มะเม่า/หมากเม่า ประโยชน์ และสรรพคุณมะเม่า

Last Updated on 19 มกราคม 2020 by puechkaset

มะเม่า หรือ หมากเม่า จัดเป็นไม้ผล และผลไม้ป่าที่พบได้ในทุกภาคของประเทศไทย ปัจจุบัน นิยมนำผลสุกมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนหลายชนิด อาทิ ไวน์มะเม่า แยมมะเม่า น้ำมะเม่า เป็นต้น นอกจากนั้น ยังนิยมรับประทานสดเป็นผลไม้ และนำไปประกอบอาหารด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากผลให้รสหวานอมเปรี้ยว และมีสีสันสวยงาม เมื่อนำมาคั้นเป็นน้ำผลไม้ หรือ หมักทำเป็นไวน์จะให้สีแดงอมม่วงที่น่ารับประทานไม่แพ้ไวน์ชนิดอื่น

• วงศ์ : Stilaginaceae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ Antidesma velutinosum Blume.
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง และทั่วไป
– มะเม่า
– ต้นเม่า
– เม่า
– หมากเม่าหลวง
– มะเม่าหลวง
ภาคเหนือ
– หมากเม้า
– มัดเซ
– เม่าเสี้ยน
– มะเม่าขน
ภาคอีสาน
– หมากเม่า
– เม่าหลวง
ภาคใต้
– มะเม่าไฟ

หมากเม่า

• มะเม่าเป็นพืชที่ขึ้นตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ พบได้ในทุกภาคของประเทศไทย แต่พบมากในภาคอีสาน ในจังหวัดสกลนคร อุดรธานี และมุกดาหาร ทั้งนี้ มะเม่าที่พบมีหลายชนิดแตกต่างกันตามสายพันธุ์ ได้แก่
– มะเม่าหลวง (ลำต้นใหญ่ และผลมีขนาดใหญ่ที่สุด)
– มะเม่าสร้อย/มะเม่าไข่ปลา (ลำต้นเล็ก และผลมีขนาดเล็กที่สุด)

• ส่วนชื่อพันธุ์ที่ใช้เรียกนั้นมีแตกต่างกัน ได้แก่
– พันธุ์ฟ้าผ่า/พันธุ์ฟ้าประทาน
– พันธุ์สร้างค้อ1,2,3
– พันธุ์ลม
– พันธุ์ภูโซง
– พันธุ์เพชรทองแซง
– พันธุ์ชมพูพาน
– พันธุ์คำไหล

ลักษณะของมะเม่า
ราก และลำต้น
รากมะเม่าประกอบด้วยระบบรากแก้ว และระบบรากฝอย ส่วนลำต้นมะเม่าจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีอายุนานหลายปี ลำต้นแตกกิ่งตั่งแต่ระดับล่าง กิ่งมีจำนวนมาก กิ่งค่อนข้างเล็ก แต่ใบดก ทำให้มองเห็นเป็นทรงพุ่มหนาทึบ ความสูงของลำต้นประมาณ 2-15 เมตร โดยเฉพาะมะเม่าหลวงที่พบมากในภาคอีสาน ซึ่งมีลำต้นสูงใหญ่ ใบใหญ่ อาจสูงได้มากกว่า 15 เมตร แต่ก็มีบางพันธุ์ เช่น มะเม่าไขปลาที่พบมากในภาคอีสานเช่นกัน จะมีลำต้นเตี้ย สูงประมาณ 2-5 เมตร และใบมีขนาดเล็กกว่า

ใบ
ใบมะเม่า จัดเป็นพืชใบเลี้ยงคู่ที่ออกเป็นใบเดี่ยว เรียงเยื้องสลับบนกิ่ง ใบมีลักษณะป้อม และรี ปลายใบแหลม แผ่นใบเรียบ และเป็นมันเล็กน้อย แผ่นใบมีสีเขียวสด

ดอก
ดอกมะเม่าออกเป็นช่อยาวบริเวณปลายกิ่ง คล้ายช่อดอกพริกไทย บนช่อมีดอกขนาดเล็กจำนวนมาก ดอกมีลักษณะสีครีม ดอกเพศผู้มีทั้งแยกอยู่คนละต้นกับดอกเพศเมีย และอยู่ต้นเดียวกันกับดอกเพศเมีย เมื่อดอกมีการผสมเกสรแล้วดอกจะร่วง คงเหลือเฉพาะผลขนาดเล็ก ดอกออกในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม และผลจะทยอยสุกต่อเนื่องตั้งแต่เดือนสิงหาคม-กันยายน

ดอกหมากเม่า

ผล
ผลมะเม่า มีรูปร่างกลม มีขนาดผลประมาณผลพริกไท รวมกลุ่มออกบนช่อ ยาว 10-15 ซม. ย้อยลงมาตามกิ่งก้าน ผลดิบสีเขียว มีรสเปรี้ยวอมฝาด และค่อยเปลี่ยนเป็นเหลืองอมแดง มีรสเปรี้ยวจัด เมื่อสุกผลเปลี่ยนเป็นสีแดง มีรสเปรี้ยวอมหวานเล็กน้อย และเป็นสีดำเมื่อสุกจัด มีรสหวานอมเปรี้ยว เปลือกผล และเนื้อผลค่อนข้างบาง ภายในเป็นเมล็ด แข็งเล็กน้อย แต่สามารถเคี้ยวรับประทานได้

ผลดิบหมากเม่า

ประโยชน์มะเม่า
1. ผลมะเม่า
– ผลดิบ และผลสุกนำมารับประทานเป็นผลไม้สด
– ผลสุกนำมาคั้นเป็นน้ำผลไม้ หรือเรียก น้ำมะเม่า
– ผลดิบสีเขียว สีเหลืองอมแดง นำมาตำรับประทาน หรือที่เรียก ตำมะเม่า
– ผลสุกนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ แยม ไวน์ เป็นต้น
2. ยอดอ่อน นำมารับประทานสดเป็นผักคู่กับอาหาร หรือ ใช้ปรุงในอาหารประเภทต้มยำเพื่อให้มีรสเปรี้ยว เช่น ต้มส้มปลา แกงเห็ดเผาะ เป็นต้น
3. ต้นมะเม่ามีทรงพุ่มใหญ่ ใบดก ใบเขียวตลอดปี ซึ่งนอกเหนือจากประโยชน์ที่ได้จากผลแล้วยังมีประโยชน์เพื่อเป็นร่มเงาได้อีกประการ
4. ผลมะเม่าสุกจัดถือเป็นอาหารของสัตว์ป่า โดยเฉพาะนกชนิดต่างๆ
5. เนื้อไม้ใช้ทำเครื่องเรือน ไม้ตกแต่งบ้าน และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น
6. กิ่งไม้ และเนื้อไม้นำมาเป็นไม้ใช้สอยอื่นๆ เช่น ทำเสารั้ว ทำฟืนประกอบอาหาร เป็นต้น

ไวน์หมากเม่า

คุณค่าทางโภชนาการของมะเม่า
– พลังงานถึง 75.20 กิโลแคลลอรี่
– โปรตีน 0.63 กรัม
– เยื่อใย 0.79 กรัม
– คาร์โบไฮเดรต 17.96 กรัม
– แคลเซียม 13.30 กรัม
– เหล็ก 1.44 มิลลิกรัม
– วิตามินซี 8.97 กรัม
– วิตามินบี1 4.50 ไมโครกรัม
– วิตามินบี2 0.03 ไมโครกรัม
– วิตามินอี 0.38 ไมโครกรัม

ที่มา : โอภาส บุญเส็ง (2550)(1)

สาระสำคัญที่พบ
สาระสำคัญที่พบในผลมะเม่า คือ แอนโทไซยานิน (Anthocyanin) (สารฟลาโวนอยด์) เป็นสารให้สีแดง ที่ประกอบด้วยสารแอนโทไซยานิดิน (Anthocyanidin) และน้ำตาล ทั้งนี้ แอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ที่พบในมะเม่าแห้ง 100 กรัม จะพบได้สูงถึง 50.1 มิลลิกรัม เลยทีเดียว (สุกัญญา สายธิ และพิเชษฐ เทบำรุง, 2544)(2)

สรรพคุณของมะเม่า
ผลมะเม่า
– ออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความแก่
– ช่วยบำรุงผิว ทำให้ผิวดูเปร่งปรั่ง
– ช่วยป้องกันมะเร็ง
– ช่วยขจัดสารพิษออกจากร่างกาย
– ช่วยบำรุงสายตา
– ช่วยเป็นยาระบาย

ราก เปลือก และแก่นลำต้น
– ช่วยเจริญอาหาร
– ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ
– ช่วยแก้มดลูกอักเสบ
– ช่วยรักษาอาการตกขาว
– ช่วยแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ

ใบ และยอดอ่อน
– ต้านอนุมูลอิสระ
– กระตุ้นระบบการย่อยอาหาร
– ช่วยเจริญอาหาร
– ช่วยบำรุงผิวพรรณ
– ช่วยบำรุงสายตา
– ป้องกันมะเร็งในกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้
– นำใบอ่อนมาลนไฟ ใช้ประคบแก้อาการฟกช้ำ
– นำใบแก่มาตำหรือบดผสมน้ำเล็กน้อย ใช้ประคบรักษาแผล ช่วยให้แผลแห้ง หายเร็ว

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
การศึกษาการต้านเชื้อ HIV ของมะเม่า ร่วมกับสมุนไพรอีก 4 ชนิด พบว่า มะเม่าสามารถออกฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน และต้านเชื้อ HIV ได้ (กัมมาล และคณะ, 2546)(3)

การศึกษาการออกฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนเซลล์มะเร็งด้วยการใช้ไวน์แดงสยามมัวส์เพียนงอย่างเดียวเปรียบเทียบกับการผสมสารสกัดจากมะเม่ากับไวน์แดงสยามมัวส์ พบว่า การใช้ตำรับที่ผสมสารสกัดจากมะเม่าสามารถยับยั้งการเพิ่มเซลล์มะเร็งได้ดีกว่าการใช้ไวน์แดงสยามมัวส์เพียงอย่างเดียว (วิภพ และคณะ, 2549)(4)

การศึกษาสารสกัดหยาบจากรากมะเม่าที่มีฤทธิ์ต่อการต้านเซลล์มะเร็งปอด พบว่า สารสกัดหยาบจากส่วนรากมะเม่าสามารถออกฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งปอดได้ (พิชญา ตระการรุ่งโรจน์, 2547)(5)

การปลูกมะเม่า
มะเม่าตามธรรมชาติจะขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ดังนั้น การปลูกมะเม่าในปัจจุบันจึงยังนิยมวิธีขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดเป็นสำคัญ แต่ก็เริ่มนิยมขยายพันธุ์ด้วยอื่นมากขึ้นเพื่อให้ได้ต้นที่มีขนาดเล็ก และให้ผลดกเหมือนต้นแม่ เช่น การตอนกิ่ง และการเสียบยอด

ขอบคุณภาพจาก www.nanagarden.com

เอกสารอ้างอิง
1