หญ้ารังนก ข้อเสีย และประโยชน์หญ้ารังนก

Last Updated on 10 กันยายน 2016 by puechkaset

หญ้ารังนก (Swallen finger grass) จัดเป็นหญ้าพื้นเมืองของไทยที่พบได้ทั่วไปตามท้องนา พื้นที่ไร่ หรือพื้นที่รกร้างทั่วไป เป็นหญ้าที่เติบโตได้ดีในทุกสภาพดิน และแต่ชอบน้ำขัง มีประโยชน์ในด้านอาหารของโค และกระบือเป็นสำคัญ

• วงศ์ : Gramineae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Chloris barbata Sw.
• ชื่อสามัญ : Swallen finger grass
• ชื่อท้องถิ่น : หญ้ารังนก
• ถิ่นกำเนิด : ประเทศไทย และประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การแพร่กระจาย
หญ้ารังนก พบแพร่กระจายในแถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยพบได้ในทุกภาค โดยเฉพาะภาคเหนือ และอีสาน มักพบตามพื้นที่ดอน ตามคันนา แปลงพืชไร่ และพื้นที่รกร้างที่ไม่มีน้ำขังในชุมชนเมืองทั่วไป

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
หญ้ารังนก เป็นหญ้าอายุปีเดียว มีลำต้นที่แตกกอหรือลำต้นใหม่ได้ ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง และมีลักษณะเป็นข้อปล้อง ขนาดลำต้นเล็ก ประมาณ 2-3 มิลลิเมตร แต่มีความสูงที่รวมช่อดอกแล้ว ซึ่งสูงได้ถึง 60-90 เซนติเมตร ทั้งนี้ ลำต้น และใบจะสูงประมาณ 30-50 เซนติเมตร แต่ส่วนของก้านช่อดอก และดอกจะสูงยาวมาก
ลำต้นหญ้าขนนกมีลักษณะทรงกลม ด้านในลำต้นมีรูกลวง เนื้อเยื่อลำต้นมีลักษณะอ่อน แต่เหนียว และเด็ดให้ขาดด้วยมือยาก

ใบ
หญ้ารังนก เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว แตกใบออกหุ้มลำต้น ประกอบด้วยก้านใบสั้น ยาว 5-10 เซนติเมตร ที่ห่อหุ้มลำต้นไว้ ส่วนแผ่นใบมีลักษณะเรียวยาว สีเขียวสด ขนาดกว้างประมาณ 0.3-0.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-35 เซนติเมตร แผ่นใบด้านล่างมีขนอ่อนปกคลุม

ดอก
หญ้ารังนก เป็นดอกสมบูรณ์เพศที่ดอกออกเป็นช่อ ช่อดอกแทงออกจากกลางลำต้น มี 1 ช่อดอก ต่อ 1 ลำต้น มีก้านช่อดอกหลักยาว 30-60 เซนติเมตร แต่ละก้านเป็นช่อดอกมีก้านดอกย่อย 5-12 ก้าน แต่ละก้านช่อดอกย่อยมีจุดเชื่อติดกันบริเวณปลายก้านช่อดอกหลัก และกางแผ่ออกด้านข้าง ก้านช่อดอกย่อย ยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ประกอบด้วยดอกจำนวนมากที่มีสีม่วง เรียงกันเป็นแถว แต่เมื่อแก่เต็มที่จะมีสีเหลืองอมน้ำตาล

หญ้ารังนก

ประโยชน์หญ้ารังนก
1. หญ้ารังนกใช้เป็นหญ้าอาหารสัตว์ โดยเฉพาะการปล่อยเลี้ยงโค กระบือตามทุ่งนาหรือลานหญ้าที่รกร้างต่างๆ
2. ใช้ปลูกเป็นพืชคลุมดินตามขอบสระ หรือ คันนาที่ขุดหรือไถใหม่
3. ใช้ปลูกเพื่อลดความเค็มของดิน ลดการแพร่กระจายของเกลือขึ้นมาหน้าดิน เนื่องจากเป็นหญ้าที่ทนเค็มได้ดี

ข้อเสียหญ้ารังนก
1. เป็นวัชพืชในสวนมันสำปะหลัง สวนอ้อย และนาข้าวที่น้ำแห้ง ทำให้ผลผลิตลดน้อยลง โดยเฉพาะนาข้าวในช่วงที่มีฝนทิ้งช่วง ซึ่งหญ้าชนิดนี้จะเติบโตได้ดีมาก
2. เป็นวัชพืชของการเกษตรในนาข้าว และพืชไร่ ที่แพร่กระจาย และเติบโตได้รวดเร็ว

หญ้ารังนก1

ขอบคุณภาพจาก biogang.net

การกำจัด
1. ใช้สารเคมีฉีดพ่น ซึ่งสามารถกำจัดได้ผล แต่ไม่เสนอแนะ เพราะมักมีสารเคมีตกค้างที่อาจเป็นอันตรายย้อนกลับมาสู่ผู้ใช้ได้
2. การกำจัดด้วยการถากหรือการถอนต้นด้วยมือ ซึ่งได้ผลดีเช่นกัน
3. การปล่อยให้โค กระบือ แทะเล็ม โดยเฉพาะในช่วงที่หญ้ารังนกกำลังแทงก้านดอก ซึ่งจะช่วยลดการแพร่กระจายในพื้นที่รอบข้างได้