รางจืด สรรพคุณรางจืด สมุนไพรลด และกำจัดสารพิษ

Last Updated on 16 มิถุนายน 2016 by puechkaset

รางจืด จัดเป็นพืชเถาที่มีอายุนานหลายปี เป็นพืชที่รู้จักกันดีในจำนวนพืชที่สามารถแก้พิษ และกำจัดสารพิษในร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น คนโบราณยังนิยมใช้สำหรับแก้พิษจากสัตว์ต่างๆได้อีกด้วย

อนุกรมวิธาน
• Kingdom : Planatae
• Phylum : Magnoliophyta
• Class: Magnoliopsida
• Order : Scrophulariales
• Family : Acanthaceae
• Genus : Thunbergia
• Species : Laurifolia Linn.

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Thumbergia laurifolia Lindl.
• ชื่อสามัญ : Blue Thunbergia
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง
– รางจืด
– กำลังช้างเผือก
– น้ำนอง
– ยาเขียว
– เครือเถาเขียว
– ขอบชะนาง
ภาคเหนือ
– รางเย็น
– หนามแน่
– ปังกะล่ะ
– ย้ำแย้
– แอดเอ
ภาคอีสาน
– ยางจืด
ภาคใต้
– ดุเหว่า
– คาย
– ทิดพุด

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
รางจืดเป็นไม้เถาที่มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันนอกเฉียงใต้ อาทิ ไทย และพม่า เป็นต้น ในประเทศไทยพบมากตามป่าดงดิบหรือป่าดิบชื้นทั่วไป แต่ปัจจุบัน เป็นที่ทราบกันดีว่ามีสรรพคุณเด่นในการขจัดพิษต่างๆ ทั้งพิษจากพืช พิษจากสัตว์ และพิษจากสารเคมี จึงนิยมนำมาปลูกตามบ้านเรือนทั่วไป

ชนิดของรางจืดตามตำรายา
ในตำรายาสมุนไพรของชะลอ อุทกภาชน์ ได้แบ่งสมุนไพรที่เรียกว่า รางจืด ออกเป็น 3 ชนิด คือ
1. รางจืดเถา
เป็นรางจืดที่กล่าวในบทความนี้ คือ มีลักษณะลำต้นเป็นเถาเลื้อย แบ่งเป็นชนิดย่อยตามสีดอก 3 ชนิด คือ
– ชนิดดอกสีม่วงอ่อนหรือสีคราม ซึ่งทางตำรายากล่าวว่า สามารถออกฤทธิ์ทางยามากกว่าชนิดดอกเหลือง และดอกขาว และเป็นชนิดที่นิยมปลูกมากที่สุดในปัจจุบัน
– ชนิดดอกสีเหลือง เป็นชนิดที่พบน้อยมาก
– ชนิดดอกสีขาว เป็นชนิดที่พบน้อยมาก

2. รางจืดต้น (Milica kityana)
เป็นรางจืดที่จัดเป็นพืชล้มลุก มีลำต้นสูงไม่เกิน 6 ฟุต ลำต้นแตกกิ่งก้านแขนงเป็นทรงพุ่ม มีดอก และฝักคล้ายกับดอก และฝักถั่ว ดอกมีสีเหลือง นิยมนำใบ และรากมาใช้ทำยาสมุนไพร และเชื่อว่ารากสามารถแก้คุณไสย ยาพิษ และยาสั่งได้

3. ว่านรางจืด
เป็นรางจืดที่ตำรายาจัดให้อยู่ในกลุ่มว่าน ลำต้นเป็นหัวใต้ดิน เนื้อหัวมีสีขาว และมีกลิ่นหอม สามารถนำมาประกอบอาหารได้ ส่วนมีลำต้นเหนือดินที่เป็นกาบใบ และใบ จะมีลักษณะคล้ายกอขมิ้น ว่านรางจืดนี้ นิยมนำหัวมาทำสมุนไพร และเชื่อว่าสามารถแก้คุณไสย ยาสั่ง และขับสารพิษเหมือนกับรางจืดต้นได้

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ต้นรางจืด เป็นพืชไม้เลื้อย หรือไม้เถา เลื้อยพาดพันไปตามต้นไม้หรือเสารั้ว ขนาดเถาส่วนโคน 0.8-1.5 เซนติเมตร และค่อยๆลดขนาดลงตามความยาวของเถา ส่วนความยาวจะยาวได้มากกว่า 10 เมตร เถามีลักษณะค่อนข้างกลม และเป็นข้อปล้อง เถาส่วนโคนมีสีเขียวอมน้ำตาล เถาอ่อนหรือเถาส่วนปลายมีสีเขียวเข้ม มีขนปกคลุม เนื้อไม้เป็นไม้เนื้ออ่อน หักง่าย แต่ค่อนข้างเหนียว แก่นในสุดเป็นเยื่ออ่อนเป็นวงกลม

เถารางจืด

ใบ
รางจืดเป็นพืชใบเลี้ยงคู่ ใบแทงออกใบเดี่ยวออกเป็นคู่ๆ ซ้าย-ขวา ตามข้อของเถา มีก้านใบยาว 2-4 เซนติเมตร ใบมีรูปหัวใจแหลม โคนใบมน กว้าง ตรงกลางโคนใบอาจเว้าหรือไม่เว้า ปลายใบแหลม และมีติ่งแหลมที่ส่วนปลาย ใบมีขนาดกว้าง 4-8 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-20 เซนติเมตร ใบขนาดใหญ่จะอยู่โคนก้าน และค่อยๆลดขนาดลงตามความยาวของเถา ตัวใบจะมีแผ่นใบ และขอบใบเรียบ ใบด้านบนมีสีเข้มกว่าด้านล่าง มีขนที่ด้านล่างใบ ส่วนด้านบนไม่มี ส่วนเส้นใบมี 3 เส้น เป็นร่องตื้น ยาวจากโคนใบมาปลายใบ มี 2 เส้นใบ อยู่ด้านซ้าย-ขวา ริมขอบใบยาวเกือบถึงปลายใบ และอีก 1 เส้นใบ อยู่บริเวณกลางใบ ยาวจากโคนใบจนถึงปลายสุดของใบ

ใบรางจืด

ดอก
ดอกรางจืดแทงออกเป็นช่อ ตามข้อบริเวณซอกใบ ประกอบด้วยกลีบดอก 5 กลีบ สีม่วงอ่อน มีโคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว คล้ายรูปแตร ปลายกลีบแยกเป็นแฉกออกเป็นรูปจาน เมื่อดอกบานจะมีขนาดประมาณ 5-10 เซนติเมตร ภายในดอกมีเกสรตัวผู้ 5 อัน โดยรางจืดจะออกดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม

ดอกรางจืด

ผล
ผลรางจืด เรียกว่า ฝัก จะเริ่มติดฝักให้ผลหลังจากที่ดอกร่วงไป ผลมีรูปทรงกลมเป็นหลอด กว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร ปลายฝักแหลม และโค้งเล็กน้อยเป็นจะงอยคล้ายปลายปากนก ฝักอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่มีสีน้ำตาลอมดำ เมื่อแก่ และแห้งเต็มที่จะปริแตกออกเป็น 2 ซีก

การประโยชน์รางจืด
1. นิยมนำใบ ราก และเถา มาใช้ประโยชน์ในหลายลักษณะ เช่น การตากแห้ง แล้วนำมาบดอัดใส่แคปซูลกิน การนำมาต้มกับน้ำดื่ม รวมไปถึงการนำรากหรือใบสดมาขยี้ประคบแผลที่ถูกสัตว์มีพิษกัด
2. ใช้ต้มน้ำอาบ แก้อาการแพ้ ผื่นคัน ลดการเกิดโรคผิวหนัง โดยใช้ใบหรือเถาสด 10-15 ใบหรือเถาขนาดยาว 10 ซม. ต้มในน้ำประมาณ 10 ลิตร อาบทุกวัน ประมาณ 5-7 วัน
3. นำใบ 5-10 ใบ มาโคกให้ละเอียด ก่อนผสมน้ำ 1 แก้ว แล้วคั้นเอาเฉพาะน้ำสำหรับดื่ม
4. นำใบมาตากแห้ง แล้วสับเป็นชิ้นเล็กๆ ก่อนใช้ชงน้ำร้อนเป็นชาดื่ม
5. นำใบ 10-20 ใบ หรือ ใช้เถาตัดเป็นชิ้นๆยาว 1-2 นิ้ว ก่อนนำไปแช่สุราดื่ม
6. ดอกรางจืด นำมาบดให้ละเอียดผสมกับน้ำ แล้วกรองแยกกาก ก่อนนำน้ำที่ได้ใช้ทำของหวาน ใช้หุงข้าว หรือใช้ทำสีผสมอาหารอื่นๆ ซึ่งจะให้สีม่วงอ่อนหรือสีคราม หรือสีอื่นตามชนิดสีของดอก
7. คนโบราณมีความเชื่อว่า การดื่มน้ำต้มจากรางจืดสามารถช่วยแก้คุณไสย ยาสั่งหรือมนต์ดำที่ผู้อื่นทำแก่ตนได้
8. ใบรางจืดตากแห้งแล้ว นำมาบดให้ละเอียด ใช้ผสมในอาหารสัตว์ อาทิ อาหารหมู อาหารไก่ เป็นต้น ช่วยเสริมภูมิต้านทานต่อโรค และช่วยรักษาให้สัตว์มีอัตราการรอดสูงขึ้นหลังจากที่ได้รับเชื้อโรค

สารสำคัญที่พบ
ในส่วนของใบ ดอก และเถา พบสารหลายชนิด ได้แก่
– Apigennin
– 8-epi-grandiforic
– 3,O-glucopyranosyl-stibericoside
– Benzyl -glucopyranoside
– (E)-2-hexanyl -glucopyranoside
– Hexanol -glucopyranoside
– 6-C-glucopyranosylapigennin
– 6,8-di-C-glucopyranosylapigennin
– Caffeic acid
– Chlorogenic acid
– Chlorophyll a
– Chlorophyll b
– Pheophorbide a
– Pheophytin a
– Lutein
– Cosmosin

ที่มา : 2), 3)

สรรพคุณรางจืด
ส่วนของราก เถา และใบ รวมถึงดอก พบองค์ประกอบของสารเคมีที่คล้ายกัน ซึ่งมีสรรพคุณทางยาหลายด้าน ได้แก่
• ทุกส่วนมีสารต้านอนุมูลอิสระ และสามารถออกฤทธิ์กำจัดสารตั้งต้นของเซลล์มะเร็ง ทำให้ช่วยต้านการเกิดเซลล์มะเร็ง และลดจำนวนเซลล์มะเร็งจนหายได้
• พบสารสำคัญหลายชนิดออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอการเสื่อมของเซลล์ ช่วยป้องกันเซลล์จากสารพิษ ทำให้ผิวพรรณสดใส ผิวพรรณเต่งตึง และช่วยต้านความแก่
• นำทุกส่วนมาต้มดื่ม ใช้แก้พิษยาเบื่อ ทำลาย และกำจัดพิษยาฆ่าแมลงให้ออกจากร่างกาย
• ทุกส่วนนำมาตำหรือบดผสมน้ำ ใช้สำหรับพอกแผล ระงับอาการปวด ลดอาการบวม และกำจัดพิษจากสัตว์ต่อย อาทิ งูกัด แมงป่อง ตะขาบ แมงดาทะเล เป็นต้น
• ทุกส่วนช่วยในการลด และกำจัดสารพิษของเห็ดพิษ ทำให้บรรเทาอาการจากพิษเห็ด และรักษาพิษจากเห็ดพิษได้
• ทุกส่วนออกฤทธิ์ต้านการอักเสบ เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาแผล เช่น รักษาไวรัสเริม ด้วยการบดผสมน้ำเล็กน้อย ก่อนนำไปประคบบริเวณรอยแผลเริม
• ทุกส่วนนำมาบดผสมน้ำเล็กน้อย ก่อนนำมาประคบหรือทาแผลสด แผลเป็นหนอง ซึ่งจะช่วยให้แผลแห้งเร็ว ลดการติดเชื้อ ลดอาการบวมของแผล
• ทุกส่วนนำมาต้มน้ำอาบ ช่วยบรรเทาอาการผื่นคัน ต้านเชื้อรา รักษาโรคผิวหนัง
• ทุกส่วนนำมาต้มน้ำดื่มหรือคั้นน้ำดื่มสำหรับใช้เป็นยาแก้ร้อนใน และช่วยบรรเทาอาการกระหายน้ำ
• ทุกส่วนช่วยลดพิษจากแอลกอฮอล์ กำจัดแอลกอฮอล์ออกจากร่างกาย ช่วยบำบัดผู้ติดสุราได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการเมาค้าง ให้นำใบมาต้มน้ำดื่มทุกๆ 3-5 ชั่วโมง จะช่วยคลายอาการเมาค้างได้เป็นอย่างดี ส่วนผู้ที่ติดสุรา ให้นำใบหรือเถามาต้มน้ำดื่มเป็นประจำ โดยใช้แทนน้ำดื่มหลังรับประทานอาหาร และดื่มก่อนนอนทุกวัน ตลอด 3 เดือน ซึ่งจะช่วยคลายอาการอยากดื่มสุราได้
• สำหรับผู้ที่ติดบุหรี่หรือสารเสพติด ให้นำใบหรือเถายางจืดมาต้มน้ำดื่มเป็นประจำ โดยดื่มแทนน้ำหลังรับประทานอาหารเหมือนกับการแก้อาการเมาค้าง และดื่มก่อนนอนเป็นประจำทุกวัน ติดต่อกัน 1 เดือน ซึ่งจะช่วยลดอาการอยากสูบบุหรี่ได้ แต่ทั้งนี้ผู้สูบจะต้องลดจำนวนสูบหรือไม่สูบขณะรักษา ซึ่งจะช่วยให้เลิกบุหรี่หรือสารเสพติดได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ การดื่มน้ำต้มใบรางจืดเป็นประจำจะช่วยในการขับสารนิโคติน และสารพิษอื่นๆที่สะสมในเลือด และปอดออกไปด้วย ส่งผลดีสำหรับลดความเสี่ยงมะเร็งปอดหลังการเลิกบุหรี่ได้
• การดื่มน้ำต้มจากใบหรือเถาร้อนๆ ช่วยในการขับปัสสาวะ นอกจากนั้น ยังทำให้รู้สึกอยากอาหารได้อีกด้วย
• ทุกส่วนใช้ในการต้านเชื้อแบคทีเรีย และไวรัสบางชนิด สามารถต้าน และฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ในกระแสเลือด ช่วยลดความรุนแรงของโรคติดเชื้อ และรักษาโรคติดเชื้อต่างๆ
• น้ำต้มจากทุกส่วน นำมาดื่มอุ่นๆ สำหรับรักษา และบรรเทาอาการท้องเสียหรืออาหารเป็นพิษ
• น้ำต้มหรือน้ำคั้นสดจากใบหรือเถา ช่วยปกป้องเซลล์ตับ และไตจากพิษของสารเคมีชนิดต่างๆ และมีส่วนกระตุ้นการทำงานของไตในการกำจัดสารพิษ ลดภาระการกรองสารพิษของไตด้วยการทำลายพันธะของสารเคมีที่มีพิษให้กลายเป็นสารอนุพันธ์ที่ไร้พิษ และทำให้สามารถขับสารพิษเหล่านั้นออกจากร่างกายได้ง่ายขึ้น
• น้ำต้มใบหรือเถาอุ่นๆ นำมาดื่มสำหรับการรักษาไข้หวัด รักษาโรคติดเชื้อในกระแสเลือด เพราะสามารถต้าน และกำจัดเชื้อโรคบางชนิดที่อยู่ในกระแสดเลือดได้
• ช่วยลดความดันโลหิต ปรับระดับการเต้นของหัวใจให้เป็นปกติ
• ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยกระตุ้นระบบการหลั่งอินซูลินให้เป็นปกติ ลดความเสี่ยงการเป็นโรคเบาหวาน และลดอาการของโรคเบาหวาน
• ช่วยลดระดับไขมันในเส้นเลือด ป้องกันไขมันอุดตัน และลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ
• ช่วยกระตุ้นระบบควบคุมการเต้นของหัวใจให้เป็นปกติ ป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดในสมอง
• ทุกส่วนนำมาต้มน้ำดื่มเพื่อปรับประจำเดือนให้มาปกติ หรือสำหรับหญิงที่คลอดบุตรใหม่ ให้ต้มดื่มสำหรับดับน้ำคาวปลา ช่วยฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาสภาพเดิมโดยเร็ว

KONICA MINOLTA DIGITAL CAMERA
เถารางจืดแห้ง

ฤทธิ์ทางยาของรางจืด
– ฤทธิ์ต้านการอักเสบ
– ฤทธิ์ต้านการกลายพันธุ์
– ฤทธิ์ทำลาย และกำจัดสารพิษ
– ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ
– ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลินทรีย์ และไวรัส
– ฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัว และหดตัวของกล้ามเนื้อ

ที่มา : 1), 2), 3), 4)

ความเป็นพิษของรางจืด
• มีการศึกษาความเป็นพิษของรางจืดด้วยการทดลองกับหนูขาวในขนาดที่เท่ากับการดื่มชาของคนเรา ตลอดระยะ 28 วัน พบว่า รางจืดไม่มีผลทำให้หนูขาวเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมแต่อย่างใด และไม่พบการตายของหนูขาวแม้แต่ตัวเดียว รวมถึงการผ่าซากแล้วไม่มีการพบความผิดปกติของอวัยวะแต่อย่างใด
• มีการศึกษาความเป็นพิษของรางจืดต่อการกลายพันธุ์ของแบคทีเรีย พบว่า สารสกัดจากรางจืดไม่มีผลทำให้แบคทีเรียกลายพันธุ์แต่อย่างใด อีกทั้งยังพบว่า สารสกัดจากรางจืดสามารถต้านการกลายพันธุ์ได้ด้วย

ที่มา : 4)

งานศึกษาที่เกี่ยวข้อง
• พุทธชาติ ลิ้มสุวรรณ และคณะ ศึกษาการใช้สารสกัดรางจืดรักษาผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษกำจัดศัตรูพืชพาราครอต ณ โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช จังหวัดสุพรรณบุรี พบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับสารสกัดรางจืดสามารถมีชีวิตรอดประมาณร้อยละ 51.56 จากผู้ป่วยทั้งหมด 64 ราย
• ปัญญา อิทธิธรรมบูรณ์ และคณะ ได้ศึกษาการใช้ชารางจืดที่มีต่อการขับสารยาฆ่าแมลงในกลุ่มเกษตรกร จังหวัดอุบลราชธานี โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ให้ชารางจืด และให้ยาหลอก ขนาด 8 กรัม พบว่า การใช้รางจืดสามารถลดระดับสารฆ่าแมลงในร่างกายได้ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก
• ไพศาล ดั่นคุ้ม ได้ศึกษาประสิทธิภาพของสมุนไพรรางจืดในการลดปริมาณสารยาฆ่าแมลงในเลือดของเกษตรกร ในจังหวัดอ่างทอง โดยการรับประทานชารางจืดเป็นเวลา 7 วัน พบว่า กลุ่มที่รับประทานชารางจืดกับกลุ่มไม่รับประทานมีปริมาณสารยาฆ่าแมลงในเลือด ที่แตกต่างกัน และพบปริมาณยาฆ่าแมลงในเลือดของกลุ่มที่รับประทานชารางจืดมีปริมาณลดลงอย่าง เห็นได้ชัด
• การศึกษาของนักวิจัยคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล เมื่อ พ.ศ. 2521 ที่ศึกษาป้อนผงรากรางจืดกับหนูทดลอง โดยมีการแยกตำรับเป็นใช้ยาน้ำสตริกนินก่อนให้ผงรางจืด และให้ร่วมกับผงรางจืด ผลพบว่า หนูทดลองที่ไม่ตาย เป็นหนูทดลองกลุ่มที่ได้รับยาน้ำผสมกับผงรากรางจืด แสดงให้เห็นว่า ผงรากรางจืดสามารถดูดซับสารพิษชนิดนี้ไว้ได้
• มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ทำการวิจัยใบรางจืด พบว่า การให้ใบรางจืดแก่หนูทดลองสามารถช่วยป้องกันเซลล์ประสาทจากพิษของสารตะกั่ว ได้ ซึ่งมีผลต่อการป้องกันโรคอัลซัลเมอร์ได้
• พบการทดลองใช้รางจืดเพื่อลดพิษจากยาฆ่าแมลงในกลุ่มของ Organophosphate ได้
• โรงพยาบาลชุมพรเขตอุดมศักดิ์ สรุปผลการรักษาคนไข้จากการได้รับพิษไข่แมงดาทะเล โดยพบว่า การใช้รางจืดที่สามารถรักษาอาการที่ได้รับพิษแมงดาทะเลได้
• คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์หมาวิทยาลัย ได้ศึกษาภาวะของตับที่เกิดจากการต้านพิษแอลกอฮอล์ที่มีด้วยสารสกัดจากรางจืด พบว่า สารสกัดจากรางจืดสามารถปกป้องเซลล์ตับจากพิษแอลกอฮอล์ได้

ข้อเสนอแนะ
การใช้รางจืดสำหรับกำจัดพิษงูหรือพิษชนิดอื่นที่มีพิษรุนแรง ไม่ใช่ว่าจะสามารถกำจัดได้หมด แต่เพียงช่วยลดปริมาณสารพิษเท่านั้น ดังนั้น จึงต้องจำเป็นที่จะไปโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์รักษาจึงจะดีที่สุด แต่ก็มีรายงานการใช้รางจืดสำหรับผู้ที่ถูกงูเห่ากัด ก่อนที่จะเดินทางถึงโรงพยาบาล ซึ่งพบว่า ปริมาณพิษงูเห่าลดเหลือน้อยแล้วจึงช่วยเยื้อชีวิตผู้ที่ได้รับพิษได้ก่อนถึงโรงพยาบาล

การปลูกรางจืด
• รางจืดสามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดหรือปักชำ สำหรับการปักชำจะใช้กิ่งพันธุ์ที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปี หรือกิ่งพันธุ์แก่ที่สีน้ำตาลอมเขียว ด้วยการตัดกิ่งยาว 20-30 ซม. โดยให้มีตากิ่งหรือข้อกิ่งติดมาอย่างน้อย 1-2 ตา แล้วค่อยนำปักชำในกระถางหรือปักชำลงดินบริเวณที่ต้องการปลูก และรดน้ำสม่ำเสมอ 1-2 ครั้ง/วัน จนกิ่งเริ่มแทงยอดอ่อน

• สำหรับการปลูกจากการเพาะเมล็ดนั้น ถือเป็นวิธีที่สามารถได้ต้นที่สมบูรณ์ที่สุด เพราะจะได้ต้นที่สามารถแตกกิ่งแขนงได้มาก กิ่งแขนงยาวได้หลายเม็ด และลำต้นมีอายุนานมากกว่าการปลูกจากต้นเพาะชำ

• สำหรับการตอน ขั้นแรกให้ตัดปลายเถาส่วนยาวออกก่อน ให้เหลือโคนเถาหรือโคนกิ่งที่มีสีน้ำตาลอมเขียว โดยให้มีระยะจากจุดตอนไปถึงส่วนปลายประมาณ 20-30 เซนติเมตร หลังจากนั้น ปล่อยทิ้งไว้ให้ 10-20 วัน จึงทำการตอนกิ่ง ซึ่งจะต้องกะระยะว่า หลังจากตอนแล้วจนถึงพร้อมตัดลงปลูก เถาตอนจะต้องมียอดใหม่เกิดแล้ว และยอดจะต้องไม่ยาวมาก

• สำหรับพื้นที่ปลูกรางจืด นิยมปลูกตามริมรั้วหรือใกล้กับต้นไม้อื่น เพราะจะช่วยให้เถารางจืดเลื้อยเกาะได้ง่าย หากปลูกในพื้นที่โล่งก็ต้องทำหลักให้เลื้อยโดยเฉพาะ เพราะหากปล่อยเลื้อยตามดินจะทำให้ลำต้น และแขนงระเกะระกะ ทำให้รกโดยเปล่า และทำให้ใบเน่าได้ง่าย

การเก็บใบรางจืด
สำหรับใบรางจืดที่จะเก็บมาใช้ทางยา ควรเก็บจากต้นที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปี ขึ้นไป และให้ทยอยเก็บจากใบล่างบริเวณโคนกิ่งก่อน และค่อยเก็บไปจนถึงกลางกิ่ง ไม่ควรเก็บให้ถึงบริเวณปลายกิ่ง

หลังจากเก็บมาแล้ว หากไม่ใช้ทันที ให้นำใบมาล้างน้ำให้สะอาด ก่อนนำไปตากแดด 5-7 แดด เมื่อแห้งแล้วให้เก็บใสถุงหรือกล่องไว้ ระวังอย่าให้โดนน้ำ เพราะอาจเกิดเชื้อราได้

เอกสารอ้างอิง
1