หอยเชอรี่ วิธีกำจัดหอยเชอรี่

Last Updated on 12 พฤศจิกายน 2016 by puechkaset

หอยเชอรี่ เป็นหอยที่ถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศ ปัจจุบันมีการเพิ่มจำนวน และแพร่ระบาดในเกือบทุกพื้นที่ของไทย จัดเป็นหอยน้ำจืดที่เป็นศัตรูต้นข้าวที่สำคัญ ในแต่ละปีหอยเชอรี่จะทำลายกอข้าวของเกษตรกรในหลายพื้นที่เสียหายเป็นอย่างมาก ซึ่งการกำจัด และป้องกันทำได้อย่างไม่ทั่วถึง เนื่องจากหอยชนิดนี้มีการวางไข่ และขยายพันธ์ได้อย่างรวดเร็ว และจำนวนมาก

หอยเชอรี่ (Pomacea canaliculata Lamarck) หรือเรียก หอยโข่งอเมริกาใต้ หรือ เป๋าฮื้อน้ำจืด มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ และทวีปอเมริกาเหนือ เป็นหอยน้ำจืดฝาเดียวคล้ายหอยโข่ง รูปร่างค่อนข้างกลม เปลือกสีเหลืองปนเขียวหรือปนน้ำตาล เปลือกมีลักษณะหมุนวนขวา ชอบอาศัยในแหล่งน้ำขัง ห้วยหนอง คลองบึง ทั่วไป และอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม

หอยเชอรี่อาจแบ่ง ได้เป็น 2 กลุ่ม ตามลักษณะที่มองเห็น คือ
1. หอยเชอรี่ที่มีลักษณะเปลือกสีเหลืองปนน้ำตาล เนื้อ และหนวดมีสีเหลือง
2. หอยเชอรี่ที่มีลักษณะเปลือกสีเขียวเข้มปนดำ มีแถบสีดำจางๆพาดตามแนวยาวของเปลือกจากฝาหอยไปท้ายหอย เนื้อ และหนวดมีสีน้ำตาลอ่อน

หอยเชอรี่
หอยเชอรี่

ปัจจุบันสีของเปลือก และเนื้อของหอยเชอรี่มีการเปลี่ยนแปลงตามลักษณะของการผสมพันธุ์ที่มีกระจายตัวในพื้นที่ต่างๆมากขึ้นทำให้เปลือกมีลักษณะผสมเกิดขึ้น โดยบางแห่งพบลักษณะเปลือกเขียวเข้มเกือบดำ เนื้อสีดำ หรือเปลือกดำ เนื้อสีเหลือง ซึ่งมีปริมาณมากกว่าชนิดลักษณะอื่น ปัจจุบัน ลักษณะเปลือกสีเหลือง หรือสีน้ำตาลทอง และเนื้อสีเหลืองสวยงามกลายเป็นกลุ่มที่หาได้ยากมากขึ้น

ข้อแตกต่างหอยเชอรี่กับหอยโข่ง
หอยเชอรี่มีรูปร่าง และขนาดคล้ายกับหอยโข่งไทย แต่มีข้อแตกต่างกัน คือ

หอยเชอรี่
1. เปลือกมีสีเหลืองปนน้ำตาลหรือสีเขียวเข้มปนดำ และมีแถบสีดำจางๆพาดตามความยาว
2. เนื้อ และหนวดมีสีเหลืองหรือสีน้ำตาลอ่อน
3. ขนาดตัวโตกว่าหอยโข่งเกือบเท่าตัว
4. การหมุนของเปลือกเป็นเกลียววนขวา
5. เปลือกหอยเชอรี่จะบางกว่า และเปราะหักง่าย ร่องเปลือกลึกมากกว่า ส่วนก้นหอยนูนสูง เกลียวใหญ่ และยาวกว่าหอยโข่ง
6. ฝาปิดของหอยเชอรี่จะบางกว่า เมื่อหงายขึ้นส่วนวงปาก (mouth) ของหอยเชอรี่จะมีลักษณะกลมกว่าหอยโข่ง
7. ไข่มีลักษณะสีชมพูสด หรือชมพูอมส้ม ขนาดเท่ากับเม็ดพริกไทย เรียงตัวเป็นชั้นสวยงาม
8. จำนวนไข่ประมาณ 388-3,000 ฟอง

หอยโข่ง (ไทย)
1. เปลือกมีสีเขียวอมน้ำตาลดำ
2. เนื้อ และหนวดสีดำ
3. ขนาดตัวเล็กกว่าหอยเชอรี่
4. การหมุนของเปลือกเป็นเกลียววนขวา
5. เปลือกหอยโข่งมีลักษณะหนา และแข็งมากกว่า และร่องเปลือกตื้นกว่า ส่วนก้นหอยสั้น เกลียวเล็ก และสั้นกว่าหอยเชอรี่
6. ฝาปิดของหอยโข่งจะหนาแข็ง และมีมุกเคลือบลักษณะสีขาว เมื่อหงายขึ้นส่วนวงปาก (mouth) ของหอยโข่งจะมีลักษณะกลมรีมากกว่าหอยเชอรี่
7. ไข่มีสีขาวขุ่น ขนาดเท่าเม็ดสาคู เกาะวงซ้อนกัน ไม่เป็นระเบียบเหมือนหอยเชอรี่
8. จำนวนไข่ประมาณ 200 -300 ฟอง

หอยโข่ง
หอยโข่ง

ประโยชน์หอยเชอรี่
1. นำมาประกอบอาหารได้หลายประเภท เช่น ลาบหอยเชอรี่ แกงอ่อมหอยเชอรี่ ผัดเผ็ดหอบเชอรี่ ใส่ส้มตำ เป็นต้น ทั้งนี้ การนำหอบเชอรี่มาประกอบอาหารจำเป็นต้องเอาตาหอยออกเสียก่อนหลังจากการต้มน้ำเดือด เนื่องจากตาหอยมีสารทำให้เกิดอาการมึนเมา และอาเจียนได้
2. การทำปุ๋ยหมัก ด้วยการนำหอยเชอรี่มาบดทุบ และหมักร่วมกับปุ๋ยหมักหรือหมักร่วมกับพืชชนิดต่างๆ
3. การทำน้ำหมักชีวภาพ ด้วยการนำเนื้อหอยด้านในหมักร่วมกับเศษอาหาร และสารเร่ง พด. 6
4. นำมาเป็นอาหารสัตว์ให้แก่ เป็ด ไก่ สุนัข เป็นต้น

ลาบหอยเชอรี่

ลักษณะวงจรชีพ
การเจริญเติบโต
เมื่อฟักออกจากไข่ลูกหอยเชอรี่จะมีรูปร่างเหมือนตัวเต็มวัย แต่มีขนาดเล็กกว่า โดยจะเริ่มสร้างเปลือกต่อจากปลือกเดิมทางด้านขอบปาก ทำให้มีขนาดของเปลือกเพิ่มขึ้น แต่รูปร่างยังไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งการสร้างเปลือกจะมีลักษณะเรียงตัวกันเป็นชั้นผลึกด้วยสาร organic matrix และเติมแคลเซียมคาร์บอเนตสลับกับ organic layer เรียงตัวกันเป็นชั้นที่หักเหทำให้เป็นมันวาว ชั้นนอกสุด ประกอบด้วยสารโปรตีนที่แข็งแรงคล้ายเขาสัตว์ ชื่อสาร conchiolin ซึ่งให้เม็ดสีทำให้เปลือกหอยมีสีต่างๆ

การเคลื่อนย้าย
หอยเชอรี่จะเคลื่อนที่โดยใช้เท้าที่มีลักษณะเป็นกล้ามเนื้อหนา สามารถยืดยาวหรือแผ่กว้าง สำหรับคืบคลาน เมื่อถูกรบกวนส่วนเท้าจะหดตัวเข้าไปในเปลือก

การกินอาหาร
หอยเชอรี่จะกินพืชน้ำเกือบทุกชนิดที่มีลักษณะใบอ่อนนิ่ม รวมถึงซากพืชซากสัตว์ในน้ำหรือตะกอนดิน มักพบกินในน้ำเพื่อให้น้ำช่วยพยุงให้ลอยแล้วใช้ขากรรไกรกัดกินพืช ภายในปากจะมีกรามขนาดใหญ่ 1 คู่ ใช้สำหรับกัดกินอาหาร และภายในจะเป็นแรดูลาหลายร้อยซี่เรียงเป็นแถวแนวขวาง?จำนวน 5 แถว ทำหน้าที่บดอาหาร และส่งไปยังกระเพาะอาหาร สำหรับพืชอาหารที่ชอบกัดกินจะเป็นลักษณะใบอ่อน โดยเฉพาะต้นข้าวในระยะต้นกล้าไปจนถึงระยะแตกกอ โดยหอยเชอรี่ 1 ตัวสามารถกินต้นข้าวที่มีอายุ 10 วันได้ 26 -47 ต้นต่อวัน

ระบบหายใจ
หอยเชอรี่จะหายใจโดยอาศัยโพรงแมนเทิลในช่องลำตัว ทำหน้าที่หมุนเวียนน้ำสำหรับแลกเปลี่ยนก๊าซ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ด้านขวาจะมีแมนเทิลที่เป็นเหงือก (gill) ใช้สำหรับแลกเปลี่ยนออกซิเจนจากน้ำทำให้อาศัยอยู่ในน้ำได้เหมือนปลา ส่วนด้านซ้ายที่เป็นอวัยวะคล้ายปอดทำหน้าหายใจโดยใช้อากาศจากด้านนอกทำให้สามารถอยู่บนบกได้ นอกจากนั้นยังมีเนื้อเยื่อที่โค้งพับเป็นหลอดคล้ายหลอดดูด ยืดหดได้ 6 -7 เซนติเมตร ใช้สำหรับเป็นท่อหายใจ

การสืบพันธุ์
หอยเชอรี่เป็นหอยแยกเพศ หอยที่มีแผ่นปิดเปลือกนูนมากเป็นหอยเพศผู้ เนื่องจากมีอวัยวะสืบพันธุ์ (gonad) ติดอยู่ ส่วนหอยเพศเมียแผ่นปิดเปลือกจะไม่ค่อยนูน จะมีเพียงเยื่อบางๆแผ่ติดอยู่เท่านั้น โดยทั่วไปหอยเชอรี่ตัวเต็มวัยที่พร้อมขยายพันธุ์จะมีอายุช่วงตั้งแต่ 3 เดือน ขึ้นไป

การสืบพันธุ์จะเริ่มจากการจับคู่เพื่อถ่าย sperm เข้าสู่ตัวเมีย หลังจากนั้น 1-2 วัน ตัวเมียจะคลานขึ้นไปวางไข่เหนือน้ำในเวลากลางคืน เช่น ตามกิ่งไม้ บนต้นพืช โคนต้น ใช้เวลาออกไข่ประมาณ 1-6 ชั่วโมง ไข่ที่มีสีชมพูสดจะซีดจางเกือบขาวภายใน 7-12 วัน แล้วจะแตกฟักออกเป็นลูกหอยมีขนาดเท่าหัวเข็มหมุด ในฤดูฝนตัวเมียสามารถวางไข่ได้ 10-14 ครั้งต่อเดือน และวางไข่ได้ตลอดทั้งปี ตลอดช่วงอายุขัย 2-3 ปี

ไข่หอยเชอรี่

ที่อยู่อาศัย
หอยเชอรี่ชอบอาศัยตามแหล่งน้ำทุกประเภทที่มีลักษณะน้ำนิ่งหรือไหลค่อย และชอบอาศัยในระดับน้ำตื้นๆ และทนต่อน้ำสกปรกได้ดี

การจำศีล
โดยทั่วไปหอยเชอรี่จะไม่จำศีลหากมีน้ำ และอาหารอุดมสมบูรณ์ในแหล่งอาศัย แต่หากเกิดน้ำแห้ง หอยเชอรี่ปิดฝาแล้วหมกตัวอยู่ในโคลนเข้าสู่ภาวะจำศีล และสามารถจำศีลอยู่ในดินแห้งได้นานถึง 7 เดือน ถึงแม้จะมีดินหรือโคลนกลบเพียงครึ่งตัว

การระบาด และวิธีกำจัดหอยเชอรี่
หอยเชอรี่ถูกนำเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรก จากประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน และฟิลิปปินส์ ในช่วงปี พ.ศ. 2525-2526 เพื่อเลี้ยงส่งขายประเทศญี่ปุ่น และเป็นสัตว์เลี้ยงในตู้ปลา ภายหลังไม่มีตลาดรับซื้อ จึงมีการปล่อยบ่อล้าง และถูกนำปล่อยในแม่น้ำลำคลอง

พบการระบาดครั้งแรกเมื่อต้นปี พ.ศ. 2530 ในสถานีทดลองข้าวบางเขน กรมวิชาการเกษตร จนกระทั่งปัจจุบันพบการระบาดในทุกพื้นที่ที่เป็นนาข้าว และตามแหล่งน้ำห้วยหนองคลองบึงต่างๆ

1. การป้องกัน และกำจัดโดยวิธีกล ได้แก่
1) การเก็บตัวหอย และไข่หอยเชอรี่ทำลายหรือนำมาใช้ประโยชน์ เช่น ประกอบอาหาร ทำปุ๋ยหมัก โดยการเก็บหอยในช่วงเช้า ช่วงเย็นหรือตอนค่ำ ที่น้ำในนาไม่ร้อนจากแสงแดด ซึ่งหอยจะลอยตัวขึ้นมาในช่วงนี้
2) การใช้สิ่งกีดขวางกั้นตามทางน้ำ เช่น ตาข่าย กับดักหอยเชอรี่ เพื่อนำมากำจัด และป้องการการแพร่กระจายสู่พื้นที่อื่น
3) ใช้ไม้หลักล่อให้วางไข่ โดยการปักหลักที่ทำจากไม้ในแหล่งน้ำหรือนาข้าวเพื่อล่อให้หอยมาบริเวณรอบหลักทำให้สามารถกำจัดได้ง่ายขึ้น
4) การใช้เหยื่อล่อ โดยการใช้พืชต้นอ่อนล่อให้หอยมากินทำให้สามารถง่ายต่อการกำจัด เช่น ใบมันสำปะหลัง ใบมันเทศ ใบหม่อน เป็นต้น
5) การควบคุมระดับน้ำในนา โดยให้มีน้ำขังในแปลง 5 -10 เซนติเมตร หลังการไถเทือกหรือไถกลบแล้วหาที่กำบังเป็นร่มปักไว้ในแปลง พร้อมนำใบหญ้าอ่อนหรือใบพืชอ่อนวางล่อ

2. วิธีกำจัดหอยเชอรี่โดยชีววิธี
สัตว์เลี้ยง อาทิ เป็ด เป็นสัตว์ที่ชอบกินหอยเชอรี่เป็นอาหาร หากปล่อยในนาข้าวหรือแหล่งน้ำมักทำให้การระบาดของหอยเชอรี่ลดลง

ศัตรูธรรมชาติของหอยเชอรี่ เช่น นกปากห่าง นกกระยาง นกอีลุ้ม นกกระปูด นกกะปูดใหญ่ นกกะปูดเล็ก และนกปากห่าง เป็นนกที่ชอบจับกินหอยเชอรี่ ส่วนปลาหมอไทย ปลาหมอช้างเหยียบ เป็นปลาที่สามารถกินหอยเชอรี่ขนาด 6-13 มิลลิเมตร ได้ 20 ตัวต่อวัน

3. การใช้พืชสมุนไพร
มีการศึกษาใช้สมุนไพรหลายชนิดเพื่อป้องกัน และกำจัดหอยเชอรี่ แต่ที่นี้ได้รวบรวมสมุนไพรที่มีการศึกษา และพบว่ามีฤทธิ์ทำให้หอยเชอรี่ตายได้ ได้แก่
นันทิยา โพธิ์สวัสดิ์ (2543) พบว่า สารสกัดจากกากชา และโล่ติ้น มีฤทธิ์ในการกำจัดหอยเชอรี่ได้ แต่ไม่มีผลต่อการฟักเป็นตัวของไข่หอยเชอรี่

ทวี เทพประสูตร (2545) พบว่า ลูกประดำดีควายมีฤทธิ์ทำให้หอยเชอรี่ตาย 60 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 36 ชั่วโมง และทะยอยตายหมด 100 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 66 ชั่วโมง และใบยาสูบทำให้หอยเชอรี่ตาย 74.44 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 60 ชั่วโมง และทะยอยตายเกือบหมดในเวลา 72 ชั่วโมง

4. การป้องกันกาจัดหอยเชอรี่โดยสารเคมี
การใช้สารเคมีเป็นวิธีการที่ใช้สำหรับแหล่งที่มีหอยเชอรี่ระบาดมากหรือไม่สามารถกำจัดด้วยวิธีอื่น ได้ สำหรับการใช้สารเคมีในนาข้าว ควรใช้ทันทีหลังปักดำหรือระยะหลังการงอก 1-2 อาทิตย์สำหรับนาหว่าน ซึ่งนาข้าวต้องมีน้ำสูงประมาณ 5 เซนติเมตร

กรมการข้าว (2553) แนะนำให้ใช้ คอปเปอร์ซัลเฟต อัตรา 1 กิโลกรัม/ไร่ ละลายในน้ำ แล้วฉีดพ่นทั่วแปลงนา โดยให้มีระดับน้ำ 5-10 เซนติเมตร หรือสารเคมีนิโคลซาไมด์ 20 อีซี (บูลูไซด์) อัตรา 160 ซี.ซี/ไร่ ผสมกับน้ำ แล้วฉีดพ่น

ส่วนสารเคมีเมทิลดีไฮด์ ชื่อทางการค้า แองโกลสลัก ใช้เป็นเหยื่อพิษ โดยการหว่านในนาข้าว อัตรา 0.5 กิโลกรัม/ไร่

ปัทมา แซ่กิม (2543) ได้ทดลองใช้ นิโคลซาไมด์ 250 อีซี และ 70% wp พบว่า หอยเชอรี่มีอัตราการตาย 100% ทุกระดับความเข้มข้น