มะไฟ มะไฟจีน สรรพคุณ และการปลูกมะไฟ

Last Updated on 26 พฤษภาคม 2016 by puechkaset

มะไฟ จัดเป็นไม้ผลพื้นบ้านที่มีถิ่นกำเนิดมาจากต่างประเทศ ทั้งมะไฟไทย และมะไฟจีน ซึ่งจะให้เนื้อที่มีรสหวานอมเปรี้ยวเหมือนกัน เนื้อนี้นิยมใช้รับประทานสด และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ มะไฟตากแห้ง มะไฟกวน เป็นต้น

มะไฟ หรือ มะไฟไทย เป็นมะไฟพันธุ์เก่าแก่ที่ปลูกกันมานาน มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย สันนิษฐานว่าแพร่เข้ามาในประเทศไทยในช่วงสมัยอยุธยาพร้อมกับการค้าขายกับชาวดินเดีย โดยเริ่มปลูกช่วงแรกในแถบภาคใต้ และมีแหล่งปลูกสำคัญในภาคใต้ และภาคตะวันออก ส่วนมะไฟจีน จัดเป็นมะไฟอีกชนิดหนึ่งที่ถูกนำเข้ามาปลูกจากประเทศจีน ซึ่งมีลักษณะผลที่แตกต่างไปจากมะไฟไทย

มะไฟ หรือ มะไฟไทย
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Baccaurea ramiflora Lour.
• ชื่อสามัญ : Rambeh
• ชื่อท้องถิ่น :
– มะไฟ (กลาง และทั่วไป)
– หมากไฟ (อีสาน)
– ผะยิ้ว (เขมร และสุรินทร์บางพื้นที่)
– หัมกัง (เพชรบูรณ์)
– ส้มไฟ (ภาคใต้)
– แซเครือแซ (กระเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
มะไฟเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ไม่ผลัดใบ ลำต้นสูงประมาณ 12-20 เมตร เปลือกลำต้นเรียบ มีสีเทา ลำต้นแตกกิ่งโปร่ง ทำให้มีทรงพุ่มบาง

มะไฟ

ใบ
ใบมะไฟแทงออกใบเดี่ยวบริเวณปลายยอด เรียงสลับตรงข้ามกัน มีก้านใบยาว 1.5-3 ซม. ใบมีรูปหอก ค่อนข้างบาง โคนใบ และปลายใบแหลม ขอบใบ และแผ่นใบเรียบ และใบเป็นมัน ใบกว้างประมาณ 4-8 ซม. ยาวประมาณ 10-22 ซม. ใบมีเส้นใบแตกเป็นคู่ๆ 5-8 คู่ เส้นใบด้านล่างนูนมองเห็นได้ชัดเจน

ดอก
ดอกมะไฟออกเป็นช่อตามซอกใบบริเวณปลายกิ่ง และลำต้น ดอกมีก้านช่อดอกยาว ดอกมะไฟนี้เป็นดอกแยกเพศ มีดอกเพศผู้ และเพศเมียคนละช่อกัน และส่วนมากดอกแต่ละเพศจะแยกต้นกันอยู่ แยกเป็นต้นดอกตัวผู้ และต้นดอกตัวเมีย ดอกมะไฟจะเริ่มออกดอก และจะทยอยออกไปเรื่อยๆ ตั้งแต่เดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ และจะเริ่มเก็บผลได้ในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม

ดอกตัวผู้มีขนาด 5-8 ซม. มีกลีบดอก 4-5 กลีบ แต่ละกลีบมีขนาดไม่เท่ากัน และเหลื่อมซ้อนกัน ภายในดอกมีเกสรตัวผู้ 4-10 อัน ส่วนดอกตัวเมียจะมีกลีบดอกคล้ายกัน มีใบประดับที่โคนดอก ภายในดอกมีรังไข่ที่มีขนเป็นช่องๆ 2-5 ช่อง รังไข่นี้อาจพัฒนาเป็นเมล็ดทั้งหมดหรืออาจกลายเป็นเมล็ดลีบ

ผล
ผลมะไฟมีลักษณะกลม ขนาดผลประมาณ 2.5 ซม. ผลมีผิวเรียบ ผลมีเปลือกค่อนข้างหนา เปลือกผลมีสีครีมอมเหลือง หรือ สีเหลือง ภายในผลแบ่งเป็นพูด้วยเมล็ดที่หุ้มด้วยเนื้อที่ฉ่ำน้ำ 1-4 เมล็ด เมล็ดภายในเยื่อหุ้มมีลักษณะแบนรูปไข่กลับหัว ขนาดเมล็ดประมาณเมล็ดส้มโอ

มะไฟ1

มะไฟจีน
มะไฟจีน เป็นมะไฟอีกสายพันธุ์หนึ่งที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนที่สันนิษฐานว่า ชาวจีนเป็นผู้นำเข้ามาปลูกในแถบจังหวัดทางภาคเหนือ ซึ่งปัจจุบัน ยังมีการปลูกมะไฟจีนกันมากในทางภาคเหนือ โดยจังหวัดที่มีชื่อเสียงในการปลูกมะไฟจีน และมีการแปรรูปมะไฟจีนออกจำหน่าย คือ จังหวัดน่าน และพื้นที่ใกล้เคียง

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Clausena lansium Skeels
• ชื่อสามัญ : Wampee
• ชื่อท้องถิ่น :
– มะไฟจีน
– ส้มมะไฟ
• ภาษาจีน
– ฮวงพี้
– อึ่งตั้ว

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลักษณะของต้นมะไฟจีนมีลักษณะต่างกับมะไฟไทย หลายด้าน ได้แก่
1. ลำต้นมะไฟจีนจะมีลำต้นค่อนข้างใหญ่กว่า แตกกิ่งมากกว่า ทำให้แลดูเป็นทรงพุ่มหนามากกว่ามะไฟไทย นอกจากนั้น เปลือกลำต้น และกิ่งของมะไฟจีนจะมีสีน้ำตาล ส่วนมะไฟไทยจะมีสีเทา
2. มะไฟไทยจะมีลักษณะผลกลม เปลือกผลมีสีครีมอมเหลืองหรือสีเหลืองหรือสีเหลืองอมน้ำตาล ส่วนผลมะไฟจีนมีรูปร่างผล 2แบบ ตามพันธุ์ คือ พันธุ์กลมรี ขั้วผล และก้นผลค่อนข้างแหลม อีกพันธุ์ผลผลกลมคล้ายผลลำไย และมีจุดกระสีดำขนาดเล็กกระจายทั่วผล โดยพันธุ์ผลรีจะเปลือกผลมีสีคล้ายกับมะไฟไทย ทั้งนี้ เปลือกมะไฟจีนจะบาง และติดกับเนื้อด้านใน แยกออกจากกันได้ยาก ส่วนเปลือกมะไฟไทยจะหนา อ่อนนุ่ม และแยกออกจากเนื้อหุ้มเมล็ดอย่างชัดเจน
3. เนื้อหุ้มเมล็ดของมะไฟจีนจะมีเส้นใยหรือมีกากมากกว่ามะไฟไทย ขณะที่มะไฟไทยจะมีเส้นใยน้อย และมีน้ำมาก
4. เมล็ดมะไฟจีนมีรูปร่างคล้ายเมล็ดส้มโอ เปลือกเมล็ดมีสีเขียว ส่วนเมล็ดมะไฟไทยมีลักษณะค่อนข้างกลมแบน และเปลือกเมล็ดมีสีน้ำตาล
5. ใบมะไฟจีนจะต่างกับใบมะไฟไทย คือ ใบมะไฟจีนจะเป็นใบประกอบ มีก้านใบหลัก แต่ละก้านใบหลักประกอบด้วยใบย่อย 9-13 ใบ ส่วนใบมะไฟไทยออกเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับตามกิ่ง นอกจากนั้น สีใบมะไฟไทยจะมีสีเขียวสด ส่วนใบมะไฟจีนมีสีเขียวเข้ม ใบเป็นมัน และใบมะไฟไทยจะมีขนาดใหญ่กว่าใบมะไฟจีน
6. ดอกมะไฟจีนจะเป็นดอกสมบูรณ์เพศ สามารถผสมเกสรได้ในดอกเดียวกันหรือผสมข้ามดอก ซึ่งต่างจากมะไฟไทยที่ส่วนใหญ่มีดอกแยกเพศ และแยกต้นกัน
7. มะไฟจีนจะออกดอก และติดผลเฉพาะบริเวณปลายยอด ส่วนมะไฟไทยจะออกดอก และจะไม่ติดผลที่ปลายยอด แต่จะติดผลที่กลางกิ่ง และลำต้น คล้ายกับลองกอง
8. ช่อดอก และช่อผลของมะไฟไทยจะยาว และมีจำนวนผลมากกว่ามะไฟจีน
9. มะไฟไทยจะนิยมนำมารับประทานสดมากกว่าจะนำไปแปรรูป แต่อาจแปรรูปได้เช่นกัน อาทิ นำมะไฟ แต่ไม่นิยมนำไปแปรรูปแบบตากแห้งหรือเชื่อมเหมือนมะไฟจีน เพราะมีกากน้อย และมีน้ำมาก

มะไฟจีน

มะไฟจีน

เนื้อมะไฟจีน

ขอบคุณภาพจาก http://www.smileconsumer.com

สรรพคุณมะไฟ
เนื้อหุ้มเมล็ด
– ช่วยขับลม แก้ท้องอืด
– ช่วยย่อยอาหาร และเจริญอาหาร
– รักษาหลอดลมอักเสบ และลดอาการเจ็บคอ
เปลือกผล
– นำมาต้มน้ำดื่ม ทำให้ชุ่มคอ รักษาอาการไอ
ใบ
– ใบนำมาบดผสมน้ำ ใช้ชโลมผมแก้รังแค
– นำมาต้มน้ำอาบสำหรับรักษาโรคผิวหนัง

การปลูกมะไฟ
การปลูกมะไฟไทย และมะไฟจีนนิยมขยายพันธุ์ปลูกด้วยการเพาะเมล็ด นอกจากนั้น ยังนิยมปลูกด้วยต้นพันธุ์จากการตอนกิ่ง หรือ การเสียบยอด ซึ่งจะให้ผลผลิตที่เร็วกว่าการปลูกด้วยเมล็ด แต่ต้องเป็นกิ่งจากต้นแม่ที่ยังมีอายุ 2-3 ปี ที่ยังไม่ติดผล เพราะกิ่งจากต้นแม่นี้จะสามารถแตกกิ่งย่อยได้มากขึ้น แต่หากใช้ต้นพันธุ์ที่ได้จากต้นที่มีอายุมาก และมีการติดผลหลายครั้งแล้วจะให้ผลผลิตน้อยกว่า เนื่องจากต้นจะไม่แตกกิ่งมาก และต้นจะมีอายุน้อย

การเก็บมะไฟ
มะไฟที่ปลูกด้วยเมล็ดจะเริ่มติดดอก และติดผลได้เมื่ออายุประมาณ 4-5 ปี และจะให้ผลผลิตอย่างต่อเนื่องนานมากกว่า 30 ปี ส่วนการปลูกด้วยกิ่งตอนจากต้นที่ให้ผลแล้วจะเริ่มติดดอกติดผลได้ภายใน 2-3 เดือน แต่จะมีอายุของต้นเพียงไม่กี่ปี

การแปรรูปมะไฟ
การแปรรูปมะไฟจะนิยมใช้มะไฟจีนมากกว่ามะไฟไทย โดยเฉพาะการทำมะไฟตากแห้ง มะไฟเชื่อม และไม่ไฟกวน เพราะมะไฟจีนมีเนื้อหรือเส้นใยมากกว่า ส่วนมะไฟไทยอาจแปรรูปได้ในรูปแบบอื่น เช่น น้ำมะไฟ ดังนั้น ในที่นี้จะขอกล่าวถึงรูปแบบการแปรรูปมะไฟจีนเท่านั้น
1. มะไฟเชื่อมแห้ง
ส่วนผสม/วัตถุดิบ
– เนื้อมะไฟ 3 กิโลกรัม
– เกลือ 100 กรัม
– น้ำตาลทราย 1 กิโลกรัม
อุปกรณ์ที่ใช้
– ตราชั่ง
– หม้อ/กะละมัง
– ถาดพลาสติก
– ตู้ตากหรือผ้าพลาสติกใส
– ถุง และกล่องบรรจุ

วิธีการทำ
1. เด็ดขั้วมะไฟออก และนำมาล้างน้ำให้สะอาด
2. ปอกเปลือก และบีบเมล็ดออกจากเนื้อ แล้วนำไปชั่งประมาณ 3 กิโลกรัม
3. นำเนื้อมะไฟมาคลุกผสมกับเกลือ และน้ำตาลทราย ในหม้อ และตั้งทิ้งไว้ 5 นาที
4. นำเนื้อมะไฟเทใส่ในถาด และเกลี่ยให้บาง
5. นำถาดมะไฟไปตากแดดในตู้ตาก หรือตากแดดโดยมีผ้าพลาสติกคลุม เพื่อป้องกันฝุ่นมาจับหรือนกมาจิกกิน
6. ตากมะไฟ 5 – 7 แดด และให้พลิกกลับเนื้อมะไฟเป็นระยะ 2-3 ครั้ง/วัน
7. เมื่อมะไฟเชื่อมแห้งแล้ว ค่อยนำมาบรรจุใสถุง

2. มะไฟจีนกวน
ส่วนผสม/วัตถุดิบ
– มะไฟเชื่อมแห้ง 5 กิโลกรัม
– สับปะรด 1 กิโลกรัม หรือผลไม้ที่ให้รสเปรี้ยว
– น้ำตาลทราย/น้ำตาลปิ๊บ 0.5-1.5 กิโลกรัม ขึ้นอยู่กับความหวานที่ต้องการ
– เกลือ 20 กรัม
– แปะแซ 1 กิโลกรัม
อุปกรณ์ที่ใช้
– ตราชั่ง
– เครื่องปั่น
– หม้อ
– กระทะ

วิธีทำ
1. นำมะไฟเชื่อม 5 กิโลกรัม ผสมกับสับปะรด และน้ำเล็กน้อยในหม้อ แล้วคลุกผสมให้เข้ากัน
2. นำมะไฟที่ผสมกับสับปะรดมาปั่นจนละเอียด
3. นำมะไฟที่ปั่นแล้วเทลงกวนในกระทะ โดยใช้ไฟอ่อน ขณะกวนให้ผสมน้ำเป็นระยะเพื่อไม่ให้ไหม้
3. เติมน้ำตาลทราย/น้ำตาลปิ๊บ เกลือ และแปะแซ พร้อมกวนให้เข้ากัน และกวนเป็นระยะ นาน 2 ชั่วโมง จนส่วนผสมทุกอย่างเข้ากันดี และเนื้อเหนียวหนืดจนได้ที่ ก่อนจะบบรจุใส่ถุง

3. น้ำมะไฟ
ส่วนผสม/วัตถุดิบ
– มะไฟเชื่อม 1 กิโลกรัม
– น้ำตาลทราย/น้ำตาลปิ๊บ 0.5-1 กิโลกรัม
– เกลือ 20 กรัม
อุปกรณ์ที่ใช้
– หม้อต้ม
– ผ้าขาวบาง

วิธีทำ
1. ต้มน้ำประมาณ 3 ลิตร ในหม้อให้เดือด
2. นำมะไฟเชื่อม 1 กิโลกรัม ลงต้มให้เปื่อย
3. นำน้ำมากรองด้วยผ้าขาวบาง เพื่อแยกเนื้อมะไฟออก
4. ชิมน้ำมะไฟ หากเปรี้ยวมากค่อยเติมน้ำตาลทรายเพิ่ม