หมามุ่ย และสรรพคุณ

Last Updated on 17 พฤศจิกายน 2017 by puechkaset

หมามุ่ย (Cowhage) จัดเป็นเป็นไม้เลื้อยขนาดเล็ก ผลเป็นฝักมีขนที่ทำให้เกิดอาการคันอย่างรุนแรง แต่ปัจจุบันเป็นพืชสมุนไพรที่มีชื่อเสียงในเรื่องการเพิ่มสมรรถภาพทางเพศของเพศชาย จนมีการปลูกมากในปัจจุบัน เนื่องจากเมล็ดมีราคาสูง

ชื่อวงศ์ : Papilionaceae
ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Mucuna pruriens (Linn.) DC.
ชื่อสามัญ : Cowhage
ชื่ออื่นที่เรียกตามท้องถิ่น : บะเหยือง หมาเหยือง โพล่ยู กลออื้อแซ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
1. ลำต้น
เป็นไม้เลื้อยเป็นเครือ ทอดยาว 3-10 เมตร

2. ใบ
ใบเป็นใบประกอบ มีใบย่อย 3 ใบ ทรงสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน กว้างประมาณ 3-10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-15 เซนติเมตร โดยใบกลางจะมีขนาดใหญ่สุด แผ่นใบเรียบสีเขียวอ่อนถึงแก่ มีขนปกคลุมใบทั้ง 2 ด้าน

3. ดอก
ดอกมีสีม่วงคล้ำ มีกลิ่นเหม็น แทงออกเป็นช่อที่ซอกใบ มีลักษณะย้อยลง ยาว 15-30 เซนติเมตร  ประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก แต่ละดอกกว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร ประกอบด้วยกลีบดอกมีลักษณะเป็นถ้วยสีน้ำตาล คล้ายดอกในพืชตระกูลถั่ว มีขนปกคลุม มีเกสรตัวผู้ประมาณ 10 อัน

ดอกหมามุ่ย

4. ผล
ผลเป็นฝักโค้ง ยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร กว้างประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร หนาประมาณ 5 มิลลิเมตร ผิวเปลือกมีขนแข็งสั้นปกคลุม ฝักอ่อนเปลือกมีสีเขียวอ่อน และค่อยเปลี่ยนเป็นสีเหลือง สีน้ำตาล และสีน้ำตาลอมแดงเมื่อฝักแก่เต็มที่ โดยขนติดติกกับฝักไปจนถึงระยะฝักแก่ตลอด ขนมีลักษณะหลุดร่วงง่ายหากถูกกระทบหรือเสียดสี ขนนี้มีความเป็นพิษต่อผิวหนังสัตว์ทำให้เกิดอาการคันมาก ส่วนด้านในประกอบด้วยเมล็ด 4-8 เมล็ด/ฝัก เมล็ดมีสีน้ำตาลเข้มถึงสีดำ

หมามุ่ย

ที่มา : ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, 2553.(1)

สารสำคัญที่พบ
กลุ่มอัลคารอยด์ (alkaloid) ได้แก่
1. กรดอะมิโน L-DOPA (L-3,4-dihydroxyphenyle alanine) พบมากที่สุด 7-10%
2. mucunine
3. mucunadine pruricnine
4. pruricnine
5. prurienidine
6. vernolic acid
7. gallic acid
8. tryptamine
9. lkylamines
10. steroids
11. flavonoids
12. coumarine
13. cardenolide

ที่มา: วิแทน, (2556)(2)

สรรพคุณทางยา
– สารสกัดที่ได้จากราก ลำต้น และเมล็ด มีฤทธิ์ต้านการอักเสบของต่อมลูกหมาก
– สารสกัด L-DOPA ที่ได้จากราก ลำต้น และเมล็ดใช้ในการรักษาโรคพาร์กินสัน เนื่องจากเป็นสารตั้งต้นในการผลิตสารสื่อประสาท dopamine ช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองได้ดี โดยเฉพาะการควบคุมการเคลื่อนไหว
– สาร L-DOPA มีฤทธิ์ในสรรพคุณทางยาหลายด้าน ได้แก่ การเสริมภูมิคุ้มกัน, การบำรุงร่างกาย, ช่วยเจริญอาหาร และทำให้นอนหลับง่าย, ซ่อมแซมส่วนสึกหรอ และลดอาการเหนื่อยล้าของกล้ามเนื้อ, ช่วยในการชะลอความแก่ และต้านอนุมูลอิสระ, ช่วยบำรุงผิวพรรณให้แลดูสดใส, ช่วยกระตุ้นการสร้างเสปิร์มในเพศชาย
– สารสกัดที่ได้จากราก ลำต้น และเมล็ด มีฤทธิ์ลดความดันเลือดให้ลดลงได้
– สารสกัดที่ได้จากราก ลำต้น และเมล็ด มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด และช่วยรักษาโรคเบาหวาน
– สาร phenolic steroids ที่สกัดได้จากหมามุ่ย เมื่อให้แก่หนูทดลองเพศผู้ที่ความเข้มข้น 200 มิลลิกรัม/กิโลกรัม วันละครั้ง ติดต่อกัน 45 วัน พบว่า หมามุ่ยสามารถกระตุ้นการผสมพันธุ์ของหนูขาวได้ เนื่องจากพบว่า หนูทดลองเพศผู้มีพฤติกรรมการขึ้นคร่อมตัวเมียเพื่อผสมพันธุ์มากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มหนูทดลองที่ไม่ได้รับสาร แต่เมื่อทดลองกับหนูเพศเมีย พบว่า หนูเพศเมียมีพฤติกรรมทางเพศน้อยลง เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับสาร แสดงให้เห็นว่า เมล็ดหมามุ่ยมีผลกระตุ้นสมรรถภาพทางเพศของเพศผู้ได้ และฤทธิ์การกระตุ้นสมรรถภาพทางเพศอาจมีผลเฉพาะในเพศผู้เท่านั้น

เมล็ดหมามุ่ย

มีการศึกษาในประเทศอินเดียที่มีการให้ผงเมล็ดหมามุ่ยผสมกับนมแก่เพศชายที่มีความผิดปกติของจำนวนน้ำเชื้อ และการเคลื่อนไหวของน้ำเชื้อที่ผิดผิดปกติ ในขนาด 5 กรัม วันละครั้ง ติดต่อกัน 3 เดือน พบว่า จำนวนเสปิร์มในกลุ่มผู้ทดลองเพิ่มจำนวนขึ้น และการเคลื่อนเป็นปกติ โดยมีค่าใกล้เคียงกับอาสาสมัครที่มีสุขภาพดี แสดงให้เห็นว่าเมล็ดหมามุ่ยมีผลกระตุ้นการสร้างจำนวนเสปิร์ม และทำให้เสปิร์มมีความแข็งแรง

ความเป็นพิษ
ขนที่ติดกับฝักมีฤทธิ์ทำให้เกิดการระคายเคืองแก่ผิวหนังที่สัมผัสอย่างแรง  ทำให้เกิดอาการคัน เป็นผื่นแดง บวม และบวมตามมา

ข้อควรระวัง
1. สตรีไม่ควรรับประทาน เนื่องจาก สารสำคัญในเมล็ดหมามุ่ยมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานฮอร์โมนเพศหญิง อาจมีผลทำให้สมรรถภาพทางเพศลดลง
2. การเก็บฝักหมามุ่ยต้องสวมถุงมือ และสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด ระวังอย่าสัมผัสกับฝัก และขนหมามุ่ยโดยตรง เพราะจะทำให้คัน เป็นผื่นอย่างรุนแรง

การปลูก และขยายพันธุ์
หมามุ่ยสามารถปลูก และขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด หมามุ่ยโดยทั่วไปสามารถพบได้ในป่าตามธรรมชาติ ทั้งป่ารกร้างแถบชายเมืองหรือป่าเบญจพรรณ และมักแพร่กระจายเป็นหย่อมทั่วบริเวณที่พบ

หมามุ่ยเป็นพืชเถาว์ที่เติบโตได้ดีในทุกดิน มีความทนต่อสภาพแห้งแล้ง แต่ไม่ชอบพื้นที่ดินชุ่ม และมีน้ำขัง  การปลูกจะใช้วิธีการเพาะเมล็ดในถุงเพาะชำก่อน 1-2 เดือน แล้วนำลงแปลงปลูกในระยะระหว่างต้น 2 x 2 เมตร หลังปลูกเสร็จต้องทำค้างด้วยไม้ไผ่รอบหลุมปลูก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-1.5 เมตร สูงประมาณ 1.5 เมตร

การเก็บเมล็ด และการประโยชน์
ส่วนของหมามุ่ยที่นำมาใช้ประโยชน์ คือ เมล็ดแก่ ซึ่งต้องเก็บเมล็ดในระยะฝักแก่ ซึ่งระยะนี้เถาว์จะมีใบเหลือง ฝักมีสีน้ำตาลอมแดง ซึ่งสามารถเก็บได้ทั้งฝักดิบแก่และฝักแก่แห้ง

ฝักหมามุ่ย

การเก็บฝักหมามุ่ยจะต้องสวมเสื้อผ้าให้มิด สวมผ้าปิดจมูก และใส่ถุงมือทุกครั้ง เพราะจะช่วยป้องกันขนจากฝักหมามุ่ยได้ วิธีเก็บอาจใช้มือเด็ดหรือใช้กรรไกรตัด หากเก็บฝักดิบ ให้นำฝักมาตากให้แห้งนาน 1-2 อาทิตย์ ก่อนนำมาปอกเปลือก แต่หากฝักแห้งอยู่แล้วก็นำมาปอกเอาเมล็ดได้เลย

การนำไปใช้ประโยชน์ นิยมนำมาบดแปรรูปอัดเป็นยาเม็ดรับประทานในแคปซูล หรือนำผงบดชงเป็นชาดื่ม รวมถึงนำทั้งเมล็ดที่ตากแห้งแล้วมาต้มน้ำดื่มรับประทานเป็นยา

เอกสารอ้างอิง
untitled