ว่านงาช้าง และการปลูกว่านงาช้าง

Last Updated on 12 มีนาคม 2016 by puechkaset

ว่านงาช้าง จัดเป็นว่านมหานิยม ที่นิยมปลูกเป็นไม้ประดับต้น และดอก ทั้งในกระถางตั้งหน้าบ้าน หน้าร้านค้า รวมถึงแปลงจัดสวน เพื่อเสริมความเป็นสิริมงคล และช่วยให้ทำมาค้าขายร่ำรวย ทั้งนี้ ด้วยลักษณะเด่นทีมีใบหรือลำต้นเทียมตั้งตรง ปลายลำแหลมทำให้มีรูปร่างคล้ายงาช้าง จึงทำให้เป็นที่มาของชื่อที่เรียกกันว่า ว่านงาช้าง

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sansevieria cylindrica Bojer
• ชื่อวงศ์ : Dracaenaceae
• ชื่อท้องถิ่น :
– ว่านงาช้าง
– ว่านงาช้างเขียว
– หอกสุรกาฬ
– ว่านงาช้างลาย
– หอกสุรโกฬ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ลำต้นว่านงาช้างมีลำต้นแท้อยู่ใต้ดิน เป็นเหง้าที่แตกแยกออกเป็นแง่ง คล้ายเหง้าข่า แต่เปลือกหุ้มด้านนอกจะมีสีส้ม เนื้อหัวด้านในมีสีเหลืองอมส้ม มีกลิ่นหอมอ่อนๆ

ใบ
ใบว่านงาช้าง โดยทั่วไปเข้าใจว่าเป็นว่านไม่มีใบ แต่ในทางวิชาการแล้ว ลำต้นเทียมที่เป็นลำทรงกลมสีเขียวก็คือใบนั่นเอง ใบหรือลำต้นเทียมเหนือดินจะแทงออกจากตาของหัวหรือเหง้าที่อยู่ใต้ดิน ลำต้นเทียมมีลักษณะเป็นทรงกลม สีเขียวทั้งใบหรือมีสีเขียวที่ประคาดเป็นลายขาวเขียว ลำใบตั้งตรง ไม่แตกแขนง สูงประมาณ 40-60 ซม. โคนใบใหญ่ ปลายใบแหลม มีร่องลึกเป็นพูตามแนวยาวจากโคนถึงส่วนปลาย โดยลำต้นเทียมนี้จะมีอายุนานหลายปี

ว่านงาช้าง

ดอก
ดอกว่านงาช้างจะแทงออกจากเหง้า มีลักษณะออกเป็นช่อที่ประกอบด้วยดอกสีขาวเป็นชั้นๆตามความสูงของช่อดอก ดอกส่งกลิ่นหอมอ่อนๆ

ผล
ผลว่านงาช้างจะติดผลน้อย ถึงแม้จะมีดอกจำนวนมาก ผลมีลักษณะกลม ขนาดเล็ก ประมาณ 0.5-1 ซม. ผลมีส้ม เมื่อสุกจัดจะมีสีแดง

ผลว่านงาช้าง

ขอบคุณภาพจาก www.jamrat.net

ประโยชน์ว่านงาช้าง
1. เนื่องจากลำต้นเทียมหรือใบมีลักษณะโดดเด่นต่างกับพืชอื่น รวมถึงดอกที่ออกเป็นช่อสวยงาม จึงนิยมปลูกเป็นไม้ประดับทั้งปลูกในกระถาง และปลูกในแปลงจัดสวน ทั้งนี้ อาจปลูกประดับแบบลำต้นตั้งตรงตามธรรมชาติ หรือ ดัดบิดเป็นเกลียวพันหลายต้นเข้าด้วยกัน
2. ปลูกเป็นไม้มงคล ด้วยเชื่อว่าเป็นว่านที่ช่วยเสริมความเป็นสิริมงคลแก่คนในครอบครัว ช่วยให้ผู้คนเข้าร้านมากขึ้น ทำให้ทำมาค้าขายร่ำรวย

สรรพคุณทางยา
เหง้าหรือหัว และใบหรือลำต้นเทียมนำมาต้มน้ำดื่ม มีรสขมเล็กน้อย
– เป็นยาบำรุงโลหิต
– ใช้ขับพยาธิ
– รักษาโรคริดสีดวง
– ช่วยการอยู่ไฟของสตรีหลังคลอด ช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวเร็ว
– ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ

ใบหรือลำต้นเทียมนำมาตำใช้ทาภายนอก
– ใช้ทาหน้ารักษาสิว
– ใช้ทาหน้าลดรอยเหี่ยวย่น ช่วยให้หน้าเต่งตึง
– ใช้ทารักษาแผลติดเชื้อ แผลเป็นหนอง ช่วยให้แผลแห้ง และหายเร็ว
– ใช้ทารักษาอาการผดผื่นตามผิวหนัง

การปลูกว่านงาช้าง
ว่านงาช้างมักไม่ติดผล ถึงแม้จะมีดอกมาก็ตาม ดังนั้น ตามธรรมชาติของว่านงาช้างจึงขยายพันธุ์ด้วยการแตกเหง้าใหม่เป็นหลัก ดังนั้น การปลูกว่านงาช้างจะใช้วิธีแยกเหง้าปลูกเป็นหลัก ด้วยการขุดแยกเหง้าอ่อนออมาแยกปลูกเป็นต้นใหม่

การปลูกในกระถางนั้น จำเป็นต้องใช้วัสดุปลูกที่ผสมระหว่างดินกับวัสดุอินทรีย์ อาทิ ปุ๋ยคอก แกลบดำ อัตราส่วนผสมประมาณ 1:3-5 เพื่อให้มีอินทรียวัตถุมาก เพราะว่านงาช้างเป็นพืชที่เติบโตได้ดี มีลำต้นสวยงามหากดินมีความร่วนซุย และดินมีอินทรียวัตถุสูง รวมถึงดินมีความชื้นตลอดเวลา

ส่วนการปลูกในแปลง สามารถปลูกลงในแปลงได้เลยหรือให้คลุกผสมดินกับปุ๋ยคอกเสียก่อน แต่หลังการปลูกควรใส่ปุ๋ยคอกคลุมหน้าดินอย่างสม่ำเสมอ