ว่านน้ำ(Sweet flag) ประโยชน์ และสรรพคุณว่านน้ำ

Last Updated on 4 เมษายน 2017 by puechkaset

ว่านน้ำ (Sweet flag) เป็นพืชที่ชอบขึ้นบริเวณโคลนตม ตามริมบ่อ หนอง คลองบึงในระดับน้ำตื้น มีเหง้าเหมือนข่าแต่เล็กกว่า มีกลิ่นหอม และมีรสเผ็ดร้อน ซึ่งนิยมนำมาใช้เป็นสมุนไพร และใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตร

ว่านน้ำมีชื่ออังกฤษ : Calamus flargoot, Myrtle gress, Sweet flag, Sweet sedge มีชื่อเรียกท้องถิ่นของไทยแตกต่างกัน เช่น คาเจี้ยงจี้, ส้มชื่น, ฮางคาวน้ำ, ฮางคาวบ้าน, ฮางคาวผา, ทิสีปุตอ และผมผา

แหล่งที่พบ
ว่านน้ำพบได้ในทุกภาค แต่พบมากทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และบนที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,200 เมตร แถบจังหวัดเลย โดยมักพบบริเวณริมลำห้วย ริมลำธาร หรือริมหนองน้ำ ส่วนต่างประเทศพบในเขตอบอุ่นของทวีปเอเชียถึงความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 2,000 เมตร เช่น อินเดีย, ศรีลังกา, สิกขิม, อินโดนีเซียถึงนิวกินี และจีน โดยประเทศไทยพบว่านน้ำที่นำเข้าจากต่างประเทศอีก 2 ชนิด คือ A. pusiilu และ A. gramineus ซึ่งเป็นว่านน้ำที่นำเข้าเพื่อใช้ปลูกในตู้ปลา

ว่านน้ำ1

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
เหง้า
เหง้าเป็นส่วนลำต้นใต้ดินที่เจริญเป็นแท่งยาวขนานไปกับผิวดินใต้น้ำ มีลักษณะกลมยาว เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-2 เซนติเมตร เจริญเป็นข้อๆ มีสีขาวออกน้ำตาล มีรากฝอยแตกออกบริเวณข้อ

ใบ
ใบเป็นใบเดี่ยวที่แตกออกจากเหง้า มีรูปเรียวยาวคล้ายใบดาบ กว้างประมาณ 1-20 ซม. ยาวประมาณ 70-120 ซม. ใบมีลักษณะหนา สีเขียวเข้มเป็นมัน ฉ่ำน้ำ ใบมีกลิ่นหอม เมื่อแตกออกจากเหง้าจะพับตีบ และค่อยๆแผ่ออก คล้ายว่านหางช้าง

ดอก และผล
ดอกแทงออกเป็นช่อ บริเวณก้านใบ มีลักษณะเป็นแท่ง มีลักษณะสีเขียวอ่

อนออกเหลืองเมื่ออ่อน และเปลี่ยนเป็นสีเขียวอมน้ำตาลจนถึงน้ำตาลแดงเมื่อแก่ ทรงดอกมีรูปร่างคล้ายธูปหรือผลดีปลี ยาวประมาณ 5-10 ซม. มีก้านดอกใหญ่ ตรงยาวประมาณ 15-30 ซม. ดอกประกอบด้วยเกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมียในดอกเดียวกัน ผลที่สุกจะออกสีน้ำตาลแดง ประกอบด้วยเมล็ดขนาดเล็กที่เจริญจากหลายรังไข่ในดอกเดียว

ว่านน้ำ

ผลว่านน้ำ

เหง้า
เหง้ามีลักษณะคล้ายข่า รูปทรงกระบอก ค่อนข้างแบน ภายนอกมีสีน้ำตาลอ่อนหรือน้ำตาลอมชมพู มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว มีรากเล็กเป็นฝอยๆแตกออกบริเวณเหง้า

สารที่พบ
สารสำคัญที่พบ ได้แก่ alpha – asarone, beta – asarone, asaryl aldehyde, eugenol, asarone, acorin, acalamol aldehyde และสารอื่นๆ เช่น ยาง แป้ง แทนนิน เป็นต้น สารที่พบมากที่สุดในเหง้าว่านน้ำ โดยการสกัดด้วยวิธี hydroalcoholic extract คือ beta-asarone พบประมาณ 79.54% เป็นสารที่มีคุณสมบัติยับยั้ง acetylcholinesterase เหมาะสำหรับประยุกต์ใช้สำหรับสารป้องกัน และกำจัดแมลงศัตรูพืช

สรรพคุณว่านน้ำ
เหง้ามีรสเผ็ดร้อน มีกลิ่นหอม นำมาบดเป็นผงรับประทานหรือต้มทั้งเหง้า รักษาโรคบิด โรคท้องร่วง ท้องเสีย แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้จุกเสียด แน่นท้อง ช่วยในการขับลม ใช้ในการลดไข้ แก้ไอ ขับเสมหะ รักษาหอบหืด ใช้ระงับประสาท ลดอาการเต้นเต้น อาการกระวานกระวานหรือตกใจกลัว บำรุงหัวใจ แก้อาการปวดตามข้อ ขับพยาธิ แก้ปวดฟัน รักษาโรคในช่องปาก ช่วยรักษาแผล แผลติดเชื้อ เป็นหนอง แก้อาการคันตามผิวหนัง กำจัดเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย และไวรัส

ประโยชน์ว่านน้ำ
สารในเหง้าว่านน้ำ โดยเฉพาะ beta-asarone ที่พบมากเป็นพิเศษ เป็นสารที่มีความเป็นพิษต่อแมลง โดยสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของแมลง มีผลต่อระบบสืบพันธุ์ การวางไข่ และการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของแมลง และยับยั้งการกินอาหารของแมลง

สารสกัดของว่านน้ำด้วยการสกัดจากเมทานอลมาทดสอบโดยใช้สัมผัสโดยตรงกับตัวเต็มวัยของด้วงงวงข้าว และด้วงถั่วเหลือง พบว่า แมลงทั้งสองมีอัตราการตายมากกว่า 90% หลังการสัมผัสสาร 3-4 วัน

Heteropsylla cubana Sharma และคณะ (1992) ทดสอบน้ำมันจากว่านน้ำกับเพลี้ยไก่ฟ้ากระถิน พบว่า น้ำมันที่สกัดได้มีความเป็นพิษสูงต่อเพลี้ยไก่ฟ้ากระถิน

Jacobson และคณะ (1976) ทอสอบนำสาร beta-asarone – asarone (2,4,5-trimethoxypropenylbenzenes), acorangermacrone และ asarylaldehyde ที่สกัดออกมาในรูปน้ำมันหอมระเหยจากเหง้าว่านน้ำ นำมาทดสอบกับแมลงวันผลไม้เพศเมีย 2 ชนิด คือ Ceratitis capitata และ Dacus cucurbita ส่วน D. dorsalis ใช้เพศผู้มาทดสอบ พบว่า สาร beta-asarone ทำให้ Ceratitis capitata ตายได้ ส่วนสาร asarylaldehyde มีผลทำหให้ตัวผู้ และเมียของ D. dorsalis ตายได้เช่นกัน

Rao และคณะ (2002) รายงานว่าเมื่อนำว่านน้ำ สะเดา และโลติ๊น มาผสมในอัตราส่วนต่างๆกัน พบว่าอัตราส่วน 1:1:1 มีผลยับยั้งการเจริญเติบโตและการกินอาหารของตัวอ่อนผีเสื้อกลางคืน Earias vittella (Fab) ได้ถึง 80% ของกลุ่มควบคุม

Nakakita และคณะ (1994) ได้ทดสอบสารสกัดจากว่านน้ำที่มีการควบคุมการเจริญเติบโตของตัวอ่อน Tribolium freemani พบว่า สารสกัดมีผลต่อกระบวนการควบคุมการเจริญเติบโตของตัวอ่อนได้ โดยมีสารที่ออกฤทธิ์คือ beta-asarone

Koul และคณะ (1990) ทดสอบสาร asarones ที่สกัดจากรากว่านน้ำกับหนอนผีเสื้อกลางคืน Peridrama saucia พบว่า สารสกัดมีผลยับยั้งการเจริญเติบโต และการกินอาหารของหนอนผีเสื้อกลางคืนได้

Bhonde?และคณะ (2002) ทดสอบน้ำมันสกัดจากว่านน้ำกับหนอนกระทู้ผัก Spodoptera litura ด้วยวิธี leaf disk bioassays พบว่า สารสกัดสามารถลดการกินอาหารของหนอนกระทู้ผักได้

Schmidt และคณะ (1994) ทดสอบสารหอมระเหย และ beta-asarone ที่สกัดจากว่านน้ำ ไปทดสอบการกินอาหารของด้วง Prostephanus truncates Horn เป็นเวลา 21 วัน ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส พบว่า สารสกัดมีผลทำให้อัตราการกินอาหารของด้วงลดลง 50% และยังพบว่าช่วงอุณหภูมิมีผลต่อการออกฤทธิ์ของสาร หากอุณหภูมิสูงขึ้นประมาณ 30 องศาเซลเซียส อัตราการกินอาหารของด้วงลดลงถึง 80%

การเก็บว่านน้ำ
– ส่วนใบ ให้เก็บขณะที่เริ่มออกดอก
– ส่วนราก ให้เก็บขณะที่มีดอก
– ส่วนดอก ให้เก็บขณะดอกตูม
– ส่วนผล ให้เก็บขณะผลโตเต็มที่แต่ยังไม่สุก