หญ้านวลน้อย ประโยชน์ และการปลูกหญ้านวลน้อย

Last Updated on 4 กุมภาพันธ์ 2017 by puechkaset

หญ้านวลน้อย (Manila Grass) จัดเป็นหญ้าพื้นเมืองของไทยที่นิยมปลูกมากตามลานหน้าบ้าน แปลงจัดสวน สนามกีฬา สนามกอล์ฟ และอื่นๆ เนื่องจากเป็นหญ้าที่เติบโตได้ดีในดินเกือบทุกชนิดทั้งดินเหนียว ดินทราย ทนต่อสภาพอากาศร้อนหรือแห้งแล้งได้ดี และทนต่อสภาพน้ำขังได้บ้าง รวมถึงเติบโตเร็ว และสามารถขยายไหลเป็นแผ่นที่ครอบคลุมหน้าดินได้เร็ว

หญ้านวลน้อย มีลักษณะคล้ายกับหญ้าญี่ปุ่น แต่มีลักษณะที่แตกต่างกัน คือ
– หญ้านวลน้อยมีใบกว้างกว่า
– การเจริญเติบโตเร็วกว่า
– ใบไม่แข็งกระด้าง แต่หญ้าญี่ปุ่นมีค่อนข้างแข็งกระด้าง
– ช่อดอกยาว และเห็นได้ชัดกว่า

• วงศ์ : Gramineae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Zoysia matrella Merrill
• ชื่อสามัญ : Manila Grass หรือ Temple Grass
• ชื่อท้องถิ่น : หญ้านวลน้อย
• ถิ่นกำเนิด : ประเทศไทย และฟิลิปปินส์
หญ้านวลน้อยในทางสากล และหลายประเทศเชื่อว่ามีถิ่นกำเนิดในประเทศฟิลิปปินส์ จึงตั้งชื่อสามัญ หรือชื่อภาษาอังกฤษตามเมืองหลวงของฟิลิปปินส์ว่า Manila Grass แต่ก็มีผู้เสนอให้เรียกว่า Bangkok Grass เพราะพบหลักฐานว่ามีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย

ประวัติหญ้านวลน้อย
สิน พันธุ์พินิจ (2535) กล่าวถึงหญ้านวลน้อยว่า หญ้านวลน้อยมีความเกี่ยวโยงกับประเทศไทยมาก่อน เพราะเคยมีการเรียกชื่อว่า Bangkok Grass แต่นักพฤกษศาสตร์ยืนยันว่าหญ้าชนิดนี้ ถูกตั้งชื่อครั้งแรกในปี ศตวรรษที่ 18 จากนักพฤกษศาสตร์ชาวออสเตรเลีย ชื่อ Karl Von Zois ซึ่งกล่าวถึงว่ามีถิ่นกำเนิดในประเทศฟิลิปปินส์ จึงตั้งชื่อสามัญว่า Manila Grass หรือ Temple Grass และหญ้านวลน้อยมีการปลูกในหลายประเทศในเอเชีย อาทิ สวนของพระคอสโรสที่ 1 ที่สร้างขึ้นในประเทศอีหร่านในช่วงราว พ.ศ. 1074 และสวนทัสมาฮัล แห่งประเทสอินเดีย ซึ่งล้วนแต่ปลูกด้วยหญ้านวลน้อยทั้งสิ้น

การแพร่กระจาย
หญ้านวลน้อยพบแพร่กระจายพันธุ์ในแถบประเทศในมหาสมุทรอินเดีย ทะเลจีนใต้ และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยพบแพร่กระจายตามลานหญ้า สนามหญ้าหรือพื้นที่รกร้างต่างๆ ซึ่งปัจจุบันได้นักจัดสวนหรือนักภูมิสถาปัตย์ได้รวบรวมเมล็ดเพื่อการเพาะเป็นหญ้าสำหรับปลูกในสนามหรือแปลงจัดสวน จึงพบเห็นได้มากตามสนามหญ้า สนามกอล์ฟ และแปลงจัดสวนต่างๆ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
หญ้านวลน้อย เป็นหญ้าอายุหลายปี ลำต้นเติบโตเป็นเถา และแตกหน่อเป็นเหง้ารวดเร็ว ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง และแข็งแรง ลำต้นจะแตกหน่อออกด้านข้างจำนวนมาก แตกละต้นแตกกิ่งได้ 2-3 กิ่ง แต่กิ่งมีขนาดเล็ก และสั้นกว่าลำต้นหลัก แต่ลำลำต้นมีลักษณะเป็นข้อปล้อง ขนาดลำต้นประมาณ 1.5-2 มิลลิเมตร มีความสูงจากโคนต้นถึงปลายสุดของใบประมาณ 10-25 เซนติเมตร และมีข้อปล้องประมาณ 2-3 ปล้อง แต่ละข้อยาวประมาณ 4-8 เซนติเมตร ปล้องช่วงแรกที่มีกาบใบหุ้มมีสีเขียวอ่อน ส่วนที่เหลือไม่มีกาบใบหุ้มจะมีสีม่วงอ่อน เนื้อลำต้นค่อนข้างเหนียว ใช้มือเด็ดจะขาดยาก

หญ้านวลน้อย

ใบ
หญ้านวลน้อย เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว แตกใบออกหุ้มลำต้น โดยปล้องแรกของลำต้นมีใบ 1 ใบ ปล้องที่ 2 มีใบประมาณ 2-4 ใบ ใบประกอบด้วยกาบใบสีเขียวห่อหุ้มลำต้น ขนาดความยาวของกาบใบประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร ด้านบนของช่วงต่อระหว่างกาบใบกับแผ่นใบมีขนสีขาวสั้นปกคลุม ถัดมาเป็นแผ่นใบสีเขียวสด มีลักษณะเรียวยาว ปลายใบแหลม แผ่นใบ และขอบใบเรียบ กว้างประมาณ 2-5 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 5-20 เซนติเมตร ขอบใบมีลักษณะโค้งพับเข้ากลางแผ่นใบ

ดอก
หญ้านวลน้อย เป็นดอกสมบูรณ์ที่ผสมเกสรได้ในตัวเอง ดอกออกเป็นช่อจากกลางลำต้น ประกอบด้วยก้านช่อดอกสีเขียวอ่อน ขนาดประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 5-7 เซนติเมตร ปลาสุดของก้านเป็นช่อดอก ยาวประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร แต่ละช่อมีดอกเรียงสลับกันหุ้มก้านช่อไว้ จำนวนดอกต่อช่อประมาณ 24-30 ดอก
ดอกแต่ละดอกมีน้ำตาลอมม่วงอ่อน ฐานดอกกว้าง ปลายดอกเรียวแหลม ขนาดดอกประมาณ 1 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร ปลายดอกประกอบด้วยเกสรตัวผู้ขนาดเล็ก

ประโยชน์หญ้านวลน้อย
1. หญ้านวลน้อยใช้ประโยชน์ในการปลูกทำลานหญ้าเป็นหลัก ได้แก่
– ลานหญ้าภายในบ้านหรือสวนหย่อมในบริเวณบ้าน
– ขอบแปลงจัดสวนหรือสวนหย่อม
– สนามกีฬา
– สนามเด็กเล่น
– ลานหญ้าสวนสาธารณะหรือสถานที่ราชการ
– สนามกอล์ฟ โดยเฉพาะพื้นที่กรีน (Green) รอบหลุมกอล์ฟ
2. ทำให้สนามหญ้าดูเรียบ และช่วยเพิ่มสีเขียว เพิ่มความสวยงามของแปลงจัดสวนหรือสวนหย่อมต่างๆ
3. ใช้ปลูกเป็นพืชคลุมดิน ป้องกันการกัดเซาะหน้าดิน
4. ใช้เป็นอาหารหยาบสำหรับเลี้ยงโค กระบือ พะหรือแกะ

หญ้านวลน้อย1

คุณสมบัติหญ้านวลน้อย
– ลำต้น และใบยืดหยุ่นตัวได้ดี
– ทนต่อสภาพการเหยียบย่ำ ไม่ว่าจะเป็นการเหยียบย่ำของคน รถยนต์ หรือวัสดุต่างๆ
– เวลาเดินเหยียบจะรู้สึกนุ่มเท้า
– ลำต้น และใบอ่อนนุ่ม ไม่หยาบกร้าน แม้นอนทับจะไม่ค่อยระคายผิวหรือทำให้เกิดอาการคัน
– ลำต้นไม่ขึ้นสูง และตัดตกแต่งได้ง่าย แลดูคล้ายพรมหลังการตัดแต่ง
– ลำต้นแตกกอคลุมหน้าดินได้รวดเร็ว
– ทนต่อสภาพอากาศร้อน และทนต่อสภาพแห้งแล้งได้เล็กน้อย
– ทนต่อสภาพน้ำขังได้บ้าง
– เติบโตได้ดีเกือบทุกสภาพดิน ทั้งดินเหนียว ดินทราย
– ทนต่อดินเปรี้ยวได้ดี
– ทนต่อดินเค็มได้ดี เพระใบมีต่อม salt gland ที่สามารถกักเก็บ และขับโซเดียม และคลอรีนออกจากได้
– ไม่มีโรค และแมลงกัดกิน

ข้อเสียหญ้านวลน้อย
ในช่วงแล้งที่มีสภาพอากาศร้อน ไม่มีฝนตก หากหญ้านวลน้อยขาดน้ำนานมากกว่า 1 เดือน จะเหี่ยวแห้ง และตายง่าย ดังนั้น จำต้องรดน้ำไม่ต่ำกว่า 1 ครั้ง/อาทิตย์ เพื่อป้องกันต้นเหี่ยวตาย

การปลูกหญ้านวลน้อยเพื่อการจำหน่ายหรือไร่หญ้า
การเตรียมพื้นที่
การปลูกหญ้านวลน้อยเพื่อการจำหน่ายหรือการทำไร่หญ้าจะต้องใช้แปลงดินขนาดใหญ่ ซึ่งเกษตรกรมักใช้นาข้าวปรับเปลี่ยนทำไร่หญ้าแทน ซึ่งมักเป็นพื้นที่ดินเหนียว โดยมีลักษณะการเตรียมแปลง ดังนี้
– การไถปรับแปลงนาให้เรียบ และบดอัดหน้าดิน
– ขุดร่องระบายน้ำสำหรับป้องกันน้ำท่วมรอบแปลงหญ้า

ขั้นตอนการปลูก
– การปลูกครั้งแรกอาจทำด้วยการหว่านเมล็ดเพื่อให้หญ้าเติบโต และใช้ทำเป็นต้นพันธุ์ หรือ อาจหาซื้อแผ่นหญ้าจากผู้จำหน่ายมาใช้ทำต้นพันธุ์
– สำหรับเกษตรกรที่ทำไร่หญ้ามาก่อนมักแบ่งแผ่นหญ้าออกเป็น 2 ส่วน คือ ร้อยละ 80 จะจำหน่าย ส่วนอีกร้อยละ 20 จะเก็บไว้ทำพันธุ์สำหรับปลูกในรุ่นต่อไป
– เมื่อเตรียมแปลงเสร็จแล้ว เกษตรกรจะฉีดน้ำรดแปลงเพื่อทำให้เกิดดินเลนหน้าแปลง แต่หากเป็นแปลงปลูกใหม่ ควรปล่อยน้ำให้ขังก่อน 1 อาทิตย์ ก่อนปลูก
– ใช้แผ่นหญ้ามาตัดหรือฉีกให้เป็นชิ้นเล็กๆ ก่อนวางแปะลงแปลง ซึ่งแผ่นหญ้าขนาด 1 ตารางเมตร จะใช้แปะปลูกได้พื้นที่ 4 ตารางเมตร หรือมากกว่า

การดูแลรักษา
– รดน้ำเป็นประจำ วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น
– ใส่ปุ๋ยอาทิตย์ละ 1 ครั้ง โดยใช้สูตร 18-12-6 หรือ 20-20-0 อัตรา 20-40 กิโลกรัม/ไร่ ทั้งนี้ ให้ใส่ปุ๋ยตอนเย็น และตามด้วยการรดพรมน้ำ เพื่อไม่ให้เม็ดปุ๋ยค้างบนใบหญ้า ซึ่งอาจทำให้ใบลวกได้
– หลังการปลูก 7-10 ให้ใช้ลูกกลิ้ง ไล่กลิ้งอัดให้รากหญ้าแน่น
– หลังจากปลูกได้ประมาณ 20 วัน ให้ตัดยอดหญ้าทิ้ง พร้อมใส่ปุ๋ย และรดน้ำหลังการตัด
– ให้ตัดใบอีก 2 ครั้ง ห่างกันครั้งละประมาณ 7-10 วัน ก่อนเก็บแผ่นหญ้าจำหน่าย

การเก็บแผ่นหญ้า
หลังจากปลูกหญ้าได้ 35-45 วัน แปลงหญ้าจะขยายใหญ่พร้อมสามารถเก็บแผ่นหญ้าจำหน่ายได้ หลังจากนั้น จะใช้สกีตัดแปลงหญ้าออกเป็นแผ่นๆ แผ่นขนาด 50×100 หรือตามขนาดที่ตลาดต้องการ ก่อนจะแชะด้านล่างๆออกเป็นแผ่นๆ ทั้งนี้ ก่อนเก็บแผ่นหญ้า 1 อาทิตย์ อาจใส่ปุ๋ยก่อน เพื่อให้ฉีกหรือตัดหญ้าเป็นแผ่นได้ง่าย หรืออาจไม่ใส่ก็ได้ และแปลงหญ้า 1 ไร่ พื้นที่ 1600 ตารางเมตร เกษตรกรมักเก็บแผ่นหญ้าจำหน่ายที่ 1200 ตารางเมตร ส่วนอีก 400 ตารางเมตร จะเก็บไว้สำหรับปลูกในรุ่นต่อไป

ปลูกหญ้านวลน้อย

การตลาดหญ้านวลน้อย
1. ผู้รับเหมาแปลง
ผู้รับเหมาแปลงจะเข้าตกลงราคากับเกษตรกรผู้ปลูก ทั้งตกลงราคาแบบทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือตกลงราคาก่อนการเก็บแผ่นหญ้า ซึ่งส่วนมากผู้ค้าคนกลางจะเป็นผู้เดินทางเข้าหากลุ่มเกษตรกรเอง หลังจากนั้น ผู้รับเหมาจะส่งแผ่นหญ้าไปขายต่อในร้านตัวเองหรือส่งจำหน่ายแก่ผู้สั่งซื้อต่างๆ อาทิ ผู้รับเหมาจัดสวน หรือผู้รับเหมาในงานก่อสร้างหรือปรับปรุงภูมิทัศน์ของสถานที่ราชการต่างๆ

2. นายหน้าจัดสวน
นายหน้าจัดสวนมีลักษณะคล้ายกับผู้รับเหมาแปลง แต่ผู้ค้าลักษณะนี้มักจะหาลูกค้าให้ได้แน่นอนก่อนการสั่งซื้อ และมักไม่นำแผ่นหญ้าไปวางขายเอง โดยอาจทำหน้าที่เพียงหาแหล่งผลิต หรือจัดส่งให้พร้อมเสร็จสับ โดยมีลูกค้าในลักษณะเดียวกันกับผู้รับเหมา รวมถึงนำส่งลูกค้าที่อยู่ต่างประเทศด้วย

3. เกษตรกรขายโดยตรง
การค้าในลักษณะนี้ เกษตรกรทำหน้าที่ทั้งเป็นผู้ผลิตแผ่นหญ้า และนำแผ่นหญ้ามาจำหน่าย ซึ่งอาจจำหน่ายที่ร้านตนเองหรือส่งให้ลูกค้าคล้ายกับผู้รับเหมาหรือนายหน้า ซึ่งวิธีนี้ เกษตรกรผู้ปลูกแผ่นหญ้าจะได้ราคา และกำไรสูงที่สุด แต่อาจต้องจ้างบุคลากรหรือจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น

การปลูกหญ้านวลน้อยเพื่อจัดสวน
– ปรับพื้นที่ปลูกให้เรียบ
– เททรายรองพื้น และบดอัดทรายให้เรียบ หนาประมาณ 3-5 เซนติเมตร
– นำแผ่นหญ้านวลน้อยลงปูให้ชิดกัน หลังจากนั้น รดน้ำให้ชุ่ม
– ในระยะ 1-2 อาทิตย์แรก หลังปลูก ให้รดน้ำทุกวัน
– เมื่อหญ้าตั้งตัวได้ ใบเริ่มเขียว ลดการให้น้ำเหลือเป็นวันเว้นวัน และลดระยะห่างเป็น 2-3 วัน/อาทิตย์

ปัจจุบัน ราคาแผ่นหญ้านวลน้อย แผ่นขนาด 100 x 50 cm. ราคาประมาณ 12-18 บาท/แผ่น

เอกสารอ้างอิง
1) สิน พันธุ์พินิจ. 2535. การจัดการสนามหญ้า. รวมสาส์น.