เท้ายายม่อม (Thahiti arrowroot) สรรพคุณ และการปลูกเท้ายายม่อม

Last Updated on 21 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

เท้ายายม่อม (Thahiti arrowroot) เป็นพืชให้หัวที่สะสมแป้งไว้ นิยมนำหัวมาสกัดเป็นแป้ง เรียกว่า แป้งเท้ายายม่อม แป้งที่ได้มีเนื้อละเอียด เมื่อถูกความร้อนจะมีความใส แวววาว และหนืดเหนียวพอเหมาะ แป้งที่ได้นิยมทำขนมหวาน อาจใช้เป็นแป้งเดี่ยวหรือผสมกับแป้งอื่น ปัจจุบัน เป็นแป้งที่หายากมาก และมีราคาแพง

• วงศ์ : Taccaceae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tacca leontopetaloides (L.) Kuntze
• ชื่อสามัญ :
– Thahiti arrowroot
– Fiji arrowroot
– East Indian arrowroot
– Polynesian arrowroot
– South Sea arrowroot
– Tacca
• ชื่อท้องถิ่นไทย :
– เท้ายายม่อม
– บุกรอ
– ต้นหนวดแมว
– สิงโตดำ
– นางนวล
– ไม้เท้าฤาษี
– ว่านพญาหอกหลอก

ที่มา : [4] อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
เท้ายายม่อม มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ฮาวาย แอฟริกา และออสเตรเลีย [4] อ้างถึงใน (Everett, 1968 และGraf, 1982) ส่วนประเทศไทยพบได้มากบริเวณป่าชายฝั่งของภาคตะวันออก และภาคใต้ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีก้านใบสีเขียว ลำต้นเทียมสูงใหญ่ และอีกชนิดพบได้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีก้านใบสีเขียวปะลายม่วงอมนํ้าตาล ลำต้นเทียมอวบใหญ่ แต่เตี้ยกว่าพันธุ์ก้านเขียว ทั้งนี้ เท้ายายม่อมมีจะชอบขึ้นใต้ร่มเงาต้นไม้ใหญ่ บริเวณป่าโปร่ง ขึ้นได้ดีในดินทราย หรือ ดินร่วนปนทราย [3]

ต้นเท้ายายม่อม-เขียว
ต้นเท้ายายม่อม-ม่วง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ลำต้นเท้ายายม่อมแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
1. ลำต้นใต้ดิน
ลำต้นใต้ดิน เป็นลำต้นจริง เรียกว่า หัว มีลักษณะทรงกลม และแบน เปลือกหัวมีสีขาวในระยะแรก เมื่อแก่เปลือกมีสีน้ำตาลอมขาว มีรากฝอยแตกออกกระจายทั่วหัว และแตกออกมากบริเวณโคนต้น ส่วนเนื้อด้านในมีสีขาวขุ่น มีรสขมอมหวานเล็กน้อย ทั้งนี้ หัวแม่ที่เจริญเต็มที่จะแตกหัวใหม่ขนาดเล็กออกด้านข้าง 2-3 หัว

2. ลำต้นเหนือดิน
ลำต้นเหนือดิน เป็นลำต้นเทียมที่เจริญโผล่ออกมาจากหัวหรือลำต้นจริง มีลักษณะทรงกลม มีเปลือกสีเขียว ประด้วยลายจุดสีน้ำตาลอมดำกระจายทั่ว ด้านในเป็นเยื่ออ่อน มีความสูงประมาณ 0.5-1.5 เมตร มีการแตกใบออกด้านข้าง

ใบ
ใบเท้ายายม่อม ออกเป็นใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็นวงกลม ประกอบด้วยก้านใบที่แทงออกจากหัว ก้านใบมีลักษณะทรงกลม และตั้งตรง สีเขียวอ่อน สูงประมาณ 20-170 เซนติเมตร แผ่นใบมีขนาดใหญ่ กว้างประมาณ 50-70 เซนติเมตร ยาวประมาณ 80-120 เซนติเมตร ขอบใบเว้าลึกเป็นแฉกหลายแฉกคล้ายรูปฝ่ามือ ปลายแฉกเรียวแหลม [2]

ดอก
เท้ายายม่อมออกดอกเป็นช่อ มีก้านดอกหลักที่เป็นลำต้นเทียม ยาวประมาณ 100-170 เซนติเมตร ช่อดอกอยู่ปลายสุด มีดอกย่อยประมาณ 15-30 ดอก ระหว่างดอกย่อยมีใบประดับเป็นเส้นทรงกลมยาวสีดำหรือสีม่วงอมน้ำตาล ประมาณ 20-40 อัน/ช่อดอก แต่ละเส้นยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ดอกย่อยมีลักษณะเป็นรูปกรวย คล้ายดอกรัก ถูกหุ้มด้วยกลีบเลี้ยงสีเขียวประด้วยสีดำ ด้านในเป็นกลีบดอก จำนวน 5 กลีบ มีสีเหลืองหรือสีเขียวอมม่วง ภายในมีเกสรตัวผู้ 6 อัน ปลายแผ่เป็นแผ่น ตรงกลางเป็นก้านเกสรเพศตัวเมีย ปลายเกสรแยกเป็น 3 แฉก ทั้งนี้ เท้ายายม่อมจะออกดอกในช่วงตุลาคม-มกราคม

ผล
เท้ายายม่อมมีลักษณะทรงกลม ผลดิบมีเปลือกหุ้มผลมีสีเขียว มีลักษณะเป็นสันนูนจากขั้วผลลงท้ายผล ประมาณ 5-6 สัน ท้ายผลมีกลีบห้อยเป็นติ่ง ส่วนผลแก่หรือผลสุกมีสีเหลือง ขนาดผลประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร ภายในผลมีเปลือกหุ้มแข็ง ด้านในมีเมล็ดรูปไข่สีน้ำตาลจำนวนมาก

ประโยชน์เท้ายายม่อม
1. แป้งเท้ายายม่อมมีลักษณะเบานุ่ม ตัวแป้งเป็นละออง เมื่อได้รับความร้อนจะมีความหนืดพอเหมาะ ใส และแวววาว นิยมใช้เป็นแป้งทำขนมหวาน และใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารคาวชนิดต่างๆ ทั้งนี้ อาจใช้เพียงแป้งเท้ายายม่อมอย่างเดียวหรือผสมกับแป้งชนิดอื่นเพื่อเพิ่มคุณลักษณะเฉพาะของแต่ชนิดขนม เช่น แป้งมันสำปะหลัง แป้งถั่วเขียว แป้งข้าวเหนียว และแป้งข้าวจ้าว เป็นต้น สำหรับขนมหวานที่นิยมใช้แป้งเท้ายายม่อมเป็นส่วนผสม ได้แก่
– ขนมชั้น
– ขนมเปียกปูน
– ลอดช่องกะทิ
– ข้าวเกรียบปากหม้อ
– ขนมกะละแม
– ขนมหัวผักกาด
– ทับทิมกรอบ
– บัวลอย
– ขนมเค้ก
– ขนมปัง
– ฯลฯ
ส่วนอาหารคาวที่ใช้แป้งเท้ายายม่อมเป็นส่วนผสม ได้แก่
– ราดหน้า
– กระเพาะปลา
– หอยทอด
– ซุปเห็ด
– ฯลฯ
2. แป้งเท้ายายม่อมสามารถย่อยง่าย เหมาะสำหรับเป็นอาหารผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยในระบบทางเดินอาหาร [1] อ้างถึงใน (Flanch และคณะ.,1996)
3. ดอก และยอดอ่อน ใช้ลวกเป็นผักจิ้มน้ำพริกหรือรับประทานคู่กับกับข้าวอื่น หรือใช้ทำอาหารจำพวกผัดหรือแกงต่างๆ มีความนุ่ม มีเส้นใยน้อย
4. ลำต้นเท้ายายม่อมนำมาปอกเปลือก ก่อนรับประทานสดเป็นผักคล้ายกับ Irish potatoes แต่ส่วนนี้ค่อนข้างย่อยยาก [1] อ้างถึงใน (Kay,1973)
5. แป้งหรือหัวเท้ายายม่อมใช้หมักยีสต์ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ได้ [1] อ้างถึงใน (Kay,1973)
6. แป้งเท้ายายม่อมใช้ในการรักษาสิว ฝ้า กระ และช่วยบำรุงผิว โดยนำแป้งเท้ายายม่อมมาผสมน้ำหรือน้ำมะนาวให้หนืด ก่อนใช้ทาพอกหน้า
7. แป้งใช้ต้มทำกาว
8. ใบ และเมล็ดมีแอลคาลอยด์ ใช้สกัดทำเป็นยา [4] อ้างถึงใน (ศูนย์สนเทศการเกษตรและสหกรณ์, 2528)
9. ก้านใบ และก้านดอก แปรรูปเป็นเครื่องจักสาน อาทิ กระเป๋า หมวก แผ่นรองแก้วน้ำ เป็นต้น

ทั้งนี้ หัวเท้ายายม่อมสดมีรสขม และมีสารพิษ จึงไม่ควรรับประทานสด แต่รับประทานได้หลังจากต้มหรือแปรรูปเป็นแป้งก่อน รวมถึงส่วนอื่นก็ควรให้ผ่านความร้อนก่อน

คุณค่าทางโภชนาการหัวเท้ายายม่อมสด (100 กรัม) [5]

สารอาหาร % จากน้ำหนักแห้ง
• โปรตีน 0.05
• ไขมัน 0.02
• คาร์โบไฮเดรต 99.32
• ใยอาหาร 0.52
• เถ้า 0.09

สารสำคัญที่พบ
สารให้รสขม ได้แก่
– β – sitosterol
– Cerylic alcohol
– Taccalin
– Alkaloids
– Steroidal sapogenins
– Sapogenins (ออกฤทธิ์กำจัดพวกทากได้) [1]อ้างถึงใน (Flanch และคณะ.,1996 )

สรรพคุณเท้ายายม่อม
หัว และแป้งจากหัว
– ให้พลังงาน บำรุงร่างกาย แก้อาการอ่อนเพลีย
– ช่วยฟื้นจากไข้ได้เร็ว
– แก้เบื่ออาหาร
– ช่วยบำรุงหัวใจ
– สาร Taccalin ที่สกัดได้จากหัว ใช้เป็นยาแก้โรคบิด แก้โรคท้องร่วง และโรคเกี่ยวกับลำไส้
– ใช้เป็นยาพอกรักษาฝี รักษาริดสีดวง
– ใช้ห้ามเลือด
– ใช้ทาแก้ผดผื่นคัน

ราก
– ใช้เป็นยาแก้ไข้
– ช่วยแก้พิษ ดับพิษแมลงกัดต่อย พิษผึ้ง แตน และแก้พิษงู เป็นต้น
– ใช้เป็นยาขับเสมหะ

ที่มา : [3], [4] อ้างถึงใน (ศูนย์สนเทศการเกษตรและสหกรณ์, 2528)

วิธีการทำแป้งเท้ายายม่อม
1. นำหัวเท้ายายม่อมมาล้างน้ำให้สะอาด 1-2 น้ำ ก่อนปอกเปลือกบางๆทิ้ง ทั้งนี้ ควรปอกเปลือกออกให้หมด เพราะเปลือกมีสารพิษมากกว่าส่วนอื่น
2. นำหัวเท้ายายม่อมมาฝนบนแผ่นสังกะสีที่มีรูโผล่จากการเจาะด้วยตะปูหรือเครื่องขูดสำเร็จรูปหรือใช้เครื่องปั่นนํ้าผลไม้ก็ได้เช่นกัน ทั้งนี้ หลังจากการขูดหรือปั่นก็จะได้เนื้อหัวเท้ายายม่อมที่มีลักษณะละเอียดเป็นน้ำแป้ง
3. หากเนื้อแป้งมีน้ำน้อย ให้ผสมน้ำเพิ่ม และบีบนวดให้แป้งละลายตัว
4. นำนํ้าแป้งที่ได้กรองด้วยผ้าขาวบาง ส่วนกากนำไปใช้ประโยชน์อื่นต่อ เช่น นำไปตากแดดให้แห้ง ก่อนใช้เลี้ยงสัตว์
5. นำน้ำแป้งที่กรองได้ตั้งทิ้งไว้นาน 3-5 ชั่วโมง จนเนื้อแป้งตกตะกอนด้านล่าง ก่อนเทน้ำส่วนบนทิ้ง
6. เทนํ้าใหม่เพิ่มในระดับเดียวกับครั้งก่อน คนให้เข้ากัน ก่อนกรองด้วยผ้าขาวอีกครั้ง จากนั้น ตั้งทิ้งไว้ตามเดิม แล้วเทแยกน้ำส่วนบนทิ้ง
7. ให้ทำซํ้าตามวิธีเดิมอีก 1 ครั้ง
8. นำเนื้อแป้งกรองได้ในการกรองครั้งที่ 3 มาตากแดดให้แห้ง ก็จะได้ผงแป้งเท้ายายม่อมไปใช้ประโยชน์หรืออาจร่อนด้วยตะแกรงอีกครั้งก่อน เพื่อให้เนื้อแป้งละเอียด ไม่จับตัวเป็นก้อน ทั้งนี้ หัวเท้ายายม่อม 5 กิโลกรัม จะสกัดเป็นแป้งผงได้ประมาณ 1 กิโลกรัม

ปัจจุบัน แป้งเท้ายายม่อมหายากมากขึ้น มีเพียงไม่กี่จังหวัดที่ยังมีผลิตจำหน่าย เช่น จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นการผลิตระดับครัวเรือน ราคาขายในท้องตลาดประมาณ 80-130 บาท/กิโลกรัม ซึ่งแพงกว่าแป้งชนิดอื่น ทำให้ขนมที่ใช้แป้งส่วนมากหันมาใช้แป้งทุถูกกว่า เช่น แป้งมันสำปะหลัง และแป้งข้าวจ้าว เป็นต้น [1] อ้าถึงใน (พงษ์พันธุ์, 2543) ทั้งนี้ คุณสมบัติของแป้งของเท้ายายม่อมกับแป้งชนิดอื่นแสดงดังตารางด้านล่าง

ขนาดเม็ดแป้ง ค่าความขาว และค่าความหนืดของแป้งเท้ายายม่อมสดเทียบกับแป้งชนิดอื่น [5]

ชนิดแป้ง ค่าความขาว ขนาดเม็ดแป้ง (μm) ค่าความหนืด (Final Viscosity)
– เท้ายายม่อม 94.20 16.37 202.46
– มันสำปะหลัง 96.95 10.35 172.70
– ข้าวจ้าว 91.20 5.61 332.79

การปลูกเท้ายายม่อม
ต้นเท้ายายม่อมเจริญเติบโตได้ดีบริเวณใต้ร่มเงาของไม้ชนิดอื่น เติบโตได้ดีในดินร่วนปนทราย ดินเหนียวปนทราย มีระยะพักตัวที่ลำต้นเทียมเหี่ยวแห้งในฤดูหนาว ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม แต่ลำต้นจะงอก และเติบโตให้เห็นตั้งแต่ต้นฤดูฝน ในช่วงเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคม สามารถขยายพันธุ์ด้วย 2 วิธี คือ
1. การเพาะด้วยเมล็ด โดยใช้เมล็ดแก่หลังต้นแห้งตายแล้ว แต่ควรเก็บเมล็ดไว้สักระยะ 2-3 เดือน เพื่อให้เมล็ดพักตัวก่อน
2. การใช้หัว โดยใช้หัวลูกหรือหัวย่อยที่เจริญออกจากหัวแม่

การปลูกเท้ายายม่อมด้วยเมล็ดจะต้องให้ต้นเติบโตอย่างน้อย 2 ปี ก่อนเก็บหัว เพราะหัวเจริญช้ากว่าการปลูกด้วยหัวย่อย แต่การใช้หัวย่อยสามารถเก็บหัวมาแปรรูปหลังปลูก 1 ฤดูปลูก หรือ 1 ปี ทั้งนี้ การปลูกเท้ายายม่อมควรปลูกในต้นฤดูฝน ประมาณต้นเดือนพฤษภาคม เพื่อให้ต้นได้งอก และเติบโตในช่วงฝน

การเก็บหัวเท้ายายม่อมจะเก็บในช่วงปลายฤดูหนาว-ต้นฤดูแล้ง ประมาณเดือนธันวาคม-กุมภาพันธุ์ ซึ่งใบจะเริ่มเหลือง และเหี่ยวหรือยุบตัวแห้งตาย โดยหัวหลักจะใช้ทำแป้ง ส่วนลูกหัวหรือขนาดเล็กจะเก็บไว้ปลูกในปีถัดไป เพิ่มเติมจาก [5] อ้างถึงใน (จีระวรรณ อานามวงศ์, 2544)

ขอบคุณภาพจาก NanaGarden.com/, biodiversityexplorer.org/, flickr.com/

เอกสารอ้างอิง
[1] ปิติพร ฤทธิเรืองเดช, 2546, คุณสมบัติทางกายภาพและทางเคมี-
ของแป้งเท้ายายม่อมและการนำไปใช้ประโยชน์ในขนมชั้น.
[2] มูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดล, 2543, สารานุกรมสมุนไพรเล่ม 4 กกยาอีสาน.
[3] สุภาภรณ์ ภัทรสุทธิ, 2543, เท้ายายม่อมพืชหัวที่น่าสนใจ,กรมวิชาการเกษตร.
[4] ผลของชิ้นส่วนที่เลี้ยงและสารควบคุม-
การเจริญเติบโตบางชนิด ต่อการเลี้ยงเนื้อเยื่อ-
ต้นเท้ายายม่อม.
[5] ทัศนัย อรรถพรพิทักษ์, 2546, สมบัติทางเคมีและทางกายภาพของสตาร์ช-
เท้ายายม่อม Tacca leontopetaloides Ktze.