เผือก สรรพคุณ และการปลูกเผือก

Last Updated on 9 กุมภาพันธ์ 2017 by puechkaset

เผือก (Taro) จัดเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่นิยมรับประทานกันทั่วโลก ด้วยการนำหัวที่เป็นแหล่งเก็บสะสมแป้งมาใช้ประโยชน์สำหรับเป็นอาหารโดยตรง หรือ ใช้ทำอาหารคาว และขนมของหวานต่างๆ เนื่องจาก เนื้อหัวมีขนาดใหญ่ มีเนื้อแป้งมาก และมีกลิ่นหอม

• วงศ์ : ARACEAE
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : ตามชนิดที่นิยมปลูก 2 ชนิด คือ
1. Colocasia esculenta (L.) Schott
2. Xanthosoma sagittifolium Schott
• ชื่อสามัญ : ตามชนิดที่นิยมปลูก 2 ชนิด คือ
1. Colocasia esculenta (L.) Schott
– Taro
– curcas
– dasheen
– Eddoe
– taina
– talla
– malanaga
– coco- yam
– gabi
– elephant – ear
2. Xanthosoma sagittifolium Schott
– Yautia
– Malanga
– New Cocoyam
– Ocuma
– Tannia
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง และทั่วไป
– เผือก
ภาคเหนือ
– บอนหรือตุน
ภาคอีสาน
– บอน
ภาคใต้
– บอนเขียว
– บอนจีนดำ
– บอนท่า
– บอนน้ำ
• จีน เรียก
– โอ่วไน
– โอ่วถึง
– โทวจือ

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย

เผือกมีถิ่นกำเนิด และพบได้ทั่วไปในประประเทศแถบร้อนชื้นทั้งในแอฟริกา อเมริกาใต้ อเมริกากลาง และในเอเชีย รวมถึงหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก โดยแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
1. Colocasia esculenta (L.) Schott
เผือกชนิดนี้ พบปลูกมากในแถบประเทศเขตร้อนชื้น ทั้งในเอเชีย ออสเตรเลีย แอฟริกา อเมริกาใต้ และอเมริกากลาง

ในประเทศไทยมีแหล่งปลูกเผือกที่สำคัญ ได้แก่
ภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ และพิษณุโลก
ภาคกลาง ได้แก่ นครนายก นครสวรรค์ สระบุรี อยุธยา สุพรรณบุรี และสิงห์บุรี
ภาคอีสาน ได้แก่ นครราชสีมา และสุรินทร์
ภาคตะวันออก ได้แก่ นครปฐม และราชบุรี
ภาคใต้ ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษ์ธานี

2. Xanthosoma sagittifolium Schott เผือกชนิดนี้ พบปลูกมากในเขตประเทศทะเลคาริบเบียน

%e0%b9%80%e0%b8%9c%e0%b8%b7%e0%b8%ad%e0%b8%81

เผือก 2 ประเภท

1. ประเภทแดชีน (dasheen type)
เผือกในกลุ่มนี้จะมีหัวขนาดใหญ่ ซึ่งอาจพบหัวเผือกที่ใหญ่ได้ถึง 15 เซนติเมตร และยาวได้ถึง 30 เซนติเมตร และเผือกชนิดนี้จะมีลูกเผือกเกิดติดกับหัวหลักน้อยหรือไม่พบเลย และเป็นประเภทที่นิยมปลูกมากทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย ได้แก่ เผือกหอม C. esculenta var. esculenta ทั้งนี้ เผือกประเภทนี้มีชื่อเรียกแตกต่างกันในแต่ละประเทศ เช่น
– Purple
– Lehua
– Piko
– Uliuli
– Mumu

2. ประเภทเอดโดน (eddone type)
เผือกในกลุ่มนี้จะมีหัวขนาดเล็ก และมีลูกเผือกเกิดติดกับหัวหลักจำนวนมาก ได้แก่
– C. esculenta var. antiquorum
– C. esculenta var. globulifera

เผือกในประเทศไทย แบ่งตามขนาดหัว
1. เผือกหอม/สีน้ำตาล
เผือกหอม เป็นเผือกที่จัดอยู่ในประเภท dasheen type มีลักษณะเด่น คือ เผือกมีหัวขนาดใหญ่ อาจพบหนักได้มากถึง 2-3 กิโลกรัม/หัว ไม่พบลูกเผือกติดอยู่รอบหัวหรือพบน้อยมาก ลำต้นเผือกมีขนาดใหญ่ ใบมีขนาดใหญ่ แผ่นใบมีสีเขียว เผือกชนิดนี้ เป็นชนิดที่นิยมปลูกเพื่อรับประทาน และปลูกเพื่อการค้าเป็นหลัก เมื่อต้มหรือทำให้สุกแล้วจะมีกลิ่นหอม

2. เผือกเหลือง
เผือกเหลือง เป็นเผือกที่อยู่ในประเภท eddone type มีลักษณะเด่น คือ หัวเผือกมีขนาดเล็ก เปลือกหัวมีสีเหลือง ซึ่งไม่นิยมปลูก และไม่นิยมรับประทาน

4. เผือกตาแดง
เผือกตาแดง เป็นเผือกที่มีหัวขนาดเล็ก-ปานกลาง ที่จัดอยู่ในประเภท eddone type มีลักษณะเด่น คือ ตาบริเวณปลายหัวจะมีสีแดงเข้ม และมีลูกเผือกจำนวนมาก ใบมีขนาดเล็ก และมีสีแดง เผือกชนิดนี้ ไม่นิยมรับประทานกันมากนัก

3. เผือกไม้ หรือ เผือกไหหลำ
เผือกไม้หรือเผือกไหหลำ จัดอยู่ในเผือกประเภท eddoe type ซึ่งมีหัวขนาดเล็ก หัวเผือกเป็นรูปทรงกระบอก เรียวยาว เผือกชนิดนี้ พบปลูกน้อย และไม่ค่อยรับประทานกันมากนัก

เผือกในประเทศไทย แบ่งตามสีเนื้อ
1. เนื้อสีขาวหรือสีครีม
เผือกชนิดนี้ เมื่อผ่าหัวแล้วจะพบเนื้อสีขาวหรือสีขาวครีม ได้แก่
– พันธุ์ พจ.06
– พันธุ์ พจ.07
– พันธุ์ พจ.025
– พันธุ์ พจ.014 (เผือกบราซิล )
– พันธุ์ศรีปาลาวี (เผือกอินเดีย )
– พันธุ์รัศมี (เผือกอินเดีย)
– ฯลฯ

2. เนื้อสีขาวปนม่วง
เผือกชนิดนี้ เมื่อผ่าหัวแล้วจะพบเนื้อสีขาว และลายปะสีม่วง ซึ่งอาจมีลายปะสีม่วงมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับชนิดพันธุ์ ได้แก่
– เผือกหอมพันธุ์เชียงใหม่
– พันธุ์ พจ.016
– พันธุ์ พจ.08
– พันธุ์ พจ.05
– พันธุ์ พจ.020
– ฯลฯ

เผือกในประเทศไทย แบ่งตามกลิ่น
1. เผือกหอม
เผือกหอม เป็นเผือกที่มีกลิ่นหอมหลังการต้มหรือนึ่งแล้ว แต่เผือกชนิดนี้จะมีเนื้อค่อนข้างพรุน เนื้อไม่เหนียว ได้แก่
– เผือกหอมพันธุ์เชียงใหม่
– พันธุ์ พจ.016
– พันธุ์ พจ.08
– พันธุ์ พจ.019
– ฯลฯ

2. เผือกไม่หอม
เผือกไม่หอม เป็นเผือกที่ไม่มีกลิ่นหอม ทั้งหลังการต้ม นึ่งหรือหลังการทำสุกด้วยวิธีต่างๆ แต่เผือกชนิดนี้จะมีเนื้อเหนียว เหมาะสำหรับทำขนมที่ต้องการให้จับเป็นก้อนดี ได้แก่
– พันธุ์ พจ.06
– พันธุ์ พจ.025
– พันธุ์ พจ0.12
– ฯลฯ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น
เผือกมีลำต้นอยู่ใต้ดิน เรียกว่า หัว ที่มีลักษณะหลายแบบแตกต่างกันตามสายพันธุ์ อาทิ หัวทรงกลมยาว หัวทรงกระบอก และเรียวยาว โดยส่วนขั้วของหัวเป็นตายอดวงกลมสำหรับแทงใบออก ส่วนเปลือกหัวมีหลายสีอาทิ สีน้ำตาล สีดำ และมักเกิดสะเก็ดเป็นชั้นตามแนวขวางของหัว ส่วนเนื้อด้านในมีลักษณะเป็นแป้งดิบสีขาวนวล หรือสีขาวนวล และมีลายประสีม่วง นอกจากนั้น เผือกที่เติบโตเต็มที่มักจะมีหัวเผือกย่อยเกิดขึ้นบริเวณปลายราก เรียกว่า ลูกเผือก แต่อาจไม่พบในบางสายพันธุ์

ใบ
ใบเผือก ออกเป็นใบเดี่ยว เรียงวนเป็นชั้นๆ ใบประกอบด้วยก้านใบ และแผ่นใบ โดยก้านใบมีรูปทรงกลม ขนาดก้านใบประมาณ 1-2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 50-120 เซนติเมตร ผิวด้านอกของก้านเป็นเส้นใยหุ้ม สามารถลอกออกเป็นเส้นได้ และอาจมีหลายสีตามชนิดพันธุ์ อาทิ สีเขียว และสีแดงอมม่วง โดยเผือก 1 ต้น จะแทงก้านใบได้ประมาณ 12-18 ก้านใบ ส่วนเนื้อก้านด้านในมีลักษณะเป็นเยื่อที่มีโพรงอากาศจำนวนมาก และส่วนปลายของก้านใบจะเชื่อมต่อกับแผ่นใบบริเวณตรงกลางของแผ่นใบ

ถัดมาเป็นแผ่นใบที่มีรูปหัวใจขนาดใหญ่ ขนาดกว้าง 20-50 เซนติเมตร ยาว 30-80 เซนติเมตร ใบอาจมีทั้งสีเขียว และสีแดงอมม่วง ขึ้นอยู่กับชนิดพันธุ์ แผ่นใบมีโคนใบกว้าง และเว้าตรงกลาง ปลายใบแหลม แผ่นใบเรียบ มีเส้นใบเป็นสีเขียวอมขาวมองเห็นชัดเจน ขอบใบพลิ้วเป็นลูกคลื่น และโค้งพับเข้าตรงกลางเล็กน้อย

ดอก
เผือกออกดอกเป็นช่อ ประกอบด้วยก้านช่อดอก ใบรองดอก และช่อดอก ก้านช่อดอกมีลักษณะทรงกลม ผิวก้านช่อมีสีเหลือง ยาวประมาณ 15-30 เซนติเมตร ปลายสุดของก้านช่อดอกเป็นใบรองดอกที่หุ้มช่อดอกไว้เป็นรูปทรงกระบอกในขณะที่เป็นดอกตูม แผ่นใบรองดอกมีสีเหลือง ยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร เมื่อดอกบาน ใบรองดอกจะกางออก จนมองเห็นช่อดอกที่มีลักษณะทรงกระบอก ยาวประมาณ 8-12 เซนติเมตร และมีดอกย่อยจำนวนมากล้อมรอบ ดอกย่อยแต่ละดอกมีขนาดเล็ก และลักษณะเป็นทรงกลมสีเหลืองเรียงกันแน่น ทั้งนี้ ตัวก้านช่อดอก ใบรองดอก และดอกย่อย อาจมีสีเหลืองอ่อนหรือสีขาวครีม ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์

ผล
ผลของเผือกมีทรงกระบอก เปลือกผลมีสีเขียว และบาง เนื้อผลฉ่ำน้ำ เมื่อผลแก่มีสีน้ำตาลอมดำส่วนภายในจะมีเมล็ดเล็กๆ จำนวนมาก

ประโยชน์ของเผือก

1. หัวเผือกนำมาปรุงสุกสำหรับรับประทานเป็นอาหารโดยตรง อาทิ เผือกต้ม เผือกปิ้ง หรือเผือกทอด เป็นต้น และหลายประเทศในแอฟริกา นิยมนำหัวเผือกมาต้มจนสุก แล้วบดให้ละเอียดก่อนรับประทานเป็นอาหาร เรียกว่า fufu
2. หัวเผือกใช้ประกอบอาหารคาว อาทิ แกงมัสมั่น แกงจืด เป็นต้น
3. หัวเผือกนำมาหั่นเป็นชิ้น แล้วตากแห้ง ก่อนนำมาบดเป็นแป้งเผือกสำหรับทำขนมหวาน
4. หัวเผือกนำมาต้มสุก ก่อนบดให้ละเอียดหรือหั่นเป็นชิ้นสำหรับใช้เป็นไส้หรือผสมทำขนมหวาน อาทิ ลอดช่องใส่เผือก ไอศกรีมเผือก สาราเปาไส้เผือก ขนมหม้อแกง เป็นต้น
5. ปอย (poi) เป็นผลิตภัณฑ์จากเผือกที่นิยมรับประทานมากในฮาวาย ด้วยการนำเผือกมาต้มให้สุก แล้วปอกเปลือกออก ก่อนนำมาบดเนื้อเผือกผสมกับน้ำให้ละเอียด หลังจากนั้น นำมากรองผ่านตะแกรง จนได้เฉพาะเนื้อเผือกเหลว แล้วนำบรรจุลงใส่ถุงพลาสติกหรือกล่องพลาสติก ก่อนนำมาพักไว้ในห้อง 3-5 วัน ซึ่งจะได้เนื้อเผือกเหลวที่มีความเปรี้ยวอมหวาน เพราะช่วงที่อยู่ในถุงพลาสติกจะเกิดการหมักของจุลินทรีย์แลกโตบาซิลลัสจนเกิดกรดเปรี้ยวขึ้น
6. ใบอ่อนหรือยอดอ่อนนำมารับประทานสดหรือลวกเป็นผักจิ้มน้ำพริก หรือรับประทานเป็นเครื่องเคียงกับอาหารอื่นๆ
7. ก้านใบเผือกนำมาลอกเอาเฉพาะเนื้อก้านสำหรับรับประทานคู่อาหารอื่นๆ อาทิ น้ำพริก ส้มตำ เป็นต้น
8. ก้านใบของเผือกนำมาลอกเปลือกหุ้มออกให้เหลือแต่เนื้อด้านใน ก่อนใช้ทำอาหาร อาทิ แกงอ่อม แกงเลียง ผัดใส่หมูหรือเนื้อ เป็นต้น
9. ทุกส่วนของเผือกนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์
10. ใบเผือกมีขนาดใหญ่ มีลักษณะงุ้มเข้าเป็นแอ่ง จึงใช้สำหรับตักน้ำหรือรองน้ำได้ รวมถึงนำใบมาใช้ห่อของ ห่อข้าว หรือใช้ห่อทำอาหารจำพวกห่อหมกต่างๆ นอกจากนั้น ยังใช้รองสำรับอาหาร หรือ รองนั่ง เป็นต้น
11. ต้นเผือกใช้ปลูกเป็นพืชบำบัดน้ำเสีย อาทิ ปลูกในระบบบำบัดน้ำเสียแบบบึงประดิษฐ์ ปลูกในระบบบำบัดน้ำเสียบ่อสุดท้ายของระบบอื่นๆ

คุณค่าทางโภชนาการ (หัวเผือกดิบ 100 กรัม)

Proximates
น้ำ กรัม 70.64
พลังงาน กิโลแคลอรี่ 112
โปรตีน กรัม 1.50
ไขมัน กรัม 0.20
คาร์โบไฮเดรต กรัม 26.46
เส้นใย กรัม 4.1
น้ำตาลทั้งหมด กรัม 0.40
Minerals
แคลเซียม มิลลิกรัม 43
เหล็ก มิลลิกรัม 0.55
แมกนีเซียม มิลลิกรัม 33
ฟอสฟอรัส มิลลิกรัม 84
โพแทสเซียม มิลลิกรัม 591
โซเดียม มิลลิกรัม 11
สังกะสี มิลลิกรัม 0.23
Vitamins
วิตามิน C มิลลิกรัม 4.5
ไทอะมีน มิลลิกรัม 0.095
ไรโบฟลาวิน มิลลิกรัม 0.025
ไนอะซีน มิลลิกรัม 0.600
วิตามิน B-6 มิลลิกรัม 0.283
โฟเลต ไมโครกรัม 22
วิตามิน B-12 ไมโครกรัม 0.00
วิตามิน A, IU IU 76
วิตามิน E มิลลิกรัม 2.38
วิตามิน D (D2 + D3) ไมโครกรัม 0.0
วิตามิน K ไมโครกรัม 1.0
Lipids
กรดไขมันอิ่มตัวทั้งหมด กรัม 0.041
กรดไขมันอิ่มตัว ชนิดสายเดี่ยวทั้งหมด กรัม 0.016
กรดไขมันอิ่มตัว ชนิดหลายสายทั้งหมด กรัม 0.083
คอลเลสเตอรอล มิลลิกรัม 0
Caffeine มิลลิกรัม 0

ที่มา : USDA Nutrient Database

คุณค่าทางโภชนาการ (ใบเผือกดิบ 100 กรัม)

Proximates
น้ำ กรัม 85.66
พลังงาน กิโลแคลอรี่ 42
โปรตีน กรัม 4.98
ไขมัน กรัม 0.74
คาร์โบไฮเดรต กรัม 6.70
เส้นใย กรัม 3.7
น้ำตาลทั้งหมด กรัม 3.01
Minerals
แคลเซียม มิลลิกรัม 107
เหล็ก มิลลิกรัม 2.25
แมกนีเซียม มิลลิกรัม 45
ฟอสฟอรัส มิลลิกรัม 60
โพแทสเซียม มิลลิกรัม 648
โซเดียม มิลลิกรัม 3
สังกะสี มิลลิกรัม 0.41
Vitamins
วิตามิน C มิลลิกรัม 52.0
ไทอะมีน มิลลิกรัม 0.209
ไรโบฟลาวิน มิลลิกรัม 0.456
ไนอะซีน มิลลิกรัม 1.513
วิตามิน B-6 มิลลิกรัม 0.146
โฟเลต ไมโครกรัม 126
วิตามิน B-12 ไมโครกรัม 0.00
วิตามิน A, IU IU 4825
วิตามิน E มิลลิกรัม 2.02
วิตามิน D (D2 + D3) ไมโครกรัม 0.0
วิตามิน K ไมโครกรัม 108.6
Lipids
กรดไขมันอิ่มตัวทั้งหมด กรัม 0.151
กรดไขมันอิ่มตัว ชนิดสายเดี่ยวทั้งหมด กรัม 0.060
กรดไขมันอิ่มตัว ชนิดหลายสายทั้งหมด กรัม 0.307
คอลเลสเตอรอล มิลลิกรัม 0
Caffeine มิลลิกรัม 0

ที่มา : USDA Nutrient Database

สรรพคุณเผือก

หัวเผือก
– ช่วยบำรุงร่างกาย
– ใช้เป็นยาลดไข้
– ช่วยเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง
– ช่วยในการขับถ่าย
– แก้อาการท้องเสีย
– ช่วยบำรุงไต
ใบ และก้านเผือก (นำมาบดใช้ภายนอก)
– ใบนำมาขยำ ก่อนใช้ทาบาดแผล แก้พิษจากแมลงกัดต่อย ลดอาการปวด ลดอาการบวม
– ใบนำมาต้มน้ำอาบ ใช้รักษาโรคผิวหนัง
ใบ และก้านเผือก (สำหรับรับประทาน)
– แก้อาการอักเสบ
– แก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย

ข้อควรระวัง

1. หัวเผือกบางชนิดทั้งที่ทำสุกแล้วมักทำให้มีอาการคันคอหลังจากรับประทาน
2. หัวเผือก และทุกส่วนของลำต้นประกอบด้วยสารละลายของผลึกแคลเซียมออกซาเลตที่ออกฤทธิ์ทำให้คันหรือระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร ดังนั้น จึงต้องทำให้สุกก่อนรับประทาน แต่เผือกบางชนิดอาจมีสารนี้มาก ทั้งที่ทำสุกแล้วก็อาจมีอาการคันตามคอหลังรับประทานได้เช่นกัน
3. ผู้ที่รับประทานเผือกบางรายอาจแพ้ต่อสารแคลเซียมออกซาเลตมาก แม้จะทำสุกแล้วแต่ก็ยังคงเหลือสารชนิดนี้อยู่บ้าง และถึงแม้เหลือเพียงน้อยนิดก็อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ในบางราย
4. อาการแพ้หรือได้รับสารแคลเซียมออกซาเลต ได้แก่ มีอาการคันตามกระพุ้งแก้ม ลิ้น ลำคอ และแสบร้อนในกระเพาะอาหาร

การปลูกเผือก

ฤดูกาลปลูก
สำหรับพื้นที่ไม่มีระบบชลประทานเข้าถึง เกษตรกรจะปลูกเผือกในช่วงต้นฤดูฝน ประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ด้วยการอาศัยน้ำฝนจากธรรมชาติ แต่หากพื้นที่ที่มีระบบชลประทานเข้าถึง เกษตรกรจะปลูกเผือกได้ตลอดทั้งปี โดยการปลูกในฤดูแล้ง เกษตรกรมักปลูกเผือกในช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ หลังการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว และเก็บหัวเผือกในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม

วิธีขยายพันธุ์เผือก
1. การเพาะเมล็ด
วิธีนี้มักไม่เป็นที่นิยม เพราะเผือกจะไม่ค่อยติดผล

2. การขยายพันธุ์โดยใช้หน่อ
วิธีนี้ ไม่เป็นที่นิยมเช่นกัน เพราะให้ผลผลิตช้า เนื่องจากส่วนที่ใช้จะเป็นหน่อขนาดเล็กที่แตกออกจากต้นแม่ เมื่อนำมาปลูกแล้วจะต้องใช้เวลานานกว่าจะเติบโตได้หัวขนาดใหญ่

3. การใช้หัวพันธุ์
วิธีนี้ เป็นวิธีที่นิยมที่สุด ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ด้วยการใช้ลูกเผือก หรือเรียกว่า ลูกซอ ที่เป็นหัวขนาดเล็กแตกออกรอบๆหัวเผือกหลัก ทั้งนี้ เกษตรกรจะเลือกลูกเผือกที่มีขนาดปานกลาง ไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป

4. การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
วิธีนี้ ไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากผู้ปลูกส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่ไม่มีห้องเพาะเนื้อเยื่อ อีกทั้ง มีการเพาะกล้าจากเนื้อเยื่อจำหน่ายเป็นต้นพันธุ์ในตลาดน้อยมากหรือในบางประเทศไม่มีเลย นอกจากนั้น ยังมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าวิธีอื่นอีกด้วย

%e0%b8%9b%e0%b8%a5%e0%b8%b9%e0%b8%81%e0%b9%80%e0%b8%9c%e0%b8%b7%e0%b8%ad%e0%b8%81

การเตรียมแปลง
สำหรับแปลงปลูกขนาดใหญ่หรือปลูกในนาข้าว ให้ไถพรวนดินในช่วงพักการปลูกพืช พร้อมตากดิน และกำจัดวัชพืชออก หลังจากนั้น ให้ไถกลบอีกรอบ และตากดินนาน 7-14 วัน ก่อนจะไถยกร่องแปลง สูง และกว้างประมาณ 30 เซนติเมตร สำหรับเผือกไร่ให้แต่ละแถวห่างกันประมาณ 50-70 เซนติเมตร ส่วนเผือกน้ำให้แถวห่างกันประมาณ 80-100 เซนติเมตร คล้ายกับร่องมันสำปะหลัง

สำหรับการปลูกแซมบนร่องสวนน้ำขัง ให้ไถพรวนร่องสวน 1 รอบก่อน จากนั้น ไถยกร่องขนาดเท่ากับข้างต้น ซึ่งอาจทำได้ 1-3 แถว ตามขนาดพื้นที่ว่างบนร่องสวน

ทั้งนี้ หากพื้นที่มีสภาพเป็นดินเปรี้ยวหรือมีกรด ให้หว่านโรยด้วยปูนขาว อัตรา 200-400 กิโลกรัม/ไร่ ก่อนการไถกลบครั้งที่ 2

การเพาะกล้าเผือก
เกษตรกรอาจใช้วิธีปลูกหัวเผือกลงแปลงได้โดยตรง แต่อาจสูญเสียเผือกบางหัวได้ หากมีสภาพดินหรือพื้นที่ไม่เหมาะสม ดังนั้น เกษตรบางพื้นที่จึงใช้วิธีเพาะกล้าเผือกก่อนนำลงปลูก เพื่อให้ต้นเผือกติด และเติบโตทุกหัว (พันธุ์เผือกมีราคาแพง)

การเพาะกล้าเผือก เกษตรมักทำเป็นแปลงเพาะที่เรียงด้วยอิฐสีเหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ 1 เมตร ยาวตามความเหมาะสม จากนั้น โรยพื้นด้วยแกลบดำผสมกับปุ๋ยคอกให้หนาประมาณ 3-4 เซนติเมตร ก่อน จากนั้น นำลูกเผือกมาวางเรียงให้ห่างกันเป็นแถวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ก่อนโรยกลบด้วยแกลบดำและปุ๋ยคอกอีกครั้ง ประมาณ 1 เซนติเมตร หลังจากนั้น รดน้ำ และดูแลจนกล้าเผือกมีอายุ 2-3 สัปดาห์ หรือแตกใบแล้ว 2-3 ใบ ก่อนย้ายปลูกลงแปลง ทั้งนี้ 1 ไร่จะใช้พันธุ์เผือกประมาณ 100-200 กิโลกรัม

วิธีปลูกเผือก
การปลูกเผือกนิยมปลูกในช่วงต้นฝน โดยเฉพาะเผือกไร่ ส่วนเผือกนาที่มีระบบน้ำชลประทาน สามารถปลูกได้ตลอดฤดูกาล

หลังจากที่กล้าเผือกแตกใบแล้ว 2-3 ใบ ก็สามารถนำกล้าเผือกลงปลูกในแปลงได้ การปลูกอาจปลูกแบบแถวเดี่ยวหรือแถวคู่ จากนั้นขุดหลุมด้วยจอบหรือใช้มือ ลึกประมาณ 10-15 เซนติเมตร พร้อมนำดินกลบหัวเผือก ระยะห่างระหว่างต้น ประมาณ 50 เซนติเมตร ระห่างระหว่างแถว 80-100 เซนติเมตร หรือตามขนาดที่ไถยกร่องไว้

การให้น้ำ
– เผือกไร่นิยมปลูกในฤดูฝน หลังการปลูกจะปล่อยให้เติบโตด้วยน้ำฝนจากธรรมชาติ แต่พอถึงฤดูแล้ง ควรมีระบบน้ำเข้าถึง ทั้งสูบน้ำปล่อยลงแปลงหรือมีระบบสปริงเกอร์
– เผือกนา หากปลูกในช่วงฤดูฝนจะอาศัยน้ำฝนเช่นกัน ซึ่งจะปล่อยให้น้ำท่วมแปลงตลอดฤดูฝน หากปลูกในฤดูอื่นจะมีการผันน้ำเข้าขังในแปลงเป็นระยะ

การใส่ปุ๋ย
– การใส่ปุ๋ยครั้งที่ 1 ใส่หลังปลูกเผือก 2 สัปดาห์ ใช้สูตร 18-6-4 หรือ 25-7-7 อัตรา 100-150 กิโลกรัม/ไร่ หรือเน้นเลขตัวแรกให้มาก เพื่อเร่งสร้างใบ และการเติบโตของลำต้น โดยหยอดใส่บริเวณโคนต้น
– การใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 ใส่หลังปลูกเผือก 2 เดือน ใช้สูตร 18-6-4 ผสมกับสูตร 3-13-21 อัตรา 1:1 ใส่ประมาณ 50-100 กิโลกรัม/ไร่ หยอดใส่บริเวณโคนต้น
– การใส่ปุ๋ยครั้งที่ 3 ใส่หลังปลูกเผือก 3-4 ใช้สูตร 13-13-21 หรือเน้นเลขสุดท้ายให้มากเพื่อเร่งสร้าง และบำรุงหัว

การกำจัดวัชพืช
การกำจัดวัชพืชถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง เพราะหากมีหญ้าหรือวัชพืชเกิดมาก เผือกจะมีหัวเล็ก การกำจัดวัชพืชครั้งแรกจะเริ่มหลังปลูกเผือกแล้ว 1 เดือน ด้วยจอบถากหรือใช้มือถอน หลังจากนั้น กำจัดวัชพืชทุกๆ 1.5-2 เดือน/ครั้ง จนอายุได้ประมาณ 4-5 เดือน ที่ต้นเผือกคลุมดินได้ จึงปล่อยตามธรรมชาติ รวมการกำจัดวัชพืชแล้ว ประมาณ 2-3 ครั้ง ทั้งนี้ ไม่แนะนำให้ฉีดพ่นยาฆ่าหญ้า

การเก็บหัวเผือก และการเก็บรักษา
อายุที่เหมาะสมสำหรับการเก็บหัวเผือกจะแตกต่างกันตามชนิดพันธุ์ ซึ่งทั่วไปจะมีอายุการเก็บหลังการปลูกที่ 6-10 เดือน

เผือกหอมที่นิยมปลูกกันทั่วโลกจะมีอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 6 เดือน หลังการปลูก โดยระยะการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมอาจสังเกตได้จาก เมื่อใบเริ่มเหลือง และเหี่ยว ทั้งนี้ การเก็บหัวเผือก เกษตรกรจะใช้วิธีถอนทั้งต้นด้วยมือ และอาจใช้เสียบหรือจอบช่วยในการถอน และมักขุดในระยะที่ไม่มีฝน

หลังจากที่ถอนต้นขึ้นมาแล้ว เกษตรกรจะใช้มีดตัดราก และโคนใบออก ให้เหลือเพียงหัวเผือก ก่อนรวบรวม และนำไปล้างน้ำให้สะอาด

สำหรับเผือกที่ขุดมาแล้ว หากต้องการเก็บไว้รับประทานหรือเก็บไว้ปลูก (ลูกเผือก) สามารถเก็บในที่ร่มได้นาน 4-6 เดือน แต่หากเก็บในห้องเย็น ที่อุณหภูมิ 10 องศาเซลเซียส จะเก็บได้นาน 6-8 เดือน

ขอบคุณภาพจาก http://www.parichfertilizer.com/, www.technologychaoban.com/