ว่านมหากาฬ สรรพคุณ และการปลูกว่านมหากาฬ

Last Updated on 4 เมษายน 2017 by puechkaset

ว่านมหากาฬ (Gynura pseudochina (L.) DC.) เป็นพืชล้มลุกหลายปี ลำต้นมีขนาดเล็ก อยู่ในวงศ์ Asteraceae (Compositae) มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆ เช่น ว่านมหากาฬ (กรุงเทพมหานคร และภาคกลาง) คำโคก (ขอนแก่น-เลย) หนาดแห้ง (นครราชสีมา) ผักกาดกบ (เพชรบูรณ์) ผักกาดนกเขา (สุราษฎร์ธานี) จำแนกลำดับพฤกษศาสตร์ได้ ดังนี้

อนุกรมวิธาน
• Kingdom : Plantae
• Division : Spermatophyta
• Sub division : Angiospermae
• Class : Dicotyledoneae
• Order : Asterales
• Family : Asteraceae
• Genus : Gynura
• Species : Gynura pseudochina

การกระจายพันธุ์
พบได้ในแถบเอเชีย แถบอินโดจีน อินโดนีเซีย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และไทย ในประเทศไทยพบมากทางทิศใต้ และทิศตะวันตกบริเวณเขาวังเขมร จังหวัดกาญจนบุรี ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล 200-500 เมตร มักพบในที่ร่มใต้ร่มไม้หรือที่โล่ง ออกดอกในช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคม

DSC_0024

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
านมหากาฬมีลำต้นใต้ดิน เป็นลำต้นชนิดทูเบอร์ (tuber) ที่มีลักษณะลำต้นสั้น และใหญ่ มีตาอยู่โดยรอบ ไม่มีใบเกล็ด ลำต้นใต้ดินมีลักษณะเป็นหัว ส่วนลำต้นเหนือดินมีสีเขียวแกมม่วง สูง  ประมาณ 40-60 เซนติเมตร ไม่แตกกิ่งด้านข้าง แตกใบเป็นกลุ่ม บริเวณโคนต้นใกล้พื้นดิน

ว่ามหากาฬ

ใบ
ใบเป็นใบเดี่ยว สีเขียวแกมม่วง มีลักษณะรูปช้อนแกมรูปขอบขนาน หรือเป็นรูปพิณ ยาวประมาณ 1.5-13 กว้างประมาณ 0.4-6 เซนติเมตร ส่วนปลายแหลมหรือมน ส่วนโคนเรียว และไม่เป็นรูปติ่งหู ขอบใบหยัก แบบขนนกหรือหยักซี่ฟัน ผิวใบทั้งด้านล่าง และด้านบนมีขนหนาแน่น ใบมีลักษณะอวบน้ำ ก้านใบยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร

ดอก
ดอกออกเป็นช่อกระจุกแน่นบนช่อเชิงหลั่น 3-9 ช่อ ยาว 1-1.5 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.6-0.8 เซนติเมตร ก้านช่อดอกยาว 0.5-2 เซนติเมตร ผิวดอกมีขน โคนก้านมีใบประดับรูปสามเหลี่ยมแคบ ยาวประมาณ 8-10 มิลลิเมตร

ว่านมหากาฬ2

วงใบประดับมีสีเขียว ใบประดับวงในมีประมาณ 13 อัน มีลักษณะเป็นรูปหอกถึงแกมขอบขนาน ยาวขนาด 10-11 มิลลิเมตร กว้าง 1.5-2.5 มิลลิเมตร ปลายแหลมเรียว และมีขนขนาดเล็ก ขอบบาง และแห้ง ใบประดับวงนอกยาว 4-6 มิลลิเมตร มีลักษณะคล้ายใบประดับยู่วงใน แต่กลีบดอกสีเหลือง ผิวเกลี้ยงทั้ง 2 ด้าน ด้านล่างมีปุ่มเล็กเกสรเพศผู้ ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร อับเรณูยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ส่วนเกสรเพศเมียจะยื่นพ้นหลอดดอก ประกอบด้วยรังไข่ทรงกระบอก ขนาดประมาณ 1.5 – 0.5 มิลลิเมตร ก้านเกสรยาวประมาณ 8 มิลลิเมตร แฉกก้านยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร มีสันตามยาว ฐานรองดอกมีลักษณะแบน เป็นแบบรังผึ้ง และมีเกล็ดสั้น ๆ

สรรพคุณว่านมหากาฬ 
การใช้ประโยชน์ในด้านสมุนไพรจากว่านมหากาฬ นิยมใช้ทั้งส่วนราก หัว ใบสด และดอก ด้วยวิธีการต่าง เช่น
– การนำมารับประทานสด
– การนำส่วนต่างๆมาต้มน้ำดื่ม
– การนำมาตากแห้งแล้วบดชงน้ำดื่มหรืออัดใส่แคบซูลรับประทาน
– การบดสดหรือบดแห้งแล้วผสมน้ำใช้ทาภายนอก
– นำส่วนที่ตากแห้งมาดองเหล้า

1. ช่วยรักษาฝี แผลพุพอง เป็นหนอง แผลปวดแสบปวดร้อน ฆ่าเชื้อ รักษาอาการอักเสบ ห้ามเลือด ช่วยให้แผลหายเร็ว
– นำต้น หัวหรือใบสดมาบดสำหรับประคบทาแผล หรือนำส่วนตากแห้งบดผสมน้ำประทาแผล จะช่วยให้แผลหายเร็ว

2. ช่วยในการถอนพิษจากสัตว์ต่างๆ อาทิ แมงป่อง ตะขาบ ต่อ แตน แมลงภู่ ผึ้ง
– นำต้น หัวหรือใบสดมาบดประคบทาแผลบริเวณถูกต่อย หรือนำส่วนตากแห้งบดผสมน้ำประทาประคบแผล จะช่วยบรรเทาอาการปวด และทำลายพิษได้ รวมถึงช่วยในการฆ่าเชื้อ และรักษาแผลจากการถูกต่อย

3. ช่วยบรรเทาอาการโรคต่างๆ เช่น โรคเริม งูสวัด เป็นต้น รวมถึงแก้พิษร้อน พิษไข้เซื่องซึม กระสับกระส่าย รักษาพิษอักเสบ ขับระดู
– นำต้น หัวหรือใบสดมาต้มน้ำดื่ม หรือนำส่วนตากแห้งที่บดแล้วต้มเป็นชาดื่ม จะช่วยบรรเทาอาการของโรค และรักษาโรคต่างๆ

4. บำรุงร่างกาย บำรุงหัวใจ บำรุงเลือด และต้านอนุมูลอิสระ
– นำต้น หัวหรือใบสดมาต้มน้ำดื่ม หรือนำส่วนตากแห้งที่บดแล้วต้มเป็นชาดื่ม โดยเฉพาะส่วนหัว และดอกที่ประกอบด้วยสารอาหาร และสารที่ช่วยบำรุงร่างกาย

การปลูกว่านมหากาฬ 
ว่านมหากาฬเป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี มีลำต้นขนาดเล็ก ขยายพันธุ์ด้วยการงอกกอใหม่บริเวณรากที่แผ่ไปตามพื้นดิน หรือขยายพันธุ์ด้วยการแตกหน่อใหม่จากโคนต้นเดิม เป็นพืชที่ชอบดินร่วน มีระบายน้ำดี

การปลูกนิยมใช้ส่วนหัวหรือเหง้าใหม่แบ่งปลูก รวมถึงการนำส่วนต้นอ่อนมาปักชำ ด้วยการปลูกในแปลงดินที่ว่างหรือการปลูกในกระถาง สำหรับดินที่ใช้ควรเป็นดินร่วน หากเป็นดินร่วนอาจใช้เพียงดินเพียงส่วนเดียวก็ได้ แต่แนะนำให้ผสมปุ๋ยคอกหรือวัสดุการเกษตร เช่น แกลบ ขี้เถ้า ขี้เลื่อย ขุยมะพร้าว ในอัตราส่วนดิน:วัสดุ ที่ 1:1 หรือ 2:1 หากเป็นดินชนิดอื่น เช่น ดินเหนียวหรือดินทราย ควรใช้อัตราส่วนที่ 1:1 หรือ 1:2 เป็นอย่างต่ำ

เนื่องจากต้นว่านน้ำเป็นพืชที่มีลักษณะอวบน้ำ ชอบความชื้น จึงต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ วันละ 1-2 ครั้ง

การ ปลูกในทีร่ม เช่น ใต้ร่มไม้ใหญ่ ใต้สแลน หรือปลูกในกระถางที่วางในที่ร่มที่ได้รับแสงเพียงพอ แต่ไม่มากนัก จะช่วยให้ดินไม่แห้ง ต้นสามารถเจริญเติบโตได้ดี แต่หากปลูกที่โล่งแจ้งต้องเป็นดินที่ร่วนพอ และต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอไม่ให้หน้าดินแห้ง

การใส่ปุ๋ย ในระยะที่ต้นตั้งตัวได้จะให้ปุ๋ยคอกเพียงอย่างเดียวก็ได้หรือให้ร่วมกับปุ๋ย เคมีสูตร 16-8-8 อัตรา 5-10 กรัม/ต้น ปุ๋ยคอกในอัตรา 0.5 กิโลกรัม/ต้น เมื่อถึงระยะออกดอกให้เปลี่ยนใส่ปุ๋ยสูตร 12-12-24 ในอัตราเดียวกัน เพื่อบำรุงดอก และหัว

การเก็บผลผลิต
– ลำต้น และใบ เก็บได้ตลอดอายุการเติบโต แต่แนะนำให้เก็บในช่วงก่อนระยะออกดอก
– ราก และหัว เก็บได้ตั้งแต่ระยะออกดอกจนถึงระยะดอกร่วง หรือใบเริ่มแก่
– ดอก เก็บในระยะที่ดอกบานเต็มที่