หน่อไม้น้ำ สรรพคุณ และการปลูกหน่อไม้น้ำ

Last Updated on 21 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

หน่อไม้น้ำ จัดเป็นพรรณไม้น้ำ และเป็นผักชนิดหนึ่ง มีลักษณะลำต้นคล้ายต้นข้าวทั่วไป แต่โคนต้นพองออกคล้ายหัวตะไคร้ นิยมเก็บโคนต้นมาประกอบอาหาร มีเนื้อสีขาวหรือมีประสีดำกระจายที่เกิดจากสปอร์ของเชื้อรา เมื่อรับประทานสดหรือประกอบอาหารจะมีความกรอบ และมีรสหวาน เป็นที่ชื่นชอบของชาวต่างชาติ

อนุกรมวิธาน
• ไฟลัม : Spermatophyta
• ชั้น : Angiospermae
• อันดับ หรือ ตระกูล : Graminales
• วงศ์ หรือ : Poaceae หรือ Graminae
• สกุล : Zizania
• ชนิด : Z. latifolia

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Zizania latifolia (Griseb) Turcz
• ชื่อสามัญ :
– Manchurian water rice
– Kiao Cabbage
– Kiao Shoots
ชื่อท้องถิ่นไทย :
ภาคกลาง และทั่วไป
– หน่อไม้น้ำ
ภาคใต้
– กะเป็ก
– ข้าวเป็ก
– กาแปะซุง
– กาแปซุง

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
หน่อไม้น้ำมีถิ่นกำเนิดในทางตอนเหนือของประเทศจีน จากนั้น แพร่กระจายเข้าประเทศต่างๆของไซบีเรีย และประเทศต่างๆในเอเชีย อาทิ ญี่ปุ่น ไต้หวัน อินเดียตอนเหนือ รัสเซียตอนใต้ ปากีสถาน พม่า และไทยตอนบน และถูกค้นพบครั้งแรก เมื่อปี ค.ศ. 1833 โดย Turczaninow ที่ค้นพบเติบโตในทะเลสาบระหว่างแม่น้ำ Shilka และArgum บริเวณทางภาคตะวันออกของแถบไซบีเรีย

สำหรับหน่อไม้น้ำที่แพร่เข้าในไทย สันนิษฐานว่า น่าจะแพร่เข้า 2 ทาง คือ ทางภาคเหนือตอนบนผ่านชาวจีนฮ่อที่อพยพเข้ามาอาศัย และทางภาคใต้ผ่านพ่อค้าชาวจีนหรือชาวจีนที่อพยพเข้ามาอาศัย ซึ่งขณะนั้นมีชื่อเรียกต่างๆ เช่น เจียวกวา กวาซุง และเกาะบะ โดยมีบันทึกการนำเข้ามาปลูกในภาคกลาง โดย ม.ร.ว จักรทอง ทองใหญ่ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงเกษตร ได้นำหน่อไม้น้ำจากไต้หวันเข้ามาปลูกในคูน้ำหน้าตึกธรรมศักดิ์มนตรี ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน [1] อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
หน่อไม้น้ำ เป็นพืชอายุหลายปี มีลำต้นทั่วไปคล้ายกับต้นข้าว แต่มีขนาดใหญ่กว่า และสูงกว่า รวมถึงโคนต้นมีลักษณะอวบใหญ่คล้ายหัวตะไคร้ ลำต้นสูงประมาณ 1.5-2 เมตร ลำต้นมีลักษณะกลม เป็นข้อปล้อง เนื้อลำต้นบริเวณโคนต้นมีสีขาว และมีจะประสีดำของเชื้อรากระจายทั่ว ส่วนปลายยอดมีสีเขียว มีกาบใบสีเขียวหุ้มบริเวณข้อปล้อง ภายในปล้องลำต้นกลวง ส่วนระบบรากเป็นระบบรากฝอย ออกเป็นกระจุกแน่นที่โคนราก รากฝอยมีขนาดเล็ก สีน้ำตาล คล้ายกับรากข้าว ทั้งนี้ ลำต้นหน่อไม้น้ำสามารถแตกหน่อลำต้นใหม่รวมกันเป็นกอใหญ่คล้ายกับกอข้าว

ลักษณะการอวบบวมบริเวณโคนต้นเหนือดินของหน่อไม้น้ำเกิดจากเชื้อราในกลุ่ม Ustilago esculenta P. Hennings ซึ่งพบเจริญจำนวนมาก หน่อไม้น้ำในระยะอวบบวมนี้จะเก็บในระยะที่รายังไม่สร้างเส้นใย [1] อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ

ใบ
หน่อไม้น้ำ เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว แตกใบออกเดี่ยวๆเยื้องสลับกันบริเวณข้อปล้อง ใบทั่วไปมีลักษณะคล้ายกับใบกกหรือใบธูปฤาษี ไม่มีก้านใบ มีหูใบเป็นแผ่นสั้นๆ และบางติดอยู่ระหว่างกาบใบกับแผ่นใบ แผ่นใบมีลักษณะเรียวยาว กว้างประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 50-100 เซนติเมตร โคนใบสอบแคบ แผ่นใบ และขอบใบเรียบ ขอบใบคม

ดอก
หน่อไม้น้ำออกดอกเป็นช่อแขนงคล้ายช่อดอกของข้าว แทงขึ้นตรงกลางลำต้นที่ปลายยอด ช่อดอกยาวประมาณ 40-70 เซนติเมตร บนช่อมีก้านช่อดอกย่อยจำนวนมาก ก้านช่อดอกย่อยยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร ก้านดอกย่อยมีลักษณะเป็นรูปถ้วยติดอยู่ ดอกย่อยแต่ละดอกมีลักษณะรี และยาว เป็นดอกแยกเพศ แต่อยู่บนก้านช่อดอกเดียวกัน

ดอกตัวผู้จะอยู่ด้านล่างของก้านช่อดอก กิ่งที่มีดอกตัวผู้มักจะกางออก ดอกตัวผู้มีลักษณะบอบบาง และขนาดเล็กกว่าดอกตัวเมีย ดอกตัวผู้ยาวประมาณ 8-12 มิลลิเมตร มีเกสรตัวผู้ 6 อัน ส่วนอับเรณูมีสีเหลือง ยาวประมาณ 8 มิลลิเมตร

ดอกตัวเมียอยู่ช่วงบนของดอกตัวผู้ ขนาดดอกยาวประมาณ 14-17 มิลลิเมตร กิ่งที่มีดอกตัวมักจะตั้งตรง มีก้านเกสรแยกออกเป็น 2 แฉก ด้านล่างก้านเกสรเป็นรังไข่ มียอดเกสรเป็นเส้นยาว แพร่ออกด้านข้าง คล้ายขนนก

เมล็ด
ดอกที่ได้รับการผสมจะเจริญเป็นผล ผลมีลักษณะทรงกลม ขนาดเล็ก

ประโยชน์หน่อไม้น้ำ
1. โคนลำต้นของหน่อไม้น้ำ นิยมเก็บมารับประทานสดหรือประกอบอาหาร เนื่องจาก โคนต้นมีลักษณะอวบใหญ่ คล้ายหัวตะไคร้ เนื้อหัวมีสีขาว มีความกรอบ หวาน มีกลิ่นคล้ายแห้วจีน ใช้รับประทานสด ใช้จิ้มน้ำพริก ผัดหรือแกงในเมนูต่างๆ ซึ่งนิยมมากในภาคใต้ ทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะใช้เป็นเมนูเด็ดตามร้านอาหารตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆในภาคใต้
2. หน่อไม้น้ำนำมาดองหวานหรือดองน้ำผึ้งสำหรับประกอบอาหารหรือรับประทาน
3. ในประเทศญี่ปุ่นนำหัวหรือโคนต้นที่แก่เต็มที่ เนื้อหัวมีสีดำที่เกิดจากสปอร์ของเชื้อรา นำมาใช้ทำสีเขียนตา หรือขนตา ใช้ทำยาย้อมผม ยากันสนิม และผสมแลกเกอร์ทาเคลือบงานไม้
4. ลำต้นหรือโคนหัวหน่อไม้น้ำใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ ทั้งโค กระบือ และสุกร
5. ต้นหน่อไม้น้ำใช้ปลูกสำหรับเป็นพืชบำบัดน้ำเสีย
6. ต้นหน่อไม้น้ำเป็นแหล่งหลบพักอาศัยหรือวางไข่ของปลา และเป็นแหล่งอนุบาลของลูกปลาขนาดเล็ก

สรรพคุณหน่อไม้น้ำ
– ป้องกันมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร
– รักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่
– ป้องกันโรคเบาหวาน
– ป้องกันโรคในระบบหัวใจ และหลอดเลือด
– ป้องกันโรคกระเพาะอาหาร

เพิ่มเติมจาก : [2]

การปลูกหน่อไม้น้ำ
หน่อไม้น้ำ เป็นพืชที่เติบโตได้ดีในแหล่งน้ำขัง คล้ายกับต้นข้าวทั่วไป ดังนั้น การปลูกหน่อไม้น้ำจึงคล้ายกับการปลูกข้าว ซึ่งสามารถปลูกได้ 3 รูปแบบ คือ
1. การหว่านเมล็ดโดยตรง
2. ปลูกจากต้นกล้าหว่านเมล็ด
3. การปลูกด้วยท่อนพันธุ์

การเตรียมแปลง
หว่านปุ๋ยคอกรองพื้นก่อนในหน้าแล้งห่อน แล้วไถกลบ 1 รอบ ทิ้งไว้ ก่อนปล่อยน้ำเข้าขังหรือปล่อยให้น้ำฝนท่วมขัง 5-7 วัน แต่หากหลังไถกลบครั้งแรกมีช่วงห่างนาน และมีหญ้าขึ้น ให้ไถกลบขณะน้ำขัง และขังทิ้งไว้อีก 5-7วัน อีกรอบ จากนั้น ค่อยไถทำเทือกสำหรับหว่านเมล็ดหรือนำกล้าหรือท่อนพันธุ์ลงปักดำ

วิธีปลูก
1. การหว่านเมล็ดโดยตรง
หลังไถกลบ และเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน ให้หว่านเมล็ด และไถกลบขณะที่ไม่มีน้ำขัง แล้วค่อยปล่อยน้ำขังหรือหว่านตมหลังไถเทือกหลังปล่อยน้ำออก แล้วจึงปล่อยน้ำขัง

2. ปลูกจากต้นกล้าหว่านเมล็ด
หลังไถทำเทือก นำต้นกล้าที่อายุประมา 40-60 วัน สูงประมาณ 40-60 เซนติเมตร มาปักดำ ลึกประมาณ 5-10 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 80-120 เซนติเมตร ต้องมีระยะห่างมากกว่าต้นข้าว เพราะหน่อไม้น้ำแตกกอใหญ่กว่า และมีลำต้นสูงกว่า

3. การปลูกด้วยท่อนพันธุ์
ท่อนพันธุ์ที่ใช้ให้ตัดจากแปลงที่ปลูกนานมากกว่า 6-8 เดือน ตัดท่อนพันธุ์ยาวประมาณ 50-80 เซนติเมตร ลงปักดำในระยะห่างเดียวกันกับปักดำกล้า

การรักษาระดับน้ำในแปลง
ระดับน้ำในแปลงเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง ควรรักษาระดับน้ำให้สูงสม่ำเสมอ ประมาณ 15-30 เซนติเมตร ไม่ปล่อยให้ขาดน้ำต่ำกว่า 5-10 เซนติเมตร หากน้ำแห้ง ลำต้นจะไม่เติบโต

การใส่ปุ๋ย
หลังการปลูก เมื่อต้นตั้งตัวได้หรือเริ่มแทงใบใหม่ 10-15 วัน ให้หว่านด้วยปุ๋ยสูตร 16-8-8 อัตรา 20 กิโลกรัม/ไร่ และใส่อีกรอบประมาณ 2-3 เดือน หลังใส่ครั้งแรก หรือเน้นใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักอย่างเดียว อัตรา 1-2 ตัน/ไร่

การกำจัดวัชพืช
มั่นลงถอนวัชพืชด้วยมือเป็นระยะหรือทุกๆ 2 สัปดาห์/ครั้ง

การเก็บเกี่ยว
หลังการปลูกแล้วประมาณ 5-6 เดือน ก่อนระยะออกดอก โคนลำต้นหน่อไม้น้ำจะอวบใหญ่ ขนาดประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร สามารถทยอยเลือกเก็บได้ ส่วนหน่อหรือลำต้นที่เพิ่มแตกให้ปล่อยเติบโตจนโคนต้นได้ขนาด โดยในพื้นที่ 1 ไร่ สามารถให้ผลผลิตหน่อไม้น้ำได้ประมาณ 200-300 กิโลกรัม/ไร่ ขายได้กิโลกรัมละประมาณ 60-120 บาท/กิโลกรัม โดยเฉพาะการส่งตามร้านอาหารจะได้ราคาสูงกว่า

ขอบคุณภาพจาก healthcarezones.com/, thaikasetsart.com/,

เอกสารอ้างอิง
[1] สุกัญญา บุญเฉลิมกิจ, 2520, การศึกษาสัณฐานวิทยาและการขยายตัวออก-
ของลำต้นของหน่อไม้น้ำ.
[2] สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน) , หน่อไม้น้ำ, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 10 พฤษภาคม 2560, เข้าถึงได้ที่ : https://eherb.hrdi.or.th/search_result_details.php?herbariumID=1387&name=Coba/.