พร้อมกับลอยขึ้นสู่ผิวน้ำ และเติบโตต่อไป

2. แบบไม่อาศัยเพศ (asexual reproduction)
การขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ แหนแดงจะแบ่งตัวออกมาจากต้นแม่ แล้วเจริญเป็นต้นเล็กๆ ซึ่งสามารถเพิ่มจำนวนได้เป็น 2 เท่า ในเวลาเพียง 2.5 – 5.5 วัน พร้อมเติบโต และสะสมไนโตรเจนได้ถึง 15 กิโลกรัม/ไร่ ภายในเวลา 30 วัน

ประโยชน์แหนแดง
1. แหนแดงสามารถนำมาประกอบเป็นอาหารได้ โดยใช้แหนแดงที่ยังไม่โตเต็มที่หรือยังมีสีเขียวอยู่ เมนูสำหรับแหนแดง ได้แก่ ลวกจิ้มน้ำพริก ผัดใส่หมู/เนื้อ แกงเลียง แกงอ่อม เป็นต้น ทั้งนี้ การรับประทานแหนแดงควรทำให้สุกทุกครั้ง เพราะอาจมีพยาธิหรือไข่พยาธิเกาะติดมาด้วย
2. แหนแดงนิยมปล่อยเลี้ยงในนาข้าวสำหรับใช้เป็นปุ๋ยพืชสด ซึ่งจะปล่อยเลี้ยงก่อนการทำนาจนเติบโต และแพร่กระจายมาก ก่อนไถพรวนแปลงนากลบ และปักดำนา และหลังปักดำอาจมีการปล่อยเพิ่มเหลือให้ต้นที่เหลือจากการไถครั้งแรกแพร่กระจายใหม่ แหนแดงที่เติบโตช่วงต้นข้าวเขียวนี้จะกลายเป็นปุ๋ยลงดินหลังการเก็บเกี่ยวต่อไป
3. แหนแดง นิยมนำมาเลี้ยงเป็ดเหมือนกับแหนเป็ดชนิดอื่นๆ หรือปล่อยเลี้ยงในบ่อน้ำเพื่อปล่อยให้เป็ดลงกินตามธรรมชาติ ทำให้เกษตรลดต้นทุนด้านอาหารเลี้ยงเป็ดได้ รวมถึงสัตว์เลี้ยงอื่นๆ อาทิ ไก่ และสุกร
4. แหนแดงเป็นพรรณไม้น้ำประเภทลอยน้ำที่บางครั้งถูกนำมาปล่อยในระบบบำบัดน้ำเสีย โดยเฉพาะระบบบำบัดแบบบึงประดิษฐ์หรือบ่อบำบัดแบบเติมอากาศในบ่อสุดท้ายก่อนปล่อยลงสู่ลำน้ำสาธารณะทั้งนี้ แหนแดงที่ใช้บำบัดน้ำเสียจะช่วยลดความสกปรกของน้ำ และไนโตรเจนเป็นหลัก รวมถึงช่วยบำบัดโลหะหนักบางชนิดได้
5. แหนแดง หากมีปริมาณมาก ให้เก็บมากองรวมกันสำหรับทำปุ๋ยหมักใช้ในแปลงพืชผักหรือสวนผลไม้

คุณค่าทางธาตุอาหารในแหนแดง
– เถ้า : 10.5%
– ไขมันทั้งหมด : 3.0-3.3%
– น้ำตาลที่ละลายได้ : 3.5%
– แป้ง : 6.5%
– โคโลฟิลล์ : 0.34-0.55%
– เส้นใยทั้งหมด : 9.1%
– ไนโตรเจน : 24.0-30.0%
– ฟอสฟอรัส : 4.5-5.0%
– แคลเซียม : 0.4-1.0%
– โพแทสเซียม : 2.0-4.5%
– แมงกานีส : 0.5-0.6%
– แมกนีเซียม : 0.11-0.16%
– เหล็ก : 0.06-0.26%

ที่มา : 1) อ้างถึงใน Singh และChu

แหนแดงสำหรับปุ๋ยในนาข้าว
ใบแหนแดงมีโพรงขนาดเล็กที่เป็นที่อาศัยของสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน Anabana azollae ที่สามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศได้ ด้วยภายในเซลล์จะมีเอนไซม์ nitrogenase ซึ่งใช้เหล็ก และโมลิดินั่มสำหรับเป็น cofactors ในปฏิกิริยา พร้อมกับรีดิวซ์ก๊าซไนโตรเจนให้เป็นแอมโมเนีย และเก็บไว้ในเซลล์ และไนโตรเจนที่ตรึงได้นี้กลายเป็นธาตุอาหารสำคัญในการเติบโตของแหนแดง ทำให้แหนแดงมีคุณสมบัติเป็นปุ๋ยพืชสดได้เหมือนกับพืชตระกูลถั่วอื่นๆ

แหนแดงที่อยู่ในสภาพที่เหมาะสม แหล่งอาศัยมีธาตุอาหารสูงจะสามารถเพิ่มจำนวนต้นได้รวดเร็ว โดยในเวลา 30 วัน แหนแดงสามารถเพิ่มจำนวน และเติบโตจนได้ต้นสดได้มากถึง 3 ตัน/ไร่ ซึ่งจะตรึงไนโตรเจนได้ประมาณ 5-10 กิโลกรัม/ไร่

สำหรับนาดำ การใช้แหนแดงจะทำการหว่านแหนแดงก่อนการไถปักดำ ประมาณ 1 เดือน อัตราการหว่านที่ 50 กิโลกรัม/ไร่ ซึ่งระยะนี้จำเป็นต้องมีน้ำขังในแปลงนาตลอด หลังจากนั้น แหนแดงจะเติบโต และขยายจำนวนจนเต็มแปลงนา ก่อนทำการไถเพื่อปักดำต้นข้าว โดยสามารถให้ผลผลิตกว่า 1-3 ตัน/ไร่ หลังจากนั้น เมื่อต้นข้าวเติบโตจึงหว่านแหนแดงอีกรอบ ประมาณ 100 กก./ไร่

%e0%b9%81%e0%b8%ab%e0%b8%99%e0%b9%81%e0%b8%94%e0%b8%871

2) อร่าม และคณะ (2523) ได้ศึกษาใช้แหนแดงแห้งประมาณ 200 กิโลกรัม/ไร่ (แหนแดงสด 5 กิโลกรัม ตากแห้งเหลือ 300 กรัม) สามารถให้ปุ๋ยไนโตรเจนประมาณ 6 กิโลกรัม/ไร่ ซึ่งการทดลองนี้ได้เปรียบเทียบผลผลิตข้าวกับตำรับที่มีการใช้ปุ๋ยสูตร 16-20-0 พบว่า นาข้าวที่ใส่แหนแดงจะให้ผลผลิตข้าวประมาณ 612 กิโลกรัม/ไร่ ส่วนนาข้าวที่ใส่ปุ๋ยสูตร 16-20-0 อัตรา 40 กิโลกรัม/ไร่ จะให้ผลผลิตข้าวประมาณ 513 กิโลกรัม/ไร่

ข้อเสียของแหนแดง
1. แหนแดงเมื่อเติบโต และแพร่กระจายมากจะมีลำต้นปกคลุมผิวน้ำทั้งผืน ทำให้แสงแดดส่องไม่ถึงท้องน้ำหรือแสงแดดส่องไม่ถึงน้ำ ส่งผลต่อการสังเคราะห์แสง และการเติบโตของพืชใต้ท้องน้ำ รวมถึงทำให้ออกซิเจนละลายน้ำลดลง ผลที่เกิดขึ้นเหล่านี้ มีสาเหตุสำคัญทำให้สัตว์น้ำจำพวกปลาตายได้ง่าย
2. แหนแดงสามารถเติบโต และแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในแหล่งน้ำที่มีไนโตรเจนสูง ทำให้ปกคลุมพื้นผิวน้ำจนทั่ว ส่งผลให้พรรณไม้น้ำชนิดอื่นไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ และตายได้ง่าย อีกทั้งเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของแหนแดงออกสู่แหล่งน้ำสาธารณะอื่น

เอกสารอ้างอิง
1) ณัฐสิมา โทขันธ์. 2553. การจัดการของเสียและน้ำเสียในฟาร์มสุกรโดยใช้แหนแดง.
2) อร่าม คุ้มกลาง, ธรรมนูญ ฤทธิมณี และสาวิตร มีจุ้ย. 2523. ผลการใช้แหนแดงแทนปุ๋ยไนโตรเจนต่อผลผลิตของข้าว.