มะเขือม่วง (eggplant) สรรพคุณ และการปลูกมะเขือม่วง

Last Updated on 21 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

มะเขือม่วง (Eggplant) เป็นมะเขืออีกชนิดที่มีความกรอบ และมีรสหวาน คล้ายกับมะเขือเปราะ แต่ต่างที่ผลมีสีม่วง และพันธุ์ที่ปลูกส่วนมากมีลักษณะเรียวยาว นิยมทั้งรับประทานสด และนำไปประกอบอาหาร โดยเฉพาะในทวีปอเมริกา และยุโรปที่นิยมรับประทานอย่างมาก ส่วนในเอเชียประเทศที่นิยมรับประทาน และไทยส่งออกให้มากที่สุด คือ ญี่ปุ่น ส่วนประเทศไทยยังไม่เป็นที่นิยม อาจเพราะคนไทยยังนิยมในมะเขือเปราะที่มีสีเขียวมากกว่า

• วงศ์ : Solanaceae (วงศ์มะเขือ)
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Solanum melongena.
• ชื่อสามัญ :
– Eggplant
– Brinjal
– Aubergine
– Garden egg
– Guinea squash
• ชื่อท้องถิ่นไทย :
– มะเขือม่วง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ราก และลำต้น
มะเขือม่วง เป็นไม้ล้มลุกอายุข้ามปี ลำต้นแตกกิ่งตั้งแต่ระดับโคนต้น ลำต้นมีการแตกกิ่งมาก จนแลดูเป็นทรงพุ่มหนา สูงประมาณ 50-150 เซนติเมตร เปลือกลำต้นบาง มีสีม่วงหรือสีเขียว ส่วนเนื้อไม้ด้านใน เป็นไม้เนื้ออ่อน สีขาว เปราะหักง่าย ส่วนระบบราก ประกอบด้วยรากแก้ว และรากแขนง

ใบ
มะเขือม่วง เป็นพืชใบเลี้ยงคู่ แตกออกเป็นใบเดี่ยวๆเรียงสลับกันบนกิ่ง มีก้านใบยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร แผ่นใบมีขนาดใหญ่ กว้างประมาณ 8-15 เซนติเมตร ยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบ มีขนปกคลุม ขนบนใบด้านล่างหนากกว่าด้านบน และมีสีเทา แผ่นใบบาง ฉีกขาดได้ง่าย ขอบใบเว้าลึกเป็นช่วงๆ และโค้งงุ้มเข้าหากลางใบ แผ่นใบมีเส้นกลางใบนูนสีม่วง มองเห็นได้ชัดเจน

ดอก
มะเขือม่วง เป็นดอกสมบูรณ์เพศ ออกได้ทั้งแบบดอกเดี่ยวหรือดอกช่อ ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ดอกเกดบริเวณซอกใบในทุกส่วนที่มีใบเติบโต ดอกประกอบด้วยก้านดอกทรงกลม ยาวประมาณ 3-8 เซนติเมตร ถัดมาเป็นตัวดอกที่มีกลีบเลี้ยงสีม่วงเข้ม จำนวน 5 กลีบ หุ้มรอบฐานดอก ถัดมาเป็นกลีบดอก จำนวน 5 กลีบ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางดอก ประมาณ 4-5 เซนติเมตร แผ่นกลีบดอกมีสีม่วง โคนกลีบ และกลางกลีบเชื่อมติดกัน ส่วนปลายกลีบแยกเป็นแฉก แต่ละกลีบมีกลางกลีบแหลม เป็นรูปสามเหลี่ยม

ถัดมาบริเวณกลางดอก จะเป็นเกสรตัวผู้ที่มีลักษณะเป็นแท่งยาวสีเหลือง จำนวน 8 อัน ส่วนตรงกลางของเกสรตัวผู้จะเป็นก้านเกสรตัวเมียที่มีลักษณะเป็นแท่งยาว จำนวน 1 อัน สีเหลือง และยาวยื่นกว่าเกสรตัวผู้ ส่วนด้านล่างบริเวณฐานดอกเป็นรังไข่ ทั้งนี้ ดอกจะบานในช่วงเช้า และบานติดต่อกันนาน 2-3 วัน โดยการผสมเกสรมักเกิดขึ้นในช่วงเช้าจนถึงบ่าย หลังจากผสมเกสรแล้ว กลีบดอกจะห่อโค้งปิดไว้ จากนั้น เมื่อผลอ่อนโตแล้ว 1-2เซนติเมตร จึงร่วงลงดิน แต่กลีบเลี้ยงจะยังอยู่ติดกับผลขนาดเล็ก

ผล
มะเขือม่วง อาจเป็นผลเดี่ยวหรือหลายในช่อผลเดียวกัน ผลมะเขือม่วงมีทั้งแบบทรงกลมหรือเป็นรูปไข่ยาว ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ และยาวได้ประมาณ 5-30 เซนติเมตร ก้านผลมีขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 3-8 เซนติเมตร ถัดมาเป็นกลีบเลี้ยง จำนวน 5 กลีบ หุ้มบริเวณขั้วผล ส่วนตัวผลที่มีลักษณะเรียวยาว จะเรียวเล็กบริเวณใกล้ขั้วผล และขยายใหญ่ที่ท้าย เปลือกผลมีสีม่วงทั่วทั้งผล และเป็นสีม่วงตลอดอายุของผล เปลือกค่อนข้างหนามาก และติดเป็นส่วนเดียวกันกับเนื้อผล

เมล็ด
เมล็ดมะเขือม่วงมีลักษณะกลม และแบนราบ ขนาดเมล็ดประมาณ 2-3 มิลลิเมตรเมล็ดในผลอ่อนจะมีสีขาว เมื่อผลแก่เปลือกเมล็ดเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อนหรือสีน้ำตาลอ่อน

พันธุ์มะเขือม่วง
พันธุ์มะเขือม่วงที่นิยมปลูก ได้แก่ มะเขือม่วงพันธุ์ตะวันตก มะเขือม่วงยาวของจีน และมะเขือม่วงพันธุ์ญี่ปุ่น ได้แก่
– พันธุ์ผลกลม เช่น Toska, Black King
– พันธุ์ผลกลมรี เช่น Beauty, Dusky, Epic, Black Enorma
– พันธุ์ผลยาว เช่น Ichiban, Little Finger, Vernal

พันธุ์ที่นิยมปลูกในไทย
1. พันธุ์ผลกลมหรือรูปไข่รี
ผลมีลักษณะกลม คล้ายหยดน้ำ หรือเป็นรูปไข่รี ก้านผลมีสีเขียว แต่ผลมีสีม่วง ทำให้เรียกว่า มะเขือม่วงก้านเขียว นิยมใช้ประกอบอาหารของชาวยุโรปตามร้านอาหารตะวันตก และตามโรงแรมที่มีชาวต่างชาติ อาทิ อาหารประเภทปิ้งย่าง และทอดต่างๆ

2. พันธุ์ผลผอมยาว
ผลมีลักษณะผอมยาว ก้านผล และผลมีสีม่วงหรือม่วงสีดำ นิยมใช้ประกอบอาหารตะวันตก อาหารญี่ปุ่น ประเภทปิ้งย่าง แกง และทอด อาทิ มะเขือชุบแป้งทอด เป็นต้น [2]

ประโยชน์มะเขือม่วง
1. ผลมะเขือม่วง ใช้รับประทานสดคู่กับอาหาร อาทิ น้ำพริกปลาทู ลาบ ซุบหน่อไม้ และส้มตำ เป็นต้น
2. มะเขือม่วง ใช้ประกอบอาหาร อาทิ แกงมะเขือ ผัดมะเขือ และบาร์บีคิว เป็นต้น
3. เศษจากส่วนผล และลำต้นใช้ทำน้ำหมักชีวภาพ
4. ลำต้น และใบสด ใช้สุมไฟเพื่อรมควันไล่เหลือบ ยุง
5. ผลมะเขือใช้เลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะสุกร ด้วยการต้มรวมกับเศษผักอื่นหรือให้แบบสด

คุณค่าทางโภชนาการมะเขือม่วง (ผลต้มสุก 100 กรัม)

Proximates
น้ำ กรัม 89.67
พลังงาน กิโลแคลอรี่ 35
โปรตีน กรัม 0.83
ไขมัน กรัม 0.23
คาร์โบไฮเดรต กรัม 8.73
ใยอาหาร กรัม 2.5
น้ำตาลทั้งหมด กรัม 3.20
Minerals
แคลเซียม มิลลิกรัม 6
เหล็ก มิลลิกรัม 0.25
แมกนีเซียม มิลลิกรัม 11
ฟอสฟอรัส มิลลิกรัม 15
โพแทสเซียม มิลลิกรัม 123
โซเดียม มิลลิกรัม 1
สังกะสี มิลลิกรัม 0.12
Vitamins
วิตามิน C มิลลิกรัม 1.3
ไทอะมีน มิลลิกรัม 0.076
ไรโบฟลาวิน มิลลิกรัม 0.020
ไนอะซีน มิลลิกรัม 0.600
วิตามิน B-6 มิลลิกรัม 0.086
โฟเลต ไมโครกรัม 14
วิตามิน B-12 ไมโครกรัม 0.00
วิตามิน A, RAE ไมโครกรัม 2
วิตามิน A, IU IU 37
วิตามิน E มิลลิกรัม 0.41
วิตามิน D (D2 + D3) ไมโครกรัม 0.00
วิตามิน K ไมโครกรัม 2.9
Lipids
กรดไขมันอิ่มตัวทั้งหมด กรัม 0.044
กรดไขมันอิ่มตัว ชนิดสายเดี่ยวทั้งหมด กรัม 0.020
กรดไขมันอิ่มตัว ชนิดหลายสายทั้งหมด กรัม 0.093
คอลเลสเตอรอล มิลลิกรัม 0
Caffeine มิลลิกรัม 0

ที่มา : [3] USDA Nutrient Database

สรรพคุณมะเขือม่วง
ผล
– ช่วยบรรเทาอาการไข้
– ช่วยต้านเซลล์มะเร็ง ป้องกันการเกิดลำไส้
– บำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย
– ช่วยบำรุงเลือด
– ช่วยบำรุงหัวใจ
– รักษาต่อมน้ำนมอักเสบ
– ช่วยขยายเส้นเลือด
– ป้องกันการเกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือด
– ป้องกันโรคอัมพาต
– ช่วยกระตุ้นการขับถ่าย
– ช่วยลดการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบ
– ช่วยลดระดับความดันเลือด ป้องกันโรคความดันโลหิตสูง
– ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
– ช่วยกระตุ้นการเผาพลาญพลังงาน
– ช่วยขับพยาธิ
– ช่วยลดการอักเสบ
– แก้อาการร้อนใน
– ป้องกันการแข็งตัวของเลือด
– ช่วยให้แผลแห้ง และหายเร็ว
– บรรเทาปวด และลดบวมของบาดแผล
– รักษาอาการเลือดออกทางทวาร
– ช่วยรักษาฝี

ใบ
– ใบสด นำมาต้มดื่ม ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้อาการร้อนใน
– น้ำต้มจากใบ แก้อาการปัสสาวะเล็ด ปัสสาวะออกยาก
– ใบสด นำมาบดพอกรักษาแผล แก้น้ำหนองไหล
– ใบสด ขยำให้เกิดน้ำ ก่อนพอกบนแผลสด ช่วยในการห้ามเลือด
– ใบสดใช้เคี้ยวบ้วนในปาก แก้แผลอักเสบในปาก แก้เหงือกอักเสบ
– ใบสดนำมาต้มอาย ช่วยรักษาโรคผิวหนัง แก้อาการผดผื่นคัน

ราก
– รากใช้ต้มน้ำดื่ม แก้อาการเบื่อเมา
– น้ำต้มจากรากช่วยบรรเทาอาการไอ อาการเจ็บคอ ช่วยลดเสมหะ
– น้ำต้มจากราก ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ
– รากสดนำมาตำบด ก่อนใช้ประคบรักษาแผลอักเสบ แผลเป็นหนอง ช่วยให้แผลหายเร็ว

เพิ่มเติมจาก : [1]

การปลูกมะเขือม่วง
วิธีเพาะกล้า
การเพาะกล้ามะเขือม่วง อาจทำได้ในแปลงเพาะหรือเพาะในกระบะเพาะชำ การเพาะในแปลงเพาะ ให้ไถพรวนแปลง กว้างประมาณ 1 เมตร ยาวตามปริมาณที่ต้องการเพาะ จากนั้น โรยรองพื้นด้วยปุ๋ยคอก และปุ๋ยยูเรีย ก่อนคลุกผสมดินให้เข้ากัน จากนั้น หว่านเมล็ด และคราดเกลี่ยหน้าดินกลบเล็กน้อย แล้วรดน้ำให้ชุ่ม

ส่วนการเพาะในกระบะเพาะ ให้ผสมดินด่วนร่วมกับปุ๋ยคอก อัตราส่วน 1:3 หรือใช้วัสดุอินทรีย์อื่นผสมร่วม เช่น แกลบดำ และขุ๋ยมะพร้าว จากนั้น หยอดเมล็ดลงหลุมกระบะ 2 เมล็ด/หลุม เกลี่ยดินกลบเล็กน้อย ก่อนรดน้ำให้ชุ่ม เมื่ออายุกล้าได้ประมาณ 10-15 วัน หรือมีใบจริงแล้ว 3-5 ใบ ค่อยถอนกล้าย้ายลงปลูกในแปลง

การเตรียมแปลงปลูก
แปลงปลูกควรเตรียมแปลงด้วยการไถพรวนดิน 2 รอบ พร้อมกำจัดวัชพืชออกให้หมด ทั้งนี้ ก่อนไถรอบที่ 2 ให้หว่านรองพื้นด้วยปุ๋ยคอก อัตรา 3-4 ตัน/ไร่ จากนั้น ไถยกร่อง ระยะห่างของร่องประมาณ 80-100เซนติเมตร ทั้งนี้ อาจไม่จำเป็นต้องไถยกร่องก็ได้ตามความสะดวก

การย้ายกล้า และการปลูก
การปลูกมะเขือม่วง นิยมปลูกในต้นฝนจนถึงก่อนถึงปลายฝน แต่พื้นที่ชลประทานปลูกได้ตลอดฤดู การย้ายกล้าปลูก ให้รดน้ำจนชุ่มก่อน และลงปลูกหลังย้ายทันที ก่อนย้ายกล้าให้ขุดหลุมปลูก ลึกประมาณ 8-15 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างแถวสำหรับไถยกร่องหรือไม่ยกร่อง ประมาณ 80-100 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างหลุมหรือต้น ประมาณ 80-100 เซนติเมตร เช่นกัน พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ประมาณ 1,100-1,300 ต้น จากนั้น นำกล้ามะเขือลงปลูก กลบโคนต้น และรดน้ำให้ชุ่ม

การให้น้ำ
หลังการปลูก 10-15 วันแรก ควรให้น้ำทุกวัน จนต้นตั้งตัวได้ จากนั้น ลดเหลือ 3-4 ครั้ง/อาทิตย์

การใส่ปุ๋ย
ให้ใส่ปุ๋ย 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกหลังปลูก 20-25 วัน ให้ใส่ปุ๋ยคอก 2 กำมือ/ต้น ร่วมกับปุ๋ยสูตร 15-15-15 ประมาณ 1-2 หยิบมือ/ต้น ส่วนครั้งที่ 2 ใส่เมื่ออายได้ประมาณ 45-50 วัน ด้วยปุ๋ยเคมีสูตร 12-12-24 ในอัตราเดียวกัน

การกำจัดวัชพืช
ให้กำจัดวัชพืชอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง จนต้นมีอายุได้ ประมาณ 3 เดือน จึงปล่อยตามธรรมชาติ

การเก็บผลผลิต
มะเขือม่วงมีอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 45-60 วัน หลังปลูก และเก็บผลได้ต่อเนื่องนาน 4-5 เดือน ทั้งนี้ ควรใช้กรรไกรตัดขั้วผลแทนมือเด็ด เพื่อป้องกันยอดเสียหาย และลำต้นถอน

โรคมะเขือม่วงที่สำคัญ

โรคด่างเหลือง
โรคด่างเหลือง เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสในจีนัส Begomovirus ซึ่งเกิดได้ทั้งในมะเขือชนิดอื่น ถั่วเขียว ถั่วเหลือง และมะเขือเทศ อาการที่พบ คือ เกิดอาการด่างเป็นสีเหลืองบนใบ ทำให้ใบหงิกงอ และผิดรูป ส่งผลต่อลำต้นแคระ การเติบโตชะงัก ผลมีขนาดเล็ก สั้น และผลมีรูปผิดปกติ

ขอบคุณภาพจาก http://gardendrum.com/, Pantip.com

เอกสารอ้างอิง
[1] กรมส่งเสริมการเกษตร. 2554. เอกสารคำแนะนำการปลูกมะเขือม่วง-
และมะเขือม่วงญี่ปุ่น.
[2] กลุ่มสื่อส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร. 2554. การปลูกมะเขือม่วงและมะเขือม่วงญี่ปุ่น.
[3] USDA Nutrient Database, Eggplant, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 7 เมษายน 2560, เข้าถึงได้ที่ : https://ndb.nal.usda.gov/ndb/foods/show/2963?fgcd=&manu=&lfacet=&format=&count=&max=50&offset=&sort=default&order=asc&qlookup=Eggplant&ds=&qt=&qp=&qa=&qn=&q=&ing=/