หางไหล/โล่ติ๊น ประโยชน์ และสรรพคุณหางไหล

Last Updated on 26 มีนาคม 2017 by puechkaset

หางไหล หรือ โล่ติ๊น เป็นพืชเถาเลื้อยที่พบได้ในป่าแถบชุ่มชื้นตามแม่น้ำ เป็นสมุนไพรที่นิยมนำเถา ใบหรือรากมาใช้ประโยชน์สำหรับการขับระดูในสตรี รวมถึงสารสกัดที่ได้จากส่วนต่างๆมีฤทธิ์ในการกำจัดหนอน และแมลงศัตรูพืชได้ดี

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Derris elliptica Benth.
• ชื่อวงศ์ : Fabaceae
• ชื่ออังกฤษ : เดอริส (Derris) หรือ ทูบา รูท (Tuba root)
• ชื่อท้องถิ่น : โล่ติ๊น, กะลำเพาะ, ไหลน้ำ, เครือไหลน้ำ, โพตะโกส้า (กะเหรี่ยง) และอวดน้ำ
• ส่วนที่ใช้ : ราก ลำต้น (เถา) และใบ

แหล่งที่พบหางไหลหรือโล่ติ๊นมาก มักพบในแหล่งพื้นที่ชื้น เป็นที่ราบลุ่ม มีฝนตกชุก เช่น บริเวณป่าของลุ่มแม่น้ำในจังหวัดต่างๆ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
หางไหลที่พบในประเทศไทย แบ่งเป็น หางไหลแดง และหางไหลขาว ซึ่งแตกต่างกันที่ลักษณะสีของใบอ่อน หากเป็นหางไหลแดงจะมีสีของใบอ่อนออกแดงน้ำตาลหรือชมพูเข้ม ส่วนหางไหลขาวจะมีสีของใบอ่อนออกส้มปนน้ำตาล ซึ่งจะมีสีอ่อนกว่าหางไหลแดง และใบแก่ของหางไหลแดงจะเห็นเส้นใบไม่ชัดเจนเหมือนหางไหลขาว นอกจากนั้น สารสกัดจากรากหางไหลแดงจะมีสีแดง ส่วนสารสกัดจากรากหางไหลขาวจะมีสีขาวขุ่น คล้ายน้ำนม ซึ่งแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด จึงเป็นชื่อเรียกที่ต่างกันตามลักษณะที่กล่าวมา
ลำต้น
ลำต้นมีลักษณะกลม เป็นเถาเลื้อย เถาอ่อนมีสีเขียว และสีน้ำตาลปนแดงเมื่อเถาแก่ และจะสีเขียวที่เห็นชัดบริเวณปล้องก่อนถึงยอด 2-3 ปล้อง สำหรับเถาแก่

หางไหล

ใบ
ใบเป็นใบประกอบ เหมือนขนนกปลายถี่ ใบอ่อนมีสีเขียวอ่อน และเป็นสีเขียวแก่เมื่ออายุใบมากขึ้น ใบจะแตกออกเป็นคู่ๆตรงข้ามกัน 2-4 คู่ ใบคู่แรกมีขนาดเล็กที่สุด และเริ่มใหญ่ขึ้นตามลำดับ โดยมีใบสุดท้ายบริเวณยอดใบเป็นใบเดี่ยว มีขนาดใหญ่สุด ใบย่อย กว้างประมาณ 3.0-9.5เซนติเมตร และยาวประมาณ 6.5-27.0 เซนติเมตร ใบอ่อนบริเวณยอดจะปกคลุมด้วยขนสีน้ำตาลปนแดง พื้นใบด้านบนสีเขียว มีลักษณะมัน มีเส้นแขนงใบคล้ายก้างปลาอย่างเห็นได้ชัด ด้านท้องใบมีสีเขียว และเห็นเส้นใบชัดกว่าด้านบน

ดอก
ดอกจะออกเป็นช่อตามลำต้น ยาวประมาณ 20-25 เซนติเมตร ดอกตูมมีสีชมพูอมม่วง เมื่อบานจะมีสีชมพูอ่อน และค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีขาวเมื่ออายุดอกมากขึ้น

ดอกหางไหล

ผล
ผลออกเป็นฝัก ฝักอ่อนมีสีเขียว และสีน้ำตาลปนแดงเมื่อฝักแก่ และจะปริแตกเมื่อฝักแห้ง ฝักมีลักษณะแบน ภายในประกอบด้วยเมล็ดลักษณะกลมแบนเล็กน้อย

ความแตกต่างของหางไหลแดง และหางไหลขาว
– ปริมาณโรติโนน : หางไหลแดง 4-5% หางไหลขาว 7-8%
– สีน้ำสกัดจากราก : หางไหลแดงได้สีขาวปนแดง หางไหลขาวได้สีขาวขุ่นคล้ายน้ำนม
– สีใบอ่อน : หางไหลแดงมีสีแดงปนชมพู หางไหลขาวมีสีน้ำตาลปนส้ม
– สีใบแก่ : หางไหลแดงมีเส้นใบไม่ชัดเจน หางไหลขาวมีเส้นใบชัดเจน
– จำนวนใบประกอบ : หางไหลแดง 5-9 ใบ พบมากมี 9 ใบ หางไหลขาว 5-13 ส่วนมากพบ 13 ใบ

สารที่พบในหางไหล/โล่ติ๊น
สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร (2548) รายงานสารสำคัญที่พบส่วนใหญ่ คือ โรติโนน (rotenone) โดยพบในส่วนของโคนต้น ก้านใบ ลำต้น ใบ รากกิ่ง รากขนาดเล็ก รากขนาดใหญ่ ที่ 0.4, 0.5, 2.7, 16.6, 26.7, 1003.9 และ 8981.1 ppm ตามลำดับ ดังนั้น จึงพบสารโรติโนนมากในส่วนของรากโดยพบในหางไหลขาวมากกว่าหางไหลแดง ซึ่งจัดเป็นสารพิษที่มีพิษต่อคน และสัตว์ โดยเฉพาะต่อปลาที่มีผลของพิษสูง มีค่าความเป็นพิษเฉียบพลันทางปากต่อหนูขาว LD50 = 132-1,500 mg/kg ส่วนคนมีค่า LD50 = 0.3-0.5 mg/kg สำหรับปลา มีค่า LC50 = 31 ppb โดยกลไกการออกฤทธิ์จะเกิดจาดพิษที่เข้ายับยั้งขั้นการส่งอิเล็คตรอนในเซลล์ของกระบวนการหายใจ ทำให้สัตว์ที่ได้รับพิษหายใจไม่ออก แต่โรติโนนมีคุณสมบัติสลายตัวได้ง่ายในธรรมชาติ

สรรพคุณหางไหล/โล่ติ๊น
ตามตำราโบราณ แพทย์ชนบทมีการใช้เถาหางไหลหรือรากหางไหลผสมกับยาอื่นๆ สำหรับเป็นยาขับประจำเดือนสตรี แก้ระดูเป็นลิ่มหรือก้อน นอกจากนี้ยังใช้เถาหางไหล หั่นเป็นชิ้นตากแห้ง และนำมาดองสุรารับประทาน สำหรับเป็นยาขับลม บำรุงโลหิต และยาลดเสมหะ

ประโยชน์หางไหล/โล่ติ๊น
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์จากหางไหล ได้แก่ ส่วนราก เถา ใบ และดอก

1. การใช้เพื่อเป็นยา และบำรุงสุภาพ

2. การใช้เพื่อควบคุมศัตรูพืช โดยนำเถาหรือรากอายุ 1 ปีขึ้นไป มาสับเป็นชิ้นเล็กๆหรือบดให้ละเอียด แช่น้ำในอัตรา 0.5-1 กิโลกรัมต่อน้ำ 20 ลิตร แช่นาน 2-3 วัน ระหว่างแช่ ควรกวน 1-2 ครั้ง/วัน หลังจากนั้น นำน้ำหมักมากรองแยกเอาเฉพาะส่วนน้ำ นำมารดหรือฉีดพ่นบริเวณแปลงผักหรือแปลงเกษตรอื่นๆ เพื่อป้องกัน และกำจัดหนอนหรือแมลงศัตรูพืช ได้แก่ หนอนใยผัก หนอนกระทู้ผัก หนอนเจาะฝัก มวนปีกแก้ว เพลี้ยจักจั่นมะม่วง เพลี้ยอ่อนกะหล่ำ เพลี้ยจักจั่นฝ้าย เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยจักจั่นสีเขียว เพลี้ยไฟ และหนอนเจาะลำต้นข้าวโพด แมลงวัน ตั๊กแตน ด้วงงวงถั่ว ด้วงเต่าแตง ด้วงหมัดผัก หอยเชอรี่ เป็นต้น

3. การกำจัดแมลงหรือปรสิต ด้วยการสับ และบดเถา ราก หรือ ใบ ให้เป็นผงละเอียด ใช้โรยป้องกัน และกำจัดหมัด เห็บ ไรไก่ ปลวก ทาก เรือด แมลงวัน และเพลี้ยบางชนิด อาจใช้โรยตามพื้นดินหรือโรยบนตัวสัตว์เลี้ยง

การเก็บรักษาสารสกัดของหางไหลให้คงสภาพอยู่ได้นาน ควรสกัดด้วยแอลกอฮอล์หรือตัวทำละลายสกัดชนิดอื่น รวมถึงการผสมด้วยกรดฟอสฟอริกหรือกรดซัลฟูริก ความเข้มข้น 3.5 % แต่นิยมใช้กรดฟอสฟอริกมากกว่า เพราะการใช้กรดฟอสฟอริกจะมีสารฟอสเฟตตกค้างในดิน กลายเป็นปุ๋ย และธาตุอาหารแก่พืชได้

การปลูกหางไหล/โล่ติ๊น
การปลูกหางไหล/โล่ติ๊นสามารถทำได้ 2 วิธี คือ การปลูกด้วยการปักชำกิ่ง และการปลูกด้วยเมล็ด แต่ส่วนมากนิยมปลูกด้วยการปักชำกิ่งเป็นส่วนใหญ่

เถาหางไหล

การปลูกด้วยการปักชำกิ่งจะใช้กิ่งพันธุ์ที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปี ขึ้นไป ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร ยาวประมาณ 25 เซนติเมตร ตัดในแนวเฉียงให้มีข้อ 2-4 ข้อต่อท่อน ก่อนปักชำหากใช้การแช่ท่อนพันธุ์ด้วยฮอร์โมนเร่งรากยิ่งเป็นการดี เพราะจะทำให้ปักชำติดง่าย และเร็วขึ้น ส่วนการปักชำสามารถปักชำตามแปลงดินที่ว่างหรือปักชำใส่ถุงเพาะชำหรือกระถางเพาะชำ ด้วยการใช้วัสดุเพาะชำที่เป็นมูลสัตว์หรือเศษไม้ เศษใบไม้หรือวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรผสมกับดินในอัตราส่วน ดินต่อวัสดุเพาะชำ 2:1 หรือ 1:1 ก็ได้ หากปลูกหลายต้น ควรมีระยะปลูกอย่างน้อย 1x.5 เมตร

ในระหว่างการปักชำ ควรมีการรดน้ำอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยวันละครั้งถึงสองครั้ง และควรใส่ปุ๋ยคอกหรือมูลสัตว์ต่างๆเป็นประจำทุกๆ 1-2 เดือน ร่วมด้วยกับการกำจัดวัชพืชรอบหลุมเป็นประจำทุกเดือน เมื่อกิ่งพันธุ์แตกราก และยอดประมาณ 45 วัน จึงย้ายลงปลูกตามจุดที่เหมาะสม ทั้งนี้ ให้พิจารณาจุดที่จะปลูกให้เหมาะสม เนื่องจากต้นหางไหลเป็นไม้เลื้อยขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีขนาดเถาใหญ่ และยาวมากจึงต้องเลือกจุดที่เหมาะสมก่อนปลูกทุกครั้ง

การเก็บเกี่ยวรากหรือเถาเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ ควรเก็บเมื่อหางไหลมีอายุอย่างน้อย 2 ปี ด้วยการเก็บเพียงบางส่วนของรากหรือตัดเถา ไม่ควรตัดรากหรือทั้งลำต้น