หัวไชเท้า/ผักกาดหัว สรรพคุณ และการปลูกหัวไชเท้า

Last Updated on 16 มิถุนายน 2016 by puechkaset

หัวไชเท้า หรือ หัวผักกาดขาว จัดเป็นพืชผักประเภทให้หัวหรือรากที่นิยมใช้ประกอบอาหารจำพวกแกงต้มต่างๆ โดยเฉพาะแกงจืด นอกจากนั้น ยังนิยมนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หัวไชเท้าดองเค็ม รวมถึงใช้สกัดสารสำหรับทำยา และเป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางเพื่อผิวขาว

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Raphanus sativus L.
วงศ์ : Brassicaceae (Cruciferae)
ชื่อสามัญ : Chinese radish
ชื่อท้องถิ่น : หัวไชเท้า, ผักกาดหัว, ผักกาดหัวจีน, ไช้โป๊ว

พืชในตระกูลผักกาดมีประมาณ 51 สกุล 218 ชนิด และมีชนิดพันธุ์มากกว่า 300 ชนิด มีถิ่นกำเนิดทางทิศตะวันออกของชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

หัวไชเท้า/ผักกาดหัว แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มยุโรป (Radish) นิยมปลูกและบริโภคในเขตอบอุ่น เช่น ยุโรป อเมริกา ต้องการอากาศเย็นในการเจริญของราก ประมาณ 15ºC มีช่วงการเก็บเกี่ยวสั้น 20-25 วัน ส่วนของรากมีขนาดเล็ก สีแดงเข้ม บางชนิดมีสีดำ แต่เนื้อภายในจะมีสีขาวหรือสีแดง
2. กลุ่มเอเชีย (Chinese Radish หรือ Japanese Radish) ปลูกมากแถบเอเชีย ส่วนของรากมี
ขนาดใหญ่ รูปร่างแบบกลมและยาว ขึ้นอยู่กับพันธุ์ ปกติผิวของรากมีสีขาว แต่บางพันธุ์อาจมีสีแดงเนื้อภายในมีสีขาว อายุการเก็บเกี่ยวยาวกว่ากลุ่มแรกคือพันธุ์เบาประมาณ 40-50 วัน และพันธุ์หนักประมาณ 60-70 วัน สามารถแยกเป็น 2 ชนิด คือ
– พันธุ์แบบญี่ปุ่น (Japanese Type) ลักษณะเด่น คือ ขอบใบมีลักษณะหยักลึก มีจำนวนใบมากน้อยขึ้นอยู่กับพันธุ์ มีอายุทั้งสองปี และปีเดียว ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์หนักหรือปานกลาง
-พันธุ์แบบจีน (Chinese Type) ลักษณะเด่น คือ ขอบใบเรียบ ไม่มีรอยหยัก ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์เบา และมีอายุปีเดียว

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ราก และหัว
รากหรือหัวไซเท้ามีลักษณะทรงกลมรูปทรงกระบอก หรือ รูปกรวยยาว หรือรูปทรงอื่นๆ ตามสายพันธุ์  หัวมีสีขาวจนถึงสีแดง เป็นส่วนที่นำมาประกอบอาหาร ส่วนปลายของรากหรือหัวมีรากฝอยขนาดเล็กแทงดิ่งลงด้านล่าง

หัวไชเท้า1

ลำต้น
ลำต้นหัวไชเท้ามีขนาดสั้น กลม และเป็นข้อสั้น ไม่มีกิ่งก้าน แทงออกบริเวณตรงกลางหรือรากของหัวไชเท้า

ใบ
ใบหัวไซเท้า เป็นใบเดี่ยว แทงออกบริเวณข้อของลำต้น มีทั้งชนิดที่ขอบใบเรียบ และขอบใบเว้าลึก

ดอก
ดอกหัวไชเท้า เป็นดอกสมบูรณ์เพศ เจริญออกจากกลางลำต้น มีก้านดอกยาว 50-100 ซม. ดอกมีสีขาวหรือขาวอมม่วง ประกอบด้วยกลีบเลี้ยง 5 อัน เรียงตัวเป็น 2 ชั้น ส่วนกลีบดอกมี 5 อัน มีต่อน้ำหวานที่ฐานกลีบ ภายในดอกมีเกสรตัวผู้ 6 อัน และเกสรตัวเมีย 1 อัน ดอกบานในช่วงเช้า

ฝัก และเมล็ด
ฝักของหัวไชเท้า ยาวประมาณ 2-6 ซม. มีสีเขียวเข้ม ฝักจะแก่จากด้านล่างขึ้นด้านบน เมื่อฝักแก่จะมีสีน้ำตาลเทา เนื้อฝักค่อนข้างแข็ง ไม่มีรอยแตกตามรอยตะเข็บ ภายในมีเมล็ดประมาณ 1-10 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะกลม สีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลแดง บางพันธุ์เป็นสีเหลือง ขนาดเมล็ดประมาณ 3 มม.

ประโยชน์ และการแปรรูป
– เนื่องจากหัวไชเท้ามีรส จึงนิยมนำมาประกอบอาหารในหลายเมนู อาทิ แกงจืด
– นำมาแปรรูปเป็นหัวไชเท้าดองเค็ม และหัวไชเท้าดองหวาน
– แปรรูปเป็นหัวไชเท้าตากแห้ง
– หัวไชเท้าที่ฝานเป็นแผ่นบางๆ นิยมนำมาปะทับใบหน้าเพื่อบำรุงผิวหน้า ช่วยลดริ้วรอย รักษาฝ้า และจุดด่างดำ
– สารสกัดจากหัวไชเท้านำมาเป็นยารักษาฝ้า และจุดด่างดำ เนื่องจากมีสารหลายชนิดที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส (Antityrosinase Activity) ที่เป็นสารสำคัญในกระบวนการสร้างเม็ดสีของผิวหนัง ทำให้ผิวพรรณแลดูคล้ำ
– ใบ และลำต้นหลังการเก็บเกี่ยวนำมาใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์แก่หมู โค และกระบือ
– ใบ และลำต้น นำมาผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพหรือใช้ทำปุ๋ยหมัก

หัวไชเท้า

คุณค่าทางโภชนาการ
– พลังงาน 14 กิโลแคลอรี่
– โปรตีน 0.6 กรัม
– คาร์โบไฮเดรต 3 กรัม
– แคลเซียม 24 กรัม
– ฟอสฟอรัส 14 กรัม
– เหล็ก 0.4 มิลลิกรัม
– วิตามินซี 22 มิลลิกรัม
– วิตามิน B1
– วิตามิน B1

สารสำคัญที่พบ
ในส่วนของรากหัวไชเท้าสดพบองค์ประกอบทางเคมีหลายชนิด ได้แก่
• สารประกอบฟีนอล
– Kempferol
– Cyanidine
– Triterpenes
– Gentisic acid
– Hydrocinnamic acid
– Vanillic acid
– Pelargonidin
– Luteolin
– Myricetin
– Quercetin

• Flavonoid
• Alkaloids
• Tannins
• Saponin
• Coumarins ‰-(Methylthio)-Šbutenyl isothiocyanate
• Allyl isothiocayanate
• Benzyl isothiocyanate
• Phenethyl isothiocyanate
• L-ascorbic acid

รวบรวมจาก (Jakmatakul, Suttisri & Tengamnuay,2009)(2)

สรรพคุณหัวไชเท้า
หัวไซเท้า
– ช่วยกระตุ้นความอยากอาหาร
– ช่วยย่อยอาหาร
– ช่วยให้ระบาย
– ฤทธิ์ฆ่าเชื้อรา
– ช่วยลดน้ำตาลในเลือด
– ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของน้ำดี
– ต้านอนุมูลอิสระ
– ต้านการอักเสบ
– ต้านมะเร็ง
– ลดเลือนริ้วรอย
– วิตามินซี และสารประกอบฟีนอลในหัวไชเท้ามีคุณสมบัติช่วยให้ผิวขาว
– ใช้บดเอาไปพอกแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวกได้

ใบ
– น้ำคั้นสดที่ได้จากใบ มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ และเป็นยาระบาย

เมล็ด
– เมล็ดช่วยขับลม ขับปัสสาวะ ขับเสมหะ

รวบรวมจาก วรรษมน, (2557)(1)

ข้อควรระวัง
– หัวไชเท้า มีสาร Allyl isothiocyanate และ Thioglycoside ที่สามารถทำให้เกิดอาหารผื่นแพ้บนผิวหนังได้
– หัวไชเท้ามีสาร Saponin ที่ออกฤทธิ์ทำลายระบบประสาท ที่นิยมใช้เป็นส่วนผสมของยาฆ่าแมลง เมื่อรับประทานดิบอาจทำให้

การปลูกหัวไชเท้า
พันธุ์ที่ใช้ปลูก
หัวไชเท้าหรือผักกาดหัวมี 2 พันธุ์ คือ พันธุ์หนัก กับ พันธุ์เบา แต่พันธุ์ที่นิยมปลูกส่วนใหญ่เป็นพันธุ์เบา ได้แก่
เคยู-1 (KU-1) เป็นพันธุ์เบา อายุเก็บเกี่ยว 42-45 วัน หลังจากปลูก หัวยาวประมาณ 20-22 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 3.8 เซนติเมตร น้ำหนัก 250 กรัม/หัว รสชาติไม่เผ็ด ลักษณะใบเรียบ ไม่มีขนหรือหนาม

พันธุ์แม่โจ้ 1 (OW-1) เป็นพันธุ์เบา อายุเก็บเกี่ยว 45-48 วัน หลังจากปลูก หัวยาวประมาณ 20.5 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ย 4.5 เซนติเมตร น้ำหนักเฉลี่ย 225 กรัม/หัว ลักษณะใบเรียบไม่มีขน ส่วนลักษณะขอบในมี 2 ลักษณะ คือ ขอบใบเรียบตลอดทั้งใบ และขอบใบหยักเล็กน้อย บริเวณโคนก้านใบมีดอกสีขาว

พันธุ์เอเวอเรส ไฮบริด (Everest Hybrid ) เป็นพันธุ์เบา อายุเก็บเกี่ยว 50 วัน หลังจากปลูก หัวยาวประมาณ 30-35 เซนติเมตร ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6-7 เซนติเมตร ใบสีเขียวเข้มไม่มีขน หัวมีรสชาติเผ็ดเล็กน้อย เพราะมีสาร Glycoside ในปริมาณค่อนข้างสูง แต่มีข้อดี คือ ทนทานต่อโรค และให้ผลผลิตต่อไร่สูง

พันธุ์ฝาง 1และฝาง 2 เป็นพันธุ์เบา อายุเก็บเกี่ยว 45 วัน หลังจากปลูก หัวยาวประมาณ 25-30 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 5-6 เซนติเมตร

ระบบการปลูก
1. การปลูกแบบร่องสวนหรือร่องจีน ส่วนมากเป็นการปลูกในพื้นที่ลุ่ม
2. การปลูกแบบไร่ เป็นการปลูกในพื้นที่ราบเป็นดินน้ำท่วม หรือเรียกว่า ดินน้ำไหลทรายมูล ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์สูง และอุ้มความชื้นดีมาก
3. การปลูกแบบยกแปลงปลูก เมื่อเตรียมดินเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทำแปลงปลูกสูงประมาณ 10-15 เซนติเมตร ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับฤดูปลูก โดยทั่วไป ขนาดของแปลงกวาง 1-1.50 เมตร ความยาวขึ้นอยู่กับความต้องการ

การเตรียมดิน และแปลงปลูก
ไถหรือขุดดินให้ลึกประมาณ 20-30 เซนติเมตร ตากดินไว้ประมาณ 7-15 วัน เพื่อกำจัดวัชพืช และแมลงในดิน ถ้าดินเป็นกรดหรือดินเหนียวต้องใส่ปูนขาว และใส่ปุ๋ยอินทรีย์เพิ่มเติม ขณะเตรียมดินครั้งที่ 2 ให้หว่านปูนขาวชนิดโดโลไมท์ ปริมาณ 20-30 กิโลกรัม/ไร่ และปุ๋ยอินทรีย์ 1-2 ตัน/ไร่ ให้กระจายทั่วทั้งแปลง แล้วพรวนดินเพื่อให้ปูนขาว และปุ๋ยอินทรีย์ผสมกับดิน ทิ้งไว้ประมาณ 15 วัน จึงพรวนดินอีกครั้งหนึ่ง การพรวนดินครั้งนี้ต้องย่อยดินให้ละเอียดที่สุด เพื่อให้พร้อมที่จะทำการปลูก

การปลูก
เมื่อเตรียมดินเรียบร้อยแล้ว นำเมล็ดไปปลูกในดินที่เตรียมไว้ วิธีการปลูก แบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ การปลูกโดยการหว่านเมล็ด และการปลูกแบบการหยอดเมล็ดเป็นแถวบนแปลงยกร่อง ส่วนระยะจะขึ้นกับพันธุ์ที่ใช้ปลูก เช่น พันธุ์เบา ใช้ระยะปลูก 20 x 30 เซนติเมตร พันธุ์กลาง ใช้ระยะปลูก 30 x 45 เซนติเมตร พันธุ์หนัก ใช้ระยะปลูก 30-45 x 50-75 เซนติเมตร

การให้น้ำ
ควรรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งผักกาดหัวฟอร์มหัว และเก็บเกี่ยว ถ้าให้น้ำไม่สม่ำเสมอจะทำให้คุณภาพของหัวไม่ดี หัวแตก เนื่องจากการขยายตัวของเซลล์ไม่สม่ำเสมอ

การใส่ปุ๋ย
สูตรปุ๋ยที่แนะนำให้ใช้คือ 13-13-21 หรือ 15-15-15 ใส่ในอัตรา 50 -100 กิโลกรัม/ไร่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน การใส่ให้แบ่งใส่ 2 ครั้ง ครั้งแรกใส่ตอนรองพื้น แล้วพรวนกลบลงไปในดิน ครั้งที่ 2 ใส่เมื่อต้นกล้าได้อายุประมาณ 20-25 วัน โดยใส่แบบโรยข้างต้นกล้าแล้วพรวนกลบ นอกจากนี้ ในระยะแรกของการเจริญเติบโตอาจจะใส่ปุ๋ยเสริมอีกก็ได้ เช่น ปุ๋ยยูเรีย หรือแอมโมเนียมไนเตรต อัตรา 10 กิโลกรัม/ไร่ เพื่อเร่งการเจริญเติบโตในระยะแรก

การถอนแยก
เมื่อผักกาดหัวงอก และมีใบจริง 2-3 ใบ ก็ถอนแยกให้เหลือจำนวนต้น และระยะที่ต้องการ ในกรณีที่หยอดเป็นแถว ให้ถอนต้นให้ได้ระยะ 20-30 เซนติเมตร ถ้าหยอดเป็นหลุม ให้ถอนแยกให้เหลือหลุมละ 1 ต้น การถอนแยกอาจทำพร้อม ๆ กับการกำจัดวัชพืช

การพรวนดิน และการกำจัดวัชพืช
การพรวนดิน และการกำจัดวัชพืชควรทำไปพร้อมกับการใส่ปุ๋ย การพรวนดินควรทำด้วยความระมัดระวัง อย่าให้เกิดแผลที่รากเพราะจะทำให้เกิดโรครากเน่า และรากแตกแขนง การฟอร์มหัวคดงอ การพรวนดินควรทำในระยะแรกๆ ของการเจริญเติบโตของผักกาดหัว เมื่อผักกาดหัวฟอร์มหัวแล้วไม่ควรพรวนดิน เพราะจะทำให้เกิดผลเสียต่อผักกาดหัวมากกว่าผลดี

การเก็บหัวไชเท้า
สำหรับพันธุ์เบา อายุตั้งแต่หยอดเมล็ดจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 40-50 วัน ส่วนพันธุ์หนักจะเก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุ 60-70 วัน

การเตรียมผักกาดหัวส่งตลาด
– หลังจากเก็บเกี่ยวแล้ว นาผักกาดหัวไปล้างน้ำ ด้วยน้ำที่สะอาด ในขณะที่ล้างต้องมีการคัดเลือกหัวที่ไม่ดีหรือมีตำหนิออก
– ตัดใบหรือก้านใบออกให้เหลือเป็นกระจุก ยาวห่างจากหัวประมาณ 3-5 เซนติเมตร ส่วนของก้านใบที่เหลือจะต้องไม่เป็นโรคหรือมีเพลี้ยติดอยู่
– การจำหน่ายผักกาดหัวในประเทศไทย ยังไม่มีการจาหน่ายเป็นเกรด ส่วนใหญ่จำหน่ายรวมๆ กัน อย่างไรก็ตาม ก่อนทำการบรรจุผักกาดหัวจำเป็นต้องคัดเลือกเฉพาะผักกาดหัวที่มีคุณภาพดีเท่านั้นไปจาหน่าย
– การบรรจุ ภาชนะที่ใช้บรรจุผักกาดหัว คือ  เข่งไม่ไผ่ขนาดต่าง ๆ บรรจุได้ 25-50 กิโลกรัม ลังไม้ หรือลังพลาสติก บรรจุได้ 25-50 กิโลกรัม ถุงพลาสติก บรรจุได้ 5-10 กิโลกรัม
– การเก็บรักษา เพื่อรักษาคุณภาพของผักกาดหัวและขยายช่วงเวลาการเก็บรักษา ควรเก็บผักกาดหัวไว้ในอุณหภูมิ 0-1 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 90-95% เก็บไว้ได้นาน 21-28 วัน

เอกสารอ้างอิง
untitled