เถาคันขาว/ถันคันแดง (Virginia creeper) ประโยชน์ และสรรพคุณเถาคัน

Last Updated on 21 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

เถาคัน (Virginia creeper) เป็นไม้ป่าประเภทเถาเลื้อยที่นิยมใช้เป็นสมุนไพร และประกอบอาหาร แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ เถาคันขาว ลำต้น และกิ่งมีสีเขียว และเถาคันแดง ลำต้น และกิ่งมีสีแดงหรือเขียวปนแดง

• วงศ์ : VITACEAE (องุ่น)
• ชื่อสามัญ :
– True Virginia creeper
– Virginia creeper
– Victoria creeper
– Five-leaved ivy
– Five-finger
• เถาคันขาว ชื่อวิทยาศาสตร์ : Parthenocissus quinquefolia Planch.
• เถาคันขาว ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ : Cayratia trifolia (Linn.)Domin
• เถาคันแดง ชื่อวิทยาศาสตร์ : Columellia trifolia Merr. วงศ์ : COLUMELLIACEAE
• ชื่อท้องถิ่น :
ลำต้นสีขาว
– เถาคันขาว
– หุนแปขาว (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)
– เครือหุนแป
– เครือพัดสาม
– ส้มเขาคัน

ลำต้นสีแดง
– เถาคันแดง
– หุนแปแดง
– ส้มเขาคัน

ที่มา : [1], [2], [3], [5]

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
เถาคัน มีถิ่นกำเนิดในหลายพื้นที่ ได้แก่
– ทางตะวันออก และตอนกลางของทวีปอเมริกาเหนือ
– ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศแคนาดา
– ทางตะวันออกและตอนกลางของสหรัฐอเมริกา
– ทางตะวันออกของประเทศเม็กซิโก
เถาคันขาว และเถาคันแดง ในไทยพบแพร่กระจายทุกจังหวัด พบได้มากตามที่รกร้าง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง [1]

เถาคันขาว (Parthenocissus quinquefolia Planch. หรือ Cayratia trifolia (Linn.)Domin)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
เถาคัน เป็นไม้เลื้อยขนาดเล็กที่ชอบขึ้นเลื้อยพาดตามต้นไม้ใหญ่ ลำต้นมีลักษณะเป็นเถา ยาวได้มากกว่า 10 เมตร ลำต้นแตกกิ่งเถา มีลักษณะเป็นข้อๆ ซึ่งเป็นบริเวณแตกก้านใบ เถาโคนต้นมีผิวขรุขระ และสากมือ ปลายเถาหรือเถาอ่อนมีขนปกคลุม เถาคันขาวมีโคนเถาสีขาวอมน้ำตาลอ่อน เถาอ่อนหรือปลายเถามีสีเขียว


ใบ
ใบเถาคัน เป็นใบประกอบ มีก้านใบหลักเรียวยาว แตกออกตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ ยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ใบย่อยแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ชนิดมีย่อย 3 ใบ และชนิดมีใบย่อย 5 ใบ แต่ละใบย่อยมีโคนใบเชื่อมติดกันที่ปลายก้านใบหลัก ใบย่อยแต่ละใบมีรูปไข่ โคนใบสอบแคบ กลางใบขยายกว้าง ปลายใบแหลม ขนาดใบกว้าง ประมาณ 2-4 เซนติเมตร และยาว ประมาณ 5-10 เซนติเมตร แผ่นใบมีสีเขียวสด ค่อนข้างหนา และสากมือด้วยขนที่ปกคลุม ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย เส้นกลางใบมองเห็นไม่ชัดเจนในชนิดเถาคันขาว แต่ใบด้านล่างเป็นสันนูนของเส้นกลางใบ และเส้นแขนงใบชัดเจน

ดอก
ดอกเถาคันออกเป็นช่อบริเวณซอกใบหรือข้อลำต้น แต่ละช่อมีดอกย่อยจำนวนมาก 10-40 ดอก ดอกย่อยมีขนาดเล็ก โดยดอกเถาคันขาว จะมีดอกอ่อนสีเขียว ดอกบานมีสีขาว ทั้งนี้ เถาคันจะเริ่มติดดอกในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน [2]

ผล
ผลเถาคันขาว มีลักษณะกลม ผิวผลเรียบ และเป็นมัน ขนาดผลประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร เล็กกว่ามะเขือพวงเล็กน้อย เปลือกผลบาง เนื้อผลหนา ผลดิบมีสีเขียว ผลสุกมีสีดำ เนื้อผลสุก และนำจากเนื้อผลสุกมีสีม่วงแดง มีรสเปรี้ยวคล้ายผลองุ่น แต่บางรายงาน พบว่า เมื่อสัมผัสน้ำจากเนื้อผลผิวหนังจะรู้สึกคัน จนเป็นที่มาของชื่อที่เรียกว่า “เถาคัน” ทั้งนี้ เถาคันจะติดผลในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม [2]

เถาคันแดง (Columellia trifolia Merr. )
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้นเถาคันแดงมีลักษณะคล้ายกับเถาคันขาวในเกือบทุกส่วน แต่มีข้อแตกต่าง คือ เถาอ่อนสีเขียวอมแดงหรือสีแดง ใบเถาคันแดงอาจมีสีเขียวหรือเขียวอมแดง ใบมีเส้นกลางใบ และเส้นแขนงใบบางส่วนมองเห็นเป็นสีแดงชัดเจน ดอกเถาคันแดงจะมีสีแดง ส่วนผลเถาคันแดง มีลักษณะคล้ายกับเถาคันขาว

ประโยชน์เถาคัน
1. ยอดอ่อนมีรสมัน ใช้รับประทานสดหรือลวกน้ำร้อนเป็นผักกับน้ำพริกหรืออาหารรสเผ็ดอื่นๆ
2. ยอดอ่อน และผลอ่อนใช้ประกอบอาหาร อาทิ ผลอ่อนตำเป็นน้ำพริก ใบอ่อน และผลอ่อนใช้ทำแกงส้ม แกงอ่อม เป็นต้น
3. ผลสุกเถาคันมีคุณค่าทางโภชนาการสูง เป็นอาหารของสัตว์ป่าบางชนิด แต่ตำรายากล่าวว่าทำให้เกิดอาการคัน แสดงถึงการมีสารพิษแคลเซียมออกซาเลท ดังนั้น จึงไม่ควรรับประทานผลสุก

ที่มา : [2]

คุณค่าทางโภชนาการเถาคัน (ผล 100 กรัม)

Proximates
น้ำ กรัม 93.4
พลังงาน กิโลแคลอรี่ 27
โปรตีน กรัม 0.4
ไขมัน กรัม 0.4
คาร์โบไฮเดรต กรัม 5.5
เถ้า กรัม 0.3
Vitamins
วิตามิน C มิลลิกรัม 8
ไทอะมีน (B1) มิลลิกรัม 0.02
ไรโบฟลาวิน (B2) มิลลิกรัม 0.09
ไนอะซีน (B3) มิลลิกรัม 1.62
เบต้า เคโรทีน (Beta-carotene) ไมโครกรัม 236
วิตามินเอ  (RE) ไมโครกรัม 39
วิตามิน E มิลลิกรัม 2.64

ที่มา : [1]

สรรพคุณเถาคัน
เถา (ต้มน้ำดื่ม)
– เป็นยาแก้โรคกษัย
– เป็นยาฟอกเลือด
– เป็นยาขับเสมหะ
– แก้กษัย
– ช่วยขับลม
– แก้อาการผอมแห้ง
– รักษาอาการช้ำใน
– ช่วยให้เส้นเอ็นคลายตัว
– แก้ฝีในท้อง
– แก้ริดสีดวงลำไส้
– ใช้เป็นยาคุมกำเนิด

ใบ (ต้มน้ำดื่มหรือรับประทาน)
– แก้มะเร็ง
– แก้เลือดออกตามไรฟัน
– ช่วยลดไข้
– รักษาแผลในจมูก

ใบ (ใช้ทาหรือประคบภายนอก)
– ใบนำไปอังหรือย่างไฟให้พอเหี่ยว ก่อนใช้ประคบรักษาฝี
– แก้อาการร้อนแดง

ราก (ต้มน้ำดื่ม)
– รักษาแผลในกระเพาะอาหาร
– ใช้เป็นยาขับพยาธิไส้เดือน
– ช่วยขับปัสสาวะ
– แก้โรคนิ่ว
– ใช้เป็นยาฟอกโลหิต
– ช่วยแก้ฟกซ้ำ
– ช่วย ขับเลือดเสีย
– ช่วยขับน้ำคาวปลา

ผลอ่อน (รสเฝื่อน ต้มน้ำดื่มหรือรับประทาน )
– แก้กระษัย
– ขับลม
– ฟอกเลือด
– แก้ฟกช้ำภายใน
– แก้ลมวิงเวียน หน้ามืด
– ขับเสมหะ
– แก้เลือดออกตามไรฟัน

ผลอ่อน (ใช้ภายนอก )
– ตำพอกฝี
– แก้แผลในจมูก
– ถอนพิษปวดบวม

ที่มา : [1], [3], [4], [5]

การเพาะขยายพันธุ์
เถาคันเป็นพืชเถา สามารถเพาะขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด และการปักชำกิ่ง

ขอบคุณภาพจาก http://www.lrp.ac.th/, biogang.net/, bansuanporpeang.com

เอกสารอ้างอิง
[1] วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, เถาคันแดง, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2560, เข้าถึงได้ที่ : https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%96%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%94%E0%B8%87/.
[2] สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.), เถาคันแดง, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม 2560, เข้าถึงได้ที่ : http://www.tistr.or.th/sakaerat/plant%20in%20sakaerat/plant%20list/073%E0%B9%80%E0%B8%96%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%94%E0%B8%87.pdf/.
[3] มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ, เถาว์คัน, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2560, เข้าถึงได้ที่ : http://www.phrae.mju.ac.th/cms/rspg/index.php/2014-07-08-09-10-44/55-2014-07-16-08-55-27/.
[4] โรงเรียนสตรีสิริเกศ, เถาคันขาว, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 8 กรกฎาคม 2560, เข้าถึงได้ที่ : ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/www/Native_veg/v140.html/.
[5] http://www.greenclinic.in.th/, เถาคันขาว, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 10 กรกฎาคม 2560, เข้าถึงได้ที่ : http://www.greenclinic.in.th/healherb/result_herb.php?herb_id=93&words=/.