หญ้าหนวดแมว ประโยชน์ สรรพคุณ และการปลูกหญ้าหนวดแมว

Last Updated on 23 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

หญ้าหนวดแมว (Kidney tea) จัดเป็นพืชท้องถิ่นในเอเชีย รวมถึงประเทศไทยที่นิยมใช้เป็นยาสมุนไพร โดยเฉพาะสรรพคุณทางยาในการบำรุงไต และป้องกันโรคไตต่างๆ รวมถึงสรรพคุณอื่นอีกหลายด้าน

• วงศ์ : Labiatae หรือ Lamiaceae (วงศ์เดียวกันกับกระเพรา)
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Orthosiphon stamineus Benth.
• ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ :
– Orthosiphon aristatus (Blume) Miq.
– Orthosiphon spicatus(Thumb) Bak.
– Ocimum longifolium Ham.
– Orthosiphon grandiflorus Bold.
• ชื่อสามัญ :
– Kidney tea plant
– Hoorah grass
– Java tea
– Cat’s whiskers
• ชื่อท้องถิ่น :
– หญ้าหนวดแมว
– พยับเมฆ
– บางรักป่า
– อีตู่ดง

ที่มา : [1]

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
หญ้าหนวดแมว จัดเป็นพืชป่าในเขตร้อนชื้น มีถิ่นกำเนิดในเอเชีย พบได้ตั้งแต่ประเทศอินเดีย จีน และประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทยด้วย [3]

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
หญ้าหนวดแมวจัดเป็นพืชล้มลุกขนาดเล็ก มีอายุมากกว่า 1 ปี สูงประมาณ 0.4-1 เมตร ลำต้นแตกกิ่งออกเป็นทรงพุ่มใหญ่ ประมาณ 35-50 เซนติเมตร ลำต้น และกิ่งมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม เปลือกลำต้นมีสีม่วงแดง และมีขนปกคลุม เนื้อไม้เป็นไม้เนื้ออ่อน หักได้ง่าย

%e0%b8%ab%e0%b8%8d%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%ab%e0%b8%99%e0%b8%a7%e0%b8%94%e0%b9%81%e0%b8%a1%e0%b8%a7

ใบ
หญ้าหนวดแมวแตกใบเป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ ใบมีรูปไข่ สีเขียวเข้ม แผ่นใบเรียบ และมีขนเล็กน้อย ขอบใบหยัก ปลายใบแหลม มีก้านใบยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร แผ่นใบกว้าง 1.5-5 เซนติเมตร ยาว 5-10 เซนติเมตร ผิวใบทั้ง 2 ด้าน มีต่อมเป็นจุดๆ จำนวนมาก

ดอก
หญ้าหนวดแมว ออกดอกเป็นช่อที่ปลายยอด คล้ายดอกโหระพา มีก้านช่อดอกยาวประมาณ 7-30 เซนติเมตร ในช่อดอกมีดอกย่อยประมาณ 6 ดอก เรียงซ้อนกันคล้ายฉัตร ดอกย่อยมีก้านดอกยาว 1-6 มิลลิเมตร ตัวดอกมีสีม่วงหรือขาว รูปทรงกระบอก แบ่งเป็น 2 กลีบ โดยกลีบบนแยกออกเป็น 3 แฉก ส่วนกลีบล่างเป็นรูปซ้อน และยาวรี ปกคลุมด้วยขนสั้นตั้งตรง ตรงกลางดอกมีเกสรตัวผู้ 4 อัน มีลักษณะยาว โผล่ออกมานอกกลีบดอก ลักษณะคล้ายกับหนวดแมว ด้านในสุดมีอับเรณู 2 ช่อง เรียงขนานกัน รังไข่มี 4 ใบ

%e0%b8%94%e0%b8%ad%e0%b8%81%e0%b8%ab%e0%b8%8d%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%ab%e0%b8%99%e0%b8%a7%e0%b8%94%e0%b9%81%e0%b8%a1%e0%b8%a7

เมล็ด
เมล็ดหญ้าหนวดแมวมีลักษณะรี และค่อนข้างแบน ยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตรเมตร เปลือกเมล็ดย่น

ประโยชน์หญ้าหนวดแมว
หญ้าหนวดแมว จัดเป็นพืชป่าในเขตร้อนชื้นที่ใช้เป็นสมุนไพร และไม้ประดับ เนื่องจาก พบสารสำคัญหลายชนิดที่ออกฤทธิ์ทางยาได้ดี รวมถึงดอกมีรูปฉัตร ตัวดอกมีสีขาว และมีเกสรยาวโผล่ออกมาสวยงาม

คุณค่าทางโภชนาการหญ้าหนวดแมว (100 กรัม) [8] อ้างถึงใน นิรนาม (2550)
– พลังงาน : 3.45 กิโลแคลอรี่
– โปรตีน : 6.8 กรัม
– ไขมัน : 0.04 กรัม
– คาร์โบไฮเดรต : 78 กรัม
– น้ำตาล : 6 กรัม
– ใยอาหาร : 17 กรัม
– โซเดียม : 81.3 กรัม

สรรพคุณหญ้าหนวดแมว
1. ไทย (ใบ, ราก และลำต้น) [1], [2] อ้างถึงใน Tezuka, Y. และคณะ (2000), Awale และคณะ (2001)
– รักษาโรคปวดข้อปวดหลัง
– ช่วยลดความดันโลหิต
– แก้คลื่นเหียน อาเจียน
– รักษาถุงน้ำดีอักเสบ
– ช่วยบรรเทาอาการไอ ด้วยการชงน้ำดื่ม ทั้งใบ และลำต้น
– ช่วยรักษาโรคไต ช่วยรักษาสภาพความเป็นกรดด่างในไตให้สมดุล อีกทั้ง ช่วยขยายหลอดไตให้กว้าง ช่วยเพิ่มการขับสารพิษออกจากไตให้มีประสิทธิภาพ
– ช่วยขับปัสสาวะ ทำให้การหลั่งปัสสาวะเพิ่มขึ้น มีเกลือโพแทสเชียมเป็นแร่ธาตุช่วยกระตุ้น
– รักษา และป้องกันโรคนิ่ว โดยช่วยขับกรดยูริก ป้องกันการตกค้างของกรดยูริกในกระแสเลือด และไต
– ช่วยลดน้ำตาลในเลือด ด้วยคุณสมบัติของกรดเออร์โซลิคที่มีคุณสมบัติลดน้ำตาลในเลือดได้ดี
– แก้โรคไขข้ออักเสบ ทั้งอาการปวดตามข้อเข่า ข้อมือ โดยนำหญ้าหนวดแมวมาต้มน้ำดื่ม ขนาด 1 ถ้วย วันละ 3 ครั้ง

นอกจากนี้ ในตำรายาหลายฉบับกล่าวถึงสรรพคุณต่างๆ ได้แก่
– ตำรายาใช้ใบ และลำต้นการรักษา และป้องกันโรคทางเดินปัสสาวะ [3]
– ใบหญ้าหนวดแมวประกอบด้วยเกลือโพแทสเซียม (potassium salts) ในปริมาณสูง มีกลูโคไซด์ (glucoside) หรือออโธไซโฟนิน (orthosiphonin) มีสรรพคุณช่วยขับปัสสาวะ ช่วยลดน้ำตาลในเลือด และลดความดันโลหิต ใช้ในผู้ป่วยโรคไต โรคบวมน้ำ นิ่วในไต บรรเทาอาการปวดตามข้อ และรักษาโรคเบาหวาน [4]
– ใบ นำมาตากแห้ง ก่อนชงเป็นชาดื่ม ช่วยขับปัสสาวะ แก้โรคนิ่ว โรคไต แก้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย และแก้โรคไขข้ออักเสบ [5]
– ลำต้น ใช้ทั้งแบบสดหรือแบบแห้ง ด้วยการต้มดื่ม โดยเฉพาะชายสูงอายุที่ช่วยแก้โรคต่อมลูกหมากโต และแก้ปัญหาปัสสาวะติดขัด รวมถึงมีฤทธิ์ในการขับกรดยูริก [6]
– สรรพคุณหญ้าหนวดแมว ตำรายากล่าวว่า เป็นสมุนไพรที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของไต แก้กษัย แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย ช่วยลดความดันเลือด ช่วยระงับอาการปวดเกร็ง บรรเทาอาการขัดเบา ช่วยทุเลาอาการปวดนิ่ว โดยเฉพาะนิ่วกรดที่เกิดจากการรับประทานเนื้อสัตว์ที่มีกรดยูริคสูง อาทิ ไก่ ทำให้กรดยูริค และเกลือยูเรต ไม่จับตัวเป็นก้อน จนตกค้างในไต และทำลายไต นอกจากนั้น ยังช่วยป้องกันการตกค้างของแคลเซียมในไต กระตุ้นให้ท่อไตขยายกว้าง ช่วยให้ไตขับสารพิษได้ดี รักษาโรคหนองใน ส่วนการรักษาโรคคุดทะราด รวมถึงแก้อาการคลื่นเหียน อาเจียน ตำรายาให้ใช้ใช้ทั้งใบ และกิ่งต้มน้ำรวมกับสารส้ม ดื่มวันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร [7]
– สารสกัดจากหญ้าหนวดแมวมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อราหลายชนิด เร่งการหลั่งน้ำดี รักษาถุงน้ำดีอักเสบ มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด ช่วยรักษาโรคเบาหวาน [7]

2. พม่า (ใบ) [1]
– ช่วยรักษาโรคไต
– ช่วยลดน้ำตาลในเลือด
– รักษาโรคกระเพาะปัสสาวะ

3. เวียดนาม (ใบ และลำต้น) [1]
– ช่วยรักษาโรคไต
– รักษาโรคปวดข้อ
– ช่วยขับปัสสาวะ
– ช่วยลดความดันโลหิต
– ช่วยลดน้ำตาลในเลือด
– รักษาโรคกระเพาะอาหาร
– รักษาโรคนิ่วในถุงน้ำดี
– รักษาโรคตับอักเสบ
– รักษาไข้หวัดใหญ่
– รักษาโรคดีซ่าน
– แก้อาการบวมน้ำ
– แก้ผดผื่นคัน

4. อินโดนีเซีย (ใบ และลำต้น) [1]
– รักษาโรคปวดข้อ
– ช่วยขับปัสสาวะ
– ช่วยลดความดันเลือด
– ช่วยลดน้ำตาลในเลือด
– รักษาต่อมทอนซิลอักเสบ
– แก้โรคลมบ้าหมู
– รักษาโรคซิฟิลิส
– รักษาโรคหนองใน
– แก้ประจำเดือนผิดปกติ

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

1. งานวิจัยในสัตว์ [9] อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ
การศึกษาสารสกัดหญ้าหนวดแมวที่มีสารพอลีแซ็คคาไรด์ (polysaccharide) ที่ทดลองให้แก่หนูแรท ขนาด 80 และ 160 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ในน้ำดื่มเป็นเวลา 7 วัน พบว่า มีผลช่วยป้องกันเกิดนิ่วชนิดแคลเซียมออกซาเลต (calcium oxalate stones) ได้ดี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงคุณสมบัติของสารพอลีแซ็กคาไรด์ที่ช่วยควบคุมการแสดงออกของโปรตีนออสทิโอพอนทิน (OPN protein) ในการขับแคลเซียมไออน และออกซาเลตไอออนออกมากับปัสสาวะ และช่วยเป็นตัวยับยั้งการเกิดผลึกแคลเซียมออกซาเลต) (Zhong et al., 2012)

สารสกัดจากใบหญ้าหนวดแมวอออกฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งอินซูลินในภาวะที่มีน้ำตาลสูงช่วยให้สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูที่เป็นเบาหวานได้ และการใช้สารสกัดจากใบหญ้าหนวดแมว ขนาด 14 และ 28 กรัม สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดในกระต่ายได้ แต่มีฤทธิ์ไม่สม่ำเสมอ

การศึกษาความเป็นพิษเรื้อรังจากการใช้สารสกัดหญ้าหนวดแมวในหนูขาวสายพันธุ์วิสตาร (wistar rat) จำนวน 24 ตัว นาน 6 เดือน โดยสารสกัดขนาด 0.96, 2.4 และ4.8 กรัม/กิโลกรัมน้ำหนักตัว/วัน พบว่า สารสกัดจากหญ้าหนวดแมวมีผลลดระดับโซเดียม ในขณะที่ระดับเอนไซม์อัลคาไลน์ฟอสฟาเตส (alkaline phosphatase) มีค่าเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังพบว่าหนูเพศผู้เกิดมีถุงน้ำขึ้นที่กรวยไต (hydrocalyx) ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้สารสกัดหญ้าหนวดแมวในความเข้มข้นสูง และหลีกเลี่ยงการใช้ติดต่อเป็นระยะเวลานาน ในส่วนของการตรวจทางจุลพยาธิวิทยา พบว่า หนูเพศผู้เกิดการสะสมไขมันที่เซลล์ตับ ส่วนหนูเพศเมีย พบการสะสมหินปูนอยู่ในเนื้อไต (nephrocalcinosis) (Sittisomwong et al., 1999)

2. งานวิจัยในมนุษย์ [9] อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ
การศึกษาใช้หญ้าหนวดแมวเพื่อลดขนาดของนิ่วในไตเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาโซเดียมโพแทสเซียมซิเตรต (Na-K citrate) ในผู้ป่วยจำนวน 48 คนที่มีนิ่วในไต ขนาดตั้งแต่ 9 มิลลิเมตรขึ้นไป และมีค่าครีเอทินีน (creatinine) ต่ำกว่า 4.0 มิลลิกรัม/เดซิลิตร และไม่มีประวัติเกี่ยวกับโรคหัวใจ เป็นเวลานาน 18 เดือน พบว่า ผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับน้ำชงจากหญ้าหนวดแมว 2.5 กรัม ไม่พบอาการข้างเคียง และนิ่วมีขนาดลดลงร้อยละ 28.6-15.9 ของขนาดเริ่มต้น และเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาโซเดียมโพแทสเซียมซิเตรต พบว่า ขนาดนิ่วลดลงน้อยกว่าเพียงเล็กน้อย ค่าความเป็นกรดด่าง (pH) ในปัสสาวะลดลง รวมทั้ง มีผลในการบรรเทาอาการทางคลินิก ได้แก่ อาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ลดอาการจุกแน่นท้อง และแสบร้อนสีข้างได้ถึงร้อยละ 95

การศึกษาประสิทธิภาพของหญ้าหนวดแมวในการรักษา และป้องกันโรคนิ่วไตในอาสาสมัครเพศชาย 130 คน ที่มีอายุระหว่าง 20-50 ปี นาน 7 วัน พบว่า หญ้าหนวดแมวมีผลเพิ่ม pH และปริมาตรปัสสาวะอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

การปลูกหญ้าหนวดแมว

หญ้าหนวดแมว เป็นไม้ล้มลุกที่เติบโตได้ดีในดินชื้น คล้ายกับโหระพา จึงทนต่อสภาพแห้งได้น้อย ดังนั้น การปลูกหญ้านวดแมวจึงควรเลือกสถานที่ปลูกที่ค่อนข้างชื้นเสมอหรือมีระบบให้น้ำอย่างทั่วถึง อาทิ สวนหลังบ้าน หรือแปลงปลูกที่มีระบบชลประทานเข้าถึง แต่สามารถเติบโตได้ในทุกพื้นที่ในช่วงฤดูฝน ทั้งนี้ หญ้าหนวดแมวที่ปลูกตามบ้านมีทั้งชนิดดอกขาว และดอกม่วง

%e0%b8%9b%e0%b8%a5%e0%b8%b9%e0%b8%81%e0%b8%ab%e0%b8%8d%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%ab%e0%b8%99%e0%b8%a7%e0%b8%94%e0%b9%81%e0%b8%a1%e0%b8%a7

การเตรียมดินปลูก
หญ้าหนวดแมวเป็นพืชชอบดินร่วน และมีอินทรียวัตถุสูง ดังนั้น ดินหรือแปลงปลูกควรเติมอินทรียวัตถุ อาทิ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก แกลบดำ หรือเศษใบไม้ ก่อนพรวนผสมให้เข้ากัน ทั้งนี้ คขณะเตรียมแปลงควรกำจัดวัชพืชออกให้หมด

วิธีปลูก
การปลูกหญ้าหนวดแมว ปลูกได้ด้วย 2 วิธี คือ
1. การปักชำกิ่ง
ตัดกิ่งที่ยังไม่ออกดอก ยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร จากนั้น เด็ดกิ่งแขนง และใบออกด้านโคนกิ่งออก ในความยาวประมาณ 5 เซ็นติเมตร พร้อมกับเด็ดยอดทิ้ง ก่อนนำมาปักชำ ซึ่งอาจปักชำในกระถางหรือปักชำลงแปลงปลูก

2. การหว่านเมล็ด
นำเมล็ดหว่านลงแปลงที่เตรียมไว้ โดยหว่านให้เมล็ดมีระยะห่างกันประมาณ 3-5 เซนติเมตร ก่อนให้น้ำ ใส่ปุ๋ย และดูแลจนต้นกล้าอายุประมาณ 20-30 วัน หรือสูงประมาณ 10-15 เซนติเมตร ก่อนแยกปลูกลงแปลงต่อ

การให้น้ำ
หญ้านวดแมว เป็นพืชที่ต้องการความชุ่มชื้นสูง หากขาดน้ำนาน ลำต้นจะเหี่ยว และตายได้รวดเร็ว ดังนั้น กล้าหญ้าหนวดแมวหรือต้นที่ปลูกในแปลง ควรมีการให้น้ำอย่างน้อย 2 วัน/ครั้ง

การใส่ปุ๋ย
ปุ๋ยที่ใส่ควรเน้นที่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ใส่ระยะ 1 เดือน หลังปลูก จากนั้น ใส่ทุกๆ 2-3 เดือน หรืออาจใส่ปุ๋ยเคมีร่วมด้วยในสูตร 16-8-8

การเก็บเกี่ยว
หญ้าหนวดแมว มีอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 120-140 วัน หลังปลูก อาจเก็บเกี่ยวด้วยการถอนทั้งต้นหรือทยอยเด็ดเก็บกิ่งมาใช้ประโยชน์

%e0%b8%ab%e0%b8%8d%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%ab%e0%b8%99%e0%b8%a7%e0%b8%94%e0%b9%81%e0%b8%a1%e0%b8%a7%e0%b8%95%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b9%81%e0%b8%ab%e0%b9%89%e0%b8%87

ขอบคุณภาพจาก kadluangonline.com/, komchadluek.net/

เอกสารอ้างอิง

[1] กมลวรรณ ศรีปลั่ง, 2546, ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดและผลต่อการกระตุ้นการหลั่ง-
อินสุลินของสารสกัดจากใบหญ้าหนวดแมวในหนูขาวปกติ-
และหนูเบาหวานที่ถูกเหนี่ยวนำโดยสเตรปโตโซโตซิน.
[2] นันทวัน บุณยะประภัศร, 2528, ก้าวไปกับสมุนไพร เล่ม 2.
[3] เกรียงศักด์ิ เดชอนันต์, 2528, พยับเมฆหรือหญ้าหนวดแมว, วนสาร, ปีที่ 43 ฉบับที่ 1 : หน้า 33-35.
[4] วีระสิงห์ เมืองมั่น, 2522, การใช้สมุนไพรเสริมการรักษาโรคนิ่ว-
และทางเดินปัสสาวะอักเสบ, วารสารรามาธิบดี, ปีที่ 10 ฉบับที่ 8 : หน้า 28-33.
[5] พงษ์ศักดิ์ พลเสนา, 2550, พืชสมุนไพรในสวนป่าสมุนไพรเขาหินซ้อน ฉบับสมบูรณ์.
[6] พะยอม ตันติวัฒน์, 2521, สมุนไพร.
[7] วีระสิงห์เมืองมั่น และกฤษฎา รัตนโอราฬ, 2527, การใช้สมุนไพรในโรคระบบปัสสาวะ.
[8] อนุธิดา ผายพันธ์, 2550, การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชาสมุนไพรจากหญ้าหนวดแมว.
[9] ขวัญตา ชยาภัม, 2556, การเปรียบเทียบผลการใช้อัลโลพูรินอล (ALLOPURINOL)-
และสารสกัดหญ้าหนวดแมว [ORTHOSIPHON ARISTATUS (BLUME) MIQ.]-
ต่อค่าโลหิตวิทยาและค่าองค์ประกอบทางเคมีของปัสสาวะ-
ในเต่าดาวอินเดีย (GEOCHELONE ELEGANS).