แกลบ/แกลบดำ/ขี้เถ้าแกลบ วิธีทำแกลบดำ และประโยชน์แกลบดำ

Last Updated on 5 เมษายน 2017 by puechkaset

แกลบ (Rice Husk) ถือเป็นวัสดุเหลือทิ้งที่ได้จากกระบวนการสีข้าวเปลือกซึ่งทำให้เกิดเศษของเปลือกข้าวออกมา มีลักษณะสีเหลืองทอง สีเหลืองอ่อน สีน้ำตาลแดงขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ข้าว

แกลบประกอบด้วยสารอินทรีย์ และซิลิกา ปริมาณสารอินทรีย์จะประกอบด้วยธาตุคาร์บอนประมาณร้อยละ 51 ออกซิเจนร้อยละ 42 ส่วนที่เหลือจะเป็นไฮโดรเจน และไนโตรเจน ส่วนซิลิกาจะพบมากบริเวณผิวนอกของแกลบจึงทำให้แกลบมีความแข็งสูงสามารถนำมาใช้เป็นวัสดุขัดผิวได้

แกลบที่ได้จากการสีข้าวเปลือกจะมีประมาณร้อย 22-25 โดยน้ำหนักจากเมล็ดข้าวเปลือก ทำให้การสีข้าวเปลือกแต่ละครั้งจะเกิดแกลบจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันมีการนำแกลบมาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางในหลายด้านด้วยกัน ได้แก่

1. เป็นเชื้อเพลิงหุงต้มในภาคครัวเรือน เช่น เชื้อเพลิงในเตาประหยัดพลังงาน เชื้อเพลิงอัดแท่ง โดยแกลบ 1 กิโลกรัม สามารถให้พลังงานจากการเผาไหม้ได้สูงถึง 3800 กิโลแคลอรี ซึ่งใกล้เคียงกับไม้ และถ่านไม้ที่ 4000-5000 กิโลแคลอรี/กิโลกรัม จึงสามารถนำมาทดแทนเชื้อเพลิงจากไม้ได้เป็นอย่างดี
2. เป็นเชื้อเพลิงในภาคอุตสาหกรรม เช่น โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าชีวมวล เชื้อเพลิงสำหรับเครื่องจักรไอน้ำของโรงสีข้าว เชื้อเพลิงโรงงานเครื่องปั้นดินเผา โรงงานผลิตปูนซีเมนต์ เป็นต้น
3. ใช้เป็นวัสดุขัดผิวทั้งในภาคครัวเรือน และอุตสาหกรรม
4. ใช้ในการเผาถ่านเพื่อลด และควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสมสำหรับการเผาถ่าน ป้องการการลุกไหม้เป็นเปลวไฟ
5. เป็นส่วนผสมของวัสดุก่อสร้าง เช่น อิฐบล็อก อิฐมอญ รวมถึงผสมดินเหนียวสำหรับงานก่อต่างๆ
6. ใช้ในการปรับปรุงดินในหลายด้าน อาทิ การปรับปรุงดินเค็ม การเพิ่มความร่วนซุยของดิน การเพิ่มอินทรีย์วัตถุ และแร่ธาตุอาหารในดิน เป็นต้น
7. การใช้ประโยชน์ในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เช่น ใช้รองพื้นสำหรับฟาร์มไก่หรือสุกร
8. ใช้ทำชนวนเทคลุมก้อนน้ำแข็งป้องกันน้ำแข็งละลาย

แกลบ

ขี้เถ้าแกลบ (Rice Husk Ash)
ขี้เถ้าแกลบถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการเผาไหม้ของแกลบมีลักษณะหลายสีขึ้นอยู่กับกระบวนการเผา แบ่งเป็น 3 ชนิด คือ
1. ขี้เถ้าแกลบเทา
เป็นขี้เถ้าแกลบที่มีลักษณะสีเทา เนื้อขี้เถ้าแกลบแข็ง และคงรูปมากกว่าแกลบชนิดอื่น แต่จะแตกละเอียดหากได้รับแรงกดบีบ เป็นแกลบที่ได้จากการเผาที่อุณหภูมิไม่เกิน 600 องศาเซลเซียส ในสภาวะที่มีออกซิเจนไม่เพียงพอทำให้การเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ขณะเผาไหม้จะไม่เกิดเปลวไฟ

แกลบเทา

2. ขี้เถ้าแกลบดำ
เป็นขี้เถ้าแกลบที่มีลักษณะสีดำ เนื้อขี้เถ้ามีการคงรูปของแกลบบางส่วน เนื้อแกลบแข็งและเปราะง่านกว่าแกลบสีเทา แต่จะแตกละเอียดหากได้รับแรงกดบีบ เป็นแกลบที่ได้จากการเผาอย่างต่อเนื่องที่อุณหภูมิไม่เกิน 1200 องศาเซลเซียส ในสภาวะที่มีออกซิเจนไม่เพียงพอ ทำให้การเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ โดยไม่เกิดเปลวไฟขณะเผาไหม้

แกลบดำ

3. ขี้เถ้าแกลบขาว
เป็นขี้เถ้าแกลบที่มีลักษณะสีขาว เนื้อขี้เถ้าแกลบแตกหักเป็นผงขนาดเล็ก เป็นแกลบที่ได้จากการเผาอย่างต่อเนื่องที่อุณหภูมิสูง ภายใต้สภาวะออกซิเจนที่มีเกินพอทำให้เกิดการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ โดยส่วนมากมักจะเกิดเปลวไฟขณะเผาไหม้หากเผาในที่โล่งที่มีอากาศกระจายสู่พื้นผิวขณะเผาไหม้ที่เพียงพอ นอกจากการเผาที่อุณหภูมิสูงแล้วยังสามารถเผาได้จากแกลบดำที่อุณหภูมิต่ำอย่างต่อเนื่องได้อีกวิธี แกลบชนิดนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์มากในอุตสาหกรรมเนื่องจากองค์ประกอบส่วนมากจะเป็นซิลิกา

แกลบขาว

เมื่อแกลบเผาไหม้จะทำให้เกิดเถ้าร้อยละ 13-30 ที่ประกอบด้วยซิลิกาไดออกไซด์ (SiO2) ประมาณร้อยละ 85-97 ส่วนอื่นจะประกอบด้วยแร่ธาตุต่างๆ เช่น K2O 2.3%, MgO 0.5%, Al2O 0.4%, CaO 0.4%, Fe2O3 0.2% และ Na2O 0.1%

ประโยชน์ของขี้เถ้าแกลบ
1. ขี้เถ้าแกลบดำ
– นำมาเป็นวัสดุปรับปรุงดินเพื่อช่วยเพิ่มความร่วนซุย เพิ่มแร่ธาตุ ดินอุ้มน้ำได้ดี รวมดึงนิยมนำมาเป็นวัสดุปลูกผสมกับดินสำหรับการปลูกพืชในกระถาง
– ใช้เป็นตัวดูดซับในกระบวนการบำบัดน้ำเสีย บำบัดก๊าซพิษสำหรับดูดซับสารมลพิษต่างๆ หรือที่เรียกว่า ถ่านกัมมันต์

2. แกลบเทา
– นิยมนำมาเป็นวัสดุปรับปรุงดิน และผสมดินเป็นวัสดุปลูกสำหรับการปลูกพืชในกระถาง

3. แกลบขาว
– ใช้เป็นวัตถุดิบการการผลิตซิลิกา
– ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตแก้ว ผลิตภัณฑ์จากแก้ว
– ใช้เป็นส่วนผสมของอิฐก่อสร้าง เนื่องจากสามารถทนต่อความร้อนได้ดีมากกว่า 1000 องศาเซลเซียส
– ใช้เป็นส่วนผสมของการผลิตปูนซีเมนต์
– ใช้เป็นวัสดุปรับปรุงดิน หรือผสมดินเป็นวัสดุปลูกพืชหรือเพาะชำ ทั้งนี้ ไม่ควรใส่แกลบขาวเป็นส่วนผสมมาก เพราะแกลบขาวส่วนมากจะเป็นขี้เถ้าหรือเถ้าแร่ธาตุ เมื่อได้รับความชื้นหรือมีน้ำจะทำให้โดยรอบมีความเป็นกรดเพิ่มขึ้น การใส่ขี้เถ้าแกลบขาวในระยะกล้าไม้จำนวนมาก มักทำให้ต้นกล้าเหี่ยวตายทันที

วิธีทำแกลบดำ
– ขุดหลุมเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัสหรือวงกลมเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เมตร สูง 50 ซม. ตามปริมาณการเผา หรืออาจก่ออิฐขึ้นสูงล้อมรอบ
– ตั้งฐานก่อกองไฟตรงกลางจนไฟลุกไหม้เป็นถ่านแดง
– นำถังน้ำมันเจาะก้นที่ไม่ใช้แล้วหรือท่อโลหะวางครอบกองไฟ
– นำแกลบเทกองรอบถังหรือท่อโลหะที่ครอบกองไฟให้ท่วมสูงตามระดับของบ่อ
– หลังจากปฏิบัติตามวิธีข้างต้น แกลบจะเริ่มเผาไหม้อย่างช้าโดยไม่ลุกเป็นเปลวไฟจนแกลบบริเวณด้านนอกมีลักษณะไหม้ดำทั้งหมด
– ทำการเกลี่ย และฉีดพรมด้วยน้ำจนไฟดับสนิท และแกลบเย็นตัว

การเผาแกลบดำ

ทั้งนี้ ขณะเผาควรระวังในเรื่องเปลวไฟที่อาจเกิดขึ้น เพราะหากเกิดเปลวไฟจะทำให้แกลบเผาไหม้สมบูรณ์กลายเป็นขี้เถ้าขาว

สำหรับการเผาแกลบขาวอาจใช้วิธีในลักษณะเตาในลักษณะเดียวกัน แต่อาจต้องต่อท่อเพื่อให้อากาศหรือคอยเกลี่ยให้แกลบมีการลุกไหม้อย่างต่อเนื่อง