ระกำ สรรพคุณ และประโยชน์ระกำ

Last Updated on 26 พฤษภาคม 2016 by puechkaset

ระกำ จัดเป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่นิยมนำผลมารับประทาน มีรสหวานอมเปรี้ยว สามารถรับประทานสดหรือนำมาปรุงรสให้มีความเค็มก่อนรับประทาน

ระกำ เป็นพืชในวงศ์ปาล์ม มีชื่อวิทยาศาสตร์ Zalacca wallichiana, Mart มีถิ่นกำเนิดในทวีเอเชีย พบมากในประเทศจีน ไทย มาเลเชีย พม่า อินโดนีเชีย เวียดนาม และอินเดีย เติบโตได้ดีในแถบพื้นที่ติดทะเล ชอบดินเค็ม จึงพบเห็นได้เฉพาะแถบพื้นที่ที่ติดทะเลเท่านั้น

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
• ราก
รากระกำมีระบบเป็นรากฝอยขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-2 เซนติเมตร แทงออกจากบริเวณเหง้าจำนวนมาก และมีความยาวหลายเมตร

• ลำต้น
ลำต้นตั้งตรง อยู่ในแกนกลางที่หุ้มด้วยก้านใบ ความสูงลำต้นประมาณ 5-7 เมตร

ผลระกำ

• ใบ
ใบกว้าง ทางใบยาว ใบมีสีเขียวเข้ม ปลายใบ และฐานใบเรียว ก้านใบมีหนามแหลมคม และแข็งมาก ก้านใบเรียงเวียนจากโคนต้นจนถึงยอด ใบ และก้านใบมีความยาวประมาณ 3-4 เมตร ปลายใบลู่โค้งลง

หนามระกำ

• ดอก
ดอกออกเป็นช่อ แยกเพศ แยกต้น ช่อดอกแทงออกจากซอกใบ เรียวยาว มีก้านช่อดอกย่อยแยกออกจากแกนช่อดอก มีขนนุ่มสั้นสีชมพูปกคลุม และมีใบประดับหุ้มที่ช่อดอก เมื่อช่อดอกโตเต็มที่ก้านหุ้มจะแตกออกมองเห็นช่อดอก ดอกบานจากโคนไปสู่ปลายช่อดอก

ดอกระกำมี 2 ชนิด คือ ดอกตัวผู้ และดอกสมบูรณ์ ช่อดอกตัวผู้มีขนาดเล็ก ไม่มีรังไข่ มีเกสรตัวผู้ประมาณ 6 อัน ในกลีบในที่แข็งเหนียว 3 อัน ส่วนดอกสมบูรณ์มีเกสรตัวผู้ 6 อัน และรังไข่ 1-3 อัน รังไข่ที่เจริญเป็นผลแล้ว ขนที่ปกคลุมผลจะกลายเป็นหนามแหลม เปราะ อยู่บริเวณปลายเกล็ดของเปลือก

• ผล
ผลมีลักษณะเป็นรูปไข่ ยาวประมาณ 1.5 นิ้ว ปกคลุมด้วยเปลือกแข็งหยาบสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ แต่บาง มีเกล็ดเล็กๆเรียงซ้อนกันปกคลุมทั่วผล เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน สีส้มหรือสีแดง ด้านในประกอบด้วยเนื้อผลอ่อนนุ่ม เป็นกลีบหุ้มผล 1-3 กลีบ เนื้อที่ดิบมีรสฝาด และเปรี้ยว เมื่อสุกมีรสหวานอมเปรี้ยว เนื้อนุ่ม บาง ฉ่ำน้ำ และมีกลิ่นหอม มีเมล็ดด้านในประมาณ 1-3 เมล็ด เมล็ดค่อนข้างใหญ่ระกำ

ประโยชน์
– ผลระกำเป็นผลไม้รับประทานสด ทำน้ำผลไม้ หรือนำมาปรุงในอาหารให้รสหวานเปรี้ยว
– ยอดอ่อนนำมาปรุงอาหารหรือรับประทาสด
– ระกำจัดเป็นพืชในแถบเหนือป่าชายเลน ช่วยสร้างสมดุลในระบบนิเวศด้านบนของป่าชายเลน ช่วยป้องกันการพังทะลายของดิน และการลุกล้ำของดินเค็ม
– ใบ และก้านระกำสามารถนำมามุงหลังคา ทำร่มบังแดด หรือทำรั้ว ทำแนวกั้น
– ใบระกำสามารถนำมาห่อขนมหรือห่ออาหาร
– เมล็ดนำมาสกัดน้ำมันใช้ทานวดกล้ามเนื้อ บำรุงผม และนำไปใช้ในด้านอื่นๆ
– ก้านใบ กรีดให้เล็กใช้ทำเป็นเชือกรัดของ

เนื้อระกำ

สรรพคุณ
– เนื้อผลประกอบด้วยน้ำตาล วิตามินซี และสารอาหารอื่นๆ ที่ให้พลังงาน และบำรุงร่างกาย
– ผลช่วยเป็นยาระบายทำให้ขับถ่ายง่ายขึ้น
– ช่วยขับเสมหะ ลดอาการเจ็บคอ และอาการไอ
– รสเปรี้ยวช่วยให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า ตาสว่าง
– เป็นแหล่งวิตามินซี ช่วยป้องกันเลือดออกตามไรฟัน
– น้ำมันเมล็ดระกำ ใช้ทากล้ามเนื้อช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อย

ความแตกต่างของระกำกับสะละ
– ผลสุกระกำมีสีส้มออกแดง ส่วนผลสุกสละมีสีแดงเข้มกว่า
– ผลระกำมีลักษณะป้อมกลมกว่า ส่วนผลสละจะเรียวยาวกว่า
– เนื้อระกำบางกว่าเนื้อสะละ
– เนื้อระกำมีรสเปรี้ยวมากกว่าสละ จึงนิยมรับประทานน้อยเมื่อเทียบกับผลสละ

การปลูก และขยายพันธุ์
1. การขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด โดยใช้เมล็ดระกำที่มีลักษณะสมบูรณ์ เมล็ดมีลักษณะอวบใหญ่ ไม่ลีบเล็ก นำมาเพาะในถุงเพาะชำที่เตรียมวัสดุเพาะระหว่างดินกับแกลบดำหรือปุ๋ยคอก
2. การขยายพันธุ์ด้วยการแยกหน่อ ซึ่งจะขุดหน่อที่แตกออกจากต้นแม่แยกออกปลูก

การเก็บเกี่ยว
การเก็บผลระกำในระยะที่เหมาะสม มีข้อสังเกต ดังนี้
1. ขนาดของผล
เมื่อผลระกำที่มีอายุประมาณ 6 เดือน การเจริญของผลเริ่มจะคงที่ จนถึงเดือนที่ 8-9 ขนาดของผลจะเริ่มลดลงเล็กน้อย เป็นระยะที่เริ่มเก็บผลได้

2. นํ้าหนักผล
ในช่วงอายุ 2-5 เดือน อัตราการเพิ่มนํ้าหนักผลจะสูงมาก น้ำหนักผลจะเริ่มคงที่ในเดือนที่ 6-7 และจะลดลงในเดือนที่ 8-9 เป็นระยะที่เริ่มเก็บผลได้

3. สีของเปลือกผล
ในช่วงอายุ 2-5 เดือน เปลือกผลจะมีสีนํ้าตาลเข้ม อายุ 6 เดือน จะเป็นสีนํ้าตาลอ่อน และจะเปลี่ยนเป็นสีส้มเมื่ออายุประมาณเดือนที่ 7-8 และจนกระทั่งเก็บเกี่ยว ซึ่งจะไม่เปลี่ยนแปลงอีก

4. สีของเนื้อ
สีเนื้อจะเกิด 3 ขั้นตอน คือ ขั้นแรกเมื่ออายุ 2-5 เดือน สีเนื้อจะเป็นสีเหลืองค่อนข้างขาว คล้ายสีดอกจำปา ต่อมาอายุ 5-6 สัปดาห์ จะเป็นสีเหลืองออกส้ม  ขั้นที่สามสีเนื้อจะคงที่ในเดือนที่ 7 จนถึงเก็บเกี่ยว โดยจะเป็นสีเหลืองออกส้มคล้ายดอกจำปี แต่เข้มน้อยกว่า

5. สีเมล็ด
ในผลระกำ อายุก่อน 10 สัปดาห์เมล็ดยังไม่สมบูรณ์ยังคงเป็นวุ้นไม่แข็งตัว ต่อมาเมล็ดจะเริ่มแข็งตัวแต่สีของเมล็ดยังเป็นสีขาว เมื่ออายุ 19 สัปดาห์สีของเมล็ดจะเข้มขึ้น
เป็นลำดับโดยเปลี่ยนเป็นสีเหลืองออกเทา ๆ อายุ 23 สัปดาห์เริ่มเข้าระยะแก่จัดจนกระทั่งเก็บเกี่ยวเมล็ดจะมีสีนํ้าตาลออกเทา

6. รสชาติ
รสของระกำแบ่ง 3 อย่าง คือ ความฝาด ความเปรี้ยว และหวาน ระกำอายุ 2-5 เดือน จะมีรสฝาดและความเปรี้ยวสูงมาก ไม่มีความหวานเลย เมื่อเริ่มเข้าเดือนที่ 6  ความฝาด และความเปรี้ยวลดลงอย่างชัดเจน และความหวานเริ่มสูงขึ้น และสูงมากขึ้นเมื่ออายุ 8-9 เดือน ขึ้นไป ซึ่งเป็นระยะเก็บเกี่ยว