ว่านหางจระเข้ สรรพคุณ และการปลูกว่านหางจระเข้

Last Updated on 17 พฤศจิกายน 2017 by puechkaset

ว่านหางจระเข้ (aloevera) เป็นพืชที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์มากชนิดหนึ่ง ทั้งในด้านการรักษาโรค ผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม รวมถึงเครื่องสำอาง ที่จำหน่ายทั้งในประเทศ และส่งออกต่างประเทศ

ว่านหางจระเข้ (aloe) แผงมาจากภาษายิว Allal แปลว่า ฝาดหรือขม เป็นพืชล้มลุกที่มีถิ่นกำเนิดในแถบประเทศแอฟริกา อยู่ในตระกูลเดียวกันกับพลับพลึง หัวหอม และไม้ประดับหลายชนิด เป็นพืชอายุหลายปี

• วงศ์ :Liliaceae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ Aloe barbadensis Miller
• ชื่อท้องถิ่นไทย :
ภาคกลาง
– ว่านหางจระเข้ (ทั่วไป)
– ว่านตะเข้
ภาคเหนือ
– ว่านไฟไหม้
ภาคใต้
– ว่านหางเข้
• ชื่อท้องถิ่นประเทศอื่น :
– มาเลเซีย : ยาดาม
– จีน : ลูฮุย หรือ น่าเต็ก
– สเปน : ชาวิลลา
– สหรัฐอเมริกา และยุโรป : อโลเอ (aloe)

ในประเทศไทยพบมีการปลูกมากในจังหวัดปราจีนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และราชบุรี เนื่องจากมีการตั้งโรงงานแปรรูป และรับซื้อเพื่อทำเป็นผลิตภัณฑ์ว่านหางจระเข้ และเพื่อส่งออกในรูปของใบสดที่ส่งจำหน่ายทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ว่านหางจระเข้เป็นไม้ล้มลุก มีลำต้นประมาณ 0.5-1 เมตร (รวมความสูงของใบด้วย) ลำต้นเป็นส่วนที่อยู่แกนกลาง มีลักษณะข้อปล้องสั้นๆ มีรูปร่างทรงกลม ลำต้นสามารถแตกหน่อใหม่ออกด้านข้างได้

เป็นแผ่นเรียว ยาวจากโคนใบไปหาปลายใบ ขอบใบมีหนาม เปลือกใบมียางสีเหลืองจำนวนมาก เมื่อเติบโตเต็มที่จะเริ่มแทงดอกตรงกลางลำต้น เป็นก้านแข็ง ตั้งตรง ยาวประมาณ 40-80 ซม. ดอกมีลักษณะเป็นช่อ สีแดงอมเหลือง

ต้นว่านหางจระเข้

ใบ
ว่านหางจระเข้ เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว และออกเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับซ้อนสับหว่างกัน จากโคนต้นไปปลายยอด ใบมีความกว้าง 5-12 ซม. ความยาว 30-80 ซม. ใบมีลักษณะอูม และอวบน้ำ โคนหนากว้าง และค่อยเรียวเล็กลงจนถึงปลายใบ ส่วนขอบใบจะมีหนามตลอดจากโคนใบถึงปลายใบ ผิวใบหรือเปลือกมีสีเขียวอ่อนหรือเขียวเข้ม ใบอ่อนมีประสีขาว เปลือกใบหนาประมาณ 1-2 มิลลิเมตร และเปลือกมีน้ำยางสีเหลือง ถัดมาด้านในจะเป็นเนื้อใบที่มีลักษณะเป็นวุ้นใส วุ้นนี้ประกอบด้วยเมือกลื่น

ดอก
ดอกว่านหางจระเข้แทงออกเป็นช่อ ช่อดอกแทงออกบริเวณกลางต้น มีช่อดอกเป็นก้านยาวประมาณ 40-90 เซนติเมตร มีดอกย่อยรวมเป็นกระจุกของช่อดอกที่ปลายก้าน ดอกย่อยหรือดอกแต่ละดอกมีลักษณะเป็นหลอดห้อยลง ประกอบด้วยกลีบดอก 6 กลีบ รูปทรงกระบอกยาว 2.5-3 เซนติเมตร กว้างประมาณ 0.7-1 เซนติเมตร มีโคนกลีบเชื่อมติดกัน แต่ละกลีบมีหลายสีคละกัน โดยกลีบดอกจะแบ่งเป็น 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ ถัดมาด้านในมีเกสรตัวผู้ 6 อัน ด้านล่างสุดเป็นรังไข่

ดอกว่านหางจระเข้จะบานจากล่างขึ้นบน และจะออกดอกในช่วงฤดูหนาว ดอกมีสีหลายคละกัน และเปลี่ยนไปตามอายุดอก ได้แก่ สีเหลือง สีส้ม และสีแดง

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ผล
ผลว่านหางจระเข้ เป็นผลแห้ง มีลักษณะเป็นเหลี่ยมแบน สีน้ำตาล

ประโยชน์ว่านหางจระเข้
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์
1. ใบนำมาปอกเปลือกให้เหลือเฉพาะเนื้อวุ้น ตัดเนื้อวุ้นเป็นก้อนๆสำหรับรับประทานสด
2. เนื้อวุ้นที่ตัดเป็นก้อนๆ นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากว่านหางจระเข้ ได้แก่ ว่านหางจระเข้เชื่อม น้ำว่านหางจระเข้ผสมวุ้น เป็นต้น
3. ส่วนของน้ำยาง ใช้เป็นส่วนผสมของยาฆ่าเชื้อ ยาถ่ายอย่างแรง หรือ ที่เรียกว่า ยาดำ
4. ใช้เป็นยาสมุนไพรในการใช้ภายใน และภายนอก เช่น การใช้น้ำยางหรือการรับประทานสดเพื่อเป็นยาระบาย
5. ใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางเพื่อการบำรุงผิว และรักษาความชุ่มชื้นของผิว
6. น้ำเมือกใช้ทาผิวกาย ช่วยให้ผิวขาว ลดรอยมองคล้ำ เพราะสามารถกำจัดเซลล์ที่ตายแล้วให้หลุดออกได้ง่ายขึ้น
7. ใช้เป็นส่วนผสมของยาต่างๆ อาทิ ยาต้านการอักเสบ ยาต้านเชื้อจุลินทรีย์ เป็นต้น
8. น้ำเมือกใช้สำหรับล้างจานชาม เพราะมีสารซาโปนินที่มีคุณสมบัติทำให้เกิดฟอง ช่วยให้คราบสกปรกหลุดออกได้ดี

ว่านหางจระเข้

ยาดำ คือส่วนของยางที่ไหลออกมาจากเปลือก โดยนิยมตัดบริเวณโคนใบ แล้วปล่อยให้ยางไหลออกมา เมื่อรวบรวมจนได้จำนวนมากแล้วจะนำมาเคี่ยวไฟจนได้เนื้อยางข้นที่มีลักษณะสีดำ หรือ เรียกว่า ยาดำ ยานี้มีคุณสมบัติเป็นยาถ่ายอย่างแรง

คุณค่าทางโภชนาการ (100 กรัม)
– เถ้า 0.2 กรัม
– น้ำ 88.3 กรัม
– พลังงาน 49 แคลอรี
– โปรตีน 0 กรัม
– ไขมัน 0.6 กรัม
– คาร์โบไฮเดรต 10.9 กรัม
– เส้นใย 0.2 กรัม
– วิตามินเอ 2-4.6 I.U
– วิตามินซี 0.5-4.2 มิลลิกรัม
– ไธอามีน 0.003-0.004 มิลลิกรัม
– ไรโบฟลาวีน 0.001-0.002 มิลลิกรัม
– ไนอาซีน 0.038-0.040 มิลลิกรัม
– แคลเซียม 31 มิลลิกรัม
– ฟอสฟอรัส 3 มิลลิกรัม
– โซเดียม 22 มิลลิกรัม
– โพแทสเซียม 12 มิลลิกรัม
– สังกะสี 0.1 มิลลิกรัม
– เหล็ก 0.032-0.06 มิลลิกรัม

ข้อแนะนำการใช้ประโยชน์
1. การตัดใบใบ
ใบที่นำมาใช้ประโยชน์ ควรเป็นใบจากต้นที่มีอายุตั้งแต่  1 ปี ขึ้นไป และควรเป็นใบล่างสุด เพราะเป็นใบแก่สุด ใบมีเมือก สารอาหาร และสารทางยามากกว่าใบด้านบน หลังจากตัดแล้วควรนำมาใช้ประโยชน์ทันที ดังนั้น จึงต้องตัดใบในจำนวนที่พอเหมาะกับปริมาณที่จะใช้ในแต่ละวัน แต่หากเหลือจะเก็บได้ไม่เกิน 3-4 วัน สำหรับวางไว้ในที่ร่ม และไม่เกิน 7 วัน สำหรับการแช่ในตู้เย็น ก่อนนำมาใช้ต้องล้างน้ำกำจัดคราบดินหรือฝุ่นออกให้หมด

2. วุ้น และน้ำเมือก
หลังจากล้างน้ำจนสะอาดแล้ว จึงเริ่มการปอกเปลือกว่านหางจระเข้ ด้วยการฝานเปลือกออกบางๆตามแนวยาวจจากโคนใบไปปลายใบ แต่ต้องตัดใบว่านหางจระเข้ออกเป็นชิ้นๆตามขวางก่อน หลังจากปอกเปลือกแล้วจะเหลือเฉพาะเนื้อวุ้น และน้ำเมือกที่แทรกอยู่ก่อนนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

วุ้นว่านหางจระเข้

การเลือกซื้อว่านหางจระเข้
1. โคนใบต้องอวบใหญ่ มีความแน่น ผิวเปลือกไม่เหี่ยวย่น เมื่อใช้นิ้วกดดูต้องไม่ยุบตัวหรือนิ่มอ่อน
2. สีผิวใบต้องสด ไม่ซีดจาง
3. ขอบใบ และหนามที่ขอบใบต้องแข็ง ไม่อ่อนงอ

สารสำคัญที่พบ
1. ส่วนของน้ำยางหรือยาดำ ที่ได้จากการกรีดบริเวณใบ ซึ่งน้ำยางที่ไหลออกมาจะมีลักษณะใส แต่เมื่อทิ้งไว้สักพัก น้ำยางจะทำปฏิกิริยากับอากาศเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ประกอบด้วยสาร barbaaloin, emodin และ aloin เป็นหลัก
2. เนื้อ และน้ำเมือก เป็นส่วนที่อยู่ถัดจากเปลือกใบ มีลักษณะเป็นเจลใส ประกอบด้วยสารพอลิแซคคาไรด์ที่มีชื่อว่า กลูโคแมนแนน หรือ อะซีแมนแนน เป็นหลัก

องค์ประกอบสารต่างๆที่พบ
1. กรดอะมิโน
– อลานีน (alanine)
– ฟีนิลอลานีน (phenylalanine)
– ซิสทีน (cystine)
– ไกลซีน (glycine)
– ลิวซีน (leucine)
– ไลซีน (lysine)
– ไอโซลิวซีน (isoleucine)
– เซรีน (serine)
2. สารพอลิแซคคาไรด์ และน้ำตาล
– กลูโคส (glucose)
– ฟรุกโตส (fructose)
– กาแลคโตส (galactose)
– แมนโนส (mannose)
– อะราบิโนส (arabinose)
– ไซโลส (xylose)
– เซลลูโลส (cellulose)
– แรมโนส (rhamnose)
3. เกลือแร่
– แคลเซียม (calcium)
– โพแทสเซียส (potassium)
– โซเดียม (sodium)
– แมงกานีส (manganese)
– แมกนีเซียม (magnesium)
– สังกะสี (zinc)
– ทองแดง (copper)
– เหล็ก (iron)
– โครเมียม (chromium)
4. วิตามิน
– วิตามิน B1
– วิตามิน B2
– วิตามิน B6
– วิตามิน C
– ไนอาซินามายด์ (niacinamide)
– กรดโฟลิก (folic acid)
5. เอนไซม์
– ออกซิเดส (oxidase)
– อะไมเลส (amylase)
– คะตะเลส (catalase)
– ไลเปส (lipases)
– ทรานอะมิเนส (transaminase)
6. กรดอินทรีย์
– กรดซิตริก (citric acid)
– กรดไอโซซิตริก (isocitric acid)
– กรดมาโลนิก (malonic acid)
– กรดฟูมาริค (fumaric acid)
– กรดทาร์ทาริก (tartaric acid)
– กรดซักซินิก (succinic acid)
– กรดมาลิค(maleic acid)
– กรดไพรูวิก (pyruvic acid)
7. แอนทราควิโนน (Anthraquinones)
แอนทราควิโนน ได้แก่ อโลอิน (Aloin A และ B) มีลักษณะเป็นยางสีเหลืองที่อยู่ส่วนของเปลือกว่านหางจระเข้ ออกฤทธิ์สาคัญ คือ กระตุ้นการขับถ่าย ใช้สำหรับเป็นยาระบาย โดยมีกลไกที่สำคัญ คือ เมื่อสารนี้อยู่บริเวณลำไส้จะถูกแบคทีเรียย่อยสลายกลายเป็นแอนทรานอล (Anthranol) สารนี้ จะออกฤทธิ์ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่จนเกิดการหลั่งน้ำบริเวณลำไส้มากกว่าปกติ
8. ไกลโคโปรตีน (Glycoprotein)
ไกลโคโปรตีน เป็นองค์ประกอบที่มีลักษณะเป็นวุ้นใสที่ประกอบด้วยสาร 2 ชนิด คือ
– อะลอคตินเอ (Aloctin A)
– อะลอคตินบี (Aloctin B)
สาร 2 ชนิดนี้ มีคุณทางยา คือ
– ช่วยลดอาการอักเสบ
– บรรเทาอาการแสบร้อน และรักษาแผลไฟไหม้
– ป้องกันการเสื่อมของเซลล์จากการได้รับรังสีบำบัด
– ช่วยเคลือบ และรักษาแผลในกระเพาะอาหาร
9. ซาโปนิน (Saponins)
ซาโปนิน เป็นสารชนิดหนึ่งที่อยู่ในรูปไกลโคไซด์ (Glycoside) ประกอบด้วยสาร Aglycone (Sapogenin) ที่มีคุณสมบัติจับกับน้ำตาลได้ดี และเมื่อสารนี้ละลายน้ำ และหากมีการเขย่าจะทำให้น้ำเกิดฟอง ซึ่งเป็นคุณสมบัติเบื้องต้นของสารที่ทำหน้าที่ลดแรงตึงผิวที่ดี ทำให้นำมาใช้เป็นส่วนผสมของน้ำยาล้างจาน น้ำยาทำความสะอาดทั่วไป แต่ซาโปนิน ก็มีข้อเสีย คือ เป็นสารที่ออกฤทธิ์ทำลายเม็ดเซลล์ผนังของเม็ดเลือดแดงได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานแบบสดๆ
10. อะซีแมนแนน
สารอะซีแมนแนน (B-(1,4)-acetylated mannan) เป็นสารที่พบในส่วนที่เป็นเจลเหลว มีคุณสมบัติหลายด้านด้วยกัน อาทิ
– ช่วยสมานแผล
– ปกป้องเซลล์จากรังสีบำบัด
– เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
– ต้านเซลล์มะเร็ง
– ต้านการแพร่ของเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อไวรัส

ที่มา : 1), 2)

สรรพคุณว่านหางจระเข้
– บรรเทาโรคกระเพาะอาหาร รักษาแผลในกระเพาะอาหาร ลำไส้อักเสบ และช่วยในการเคลื่อนไหวของระบบลำไส้ให้ดีขึ้น
– แก้ท้องผูก และเป็นยาระบาย
– รักษา และป้องกันการเกิดโรคเบาหวาน เพราะว่านหางจระเข้สามารถออกฤทธิ์กระตุ้นให้ร่างกายมีการเผาพลาญอาหารอย่างเป็นปกติ ทำให้น้ำตาลในเลือดมีระดับคงที่ และไม่สูงเกินไป
– ลดความดันโลหิตสูง ช่วยในการไหลเวียนเลือด ช่วยให้เส้นเลือดหดตัวหรือยืดหยุ่นได้ดี
– ช่วยป้องกัน และลดอาการเสี่ยงต่ออาการเส้นเลือดในสมองแตก
– ป้องกัน และบรรเทาโรคเบาหวาน ที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของตับอ่อนในการผลิตสารอินซูลิน ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในภาวะปกติ
– ช่วยป้องกัน และรักษาโรคหอบหืด เพราะสารในใบว่านหางจระเข้ ออกฤทธิ์ให้กล้ามเนื้อในระบบหายใจคลายตัว มีการยืดหดตัวได้ดี
– นำใบมาฝานเปลือก ก่อนนำมาทาแผลไฟไหม้ ช่วยระงับอาการแสบร้อน ลดอาการอักเสบ รักษาแผลให้แผลหายเร็ว
– นำใบที่ฝานเปลือกทาแผลสด ช่วยในการห้ามเลือด ช่วยไม่ให้กลายเป็นแผลเป็น
– เสริมสร้างภูมิต้านทาน กระตุ้นให้ร่างกายต้าน และทนต่อเชื้อโรคได้ดี โดยเฉพาะลดการเป็นหวัด
– ช่วยบำรุงร่างกาย บำรุงสายตา แก้อาการสายตาพล่ามัว
– ช่วยแก้อาการเมารถ
– ช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ลดอาการหงุดหงิด นอนหลับได้ง่าย
– นำเนื้อวุ้นทารักษาโรคผิวหนัง ช่วยฆ่าเชื้อราตามผิวหนัง และระงับอาการผื่นคันตามผิวหนัง แต่บางคนอาจมีอาการแพ้ต่อเมือกนี้ จึงต้องทดสอบด้วยการแตะบางๆที่หลังมือก่อน
– นำเนื้อวุ้นทาบริเวณแมลงกัดต่อย ช่วยลดอาการบวม ลดอาการปวด

เพิ่มเติมจาก : 1), 2)

ผลิตภัณฑ์ว่านหางจระเข้
1. น้ำว่านหางจระเข้
– เมื่อตัดใบใหม่ให้แช่น้ำ 20-30 นาที ด้วยการตั้งขึ้นเพื่อให้ยางออกมากที่สุด
– ทำการปอกเปลือกใบ และล้างน้ำให้สะอาด
– หั่นเนื้อว่านหางเป็นชิ้นเล็ก
– นำเนื้อว่านหางที่หั่นเตรียมไว้ต้มในน้ำเดือด พร้อมปรุงผสมน้ำตาลให้ได้ความหวานตามต้องการ ซึ่งอาจต้มร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นยิ่งเป็นการดี

2. ว่านหางจระเข้เชื่อม
ทำตามขั้นตอนการทำน้ำว่านหางจระเข้จนถึงขั้นตอนการหั้นเนื้อว่านหางเป็นก้อน ซึ่งตอนนี้ให้หั่นเป็นก้อนที่ใหญ่กว่าที่พอเหมาะสำหรับรับประทาน และนำมาต้มในน้ำเชื่อม 30-40 นาที ที่ไฟอ่อนๆ

ข้อควรระวัง
1. การใช้ยางหรือใบดิบทาผิวหนังหรือทาแผลอาจทำให้เกิดการระคายเคือง คัน ปวดแสบปวดร้อน แพ้แสง โดยเฉพาะคนที่มีอาการแพ้ต่อยางว่านหางจระเข้ ดังนั้น ก่อนใช้จะต้องนำใบว่านหางจระเข้ไปลวกน้ำร้อนสัก 2-3 นาที ก่อน โดยยังไม่ต้องปอกเปลือกออก จากนั้นนำใบมาปอกเปลือก แล้วค่อยนำวุ้นมาทาแผล
2. การรับประทานควรปอกเปลือกใบที่หุ้มออกก่อน เพื่อลดปริมาณยางของว่านหางให้มากที่สุด เนื่องจากมีสาร emodin และ aloin จะออกฤทธิ์ทำให้กระเพาะอาหารระคายเคือง และมีผลต่อระบบทางเดินอาหารในด้านอื่นๆ ได้แก่ ท้องเสีย ลดสมดุลกรด-ด่างในระบบทางเดินอาหาร ไตทำงานผิดปกติ และสามารถทำปฏิกิริยากับยางบางชนิดทำให้เกิดพิษเพิ่มขึ้น
3. ผู้ที่มีอาการอาเจียน และท้องร่วง หลังรับประทานว่านหางจระเข้ให้หยุดรับประทาน และให้ทำอาเจียนออกให้หมด ตามด้วยการดื่มน้ำเข้าไปมากๆ
4. การรับประทานว่านหางจระเข้ ให้รับประทานก่อนอาหาร แต่ให้เพียงเล็กน้อย ไม่ควรรับประทานมาก หากรับประทานมากก็จะไม่ค่อยหิวอาหาร เพราะน้ำตาลในเลือดเพียงพอแล้ว ส่วนผู้ที่มีปัญหาในเรื่องแผลในกระเพาะอาหารให้นำใบว่านหางมาลวกน้ำร้อนก่อนหรือให้รับประทานเป็นอาหารว่างแทน
5. การใช้ว่านหางจระเข้ทาภายนอก หากสงสัยว่าตนเองแพ้หรือไม่ ให้ฝานใบว่านหางจระเข้มาเพียงเล็กน้อย แล้วทาบนหลังมือทดสอบก่อน
6. ผู้ที่เป็นรอบเดือน ควรเลี่ยงไม่รับประทาน เพราะจะทำให้ประจำเดือนมาน้อย กระปิดกระปอย
7. ผู้ที่ตั้งครรภ์ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทาน เพราะอาจเสี่ยงต่อการแพ้อาหารหรืออาหารสำแดง หรือ อาจมีผลต่อเด็กในครรภ์ทำให้เกิดอาการแท้งได้ เช่น สารซาโปนินมีคุณสมบัติทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงแตก
8. ผู้ป่วยโรคเบาหวาน หากดื่มน้ำว่านยหางจระเข้หรือรับประทานผลิตภัณฑ์อื่นๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาอินซูลิน เพราะว่านหางจระเข้จะกระตุ้นการสร้างอินซูลินให้มากขึ้น หากรับประทานยาอินซูลินเพิ่มขึ้นอีกจะทำให้เกิดการเผาพลาญพลังงานมากเกินไป เกิดอาการร้อนใน และมีผลทำให้ร่างกายหมดสติได้

เพิ่มเติมจาก : 3)

การปลูกว่านหางจระเข้
ว่านหางจระเข้ เป็นพืชที่เติบโตได้ดีในร่วนซุย ทั้งดินร่วน ดินร่วนปนทรายที่มีหน้าดินลึก และระบายน้ำได้ดี ไม่ชอบน้ำท่วมขัง และชอบพื้นที่ที่แสงส่องทั่วถึง

การขยายพันธุ์
1. การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เป็นวิธีที่นิยมประเภทหนึ่งสำหรับการปลูกในแปลงขนาดใหญ่เพื่อการพาณิชย์ที่ต้องใช้ต้นกล้าจำนวนมาก ซึ่งวิธีนี้จะมีในบางเฉพาะพื้นที่ และต้องรู้จักหน่วยงานที่มีการเพาะเนื้อเยื่อจำหน่าย
2. การแยกหน่อ ถือเป็นวิธีที่นิยมวิธีหนึ่งสำหรับการปลูกว่านหางจระเข้ ทั้งการปลูกในแปลงขนาดใหญ่ และการปลูกในครัวเรือน ด้วยการขุดหน่อที่แตกออกจากต้นแม่มาปลูกเพื่อให้เป็นต้นใหม่
3. การปักชำ เป็นวิธีที่ไม่ค่อยนิยม ใช้สำหรับการปลูกแบบทั่วไปที่มีการตัดยอดหรือต้นออก ซึ่งส่วนยอดหรือต้นนั้นสามารถนำมาปักชำหรือปลูกลงแปลงหรือในพื้นที่ได้เลย วิธีนี้จะได้ต้นเดิมที่มีการแตกยอดใหม่เท่านั้น ทำให้ได้ใบว่านหางที่ใหญ่งามเหมือนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อหรือการแยกหน่อ

การเตรียมดิน
ด้วยการไถพรวนดินทิ้งไว้ประมาณ 1-2 สัปดาห์ พร้อมกำจัดวัชพืช หลังจากนั้น หว่านปุ๋ยคอกหรือใส่วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร อัตรา 1-3 ตัน/ไร่ พร้อมไถยกร่องแปลงสูง 20-30 ซม. แปลงกว้าง 100-120 ซม. สำหรับการปลูกสองแถว แปลงกว้าง 40-60 ซม. สำหรับการปลูกแถวเดียว ความยาวตามความเหมาะสมของพื้นที่ ส่วนร่องแปลงให้ไถกว้างพอสำหรับทางเดินระหว่างแปลง

วิธีการปลูก
ทำการขุดหลุมปลูกลึกประมาณ 20 ซม. ระยะห่างระหว่างหลุม และแถว สำหรับแถวคู่ 60×60 ซม. เว้นขอบแปลง 20-30 ซม. ก่อนนำต้นกล้าลงหลุมอาจใส่ปุ๋ยคอกประมาณ 1-2 กำมือ หากไม่ต้องการใส่ในช่วงการเตรียมแปลง ซึ่งจะทำให้ประหยัดปุ๋ยได้ หลังจากนั้น นำต้นกล้าลงหลุมปลูก กลบดินให้แน่นพอประมาณ พร้อมรดน้ำให้ชุ่ม

การดูแลรักษา
โรคที่เกี่ยวกับว่านหางจระเข้ไม่มีมากนัก ส่วนมากที่มีผลต่อการเจริญเติบโตมากมักจะเป็นในเรื่องของลักษณะดิน การให้น้ำ และการกำจัดวัชพืชเป็นสำคัญ
– การให้น้ำถือเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากว่านหางเป็นพืชที่ต้องการน้ำหรือความชื้นตลอดในช่วงการเติบโต ซึ่งต้องให้น้ำอย่างพอเพียงจึงจะทำให้ใบอวบใหญ่ การให้น้ำอาจให้ด้วยระบบน้ำหยดหรือระบบสปริงเกอร์ วันละ 1-2 ครั้ง ในปริมาณที่หน้าดินชุ่ม
– การใส่ปุ๋ย อาจเริ่มใส่ตั้งแต่ในระยะเริ่มปลูกสำหรับปุ๋ยรองพื้นหรือเริ่มให้หลังจากการปลูก 1-2 สัปดาห์ ด้วยปุ๋ยสูตร 16-8-8 ในอัตรา 20 กก./ไร่ ในทุกๆ 2-3 เดือน
– การกำจัดวัชพืช และพรวนดิน ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมั่นเอาใจใส่ เพราะเกษตรกรบางรายที่ขาดการกำจัดวัชพืช และพรวนดิน จะพบวัชพืชขึ้นสูง หน้าดินแน่น ทำให้ว่านหางจระเข้เจริญเติบโตไม่เต็มที่ ซึ่งอย่างน้อยควรกำจัดวัชพืชทุกๆ 1-2 เดือน พรวนดินทุกๆ 2-3 เดือน

การเก็บผลผลิต
ว่านหางจระเข้สามารถเก็บใบได้เมื่อปลูกในช่วง 8-12 เดือน ซึ่งหากมีการดูแลที่ดีจะสามารถเก็บใบที่มีน้ำหนักมากกว่า 0.8 กิโลกรัม ได้ โดยหนึ่งต้นจะมีใบประมาณ 15-20 ใบ หรือมากกว่า หากได้รับน้ำเพียงพอ สำหรับการเก็บจะใช้มีดที่คมกรีดตัดใบบริเวณชิดโคนต้น และตัดจากใบด้านล่างจนถึงใบด้านบน โดยให้มีใบเหลือประมาณ 5-7 ใบ

เอกสารอ้างอิง
4