หญ้าชันกาด สรรพคุณ และวิธีกำจัดหญ้าชันกาด

Last Updated on 22 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

หญ้าชันกาด (Torpedo grass) เป็นวัชพืชข้ามปีที่พบแพร่ระบาดมากในพื้นที่ชุ่มน้ำ นาข้าว และพื้นที่ลุ่มน้ำท่วมถึง เติบโตได้ดีในดินชื้นหรือมีน้ำขัง ยากต่อการกำจัด แกละเป็นวัชพืชสำคัญที่ทำให้ผลผลิตข้าวตกต่ำ

• วงศ์ : Poaceae หรือ Gramineae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Panicum repens L.
• ชื่อสามัญ : Torpedo grass
• ชื่อท้องถิ่น :
– หญ้าชันกาด
– หญ้าชันอากาศ
– แขมมัน
– หญ้าอ้อน้อย
– หญ้าขิง
– หญ้าครุน
– หญ้าใบไผ่

ทั้งนี้ หญ้าชันกาด เป็นหญ้าคนละชนิดกับ หญ้าหวายข้อ แต่มีลักษณะไหล ลำต้น และใบที่คล้ายคลึงกันมาก แต่สามารถแยกแยะได้ในหลายลักษณะ ได้แก่
1. หญ้าหวายข้อมีลำต้นใต้ดิน และลำต้นเหนือดินใหญ่กว่า ส่วนหญ้าชันกาดมีลำต้นใต้ดิน และเหนือดินขนาดเล็ก
2. หญ้าชันกาดมีข้อปล้องสั้น และถี่กว่าหญ้าหวาย และแตกแขนงได้มาก ทำให้ลำต้นใต้เหนือดินปกคลุมหน้าดินแน่น ส่วนหญ้าหวายจะขึ้นห่างๆ
3. ใบหญ้าชันกาดเรียวเล็ก ส่วนหญ้าหวายข้อมีใบขนาดใหญ่กว่า
4. ลำต้นใต้ดินหญ้าชันกาด บริเวณข้อจะเกิดปมเป็นก้อนแข็งสีน้ำตาล ส่วนหญ้าหวายข้อจะไม่เกิดปมที่ข้อ

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
หญ้าชันกาด เป็นหญ้าที่พบแพร่กระจายในหลายประเทศ พบได้ในประเทศเขตร้อน และกึ่งเขตร้อน ตั้งแต่ละติจูด 35 องศาใต้ ถึง 43 องศาเหนือ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทยด้วย เติบโตได้ดีในพื้นที่ชื้นแฉะหรือมีน้ำขัง หากพบในแหล่งไม่มีน้ำขัง ดินชื้นน้อยลำต้นจะเตี้ยแคระ ใบเล็กเหลือง และออกดอกน้อย [1] อ้างถึงใน Holm และคณะ (1977)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ราก
หญ้าชันกาดมีระบบรากเป็นรากฝอย แตกออกบริเวณข้อของลำต้นใต้ดิน แตกรากสาขาแทงออกในนอนขนานกับพื้นดิน และหยั่งลึกประมาณ 15 เซนติเมตร หรือมากกว่าหากเป็นดินร่วนหรือดินทราย

ลำต้น
หญ้าชันกาดมีลำต้น 2 ชนิด คือ ลำต้นใต้ดิน และลำต้นเหนือดิน
– ลำต้นใต้ดิน มีลักษณะเป็นไหลยาวเลื้อยแทงขนานกับหน้าดิน อยู่ลึกจากหน้าดินประมาณ 5-15 เซนติเมตร ไหลมีลักษณะกลม สีน้ำตาล มีข้อปล้องสั้นๆ เมื่ออายุมากจะเกิดเป็นปมหรือเป็นก้อนสีน้ำตาลที่ข้อ และข้อจะแตกลำต้นแทงตั้งตรงโผล่ขึ้นเป็นลำต้นเหนือดิน
– ลำต้นเหนือดิน เป็นลำต้นที่เกิดบริเวณข้อของไหล และแทงขึ้นโผล่เหนือดิน ลำต้นมีขนาดเล็ก ทรงกลม มีความเหนียว และแข็งแรง สูงประมาณ 30-90 เซนติเมตร หากลำต้นสูงหรือยาวมากจะโน้มลงเลื้อยตามพื้นดิน

%e0%b8%ab%e0%b8%8d%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%8a%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%941

ใบ
หญ้าชันกาดเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว แตกใบเดี่ยวๆสลับข้างกันเป็นคู่ๆบริเวณข้อ มีกาบใบหุ้มที่ข้อ และลำต้น ก้านใบสั้น แผ่นใบเล็ก และเรียวแหลม มีสีเขียว ขนาดกว้าง 5-8 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร โคนใบสอบ ปลายใบแหลม แผ่นใบมีขนปกคลุม

ดอก
หญ้าชันกาด ออกดอกเป็นช่อแขนงที่ปลายยอด ยาวประมาณ 10-18 เซนติเมตร แต่ละแขนงจะมีดอกย่อยเรียงซ้อนกัน ดอกย่อยมีรูปไข่ ยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ดอกย่อยอ่อนสีขาว เมื่อแก่จะมีสีเหลืองซีด

%e0%b8%94%e0%b8%ad%e0%b8%81%e0%b8%ab%e0%b8%8d%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%8a%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%94

เมล็ด
เมล็ดหญ้าชันกาด มีขนาดเล็ก รูปไข่ เปลือกเมล็ดมีสีฟางข้าว

ประโยชน์หญ้าชันกาด
1. ใช้เป็นอาหารหยาบเลี้ยงโค กระบือ หรือสัตว์เคี้ยวเอื้องอื่นๆ
2. ใช้ปลูกเพื่อเป็นพืชคลุมดิน ป้องกันหน้าดินพัง

ข้อเสียหญ้าชันกาด
1. หญ้าชันกาด เติบโต และแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ทั้งการแตกไหลแพร่ใต้ดิน และเมล็ดที่ติดไปกับนกหรือเสือผ้าหรืออุปกรณ์การเกษตร
2. หญ้าชันกาด มีลำต้นบางส่วนอยู่ใต้ดิน แตกไหลเร็ว ไหลมีความแข็งแรง ทนแห้งแล้ง ทนน้ำท่วมได้ดีมาก จึงยากต่อการกำจัด
3. ไหลหญ้าชันกาดแตกแขนงยาวใต้ดินได้รวดเร็ว และลำต้นแตกขึ้นเหนือแน่นเป็นหย่อมแน่น หากเติบโตในแปลงข้าวจะแย่งแสง แย่งน้ำ แย่งอาหารในดินจากต้นข้าว ทำให้ต้นข้าวไม่เติบโต ต้นข้าวไม่ติดรวงหรือติดรวงเล็ก ผลผลิตข้าวลดน้อยลง

สรรพคุณหญ้าชันกาด
ไหล และลำต้น นำมาต้มน้ำดื่ม มีสรรพคุณ ได้แก่ [2]
– แก้เบาหวาน
– แก้ไตพิการ กระตุ้นการทำงานของไต
– แก้กระเพาะปัสสาวะ
– แก้นิ่ว
– แก้โรคหนองใน
– แก้พิษไข้
– แก้อาการตาฟาง ตามัว
– แก้อาการปวดในลูกตา

การป้องกัน และกำจัด
– การกำจัดด้วยมือ เกษตรกรจะใช้จอบขุดเก็บไหลใต้ดินขึ้นมาตากแดด ก่อนเผาทำลาย ส่วนการใช้สารเคมี เกษตรกรนิยมใช้ไกลโฟเชตฉีดพ่น
– การไถพรวนดิน และตากหน้าดิน เกษตรกรจะไถพลิกหน้าดินให้ลึกขึ้นมาตากแดด นาน 1-2 เดือน ซึ่งนิยมทำในช่วงหน้าแล้ง ประมาณเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน เป็นช่วงไม่มีฝนตก และแดดร้อน ทำให้ไหลหญ้าชันกาดแห้งตายเร็วขึ้น
– การกำจัดด้วยโค กระบือ สำหรับแปลงหญ้าหรือพื้นที่ว่างเปล่าที่มีหญ้าชันกาดขึ้นมาก การนำโค กระบือปล่อยเข้าแทะเล็มจะช่วยลดการแพร่กระจายของเมล็ดได้บางส่วน แต่ไม่สามารถกำจัดได้

เอกสารอ้างอิง
[1] สันติไมตรี ก้อนคำดี, 2545, ผลของแอดจูแวนท์ รูปของสาร และความชื้นในดิน-
ต่อประสิทธิภาพของไกลฟอเสท-
ในการควบคุมหญ้าชันกาด (Panicum repens L.).
[2] สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์, 2560, หญ้าชันกาด, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2560, เข้าถึงได้ที่ : http://nutrition.dld.go.th/exhibision/native_grass/grass/Panicum%20%20repens.htm/.