มันขี้หนู ประโยชน์ และสรรพคุณมันขี้หนู

Last Updated on 2 พฤศจิกายน 2016 by puechkaset

มันขี้หนู (Hausa potato) เป็นพืชท้องถิ่นมีหัวที่นิยมปลูก และรับประทานมากในภาคใต้ เนื่องจาก หัวมันขี้หนูนิยมนำมาประกอบอาหาร อาทิ แกงส้มปลาใส่หัวมันขี้หนู แกงจืดหัวมันขี้หนู แกงเหลือง และแกงไตปลา เป็นต้น รวมถึงนำใบอ่อน และยอดอ่อนมาลวกรับประทานหรือทำอาหาร นอกจากนั้น หัวมันขี้หนูยังใช้ทำแป้งสำหรับทำขนมหวานชนิดต่างๆได้ด้วย

• วงศ์ : LABIATAE
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Coleus parvifolius, Benth หรือ Coleus tuberosus, Benth
• ชื่อสามัญ :
– Hausa potato
– Country potato
– Chinese potato
– Madagascar potato
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง และทั่วไป
– มันขี้หนู
ภาคใต้
– มันหนู
– อุปิกะลัง
ประเทศอื่นๆ
– มาเลเซีย : อูบีกาลิง
– อินโดนีเซีย : กานตังจาวา

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
มันขี้หนู เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา แล้วแพร่กระจายมาสู่ชวา และประเทศในคาบสมุทรมาลายู โดยพบได้มากในภาคใต้ ทั้งตามป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบ และตามสวนปาล์ม สวนยางพารา รวมถึงตามบ้านเรือนที่นิยมปลูกไว้รับประทาน

ที่มา : 1)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
หัว และลำต้น
มันขี้หนูเป็นพืชล้มลุกที่มีลำต้นตั้งตรง ขนาดเล็ก และมักขึ้นกระจุกกันแน่น จนบางแห่งมีลักษณะเป็นกอหรือทรงพุ่ม ลำต้นสูงประมาณ 30-60 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะเป็นเหลี่ยม อวบน้ำ และมีขนปกคลุม ส่วนรากประกอบด้วยโคนรากที่พัฒนาเป็นหัว และรากฝอยค่อนข้างยาวที่แตกออกจากปลายหัวด้านล่าง

หัวมันขี้หนู มีหัวขนาดเล็กที่เป็นรากสะสมอาหาร หัวมีลักษณะเรียวยาว ทรงกระบอก หัวท้ายป้าน ขนาดหัวประมาณ 1-3 เซนติเมตร ยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร เปลือกหัวบาง มีสีน้ำตาลอมเหลืองหรือสีส้มอมเหลือง เนื้อหัวด้านในมีสีขาวอมเหลืองหรือสีครีมหรือสีม่วง นิยมนำมาประกอบอาหาร เนื้อหัวมันละเอียด ให้รสมัน และหวานเล็กน้อย

%e0%b8%ab%e0%b8%b1%e0%b8%a7%e0%b8%a1%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b8%82%e0%b8%b5%e0%b9%89%e0%b8%ab%e0%b8%99%e0%b8%b9

ใบ
ใบเดี่ยวรูป ออกบริเวณข้อเป็นคู่ๆตรงข้ามกัน ใบมีรูปร่างคล้ายใบสะระแหน่ รูปใบกลมแกมไข่ ปลายใบมน ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย มีก้านใบยาว 1.5-3 เซนติเมตร ใบกว้าง 5-7 เซนติเมตร ยาว 5-8 เซนติเมตร ใบเมื่อขยี้จะมีกลิ่นหอม

%e0%b8%95%e0%b9%89%e0%b8%99%e0%b8%a1%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b8%82%e0%b8%b5%e0%b9%89%e0%b8%ab%e0%b8%99%e0%b8%b9

ดอก
ดอกมันขี้หนูออกเป็นช่อที่ปลายยอดลำต้น ก้านช่อดอกยาวประมาณ 5-20 เซนติเมตร ประกอบด้วยดอกจำนวนมาก แต่ละดอกมีกลีบดอกสีม่วง ทั้งนี้ ดอกจะไม่ค่อยติดผล

พันธุ์มันขี้หนู
ศูนย์วิจัยพืชไร่สงขลา ได้ศึกษา และทดลองปรับปรุงพันธุ์มันขี้หนูจนได้สายพันธุ์ 2 สายพันธุ์ พันธุ์พัทลุง 3 และพันธุ์ควนเนียง 1 ส่วนอีกสายพันธุ์ยังไม่ระบุชื่อ ทั้งนี้ ยังไม่สามารถแบ่งสายพันธุ์จากลักษณะลำต้นได้ เพราะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันมาก แต่สามารถแบ่งพันธุ์ตามลักษณะ และขนาดของหัวได้ 3 ลักษณะ คือ
1. พันธุ์หัวทรงกระบอก ได้แก่ พันธุ์พัทลุง 3

%e0%b8%a1%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b8%82%e0%b8%b5%e0%b9%89%e0%b8%ab%e0%b8%99%e0%b8%b9%e0%b8%9e%e0%b8%b1%e0%b8%97%e0%b8%a5%e0%b8%b8%e0%b8%873
พันธุ์พัทลุง 3

2. พันธุ์หัวทรงกระสวย ได้แก่ พันธุ์ควนเนียง 1

%e0%b8%a1%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b8%82%e0%b8%b5%e0%b9%89%e0%b8%ab%e0%b8%99%e0%b8%b9%e0%b8%84%e0%b8%a7%e0%b8%99%e0%b9%80%e0%b8%99%e0%b8%b5%e0%b8%a2%e0%b8%871
พันธุ์ควนเนียง 1

3. พันธุ์หัวกลม และอวบสั้น (ยังไม่ระบุชื่อสายพันธุ์)

มันขี้หนูหัวกลม
มันขี้หนูหัวกลม

ที่มา : 3)

ประโยชน์ของมันขี้หนู
1. หัวมันขี้หนูมีกลิ่นหอม นำมาต้มรับประทาน เนื้อแป้งมีสีขาวละเอียด เนื้อหวานมัน เนื้อหัวอ่อนมักมียาง เนื้อหัวแก่เป็นแป้งละเอียด ไม่มียาง รับประทานอร่อยมากกว่าหัวอ่อน
2. หัวมันขี้หนูใช้ประกอบอาหาร โดยเฉพาะภาคใต้ใช้ทำแกงส้ม แกงไตปลา และแกงเหลือง เป็นต้น
3. หัวปอกเปลือก และหั่นเป็นชิ้น ก่อนนำมาทอดรับประทาน ซึ่งให้รสคล้ายมันฝรั่ง
4. หัวมันขี้หนูนำมาปอกเปลือก สับหยาบๆ และนำมาบดเป็นแป้ง สำหรับใช้ทำขนม
5. ใบ และยอดอ่อนนำต้มสำหรับรับประทานเป็นผักจิ้มน้ำพริก
6. น้ำสกัดหรือน้ำต้มจากใบมันขี้หนูใช้ฉีดพ่นแปลงผัก ป้องกันการกัดกินใบหรือยอดผักจากหนอนใยผักได้

ทั้งนี้ การนำมาประกอบอาหารจะต้องขูดเปลือกด้านนอกออกให้หมดก่อน ด้วยการใช้ช้อนหรือมีดขูดออก

%e0%b9%81%e0%b8%81%e0%b8%87%e0%b8%aa%e0%b9%89%e0%b8%a1%e0%b8%a1%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b8%82%e0%b8%b5%e0%b9%89%e0%b8%ab%e0%b8%99%e0%b8%b9

คุณค่าทางโภชนาการ (มันขี้หนูหัวใหญ่ 100 กรัม)
– น้ำ : 78.6 กรัม
– พลังงาน : 82 กิโลแคลอรี
– โปรตีน : 1.1 กรัม
– ไขมัน : 0.5 กรัม
– คาร์โบไฮเดรต : 1.3 กรัม
– ใยอาหาร : 0.6 กรัม
– เถ้า : 0.9 กรัม
– แคลเซียม : 36 มิลลิกรัม
– ฟอสฟอรัส : 27 มิลลิกรัม
– ไทอะมีน (วิตามิน B1) : 0.02 มิลลิกรัม
– ไรโบฟลาวิน (วิตามิน B2) : 0.02 มิลลิกรัม
– ไนอะซีน (วิตามิน B3) : 2.4 มิลลิกรัม
– วิตามินซี : 5 มิลลิกรัม

ที่มา : 1)

สรรพคุณมันขี้หนู
หัวมันขี้หนู
– แก้โรคท้องเสีย
– ช่วยกระตุ้นการขับถ่าย

ใบ
– ต้านเชื้อเอดส์ ลดการเพิ่มเชื้อเอดส์ในร่างกาย ช่วยยืดอายุผู้ป่วยเอดส์
– ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย
– ช่วยลดความดัน
– ลดอาการหอบหืด
– ลดอาการอักเสบ
– ใบนำมาขยำหรือตำบด ก่อนใช้พอกรักษาแผล
– ใบนำมาต้มอาบ ช่วยรักษาโรคผิวหนัง

ทั้งนี้ ในส่วนของดอก และลำต้น คาดว่าน่าจะมีสรรพคุณคล้ายคลึงกับส่วนใบ นอกจากนั้น ยังพบรายกล่าวที่กล่าวถึงฤทธิ์ทางยาของพืชที่อยู่ในสกุลเดียวกันที่สามารถทำให้แท้งได้ คือ Coleus scutellarioides ดังนั้น ใบมันขี้หนูอาจมีฤทธิ์คล้ายคลึงกัน สตรีตั้งครรภ์จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทาน

เพิ่มเติมจาก : 3) อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ และ4)

ฤทธิ์ทางเภสัชกรรม
5) Tewtrakul และคณะ ( 2003) ได้ศึกษาฤทธิ์ทางยาของสารสกัดจากใบของมันขี้หนูต่อการยับยั้งเอนไซม์ HIV-1 integrase ของเชื้อ HIV พบว่า สารสกัดจากใบของมันขี้หนู ยับยั้งเอนไซม์ HIV ได้ ทำให้เชื้อไวรัส ไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้ นอกจากนั้น ยังพบคุณสมบัติที่สำคัญในด้านการยับยั้งแบคทีเรียได้ด้วย

การปลูกมันขี้หนู
มันขี้หนู เป็นพืชที่เติบโตได้ดีในดินที่ร่วนซุย พื้นที่ปลูกไม่มีน้ำท่วมขัง และมีแสงแดดส่องตลอดทั้งวัน ทั้งนี้ เกษตรกรชาวใต้ส่วนมากมักปลูกมันขี้หนูตามสวนยาง และสวนปาล์มที่มีอายุน้อย เพราะมีแสงแดดส่องทั่วแปลง รวมถึงปลูกในแปลงดินเล็กๆ ซึ่งจำเป็นต้องเตรียมแปลงก่อน ดังนี้

การเตรียมแปลง
การเตรียมแปลงทั้งในแปลงสวนยางพาราหรือสวนปาล์มหรือสวนอื่นๆ รวมถึงการปลูกเป็นมันขี้หนูเชิงเดี่ยว ให้เตรียมแปลงด้วยการไถพรวนดิน และตากดิน พร้อมกำจัดวัชพืชนาน 5-7 วัน ก่อนไถพรวนแปลง และตากดินก่อนปลูกอีก 1 ครั้ง นาน 3-5 วัน ทั้งนี้ เกษตรกรอาจหว่านปุ๋ยคอก และปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ก่อนการไถพรวนก่อนปลูกร่วมด้วย

รูปแบบการปลูก
1. การปลูกด้วยหัว
การปลูกด้วยหัวจะใช้หัวมันขี้หนูที่เก็บ และนำมาพักทิ้งไว้แล้วประมาณ 3 เดือน เพราะเป็นระยะพักตัวของหัวมัน และควรเป็นหัวที่เริ่มแตกหน่อแล้วประมาณ 3-4 เซนติเมตร ก่อนจะนำหัวลงปลูกเป็นหลุมหรือกระจายทั่วแปลง โดยมีระยะห่างต่อหลุมประมาณ 30-50 เซนติเมตร แต่ละหลุมใช้หัวประมาณ 1-4 หัว โดยหัวใหญ่ใช้ประมาณ 1-2 หัว หัวเล็กใช้ 2-4 หัว

2. การปักชำยอด
การปลูกด้วยยอดจะใช้การตัดต้นหรือตัดยอดจากต้นพ่อแม่พันธุ์ที่มีอายุมากกว่า 4 เดือน โดยตัดยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ก่อนนำปักชำหนึ่งจุดต่อ 1-2 ยอด/หลุม ในระยะห่าง 5-10 เซนติเมตร หรือปลูกลงแปลง เป็นหลุมห่างกัน 30-40 เซนติเมตร หลุมละ 2-4 ยอด

การกำจัดวัชพืช
การกำจัดวัชพืช หากปลุกในแปลงเล็กควรใช้การถอนด้วยมือหรือจอบ แต่หากปลูกในพื้นที่มากอาจใช้ยากำจัดวัชพืชก่อนปลูก เช่น ฉีดพ่นด้วยสาร diuron (ไดยูรอน) ปริมาณ 240 กรัม/น้ำ 20 ลิตร และฉีดพ่นหลังการเตรียมแปลงใน 1ไร่ หรือ oxyfluofen (โกล2 อี) ปริมาณ 72กรัม /น้ำ 20 ลิตร

การใส่ปุ๋ย
หลังจากปลูกแล้วประมาณ 1 เดือน หลังการกำจัดวัชพืช ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 13-13-21 อัตรา 20-30 กิโลกรัม/ไร่ รวมถึงการหว่านด้วยปุ๋ยคอกเพื่อบำรุงด้วย อัตรา 1-2 ตัน/ไร่ และครั้งที่ 2 ใส่เมื่อหลังปลูก 4 เดือน หลังการกำจัดวัชพืชเช่นกัน

โรคและแมลง
มันขี้หนูเป็นพืชที่มีศัตรูพืชน้อย แต่อาจพบการกัดกินใบบ้างเล็กน้อย แต่ไม่มากนัก และมักเกิดอาการรากหรือหัวหรือใบเน่าหากหลังฝนตกหนักที่สภาพดินชื้อแฉะ และมีน้ำท่วมขังได้เช่นกัน

การเก็บมันขี้หนู
หัวมันขี้หนูสามารถเริ่มเก็บหัวได้หลังจากการปลูกแล้วตั้งแต่ 6 เดือน ขึ้นไป จนถึง 8 เดือน ด้วยการใช้มือถอนทั้งต้นหรือไถพรวนก่อน โดยสามารถให้ผลผลิตได้ 2-3 ตัน/ไร่ หรือมากกว่า
ปัจจุบันมีราคาขายทั่วไปประมาณกิโลกรัมละ 20-40 บาท ขึ้นอยู่กับพื้นที่ และปริมาณที่ออกสู่ตลาด หากซื้อใกล้กับแหล่งปลูกจะมีราคาประมาณ 20 บาท/กิโลกรัม แต่หากขายในชุมชนเมืองจะมีราคาที่สูงกว่า ทั้งนี้ สามารถเก็บรักษาหัวมันขี้หนูไว้ได้นาน 3-4 เดือน เพราะหากนานกว่านี้ หัวมันขี้หนูจะเริ่มแตกหน่อใหม่

%e0%b8%9b%e0%b8%a5%e0%b8%b9%e0%b8%81%e0%b8%a1%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b8%82%e0%b8%b5%e0%b9%89%e0%b8%ab%e0%b8%99%e0%b8%b9

ขอบคุณภาพจาก เอมอร เพชรทอง (2556), Pantip.com

เอกสารอ้างอิง
2