แสมดำ ประโยชน์ และสรรพคุณแสมดำ

Last Updated on 4 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

แสมดำ (สะแม๋-ดำ) จัดเป็นไม้เบิกนำป่าชายเลนที่พบได้ตามแนวป่าชายเลนชั้นนอก ซึ่งถือเป็นแนวป่าที่ช่วยดักตะกอนดินสำคัญในระบบนิเวศป่าชายเลน อีกทั้งเป็นแหล่งอาศัย และอนุบาลสัตว์น้ำ และถิ่นอาศัยของสัตว์ป่า นอกจากนั้น ยังนำส่วนต่างของแสมดำมาใช้ประโยชน์ อาทิ ยาสมุนไพร การฟอกหนัง และนำเมล็ดมารับประทาน

• วงศ์ : Avicenniaceae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Avicennia officinalis Linn.
• ชื่อท้องถิ่น : แสมดำ อ่านว่า สะแม๋-ดำ

การแพร่กระจาย
แสมดำ เป็นพืชที่พบกระจายทั่วโลก โดยเฉพาะในแถบประเทศอบอุ่นที่มีพื้นที่ติดชายทะเล โดยพบทั่วไปตามริมแม่น้ำหรือลำคลองบริเวณชั้นในของป่าชายเลน ซึ่งไล่มาตั้งแต่ประเทศอินเดีย ศรีลังกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จนถึงชายทะเลของออสเตรเลีย

แสมดำจัดเป็นพันธุ์ไม้ชั้นแรกของป่าชายเลนหรือที่เรียก ไม้เบิกนำป่าชายเลน ซึ่งพบได้ทั้งในแหล่งดินเลนแข็ง และดินเลนอ่อนบริเวณใกล้ชายทะเล เป็นพืชป่าชายเลนที่เติบโตเร็ว ลำต้นสูงใหญ่ มีระบบรากที่ทนต่อสภาพน้ำท่วมขังหรือแห้งแล้งได้ดี

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ราก และลำต้น
แสมดำเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ มีลำต้นสูงประมาณ 8-25 เมตร ลำต้นแตกกิ่งเป็นทรงพุ่มหนา และแตกกิ่งตั้งแต่ด้านล่างของลำต้น โคนลำต้นไม่เป็นพูพอน เปลือกลำต้นเรียบ มีสีเทาอมน้ำตาล เปลือกลำต้นมีช่องอากาศโดยทั่ว

%e0%b8%95%e0%b9%89%e0%b8%99%e0%b9%81%e0%b8%aa%e0%b8%a1%e0%b8%94%e0%b8%b3

รากแสมดำประกอบด้วยรากอาหารที่อยู่ใต้ดิน ทำหน้าที่ดูดสารอาหารในดิน และน้ำมาเลี้ยงลำต้น โดยรากอาหารแตกแขนงเป็นตาข่ายสายกันหนาแน่น หยั่งลึกลงดินประมาณ 20-50 เซนติเมตร และมีระบบรากอากาศที่โผล่ขึ้นเหนือดิน ยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร รากอากาศนี้ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนก๊าซ และหายใจ โดยเฉพาะในช่วงน้ำขึ้นที่ท่วมโดยรอบโคนต้น นอกจากนั้น คลอโรฟิลล์ที่อยู่บริเวณปลายรากจะทำหน้าที่สังเคราะห์อาหารคล้ายหน้าที่ของใบได้ด้วย ทั้งนี้ ระบบรากของแสมดำทั้ง 2 ชนิด สามารถกรองแยกเกลือกับน้ำ ทำให้เกลือเข้าสู่เซลล์ลำต้นได้น้อยลง

ใบ
ใบแสมดำออกเป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามกันบนกิ่ง มีก้านใบยาว 0.7 – 1.1 เซนติเมตร แผ่นใบรูปรีหรือรูปไข่กลับ กว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 6-9 เซนติเมตร ปลายใบกลม และแผ่กว้าง ผิวใบด้านบนสีเขียวเข้ม และเป็นมัน ส่วนใบด้านล่างมีสีจางกว่า และมีขนยาว สีเหลืองอมน้ำตาลปกคลุม ใบอ่อนมีขนปกคลุม

ดอก
ดอกแสมดำออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่งตามง่ามใบ มีก้านช่อดอกยาวประมาณ 2-6 เซนติเมตร แต่ละช่อมีดอก 7-10 ดอก ดอกย่อยแต่ละดอกไม่มีก้านดอก ขนาดดอกประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ประกอบด้วยกลีบเลี้ยง จำนวน 5 กลีบ ฐานกลีบเชื่อมติดกัน ปลายกลีบแยกเป็นแฉก ถัดมาเป็นกลีบดอกมีลักษณะเป็นหลอด ประกอบด้วยกลีบดอก จำนวน 4 กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกัน แต่ละกลีบยาวประมาณ 0.4-0.8 เซนติเมตร แผ่นกลีบดอกมีสีเหลืองหรือเหลืองถึงส้ม ถัดมาด้านในเป็นเกสรเพศผู้ จำนวน 4 อัน มีก้านเกสรโผล่ยาวเหนือกลีบดอก ทั้งนี้ ดอกแสมดำจะเริ่มออกดอกประมาณเดือนมกราคม-พฤษภาคม

%e0%b8%94%e0%b8%ad%e0%b8%81%e0%b9%81%e0%b8%aa%e0%b8%a1

ผล และเมล็ด
ผลของแสมดำมีรูปหัวใจ มีลักษณะเบี้ยว และแบน ปลายผลย่น และเป็นติ่งจะงอยแหลม ขนาดผลกว้างประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร เปลือกผล และเนื้อผลอ่อนนุ่ม มีขนนุ่มสีเหลืองอมน้ำตาลปกคลุม ผลอ่อนมีสีเหลืองอมเขียว ผลสุกมีสีเหลือง และปริแตกบริเวณด้านข้างตามแนวยาว ภายในผลมีเมล็ดขนาดใหญ่ 1 เมล็ด โดยเมล็ดมีลักษณะกลม และแบน ทั้งนี้ แสมดำจะติดผลให้เห็นในช่วงเดือนมิถุนายน-เดือนธันวาคม

%e0%b8%9c%e0%b8%a5%e0%b9%81%e0%b8%aa%e0%b8%a1%e0%b8%94%e0%b8%b3

ประโยชน์แสมดำ
1. เมล็ดแสมนำมาแกะเอาตาอ่อนออก ก่อนนำไปต้มน้ำให้มีรสจืด ก่อนนำมารับประทานหรือใช้ทำขนมหวานร่วมกับธัญพืชอื่น
2. เปลือก และลำต้นมีความฝาดใช้ต้มฟอกหนัง
3. รากแสมดำแตกรากแขนงออกจำนวนมาก ช่วยทำหน้าที่ในการกรองตะกอนไม่ให้ไหลลงสู่ทะเล
4. ลำต้นใช้ทำไม้ค้ำยันในการก่อสร้าง ใช้ทำเสาเข็ม เสาบ้าน เสาโป๊ะ รวมถึงใช้เผาเป็นถ่าน
5. ลำต้น และกิ่งนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงหุงต้มอาหาร
6. ลำต้น กิ่ง ใบ และผลใช้เป็นยาเบื่อปลา (ปลาน้ำจืด) โดยนำส่วนต่างๆของต้นแสมดำมาทิ้งแช่ในบ่อปลา หรือนำน้ำต้มเทใส่บ่อเลี้ยงหรือตู้ปลา
7. เป็นแหล่งพักอาศัยหรืออนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนให้เติบโต และมีชีวิตรอดจนพึ่งตัวเองได้

สรรพคุณแสมดำ
ทุกส่วน (ใช้ต้มดื่ม)
– บรรเทาอาการโรคเกี่ยวกับข้อ และกระดูก
– แก้กษัยเส้น
– ช่วยเจริญอาหาร
– แก้ปัสสาวะพิการ
– แก้หอบหืด
– แก้ไอกรน
– รักษาฝีในท้อง
– ต้านการอักเสบ
– ช่วยขับเสมหะ
– แก้ริดสีดวงทวาร
– แก้อาการท้องมาน
– แก้อาการอาเจียน
– แก้อาการแน่นท้อง จุกเสียดท้อง
– แก้อาการท้องเสีย

ทุกส่วน (ใช้ต้มอาบหรือทาภายนอก)
– รักษาโรคผิวหนัง
– แก้ผดผื่นคัน
– รักษาแผล แผลสด หรือ แผลเป็นหนอง

เปลือก และแก่นลำต้น (นำมาต้มดื่ม มีรสเค็ม และเฝื่อน)
– แก้ลมในกระดูก
– แก้กษัยเส้น
– แก่นแสมดำใช้คู่กับแก่นแสมสานสำหรับทำเป็นยาขับโลหิตเสียของสตรี
– ในประเทศอินเดียใช้เปลือกทำยาบำรุงกำหนัด และบรรเทาอาการปวดฟัน

เปลือก และแก่นลำต้น (ใช้ภายนอก)
– ในประเทศอินเดียนำแก่นมาใช้สำหรับแก้พิษงู
– ในประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซียนำแก่นมาใช้เป็นยาทำหมัน

ผล และเมล็ด
– ในประเทศอินเดียนำเมล็ดอ่อนมาตำพอกรักษาฝี
– แก้กษัยเส้น

ที่มา : (1), (2), (3)

ขอบคุณภาพจาก biogang.net/, www.samunpri.com

เอกสารอ้างอิง
(1) สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน. 2549. พันธุ์ไม้ป่าชายเลนในประเทศไทย.
(2) สมาคมป่าไม้แห่งประเทศไทย 2526. ไม้และของป่าบางชนิดในประเทศไทย.
(3) นิรัตน์ จินตนา. 2527. สมุนไพรจากป่าไม้ชายเลน.