หญ้าหวายข้อ ประโยชน์ และการปลูกหญ้าหวายข้อ

Last Updated on 1 กุมภาพันธ์ 2019 by puechkaset

หญ้าหวาย หรือ หญ้าหวายข้อ (Whip Grass) จัดวัชพืชชนิดหนึ่งที่มีการระบาดรุนแรงในนาข้าว เนื่องจากลำต้นมีไหล และหัวอยู่ใต้ดินลึก ทำให้ทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี และกำจัดได้ยาก ถึงแม้จะใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชฉีดพ่นก็ตาม แต่ปัจจุบัน เกษตรกรบางพื้นที่มีการปลูกหรือปล่อยเลี้ยงสำหรับใช้เป็นอาหารหยาบให้โค กระบือ หรือใช้จำหน่ายให้แก่ฟาร์มโค ฟาร์มกระบือ สร้างรายได้กลายเป็นอาชีพเสริมให้อีกทาง

• วงศ์ : Gramineae (Poaceae)
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hemarthria compressa
• ชื่อสามัญ : Whip Grass หรือ Limpo Grass
• ชื่อท้องถิ่น : หญ้าหวาย หรือ หญ้าหวายข้อ
• ถิ่นกำเนิด : ประเทศไทย และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การแพร่กระจายหญ้าหวาย/หญ้าหวายข้อ
หญ้าหวาย/หญ้าหวายข้อ พบแพร่กระจายพันธุ์ในแถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยพบแพร่กระจายในทุกจังหวัด ทั้งที่ดอน พื้นที่ไร่ แปลงนา และพื้นที่ลุ่มที่มีน้ำขัง เป็นพืชที่ปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมได้ดีมาก เติบโตได้ดีในทุกสภาพดิน มีรากเหง้าอยู่ใต้ดินลึก ทำให้ทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดีมาก

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
หญ้าหวาย/หญ้าหวายข้อ เป็นหญ้าอายุหลายปี มีลำต้นแท้เป็นไหลอยู่ใต้ดินลึก ประมาณ 3-5 เซนติเมตร ไหลมีลักษณะกลมแข็ง แตกออกเป็นแขนง และเป็นข้อปล้อง บริเวณข้อปล้องเป็นที่แตกยอดของต้นใหม่ และมีรากฝอยแตกออกแทงลึกลงดินในแนวดิ่ง ยาว 5-20 เซนติเมตร ส่วนปลายไหลมีลักษณะแหลม ใช้สำหรับแทงแทรกขนานไปตามพื้นดิน ซึ่งมีความยาวไหลได้มากกว่า 1 เมตร เนื้อไหลมีลักษณะอ่อน แต่เหนียว ใช้มือเด็ดให้ขาดยาก

ลำต้นเทียม จัดเป็นส่วนของลำต้นเหนือดินที่เรามองเห็น ซึ่งแทงออกจากหัวใต้ดินขึ้นมา ลำต้นเทียมมีลักษณะทรงกลม สีเขียว และเป็นข้อปล้องซึ่งเป็นบริเวณที่กาบใบหุ้มอยู่ ขนาดลำต้นประมาณ 2-3.5 มิลลิเมตร พอๆกับขนาดของไหลใต้ดิน ส่วนความสูงเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 30-60 เซนติเมตร หรือบางที่อาจพบสูงได้มากถึง 100 เซนติเมตร และหากลำต้นสูงมากตั้งแต่ 30 เซนติเมตร มักโน้มเอนพาดไปตามดิน หรือ เรียกเป็นความยาวแทนความสูง

ใบ
หญ้าหวาย/หญ้าหวายข้อ เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว แตกกาบใบออกหุ้มลำต้นที่เยื้องสลับข้างกัน กาบใบมีลักษณะเป็นแผ่น กาบอ่อนมีสีม่วงอมเขียว และแก่มีสีเขียวอ่อน ทำหน้าที่หุ้มรอบลำต้น กาบใบยาวประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร จุดเชื่อมต่อของกาบใบ และแผ่นใบ มีลิ้นใบสั้นๆ และขอบลิ้นใบมีขนสีขาวปกคลุม ถัดมาเป็นส่วนของแผ่นใบที่มีลักษณะเรียวยาว แผ่นใบกางแผ่ออก แผ่นใบ และขอบใบเรียบ แผ่นใบเป็นมัน ไม่มีขนปกคลุม และมีเส้นกลางใบสีขาวชัดเจน ปลายใบแหลม ขนาดใบกว้างสุดประมาณ 5-7 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 5-20 เซนติเมตร

ดอก
หญ้าหวาย เป็นดอกแยกเพศรวมอยู่ด้วยกันบนก้านดอก ดอกหญ้าหวายออกเป็นช่อ แทงจากกลางลำต้นบริเวณส่วนยอด โดยก้านช่อดอกจะมีสีเขียวอ่อน ขนาดประมาณ 1.5-3 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ประกอบด้วยดอกย่อยเรียงซ้อนสลับกันเป็นชั้นตามความยาวของช่อดอก ประกอบด้วยดอกตัวเมียที่มีลักษณะเป็นกระเปาะสีเหลือง และดอกตัวผู้ที่มีลักษระคล้ายขนนกสีขาว

ประโยชน์หญ้าหวาย/หญ้าหวายข้อ
1. หญ้าหวาย/หญ้าหวายข้อที่พบขึ้นตามแปลงนา คันนา หรือขอบไร่ นิยมตัดมาเป็นอาหารให้แก่โค กระบือ โดยเฉพาะช่วงทำนาที่เกษตรกรไม่มีแปลงหญ้าเลี้ยงโค รวมถึง หน้าแล้งที่หญ้าหวายมักขึ้นตามแปลงนาหลังเก็บเกี่ยวข้าว ซึ่งเป็นหญ้าอาหารให้โคสำหรับการปล่อยเลี้ยงในแปลง
2. เกษตรบางพื้นที่มักปล่อยให้หญ้าหวายเติบโตในพื้นที่ว่างหรือปลูกเลี้ยงสำหรับตัดจำน่ายให้แก่ฟาร์มเลี้ยงโค กระบือ สร้างรายได้เป็นอาชีพหนึ่ง
3. ใช้ปลูกเป็นพืชคลุมดิน ป้องกันหน้าดินพัง โดยเฉพาะขอบบ่อที่ทำการขุดใหม่ หรือ คันนาที่ทำการไถดันใหม่

คุณค่างทางโภชนาการหญ้าหวาย/หญ้าหวายข้อ
– โปรตีน 9.9-10.3%
– ฟอสฟอรัส 2.3%
– โพแทสเซียม 0.9%
– แคลเซียม 0.31%
– เยื่อใย ADF 32.0-32.6%
– เยื่อใย NDF 63.3-65.3%
– วัตถุแห้งที่ย่อยได้ 60.9%
– ลิกนิน 4.6%

ที่มา : 1)

ข้อเสียหญ้าหวาย/หญ้าหวายข้อ
1. เป็นวัชพืชในสวนหรือไร่นาข้าว ที่คอยแย่งน้ำ แย่งอาหาร ทำให้พืชผลไม่ค่อยเติบโต และได้ผลผลิตน้อย
2. หญ้าหวายมีลำต้นเป็นไหลอยู่ใต้ดิน การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชจะใช้ไม่ได้ผล
3. หญ้าหวายสามารถแพร่กระจาย และเติบโตได้ทั้งทางเมล็ด และการแตกไหล ซึ่งสามารถแพร่กระจายคลุมพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว
4. ลำต้นหญ้าหวายเมื่อเติบโตเต็มที่จะสูงมาก ลำต้นแตกกอได้เร็ว ทำให้พื้นที่รกอย่างรวดเร็ว กลายเป็นที่อยู่ของหนู หรืองูเงี้ยวต่างๆ

ข้อดีการเป็นหญ้าอาหารสัตว์
1. หญ้าหวาย เป็นหญ้าหลายปี สามารถแตกไหลแพร่เป็นต้นใหม่ได้อย่างรวดเร็ว
2. ลำต้นมีความสูง ใบมีขนาดปานกลาง สามารถให้ผลผลิตต่อไร่สูง และเป็นที่ชอบกินของโค กระบือ
3. ปลูก และขยายพันธุ์ได้ง่าย ทั้งการใช้เหง้า และไหลปลูก หรือการหว่านด้วยเมล็ด
4. เป็นหญ้าที่ทนต่อสภาพน้ำขัง สภาพดินชื้นแฉะ สามารถปลูกหรือปล่อยให้โตได้ในทุกสภาพพื้นที่
5. เหง้า และไหล อยู่ใต้ดินลึก ทำให้ทนแล้งได้ดี สามารถแตกเหง้าใหม่เมื่อมีความชื้น
6. เป็นหญ้าที่มีโปรตีนสูง 9.9-10.3% และสูงเป็นอันดับต้นฯ เมื่อเทียบกับหญ้าชนิดอื่น แต่มีข้อเสีย คือ ให้ผลผลิตต่ำเมื่อเทียบกับหญ้าบางชนิด เช่น หญ้าเนเปียร์ ซึ่งมีโปรตีนสูงเช่นกันที่ 7.32%

วิธีกำจัดหญ้าหวาย
เนื่องจากหญ้าหวายมีไหล และเหง้าอยู่ใต้ดินลึก และทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี ดังนั้น การใช้สารเคมี และการไถพรวนจึงกำจัดได้ยาก แต่การไถพรวนสามารถกำจัดได้บ้าง ดังนั้น จึงมีวิธีกำจัดที่ได้ผล คือ
1. การขุดเหง้ากำจัด
การขุดเหง้ากำจัดถือเป็นวิธีที่ได้ผลมากที่สุด ด้วยการใช้จอบขุดพรวนเหง้าขึ้นมา และดึงไหลออก พร้อมกองตากแดดไว้ ซึ่งเหง้า และไหลจะตายหลังตากแดด 15-20 วัน ก่อนจะเผาทำลายหรือนำไปทำปุ๋ยหมัก ทั้งนี้ วิธีนี้ต้องใช้แรงคนเป็นหลัก และใช้เวลานาน แต่ได้ผลที่สุด ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้จะเห็นข้อแตกต่างได้ว่าพื้นที่ที่ขุดจะไม่มีหญ้าหวายขึ้น

2. การไถพรวนหลายรอบ
การไถพรวน เป็นวิธีหนึ่งที่กำจัดได้ผล แต่หากไถพรวนรอบเดียว และไถพรวนไม่ตรงฤดูก็ไม่สามารถกำจัดได้เช่นกัน เนื่องจาก ไหล และเหง้าบางส่วนที่แทรกในก้อนไถลึกจะไม่ตาย เพราะไม่ถูกแดด แต่ส่วนไหล และเหง้าที่อยู่ด้านบนหรือแทรกในก้อนไถตื้นส่วนมากจะตายไป

การไถพรวนนั้น ควรไถพรวนในช่วงแล้ง เริ่มตั้งแต่หลังการเก็บเก็บข้าว จนถึงประมาณเดือนเมษายน แต่หลังเมษายนแล้วมักมีฝนมาก การไถพรวนจะไม่ได้ผล

การไถพรวนรอบแรกให้ตากดินไว้ประมาณ 14 วัน หลังจากนั้น ให้ไถพรวนอีก 1-2 รอบ ทั้งนี้ การปรับผานไถให้ลึกจะช่วยดันเหง้า และไหลหญ้าหวายขึ้นมาได้หมด และช่วยให้การกำจัดมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น ควรใช้การดึงไหล และการพรวนกำจัดด้วยมือร่วมด้วยยิ่งดี

การปลูกหญ้าหวาย/หญ้าหวายข้อ
การปลูกหญ้าหวาย ส่วนใหญ่จะปลูกหรือเลี้ยงเพื่อใช้เป็นอาหารโค กระบือของตัวเอง หรือ อาจตัดจำหน่ายให้แก่ฟาร์มหรือคนเลี้ยงคนอื่นที่ต้องการ ซึ่งมักทำกันบนพื้นที่ว่าง เพียงไม่กี่ไร่เท่านั้น

การเตรียมพื้นที่
– หากเป็นแปลงดินที่มีวัชพืชขนาดใหญ่ให้ใช้มือถอนออกให้หมด ให้เหลือเพียงหญ้าหรือวัชพืชขนาดเล็ก
– หากมีเฉพาะวัชพืชหรือหญ้าขนาดเล็ก และให้หว่านปุ๋ยคอก อัตรา 500 กิโลกรัม/ไร่ ร่วมด้วยกับปุยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 10 กิโลกรัม/ไร่ ก่อนไถ ทั้งนี้ อาจปรับเพิ่มลดตามความต้องการ
– หลังจากหว่านปุ๋ย ให้ไถพรวนดิน พร้อมกำจัดวัชพืชอื่นออกให้หมด หรือเพียงไถกลบ และตากแดดทิ้งไว้นาน 1-2 อาทิตย์

ขั้นตอนการปลูก
การปลูกอาจทำได้ด้วยการหว่านเมล็ด ด้วยการนำเมล็ดแก่มาหว่าน และไถคราดกลบตื้นๆ แต่วิธีนี้ไม่นิยมนัก เพราะต้นเติบโตช้า และมักมีหญ้าหรือวัชพืชเติบโตจนคลุมแปลงก่อน

ส่วนการปลูกที่นิยม และได้ผลเร็ว คือ การปลูกด้วยไหล ซึ่งหลังจากเตรียมพื้นที่แล้ว จะเริ่มด้วยการหาไหลหรือหัวหญ้าหวายที่ขุดได้จากแปลงนาหรือที่ต่างๆ ขนาดยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ซึ่งจะต้องให้มีเหง้าหรือหัวหญ้าหวายติดมาด้วย อย่างน้อย 1 หัว

นำไหลหญ้าหวายวางบนแปลงให้กระจายทั่ว ขนาดพื้นที่ 1 ตารางเมตร ให้ใช้ไหลประมาณ 10-15 เส้น หลังจากนั้น ทำการไถกลบ

การให้น้ำ
โดยทั่วไปหญ้าหวายจะทนแล้งได้ดีมาก เกษตรกรมักปล่อยให้เติบโต ด้วยการอาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติเป็นหลัก แต่อาจให้น้ำบ้างในช่วงฤดูแล้ง เพื่อให้มีหญ้าสำหรับโคกิน

การใส่ปุ๋ย
การใส่ปุ๋ยจะใส่ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรี่ยมแปลงที่ได้กล่าวมาแล้ว และหลังจากนั้น เมื่อต้นแทงยอดเหนือดินประมาณ 10-15 เซนติเมตร แล้ว จึงเริ่มให้ปุ๋ยคอก และปุ๋ยเคมีตามอัตราเดิมอีกครั้ง

การเก็บหญ้า
หลังจากปลูกแล้ว ประมาณ 3-5 เดือน จึงเริ่มเก็บหญ้าหวายครั้งแรก และสามารถเก็บหญ้าหวายได้ในทุกๆ 50-60 วัน/ครั้ง ทั้งนี้ ควรเก็บในระยะก่อนหญ้าหวายออกดอกทุกครั้ง และควรเก็บให้เหลือตอที่สูงจากพื้นไม่มาก ประมาณ 3-6 เซนติเมตร เท่านั้น

ขอบคุณภาพจาก http://tantai24.blogspot.com

เอกสารอ้างอิง
1) สายัณห์ ทัดศรี, 2548. หญ้าอาหารสัตว์ และหญ้าพื้นเมืองในประเทศไทย. หมาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.